ดูแบบคำตอบเดียว
  #22  
เก่า 25-03-2009, 20:02
วาโยรัตนะ วาโยรัตนะ is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 550
ได้ให้อนุโมทนา: 13,972
ได้รับอนุโมทนา 45,910 ครั้ง ใน 953 โพสต์
วาโยรัตนะ is on a distinguished road
Default

เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และมงกุฎยอดชัย พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี ๔ พระกร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง ๔ คือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามลักษณะในเทพปกรณัมของพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ตอนกุมภกรรณต้องศรพระรามสิ้นชีวิตว่า

"แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพักตร์จำรัสรัศมี
สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฏเป็นสี่กร
ทรงเทพอาวุธจักรสังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศร
จึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา"


และเมื่อเสริมรูปพระนารายณ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า
"นารายณ์ทรงสุบรรณ"

จากหลักฐานประเภทบันทึกการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ หรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำนี้ เข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๔ ซึ่งในขณะนั้น เรือลำนี้ยังไม่มีการเสริมรูปพระนารายณ์ ทั้งยังคงมีชื่อมงคลสุบรรณ

และอีกครั้งหนึ่งในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๒๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ส่วนเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงานและฝีพายประจำเรือนั้น มีปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ตอนที่ว่าด้วยการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคใน พ.ศ.๒๓๙๔ ว่า


"เรือมงคลสุบรรณ เรือศรีสุพรรณหงส์ นักสราชถือธงหักทองขวางหน้าเรือท้ายเรือ มีกลองชนะทำด้วยเงิน ลำละ ๕ คน เจ้าพนักงานเป็นนายกำกับลำ นุ่งปูม สวมเสื้อเข้มขาบโพกขลิบทอง ฝีพายลำละ ๖๕ คน ฝีพายใส่เสื้อสักหลาดขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิง ใช้พายทอง"

สันนิษฐานว่า ตัวเรือนารายณ์ทรงสุบรรณคงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จึงไม่พบหลักฐานการนำออกมาร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลต่อ ๆ มา คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งตามประวัติทราบว่า กระทรวงทหารเรือเก็บรักษาไว้จนถึงปี ๒๔๙๖ จึงมอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน

โขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่งานแกะสลักและปิดทองประดับกระจก ได้พัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด มีการคิดวิธีการประดับกระจกและลวดลายในการประดับกระจกขึ้นอีกหลายแบบ

นอกจากนั้น โขนเรือลำนี้ยังมีความสำคัญในด้านความหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุที่ลักษณะอันงดงามของโขนเรือลำนี้ สะท้อนคติความเชื่อในการเทิดทูนสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชของชาวไทยโบราณ ว่าทรงเป็นสมมติเทพ คือ ปางอวตารของพระผู้เป็นเจ้าตามคติของพราหมณ์ ที่มีอิทธิพลต่อภูมิปัญญาและความเชื่อของคนไทยร่วมกับคติพุทธศาสนา พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างยิ่งมีสองพระองค์ คือ พระอิศวร และพระนารายณ์

สำหรับคติความเชื่อในเรื่องสมมติเทพของคนไทยตั้งแต่โบราณนั้น ถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นปางอวตารขององค์พระเป็นเจ้าทั้งสอง รวมอยู่ในพระองค์เดียวกัน แต่ความเป็น "พระนารายณ์เป็นเจ้า" ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองพิทักษ์รักษาโลกนั้น ดูจะได้รับการนำมาเป็นสาระของสัญลักษณ์และขนบราชประเพณีมากเป็นพิเศษ ดังเช่น

การสร้างรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นลายหน้าบันพระอุโบสถของพระอารามหลวง หรือพระมหาปราสาทราชมณเฑียร การสร้างรูปสัตว์อันเป็นเทพพาหนะคือ ครุฑและสัตว์อื่นเป็นเทพบัลลังก์คืออนันตนาคราช เป็นโขนเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีหลายลำ ตลอดจนการสร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีเป็นเครื่องประกอบในพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระองค์สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า ก็ล้วนเป็นการเทิดทูนและยกย่องพระองค์ ให้มีพระราชสถานะและพระบรมเดชานุภาพ ดุจองค์พระนารายณ์ทั้งสิ้น

ดังนั้น การต่อเรือซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณนี้ น้อมเกล้าฯ ถวายในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก จึงนับว่าเป็นการเหมาะสม เพราะเท่ากับเป็นการเทิดพระเกียรติและเสริมส่งพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคติธรรมเนียมที่บรรพชนไทยได้ยึดมั่นสืบต่อมาแต่โบราณ


อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามเรือพระที่นั่งซึ่งต่อใหม่นี้ว่า
"เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙" ซึ่งจักปรากฏเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพ และเป็นพระเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน สืบไปชั่วกาลนาน



แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 02:44
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา