ดูแบบคำตอบเดียว
  #410  
เก่า 08-02-2020, 20:41
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,548 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

พระไตรปิฎกใน
องค์หลวงตา เปรียบเทียบความรู้จากการเรียนปริยัติกับความรู้จากการปฏิบัติไว้ ดังนี้

“...พระไตรปิฎกใน คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นผู้ทรงธรรมล้วน ๆ ไว้บริสุทธิ์เต็มที่ พระไตรปิฎกนอก เป็นคนที่มีกิเลส ไปจดจารึกเอามา

แยกเข้าไปอีกว่า พระไตรปิฎกตาดี คือ ท่านผู้สว่างกระจ่างแจ้ง ทรงธรรมแท้ ทรงธรรมที่บริสุทธิ์ พุทโธเต็มที่ไว้ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์ ท่านนี่ออกจากหัวใจของท่าน... จ้าไปหมดครอบโลกธาตุ

พระไตรปิฎกตาบอด คือ เราเรียนเท่าไหร่ก็เรียน ฟาดจนจบพระไตรปิฎกก็ได้แต่ชื่อ ได้แต่นาม ได้แต่ความจำ ได้แต่ตำรับตำรา ไม่ได้ความจริงอย่างท่านมา ก็เรียกว่าผู้ไปจดจารึก หรือถ้าเป็นประเภทนั้นก็ตาม แล้วผู้ที่เรียนตามนั้นก็เป็นคนตาบอด คำว่า “บอด” นี้ หมายความว่ากิเลสครอบงำหัวใจ ใจยังมืดมิดปิดตาอยู่ แม้จะเรียนอรรถเรียนธรรม ก็มีแต่ชื่อแต่นามของอรรถของธรรม แต่ใจยังบอดอยู่…”

เพราะเหตุนี้ ท่านจึงเน้นภาคปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้เข้าสู่ความจริง ดังนี้

“... พระพุทธศาสนาของเราตามตำรับตำรา ท่านก็มีไว้สมบูรณ์ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ท่านบรรจุไว้เรียบร้อย เราก็เรียนมาตามนั้น เรียนตามที่ท่านจดจารึกเอาไว้ในปิฎกต่าง ๆ เข้าสู่หัวใจด้วยความจำ ในระยะนี้การเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเรียนปิฎกใดเข้าสู่ใจ เป็นการเข้าสู่ด้วยความจำ.. ธรรมะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ท่องบ่นสังวัธยายทั้งหมด รวมเข้ามาสู่ใจนี้เป็นธรรมะภาคความจำ ไหลเข้าสู่ใจด้วยความจำ ยังไม่เข้าสู่ใจด้วยความจริง

เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษามากน้อยจึงไม่พ้นความสงสัยในการดำเนินว่า จะดำเนินอย่างไรดี ดำเนินอย่างไรถูก หรืออย่างไรผิด ความสงสัยนี้จะต้องเป็นพื้นอยู่โดยดีในบรรดานักปริยัติทั้งหลาย ไม่ว่าท่านว่าเรา นี่พูดตามหลักความจริง ซึ่งมีอยู่ในหัวใจของผู้ศึกษาเล่าเรียนมา

เราอยากจะพูดเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยว่าทุกดวงใจเป็นอย่างนั้น เพราะจะเป็นเรื่องที่จะเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เนื่องจากไม่มีผู้สันทัดจัดเจนในปฏิปทาเครื่องดำเนินและรู้เห็นจากการดำเนินนั้น อันเป็นฝ่ายผลมาก่อนแล้วมาชี้แจงแสดงบอก จึงทำให้ผู้ที่ศึกษามากน้อยอดสงสัยไม่ได้ จำต้องสงสัยอยู่โดยดี นี่เป็นคตินิสัยของปุถุชนเราโดยทั่ว ๆ ไป

การพูดถึงก็พูดถึงแต่ภาคความจำ ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมในปิฎกใด... พระวินัยปิฎก นั้นรู้แล้วว่าต้องอาศัยความจำเป็นหลัก.. สำคัญที่จะประพฤติปฏิบัติตัวอันนี้ไม่พิสดารอะไรมาก ที่พิสดารมากก็คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นธรรมที่พิสดารมากจริง ๆ ...

ผู้ที่เรียนมาทั้งหลายนี้ไม่ได้มีความจริงเข้าสู่ใจ.. แล้วจะเอาอะไรไปประพฤติปฎิบัติ จึงต้องแบกความสงสัยเต็มหัวใจอยู่นั่นแล เรียนก็เรียน รู้ก็รู้ในภาคความจำ แต่วิธีปฏิบัติเมื่อไม่มีผู้ชำนิชำนาญพร้อมทั้งการทรงผลมาแล้วมาพาดำเนิน จึงเป็นเรื่องลำบากอยู่มาก ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยถูกต้องดีงาม และราบรื่นไปโดยสม่ำเสมอเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ อย่างสมัยปัจจุบันนี้ก็คือ หลวงปู่มั่นเป็นสำคัญ...”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-02-2020 เมื่อ 21:15
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา