ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 24-02-2009, 14:29
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,500 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา


พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา เป็นพระราชภาดาร่วมพระราชชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๒๘๖ ได้ทรงรับราชการตำแหน่งนายสุจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ ครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว ก็เสด็จหลบหนีออกไปอาศัยอยู่ ณ เมืองชลบุรี จนทรงทราบว่าเจ้าตาก (สิน) ออกไปตั้งอยู่เมืองจันทบุรีแล้ว จึงเสด็จพาพรรคพวกดำเนินทางบกไปเข้าด้วย เหตุทรงคุ้นเคยกันมาแต่ครั้งรับราชการกรุงเก่า

ครั้นเจ้าตากยกจากจันทบุรีเข้าตีพม่าซึ่งตั้งรักษากรุงเก่าอยู่นั้นแตกไปแล้ว ก็เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรีในปีชวด สัมฤทธิศก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาททรงรับบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรีเจ้ากรมตำรวจในเวลานั้น ทรงรับราชการสงครามมีความชอบยิ่งๆ ขึ้น ได้ทรงรับบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอนุชิตราชาและพระยายมราชตามลำดับ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางในปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ นั้น โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (เมื่อเป็นพระยายมราช) คุมทัพบกไปทางฟากตะวันออกก่อนทัพหลวง ครั้นปราบเจ้าพระฝางแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราชเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก ทรงบังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรอยู่ทางฝ่ายเหนือแต่นั้นมา พระเดชานุภาพเลื่องลือจนพม่าเรียกพระนามว่า พระยาเสือ ในครั้งนั้น


ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมหากษัตริย์ศึก พระองค์ทรงระงับการแผ่นดินที่วิปริตผันแปรในกรุงธนบุรีราบคาบแล้ว ก็โปรดให้มีตราให้หากองทัพทุกๆกองกลับมาจากกรุงกัมพูชา และได้เริ่มการย้ายพระมหานครขามฟากมาจากเมืองธนบุรีฟากตะวันตกมาสร้างกรุงเทพรัตนโกสินทร์พระมหานครทางข้างตะวันออกแต่ฝั่งเดียว ตั้งพระราชพิธียกหลักเมือง ณ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก พฤษภาคม แรม ๙ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือนหก แรม ๑๐ ค่ำ จัดการตั้งพระราชวังใหม่ที่กรุงเทพมหานคร ณ ฝั่งฟากตะวันออก

ถึง ณ วันจันทร์ เดือนแปด กรกฎาคม ขึ้นค่ำหนึ่ง ปฐมาสาฒ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสี่บาท(๑ บาท ประมาณ ๖ นาที) เสด็จทรงเรือพระที่นั่งข้ามมหาคงคามา ณ พระราชวังกรุงเทพมหานครฝั่งฟากตะวันออก เสด็จสถิตเหนือพระภัทรบิฐอันกั้นบวรเศวตราชาฉัตร์ พระราชครูปุโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอศูรย์ราชสมบัติ และเครื่องเบ็ญจพิตรราชกุกุกภัณฑ์พระแสงอัษฎาวุธ อัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเสวยสวรรยาธิปัตย์ ถวัลย์ราชเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหากษัตราธิราช เจ้าแผ่นดินปกครองสยามประเทศสืบไป (ต่อเมื่อถึงรัชกาลที่ ๓ ถวายพระนามเรียกว่า”พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”)

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์มายุได้ ๔๖ พรรษา ได้มีพระราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสให้พระอนุชา (บุญมา) ซึ่งมีพระชนม์มายุได้ ๓๘ พรรษา เสด็จเถลิงราชมไหศวรรย์ ณ ที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รับพระราชบัณฑูรประทับ ณ พระราชวังบวร (วังหน้า) ทรงอำนาจว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง เรียกพระนามว่า “สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา” ที่ชนในสมัยนั้นเรียกเป็นคำสามัญว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า” หรือมีอีกพระนามหนึ่งที่เรียกกันก็คือ “พระเจ้าเสือ”

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงสร้างพระราชวังหน้าขึ้นเป็นพระราชวังที่ประทับใกล้ชิดกับพระราชวังหลวง มีป้อม มีโรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง เป็นต้น เรียกได้ว่าสิ่งใดที่มีปรากฏอยู่ในพระราชวังหลวงแล้วก็คงมีที่พระราชวังบวรซึ่งเป็นวังหน้านั้นดุจกัน

ฝ่ายตำแหน่งขุนนางข้าราชการข้างวังหน้านั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา ก็มีพระบัณฑูรโปรดแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง โดยควรแก่ความชอบตามลำดับฐานานุศักดิ์ ครบตามตำแหน่งในพระราชวังหน้าดุจวังหลวงทั้งสิ้น และโปรดให้สร้างพระตำหนักหมู่หนึ่งขึ้นในพระราชวังหน้า ยกหลังคาเป็น ๒ ชั้นคล้ายพระวิมาน เป็นที่ประทับของเจ้าศิริรจนาผู้เป็นเอกอรรคชายาเดิมของพระองค์ แล้วสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วังหลวง


กบฏเมืองกัมปอช รับพระสนม

ฝ่ายพระยาปังกลิมา เจ้าเมืองกัมปอช รู้ข่าวว่าแคว้นไทยผลัดแผ่นดินใหม่ ก็คิดกบฏแข็งเมือง พระยาราชาเศรษฐีครองเมืองผะไทมาศอันขึ้นกับกรุงเทพพระมหานครได้ทราบ ก็ได้มีใบบอกเข้ามากราบทูลให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีพระราชดำรัสให้มีตราตอบออกไป ให้พระยาราชาเศรษฐีคิดอ่านจับตัวพระยาปังกลิมาส่งเข้ามา พระยาราชาเศรษฐีจึงยกทัพจากเมืองผะไทมาศ มา ณ เมืองกัมปอช จับเอาตัวพระยาปังกลิมา ส่งเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงมีพระราชดำรัสปรึกษาโทษพระยาปังกลิมา โดยรับสั่งให้เอาตัวไปตัดเท้าแล้วผูกขึ้นแขวนห้อยศรีษะลงมาเบื้องต่ำ กระทำประจานไว้ที่ป่าช้าวัดโพธิ์นอกพระนครด้านตะวันออกจนถึงแก่ความตาย

ฝ่ายข้างกัมพูชาประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปตั้งพระยายมราชเขมร ผู้มีความชอบซึ่งภักดีตั้งกองล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์(จุ้ย) ให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ครองกรุงกัมพูชาธิบดี แล้วให้ส่งเจ้าเขมร ๔ องค์ ของนักพระอุไทยราชาเข้ามา ณ กรุงเทพพระมหานคร มีนักพระองเอง ๑ นักพระนางมิน ๑ นักพระนางอี ๑นักพระนางเภา ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงนักพระองเองเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ส่วนนักพระนางมินถึงแก่พิราลัย นักพระนางอีกับนักพระนางเภาทั้งสอง สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ขอพระราชทานไปเลี้ยงไว้เป็นพระสนมอยู่ในพระราชวังหน้า


กบฏอ้ายบัณฑิต พ.ศ. ๒๓๒๖

ลุปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ ฝ่ายข้างกรุงเทพพระมหานครได้เกิดกบฏขึ้น โดยมีอ้ายบัณฑิต ๒ คน อวดอ้างตนว่าเป็นผู้วิเศษล่องหนหายตัวได้ ล่อลวงให้คนเชื่อถือนอบน้อม ซ่องสุมสมัครพรรคพวกมาตีเมืองนครนายก แล้วเลยเข้ามา ณ กรุงเทพฯ คบคิดกับขุนนางหลายคน มีพระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นต้นกับพวกผู้หญิงวิเสทปากบาตรพระราชวังหน้า คบคิดกันวางอุบายก่อการกบฏ

ครั้นถึง ณ วันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนห้า เมษายน พ.ศ.๒๓๒๖ เพลาเช้า พวกหญิงวิเสทในวังหน้า ขนกระบุงข้าวใส่บาตรเข้าไปทางประตูดินวังหน้า เอี้ยงสาวผู้เป็นนายวิเสทปากบาตรและเป็นบุตรีของพระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้บังอาจพาอ้ายบัณฑิตทั้ง ๒ คน นุ่งผ้าห่มปลอมตัวอย่างหญิง ถือดาบซ่อนในผ้าห่มอุกอาจเข้าไปในพระราชวังหน้า แล้วขึ้นไปแอบอยู่ ๒ ข้างพระทวารพระราชมนเฑียร ซึ่งเป็นทวารมุขทางที่จะเสด็จลงมาทรงใส่บาตร คอยลอบจะทำร้ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา แต่ด้วยเดชะพระบารมีเพลานั้นหาได้เสด็จลงมาทรงบาตรทางทวารมุขนั้นไม่ เทพยดาทรงดลพระทัยให้ทรงพระดำริจะลงมาเฝ้า ณ พระราชวังหลวง ก็เสด็จออกอีกทางพระทวารหนึ่ง แล้วเสด็จลงมาทางพระราชวังหลวง อ้ายบัณฑิตทั้งสองหาได้กาสจะทำร้ายไม่ พอนางพนักงานเฝ้าที่มาพบเข้า ก็ตกใจร้องอื้ออึงลงมาว่าผู้ชาย ๒ คนถือดาบมาอยู่ที่พระทวารบน อ้ายบัณฑิตเห็นดั่งนั้นก็สลัดผ้า กวัดแกว่งคมดาบไล่กวดนางเฝ้า ตามฟันลงมาติดๆ ขณะนั้นขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่ง คุมไพร่เข้าไปก่อถนนที่พระราชวังหน้า เห็นผู้ร้ายไล่ตามฟันนางเฝ้า จึงเข้าไปปะทะกั้นขวางไว้ อ้ายบัณฑิตก็เอาดาบฟันขุนหมื่นนั้นศรีษะขาดล้มลงตายอยู่กับที่ พวกเจ้าจอมข้างใน และจ่าโขลนต่างพากันตกใจร้องอื้ออึงวิ่งออกมาบอกข้าราชการข้างหน้า ข้าราชการทั้งปวงก็กรูกันเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ไล่ล้อมจับอ้ายบัณฑิตกบฏทั้ง ๒ เอาไม้พลองบ้าง อิฐบ้างทุบตี ขว้างใส่เป็นอลหม่าน บางส่วนวิ่งมาที่พระราชวังหลวง กราบทูลให้ทรงทราบเหตุการณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทราบ จึงดำรัสให้ข้าราชการทั้งวังหลวงวังหน้า เร่งช่วยกันไปจับอ้ายบัณฑิตกบฏ ช่วยกันทุบตีล้มลงจับตัวได้มัดไว้แล้วจำครบตบติดไม้เฆี่ยนถาม ให้การซัดพวกเพื่อนซึ่งร่วมคิดกบฏด้วยกันเป็นอันมาก ได้คนสำคัญที่เป็นตัวการ คือ พระยาอภัยรณฤทธิ์กับภรรยา สาวเอี้ยงและสาวจุ้ยบุตรหญิงพระยาอภัยรณฤทธิ์ เกษบุตรบุตรชาย กับทั้งพวกหญิงวิเสทปากบาตรทั้งนายทั้งไพร่ มีพระบัณฑูรให้เฆี่ยนสอบกับอ้ายบัณฑิตกบฏ ทุกคนรับเป็นสัตย์ จึงดำรัสให้ประหารชีวิตอ้ายบัณฑิต และพวกพระยาอภัยรณฤทธิ์พ่อแม่ลูกเมีย พร้อมกันกับพวกเพื่อนชายหญิงนายไพร่ทั้งสิ้นพร้อมสรรพ


บูรณะวัดมหาธาตุ

ในปีเถาะศกนั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา ดำรัสให้จัดการก่อกำแพงพระราชวังหน้า แล้วให้สถาปนาพระราชมณเฑียร ทั้งข้างหน้าข้างในสำเร็จบริบูรณ์ พร้อมกันคราวเดียวกับที่พระองค์ได้ให้ทรงปฏิสังขรณ์วัดสลัก ได้กระทำอุโบสถพระวิหารการเปรียญและพระมณฑปขึ้นใหม่ แล้วก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในพระมณฑป ก่อพระระเบียงล้อมรอบ และสร้างกุฎีเสนาสนะฝากระดานถวายสงฆ์ และให้ก่อตึก ๓ หลังถวายพระวันรัตน์ผู้เป็นเจ้าอารม ได้ก่อกำแพงแก้วล้อมรอบพระอาราม แล้วตั้งนามใหม่ว่า”วัดนิพพานาราม” (วัดสลักที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิพพานารามนี้ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๑ เปลี่ยนนามใหม่อีกว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ ครั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตแล้ว จึงเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่าวัดมหาธาตุ เรียกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้)


อัญเชิญพระแก้วมรกตสู่ฝั่งพระนคร

ณ วันจันทร์ เดือนสี่ ปีมะโรง แรม ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตจากโรงในวังเก่าฟากตะวันตก ซึ่งเป็นพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวังกรุงเทพพระมหานครฟากตะวันออก อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ แล้วได้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธเสมาในวันนั้น เมื่อการพระอารามนั้นสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงตั้งพระนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือวัดพระแก้วนั่นเอง)


พระราชทานนามวัดสระเกศ แลกรุงเทพมหานคร

ณ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเปลี่ยนนามวัดสะแกในกรุงเทพพระมหานคร พระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ (หรือ วัดสระเกศ ภูเขาทองในปัจจุบัน) และให้ก่อเชิงเทินและป้อมทำประตูใหญ่น้อยเป็นอันมากรอบพระนคร ครั้นการสถาปนาพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีงานสมโภชพระนคร ครบ ๓ วันเป็นกำหนด พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่ว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 25-02-2009 เมื่อ 16:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 88 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา