ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 02-07-2009, 12:20
คิมหันต์ คิมหันต์ is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 663
ได้ให้อนุโมทนา: 26,519
ได้รับอนุโมทนา 88,316 ครั้ง ใน 1,256 โพสต์
คิมหันต์ is on a distinguished road
Default อดีตที่ผ่านพ้นตอนที่ ๕๘ : เกราะแก้วแห่งธรรม

๕๘. เกราะแก้วแห่งธรรม

สิ่งที่นักปฏิบัติหน้าใหม่ (หรือเก่าด้วย) กลัวกันเป็นนักหนาคือ การ “จิตตก” มันเป็นอาการที่กำลังใจซึ่งทรงไว้ในด้านดี เกิดพลาดท่าพลาดทาง เลี้ยวกลับไปหาความเลวเก่า ๆ เอาดื้อ ๆ บางคนตั้งหลักไม่ทัน ทำใจให้ยอมรับไม่ได้ เกิดฟุ้งซ่านคิดมาก แทบจะฆ่าตัวตายประชดชีวิตไปเลยก็มี...!

ความจริงอาการ “จิตตก” หรือ “กำลังใจตก” หรือ “สมาธิตก” เป็นของธรรมดาที่ผู้ปฏิบัติทุกคนต้องเจออยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องเสียอกเสียใจอะไร ก่อนนี้เราทำความเลวอยู่ มาตอนนี้หันมาทำความเลวใหม่ เพราะหลงกลพญามารที่มาล่อลวง ก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรเลย เพราะเรามาจากที่ต่ำ การย้อนกลับที่ต่ำคือเท่าทุน มิหนำซ้ำยังกำไรประสบการณ์อีกต่างหาก...!

เมื่อรู้ตัวก็ตั้งหน้าทำดีใหม่ ระวังไว้ว่าคราวก่อนเราพลาดตรงไหน ถึงเวลาอย่าให้พลาดอีก...แต่ก็นั่นแหละ เล่ห์เหลี่ยมของมารนั้นยากที่เราจะระวังป้องกัน ปิดจุดนี้มันตีจุดนั้น ตั้งป้อมรับจุดนั้น มันเข้าตีจุดโน้น...วนเวียนไปไม่รู้จบ จนกว่าเราจะประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พร้อมนั่นแหละ...มารจึงหลอกไม่ได้...

อาตมาเองนั้นหกล้มหกลุกมานับครั้งไม่ถ้วน บางปีก็หลาย ๆ พันครั้ง อาการจิตตกของอาตมาส่วนใหญ่ เกิดจากกำลังสมาธิขาดตอน ทำให้นิวรณ์เข้าแทรก ชักนำจิตเข้าสู่ความรัก โลภ โกรธ หลง แรก ๆ ก็แย่เหมือนกัน ยิ่งคิดฟุ้งซ่านนิวรณ์ยิ่งซ้ำ กว่าจะทำใจได้ ก็ชอกช้ำทั้งกายและใจ...

การ “จิตตก” บ่อย ๆ เท่ากับได้ซ้อมความคล่องตัวของกำลังใจ แรก ๆ ก็มืดไปเป็นเดือน ๆ มาตอนหลังชักจะชำนาญกับการยกจิตขึ้นสู่จุดเดิม ระยะเวลาของการพลาดไปคิดเลว พูดเลว ทำเลว ก็สั้นเข้าทุกที จนถึงระดับหนึ่ง กำลังใจเห็นความธรรมดาของอาการจิตตกคือ เริ่ม “ทำใจได้” คราวนี้ก็มีพื้นฐานรองรับ...! เมื่อเป็นเช่นนี้กำลังใจก็จะแน่นเข้า ถึงพลาดตกลงมา ก็จะไม่ตกเกินกว่าจุดพื้นฐานนี้ และจะ “ฟื้นตัว” เร็วมาก สามารถไปสู้กับกิเลสใหม่ ถึงโดนชกร่วงอีกกี่ครั้ง ก็สามารถลุกขึ้นก่อนที่จะถูกนับสิบ คราวนี้แหละคุณเอ๋ย...การประลองยุทธในสนามเพื่อเอาชนะกิเลสก็เริ่มสนุกสนาน เพราะชักจะมีลุ้นขึ้นมาบ้าง...!

อาตมานั้นล้มลุกคลุกคลานมาตลอด มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ถูกโจมตีด้วยกระบวนท่าเดียวบ่อย ๆ พลอยเกิดความชำนาญ สามารถทรงอารมณ์สมาธิ หนีนิวรณ์ได้ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอนเป็นเวลาหลายเดือน แต่อารมณ์มันแน่นมาก ไม่อยากจะพูดจากับใครทั้งนั้น ซึ่ง “หลวงพ่อ” บอกว่า “ยังใช้ไม่ได้” ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนั้น ก็จำเป็นต้องพยายามกันใหม่ แต่แหม...อารมณ์ “ใช้ได้” ของ “หลวงพ่อ” มันยากอย่าบอกใคร ไอ้เรามันประเภทปรอท เทลงดินเป็นซึมหายวับ ถูกอารมณ์ทางโลกกลืนไปสนิท อารมณ์ที่ “หลวงพ่อ” ต้องการ จะต้องเหมือนกับน้ำบนใบบอน หมุนไปกับโลกทุกอย่าง แต่ไม่ติดในโลก...!

งานเป่ายันต์เกราะเพชรของ “หลวงพ่อ” มักจะมีควบกับการกวนข้าวทิพย์ อาตมาช่วยงานกวนข้าวทิพย์มาตั้งแต่ครั้งแรก หน้าที่ประจำคือขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายไฟฟ้า ไอ้กระต่ายมหาภัยนี้ใคร ๆ ก็กลัว เพราะพลาดนิดเดียวเป็นได้แผลเหวอะหวะ อาตมาเลยต้องเหมามาทุกงาน และเจ็บตัวทุกงานซิน่า...!

โรงเรียนวัดในขณะนั้นยังเป็นโรงเรียนรัฐบาล ไม่ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนราษฎร์อย่างทุกวันนี้ อาจารย์ที่คุมหอพักนำนักเรียนหญิงมาช่วยขูดมะพร้าวและคั้นกะทิ วงพิณพาทย์ตีเพลงมัน ๆ ให้จังหวะอย่างคึกคัก เป็นการช่วยให้ทำงานอย่างมีชีวิตชีวาและไม่เหน็ดเหนื่อย “อายุสิบห้าก็มาเป็นสาวรำวง มาใส่กระโปรงวับ ๆ แวม ๆ...” พอเขาขึ้นเพลงนี้เท่านั้นก็ได้เรื่อง...! บรรดานักเรียนทั้งหลาย ทั้งโห่ทั้งเฮ ส่งเสียงกรี๊ดกันเป็นที่สะใจ ที่ทนไม่ไหวก็ออกรำเฉิบ ๆ ไปตามจังหวะเพลงด้วยความมันสุดขีด การงานถูกทิ้งชั่วคราว หันมารำวงกันเป็นที่สนุกสนาน กองเชียร์ก็ตะเบ็งเสียงเชียร์กันสุดหัวใจ...!

เด็กสาวอายุ ๑๕ – ๑๖ นับร้อย ๆ คน ตะเบ็งเสียงพร้อม ๆ กันนั้น มันจะแสบแก้วหูสุดทนขนาดไหนก็สุดที่จะบรรยายถูก จิตของอาตมาที่ชำนาญต่อการ “หนีโลก” ก็วูบเข้าสู่อารมณ์เคยชิน ละวางสิ่งต่าง ๆ ภายนอกทั้งปวง จดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียวภายใน สรรพสำเนียงต่าง ๆ ขาดจากใจโดยสิ้นเชิง...! ประหลาดแท้...? ทุกครั้งพออารมณ์ถึงที่สุด จิตจะไม่รับรู้อารมณ์ภายนอกเลย แต่คราวนี้มันรู้ทุกอย่าง และถ้าอะไรจำเป็น จิตจะคลายออกมาเพื่องานนั้นโดยเฉพาะ พอเสร็จก็ดิ่งกลับจุดเดิม บังคับมันขึ้นได้ลงได้ดังใจ เหมือนกับการเปิดปิดประตูอย่างไรก็อย่างนั้น นี่กระมัง... น้ำกลิ้งบนใบบอน...?

จับจิตตัวเองดู เห็นเป็นวงกลมใสสะอาดหมุนวนโดยรอบ เหมือนมีเกราะแก้วคุ้มจิตจากนิวรณ์ ถ้าจำเป็นก็เปิดเกราะออกมารับรู้โลกภายนอก ไม่จำเป็นก็ปิดเกราะกั้นนิวรณ์ไว้ ปล่อยกายวาจาทำหน้าที่ของโลกไปตามเรื่อง มีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา อารมณ์หนักเบาจากภายนอกกระทบไม่ได้เลย...

หลังจากฝึกซ้อมจนชำนาญอาตมาก็เข้าใจ มันเป็นสมาธิสำหรับใช้งานนั่นเอง สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง โดยไม่มีใครรู้ว่าเรากำลังทรงอารมณ์สมาธิอยู่...ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งของเรา เพราะอารมณ์โลกีย์ประมาทเมื่อไรพังเมื่อนั้น... จงระวัง...จงระวัง...!


๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๓
พระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
__________________
ไม่ติดในสุข ไม่กังวลในทุกข์ วางเฉยในร่างกายนี้ ปล่อยวางภาระทั้งปวง ยอมรับกฎของกรรม
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 221 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คิมหันต์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา