ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 26-07-2009, 10:11
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,507
ได้ให้อนุโมทนา: 151,364
ได้รับอนุโมทนา 4,405,927 ครั้ง ใน 34,096 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ทุกคนนั่งในท่าของตนเองที่สบาย หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง เพื่อระบายลมหยาบให้หมดไป เมื่อเวลาลมละเอียด จะได้ไม่เกิดอาการแปลก ๆ กับร่างกาย จากนั้นให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจของเรา หายใจเข้ากำหนดรู้ตามเข้าไป หายใจออกกำหนดรู้ตามออกมา หายใจเข้าผ่านจมูก....ผ่านกลางอกลงไปสู่ที่ท้อง หายใจออกจากท้อง....ผ่านกลางอกไปสุดที่ปลายจมูก พร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด
จะเป็นพุทโธ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง พองหนอยุบหนอ หรือกรรมฐานกองใดกองหนึ่งที่เราถนัดก็ได้

สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือว่า การปฏิบัติกรรมฐานนั้นให้ใช้กองเดิมอยู่เสมอ จนกว่าจะทำได้ถึงที่สุดแล้วจึงค่อยเปลี่ยนกองใหม่ แม้ว่าเราจะทำกองใหม่ได้แล้วก็ต้องย้อนทวนของเก่าอยู่เสมอ ๆ ด้วย เนื่องจากถ้าหากเรายังทำของเก่าไม่ได้ แล้วไปเปลี่ยนทำกรรมฐานกองใหม่ ก็จะเป็นอย่างที่เคยเปรียบว่าเหมือนคนขุดบ่อ ตั้งใจจะเอาน้ำ แต่ไม่เคยถึงน้ำเสียที ลงไปได้ระยะหนึ่ง พอรู้สึกว่าที่อื่นน่าจะดีกว่า ก็ย้ายที่ไป พอขุดลงไปได้อีกหน่อย อีกที่น่าจะดีกว่า ก็ย้ายที่ไป ถ้าเราทำอย่างนี้จะกลายเป็นคนขยันทำงานบ่อย แต่ผลงานที่เป็นเนื้อเป็นหนังอย่างแท้จริงจะไม่มี ดังนั้น..ใครเคยถนัดแบบไหน ทำกรรมฐานอย่างไรมา ให้ทำตามความถนัดของตน เพียงแต่อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก เนื่องจากว่าอานาปานสติเป็นพื้นฐานใหญ่ของกรรมฐานทั้งปวง

วันนี้ตรงกับวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ เป็นที่น่ายินดีว่า มีคนมาสอบถามปัญหาในการปฏิบัติ หลายรายที่มีความก้าวหน้าในการภาวนามากขึ้น แต่เหตุที่ไม่ก้าวหน้าไปมากกว่านั้น มีหลายสาเหตุด้วยกัน ประการที่หนึ่ง คือ ให้ความสนใจกับร่างกายมากเกินไป เมื่อรู้สึกว่าร่างกายจะชา แข็ง ก็ไปสนใจอยู่กับร่างกาย ร่างกายมันโยกโคลง มันน้ำตาไหล ก็ไปสนใจอยู่กับร่างกาย ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้เราจะก้าวไม่พ้นจุดที่ติดขัดอยู่ ดังนั้น..ในขณะที่เราทำความดีอยู่ แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายก็ตามอย่าไปสนใจ ต่อให้มันไม่หายใจ อึดอัดจะขาดใจลงเดี๋ยวนั้นก็ต้องยอม คิดเสียว่าเราทำความดีอยู่ ถ้าเราตายตอนนี้เราไปดีแน่นอน ถ้าตัดสินใจอย่างนี้ได้ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจึงจะมีได้

ประการต่อไปก็คือว่า การที่เราไม่ก้าวหน้านั้นเกิดจากความช่างสงสัย นำสิ่งที่เรารู้ไปเปรียบเทียบกับอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้น ขอบอกว่าถ้าทำอย่างนั้น โอกาสที่จะก้าวหน้ามีน้อยมาก เพราะว่าอารมณ์ปฏิบัติจริง ๆ ที่เป็นปัจจัตตังนั้น ละเอียดกว่าคำพูดหรือตัวหนังสือที่จะอธิบายได้ เราจะเข้าใจตามคำอธิบายหรือตัวหนังสือแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น จนกว่าจะได้พบกับอารมณ์การปฏิบัติที่แท้จริง จึงจะเข้าใจว่า ที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกมานั้น หมายถึงอย่างนี้นี่เอง

ในประการสุดท้ายที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้า เพราะว่าเมื่อผ่านขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ที่เกิดความรู้สึกว่าดี อย่างเช่น ปีติเกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้น หรือเอกัคคตารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาปฏิบัติเราก็อยากให้มีอย่างนั้น เราอยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็คอยไปจดจ้องตามดู ว่าเมื่อไรมันจะเป็น ครั้งก่อนขั้นตอนเป็นอย่างนี้ ถึงเวลาแล้วจะเป็นอย่างนี้ ต่อไปมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าไปตามจี้อยู่อย่างนี้ อารมณ์ใจจะไม่มีทางเข้าถึงจุดที่ตัวเองต้องการ เพราะว่ามันกลายเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นความฟุ้งซ่านใจของตนเอง อารมณ์ก็จะไม่รวมลงในสิ่งที่เราต้องการ

ดังนั้นแม้เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการปฏิบัติก็ตาม แต่บางทีโดยสัญชาตญาณของเรา เราก็อดไม่ได้ที่จะไปข้องแวะ ที่จะไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ใจทั้งหลายเหล่านี้ จึงทำให้เราหาความก้าวหน้าไม่ได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-12-2009 เมื่อ 12:17
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา