ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 01-04-2019, 08:27
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,500
ได้ให้อนุโมทนา: 151,165
ได้รับอนุโมทนา 4,405,686 ครั้ง ใน 34,089 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

แบบเดียวกับเมื่อวาน ญาติโยมถามว่า เมื่อเพ่งภาพกสิณแล้ว อย่างเช่นว่า สีแดง เมื่อหลับตาลงก็เห็นเป็นภาพสีเขียวแทน สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องปกติ เพราะว่าสิ่งที่เขาว่ามา ถ้ากล่าวในทฤษฎีสีก็คือ สีที่เป็นสีตรงกันข้าม อย่างเช่นว่า สีแดงตรงกันข้ามกับสีเขียว สีเหลืองตรงกันข้ามกับสีม่วง สีน้ำเงินตรงกันข้ามกับสีส้ม เป็นต้น ถ้าเราดูสีใดสีหนึ่ง เมื่อถึงเวลาหลับตาลงก็จะเห็นสีตรงกันข้าม แปลว่าท่านทำกสิณผิด เพราะว่าไปเพ่งภาพนั้นด้วยสายตา

กสิณนั้นเขากำหนดจำภาพด้วยใจ ลืมตามองภาพแล้วหลับตาลงนึกถึง จะสามารถเห็นภาพนั้นได้ครู่หนึ่งแล้วเลือนหายไป เราก็ลืมตามองแล้วหลับตาลงนึกถึงใหม่ ไม่ใช่ไปใช้สายตาเพ่ง

ขณะเดียวกันท่านที่ภาวนาพระคาถาเงินล้าน อยากให้เกิดผลเร็ว ๆ ก็ไปบังคับตัวพระคาถาให้เข้ากับลมหายใจแต่ละฐานของเรา ซึ่งก็เป็นการกระทำที่ผิด เพราะว่าในเรื่องของอานาปานสติหรือลมหายใจเข้าออกนั้น เราจะจับกี่ฐานก็ได้ หรือจะไม่เอาเลยสักฐานก็ได้ ถ้าเป็นในวิสุทธิมรรคก็จะบอกไว้ว่า ผุสนา ก็คือจับฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน แล้วแต่เรา อผุสนา ก็คือไม่จับฐาน รู้ตลอดลมหายใจเข้าและออก ถ้าเราใช้วิธีรู้ตลอดกองลมหายใจเข้าและออก ก็ไม่ต้องไปเครียดกับลมหายใจว่าจะตรงกับคำภาวนาตรงที่ไหนและฐานใด

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็เป็นแค่เรื่องพื้นฐานเบื้องต้น แต่ด้วยความที่ท่านทั้งหลายทำแล้วอยากได้ดีไว ๆ ก็ทำให้ท่านทั้งหลายไปตั้งหน้าตั้งตาเคี่ยวเข็ญเอาเป็นเอาตาย ซึ่งความอยากที่มากเกินไป ก็เหมือนอย่างกับเรายืดคอเลยหน้าต่าง ต้องการจะมองภาพ แต่ยืดคอเลยหน้าต่างก็เห็นแต่ข้างฝาเท่านั้น ต้องลดลงมาในระดับที่พอเหมาะพอดีถึงจะเห็นได้

แบบเดียวกับพระอานนท์ที่หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านเห็นว่าหมดภาระ ก็เร่งรัดการปฏิบัติเพื่อที่จะให้ได้มรรคได้ผล ให้ทันกับการสังคายนาพระไตรปิฎกที่พระมหากัสสปะเถระได้กำหนดเอาไว้ ถึงขนาดเดินจงกรมตลอดคืน

ด้วยความที่ทำเกิน ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะได้อรหัตผลตามที่ตนต้องการ จนกระทั่งท่านเห็นว่าร่างกายนี้ล้าเต็มทีแล้ว พักสักหน่อยดีกว่า ถึงเวลาก็ตั้งใจนั่งลงบนเตียง เพื่อที่จะเอนกายนอนลงพัก ช่วงนั้นเองที่กำลังใจลดลงจากความต้องการให้บรรลุมรรคผล ซึ่งเป็นความต้องการที่มากเกินไป ลงมาอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี ก็คือจะได้หรือไม่ได้ก็ช่าง ขอพักก่อนก็แล้วกัน

กำลังใจช่วงนั้นก็ลงล็อคพอดี ทำให้ท่านสำเร็จมรรคผลในอิริยาบถที่ไม่เหมือนใคร เพราะว่าก้นก็นั่งอยู่บนเตียงข้างเดียว แขนก็ท้าวอยู่บนเตียงข้างหนึ่ง เท้าข้างหนึ่งยังแตะพื้นอยู่ อีกข้างหนึ่งยกขึ้นเพื่อที่จะขึ้นเตียง กลายเป็นท่าถึงมรรคผลที่ปกติจะมีอิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือนั่ง แต่ของท่านอยู่กึ่งกลางระหว่างอิริยาบถทั้งหมด เป็นต้น

ในเมื่อเราเห็นแล้วว่า ความอยากจนเกินไปเป็นเหตุให้เราได้อะไรช้า เราก็ต้องลดความอยากนั้นลง แต่เพิ่มความขยันมากขึ้น ฟังดูแล้วเหมือนขัดแย้งกัน แต่ไม่ใช่ คำว่าเพิ่มความขยันมากขึ้นก็คือ ต้องพยายามรักษากำลังใจของเราให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกในแต่ละวันให้มากที่สุด แต่ว่าไม่ใช่ไปมุ่งจ้องเอาว่า ตอนนี้กำลังใจของเราถึงระดับไหน

ขอให้รู้สึกแค่ว่า นิวรณ์ ๕ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสระหว่างเพศ ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนชวนขี้เกียจ ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญใจ ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลปฏิบัติ ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา ถ้าอย่างนี้ก็ถือว่า การปฏิบัติของเรามีผล กำลังใจของเราอยู่ในด้านดีมากกว่า เป็นต้น

ให้เราใจเย็น ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ไม่เร่งรัดเอามรรคผล แต่ทำไม่หยุด ถ้าลักษณะอย่างนี้ โอกาสที่จะเข้าถึงความดีของเราในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นการทรงฌานก็ดี การทรงกสิณก็ตาม หรือว่าการได้อภิญญาสมาบัติ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่เกินวิสัยที่เราจะพึงได้

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย นายกระรอก)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย นายกระรอก : 02-05-2019 เมื่อ 21:06
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา