ดูแบบคำตอบเดียว
  #565  
เก่า 07-08-2020, 09:10
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

วัดโพธิสมภรณ์

วัดโพธิสมภรณ์ ตั้งอยู่ที่ถนนเพาะนิยม เลขที่ ๒๒ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ ๔๐ ไร่

ความเป็นมา วัดโพธิสมภรณ์เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งถากถางป่าจนพอควรแก่การปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ ๑ ปี ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า วัดใหม่ เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาส ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วัดเก่า จากนั้นจึงได้กราบอาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาส มาเป็นเจ้าอาวาส และได้นำความขึ้นกราบทูลขอชื่อต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ได้ประทานนามว่า วัดโพธิสมภรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) ผู้สร้างวัดนี้

ประมาณ ๓ ปีต่อมา พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรกับท่านเจ้าอาวาสได้เริ่มสร้างโบสถ์ด้วยอิฐถือปูน โดยใช้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นแรงงาน พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร เป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างเอง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มหาเสวกโท พระยาราชนุกูลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) ขึ้นดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคอีสาน และเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรธานีด้วย ได้มาเสริมสร้างวัดโพธิสมภรณ์ต่อ โดยขยายอาณาเขตให้กว้างออกไป และก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมอีกหลายหลัง พร้อมกับสร้างพระอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ และเห็นว่าภายในเขตเทศบาลจังหวัดอุดรธานี ยังไม่มีวัดธรรมยุตเลย สมควรจะตั้งวัดนี้ให้เป็นวัดของคณะธรรมยุตโดยแท้ จึงได้ปรึกษาหารือกับพระเทพเมธี (ติสฺโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี โดยมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจัดพระเปรียญมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เพื่อจะได้บริหารกิจการพระศาสนา ฝ่ายปริยัติธรรมและฝ่ายวิปัสสนาธุระให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงนำความคิดเห็นกราบเรียนต่อพระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ จากนั้นจึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ขอพระเปรียญ ๑ รูป จากวัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์สืบไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จึงทรงมีรับสั่งให้เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เลือกเฟ้นพระเปรียญ ก็ได้พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พันธุโล) ป.ธ. ๓ น.ธ.โท ฐานานุกรมของท่าน ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักวัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี ว่าเป็นผู้เหมาะสม ทั้งยังเป็นที่ชอบใจของเจ้าพระยามุขมนตรีฯ อีกด้วย เพราะท่านได้เคยเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงอยู่ก่อนแล้ว พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พันธุโล) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมเจดีย์ จึงได้ย้ายจากวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ วัดโพธิสมภรณ์จึงเป็นวัดของคณะธรรมยุตตั้งแต่บัดนั้นมา ปัจจุบันวัดโพธิสมภรณ์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

วัดโพธิสมภรณ์ ในระยะนั้นยังมีสภาพเป็นป่าละเมาะอยู่ มีเสนาสนะชั่วคราวพอคุ้มฝน บริเวณโดยรอบก็ยังเป็นป่า ไม่ค่อยมีบ้านเรือน เงียบสงบ อาหารบิณฑบาตตามมีตามได้ น้ำใช้ก็ได้จากบ่อบาดาลในวัด ซึ่งพระเณรช่วยกันตักหาบมาใส่ตุ่มใส่โอ่ง พระเณรระยะแรกยังมีน้อย ทั้งอัตคัตกันดารในปัจจัยสี่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบริหารกิจการพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้า พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พันธุโล) ได้ทุ่มเทพัฒนาวัดในทุก ๆ ด้าน ส่วนที่เป็นศาสนวัตถุนั้น ท่านได้บูรณะซ่อมแซมและสร้างเสริมเพิ่มเติมให้มั่นคงถาวร

ลำดับเจ้าอาวาสที่ครองวัดนี้ตั้งแต่เริ่มตั้งวัดจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

รูปที่ ๑ พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๔๖๕

รูปที่ ๒ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๕๐๕

รูปที่ ๓ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จันททีโป) พ.ศ. ๒๕๐๕ – ปัจจุบัน

วัดโพธิสมภรณ์นี้ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมีปูชนียวัตถุสำคัญ ดังนี้

๑. พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปี ปางมารวิชัย มีนามว่า “พระพุทธรัศมี” เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

๒. พระพุทธรูปศิลาแลง ปางประทานพร สมัยลพบุรี มีอายุ ๑,๓๐๐ ปี ประดิษฐานไว้ที่ซุ้มฝาผนังพระอุโบสถด้านหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙

๓. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้หน่อมาจากรัฐบาลประเทศศรีลังกา ให้แก่รัฐบาลไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นำมาปลูกไว้ด้านทิศเหนือพระอุโบสถ

๔. รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างด้วยศิลาแลง มีอายุ ๒๐๐ ปีเศษ ประดิษฐานไว้ในมณฑป ด้านทิศเหนือพระอุโบสถ

๕. พระบาทธาตุธรรมเจดีย์ เป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์ ๓ ชั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และรูปเหมือนพระบูรพาจารย์ ๑๐ องค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-08-2020 เมื่อ 16:54
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 10 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
ภาวนามัย (วันนี้), สุธรรม (07-08-2020)