ชื่อกระทู้: อย่าไปแก้ไขภายนอก
ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 05-01-2012, 09:44
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,554 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

๔. “เรื่องจงอย่าห่วงใยขันธ์ ๕ ตนเอง และท่านพระ... จนเกินพอดี มีความสำคัญดังนี้

๔.๑ อย่าเป็นกังวลกับงานทางโลก เพราะงานทางโลกทำเท่าไหร่ก็ไม่จบอยู่แล้ว ให้มุ่งพิจารณากรรมฐานอันเป็นงานทางธรรม ซึ่งหากทำได้แค่ไหนก็ทรงตัวแค่นั้น ไม่ต้องหวนกลับมาทำใหม่ ให้วางโลกที่วุ่นวายไปเสียทางหนึ่ง ให้ดูตัวอย่างอารมณ์ของท่านพระ.... ท่านเห็นว่า ความวุ่นวายในโลกมีเหตุมาจากจิตที่ยังไปยึดเกาะติดในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ความกังวลก็ดี ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ดี จึงเป็นเรื่องห่วงอาลัยอยู่กับขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น ถ้าหากจักมีกรรมอันจักต้องเป็นไป ก็ให้มันเป็นไปตามกรรม ความอาลัยห่วงใยในขันธ์ ๕ ของท่านจึงลดน้อยลงไปจากจิตของท่านได้ตามลำดับ

๔.๒ พวกเจ้าจงพิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์เหล่านี้เป็นอารมณ์ห่วงใยในขันธ์ ๕ ของตนเอง และขันธ์ ๕ ของท่านพระ... มันเป็นอารมณ์ของความทุกข์ อันซึ่งจิตไม่พึงจักยึดถือเอามาเป็นอารมณ์ เรื่องความวุ่นวายภายนอก เขาจักทำกรรมอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ที่ให้ระวังก็เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตเท่านั้น มิใช่ให้ไปเกาะในกรรมของเขา อย่าเอาจิตไปกังวลให้เสียเวลาของการปฏิบัติธรรม ให้ดูจริยาของท่านพระ... เป็นตัวอย่าง ท่านมีขันติอดทน จักมีอุปสรรคหรือปัญหาใดเกิดขึ้น ท่านก็ไม่แสดงออกมา ไม่ว่าทางกายและทางวาจา พยายามสงบสติอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เช่น ในตอนเช้า ขณะฟังเทปพระธรรมที่ท่านเปิด มีบุคคลอื่นพูดคุยกันตลอดเวลา ท่านได้ยินอยู่ในอารมณ์สักเพียงแต่ว่าได้ยิน เสียงคุยที่มากระทบ สักเพียงแต่ว่ากระทบ จิตท่านไม่ใส่ใจ แต่หูที่ฟังธรรมเทศนาก็ฟังธรรมเทศนาไป พร้อมกับใคร่ครวญธรรมนั้นไปด้วย จุดนี้แหละเป็นการฝึกแยกกาย เวทนา จิต ธรรมไปในตัว ธรรมทางโลกจักมาในรูปแบบใด ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา จิตมีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่อย่างนี้ แล้วปล่อยวางธรรมของโลกให้สลายไป จิตอยู่กับโลกุตรธรรมตลอดเวลา นั่นแหละเป็นของจริง ซึ่งจุดนี้ท่านพระ... ได้ทำมานานแล้ว เวลานี้ (๑๘ ต.ค. ๓๙) จิตท่านเริ่มทรงตัวมีสติตั้งมั่นขึ้นมาตามลำดับไป ให้ยึดท่านเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

๔.๓ ให้พิจารณาร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป สลายไปในที่สุด อย่ายึดเอาร่างกายของตนเองหรือร่างกายของบุคคลอื่นมาเป็นสาระ เพราะจักทำให้เกิดความทุกข์ในความพอใจและไม่พอใจ อย่างคนที่เราชอบใจก็มีความพอใจ อยากให้ร่างกายของเขาอยู่นาน ๆ ให้ดูอารมณ์ที่เกาะอยู่ในร่างกายของตนเอง และร่างกายของบุคคลอื่นให้ดี ๆ แล้วพิจารณาเข้าหาความเป็นจริงของร่างกาย จงอย่าทิ้งความเพียรในการพิจารณานี้ แล้วจิตจักเบื่อหน่ายในร่างกาย ไม่อยากได้ร่างกายอย่างนี้อีก ให้ถามตนเอง ตอบตนเองว่า ร่างกายนี้มันไม่ดีตรงไหน เป็นเราเป็นของเราที่ตรงไหน ดูเข้าไป สอบจิตเข้าไปให้บ่อย ๆ ครั้ง จนจิตยอมรับสภาพตามความเป็นจริงของร่างกาย นั่นแหละ จิตจึงจักปล่อยวางไม่เกาะติดร่างกายได้ (มีผู้อื่นมาบอกให้เรารู้เรื่องของร่างกายตามความเป็นจริง ว่าเป็นอย่างไรร้อยครั้ง พันครั้ง ก็สู้จิตเรารู้ด้วยจิตตัวเองครั้งเดียวไม่ได้ เพราะผู้อื่นมาบอกให้รู้ ล้วนเป็นสัญญาหรือความจำ ซึ่งยังไม่เที่ยง เป็นอนิจจาอยู่เสมอ ส่วนการรู้ด้วยตนเอง เป็นการรู้ด้วยปัญญา ซึ่งเกิดจากการพิจารณาใคร่ครวญในธรรมอยู่เสมอ คือถามตอบกับจิตของตนเอง ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำและชี้ทางไว้ให้แล้ว อยู่ที่ความเพียรของเราเท่านั้น หากเพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว หากเพียรน้อยพักมากก็จบช้า ทุกอย่างอยู่ที่ความเพียรของเราเองทั้งสิ้น)

๔.๔ จำไว้ มีเรื่องไม่ดี ไม่มีเรื่องนั่นแหละ เป็นการดี พยายามรักษาอารมณ์ อย่าไปขุ่นข้องหมองใจเข้าไว้เป็นดี อย่าไปต่อล้อต่อเถียง หรือพูดโต้ตอบกับใคร ใครจักพูดอย่างไรก็เป็นกรรมของเขา พยายามปล่อยวางให้ได้ เป็นการตัดกรรมไปในตัว โลกธรรมทั้ง ๘ ครองโลกอยู่ ไม่มีใครหนีพ้น ก็จงอย่าพยายามคิดหนี ให้เห็นเป็นของธรรมดา อดทนข่มใจ (มีขันติ อย่าขันแตก) ให้มาก พยายามสร้างอภัยทานให้เกิดขึ้นในจิต อุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่ชอบสร้างปัญหาให้เกิดอยู่เสมอเหล่านี้ด้วย เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นกฎของกรรม หากเราไม่เคยสร้างกรรม ก่อกรรมเหล่านี้ไว้ก่อน วิบากกรรมเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นกับเรานั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย

๔.๕ เรื่องมรณาฯ กับอุปสมานุสติ ยิ่งพิจารณาถี่ขึ้นเท่าไหร่ ความประมาทในชีวิตก็จักน้อยลงเท่านั้น จิตจักยอมรับนับถืออย่างจริงใจ จิตโปร่งเบา จิตเกาะพระนิพพานมากขึ้น ไม่ประมาทในชีวิตมากขึ้น ความไม่เผลอในขันธ์ ๕ มีมากขึ้น ความยึดถือในร่างกายน้อยลง และอารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจก็น้อยลง ให้รักษากำลังใจไว้ให้ดีและต่อเนื่อง อย่าขาดสาย และอย่าลืมจิตจักล่วงทุกข์ (พ้นทุกข์) ได้ด้วยความเพียร

๔.๖ ในการกราบพระ กราบความดีของพระรัตนตรัย อย่ากราบความว่างเปล่า ให้กำหนดจิตให้เห็นองค์พระอย่างมั่นคงเสียก่อน จึงค่อยกราบ การกราบพระธรรม ก็ให้จิตเห็นดอกมะลิแก้วชัดเจนก่อนจึงค่อยกราบ การกราบพระอริยสงฆ์ ก็ให้เห็นองค์พระก่อนจึงค่อยกราบ ทุกอย่างพึงกำหนดจิตให้เห็นภาพอย่างมั่นคงเสียก่อน จึงทำให้มโนมยิทธิชัดเจนแจ่มใสด้วย ธรรมจุดนี้ต้องการจักเน้นให้เห็นว่า นอกจากจักต้องมีศีลมั่นคงแล้ว ภาพนิมิตจากการกำหนดจิตอันเป็นกสิณ เวลากราบพระรัตนตรัยก็มีความสำคัญเช่นกัน”

๔.๗ มีอะไรปรากฏให้เป็นเหตุเข้ามากระทบจิต ก็พึงที่จักวางเฉยเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งนำไปปรุงแต่งให้เป็นที่เดือดร้อนใจไปล่วงหน้า ให้รักษาอารมณ์ของจิตให้สงบเข้าไว้เท่านั้น จึงจักระงับได้ เช่น เรื่องของสงฆ์ในวัด พึงระมัดระวังให้มาก อย่าคิดว่า จักยักย้ายถ่ายเทไปให้ใครก็ได้ นั่นมันเป็นความประมาทของจิตที่ไม่ละเอียดพอ อย่าไปโยนนรกให้ใครเป็นอันขาด ทุกอย่างต้องใช้ให้ถูกประเภท อย่าใช้เงินผิดประเภท จักได้เป็นบุญล้วน ๆ ไม่ต้องเป็นบุญผสมบาป

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-01-2012 เมื่อ 03:27
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา