ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 03-11-2010, 09:52
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,457
ได้ให้อนุโมทนา: 151,110
ได้รับอนุโมทนา 4,400,194 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐

อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐

ปกติแล้วเวลาสวดมนต์ทำวัตรทั่วไป แม่ชีเขาจะสวดแยกต่างหาก เพราะว่าบทตอนท้ายตั้งแต่ จิระปรินิพพุตัมปิ ตัง *จะลงท้ายด้วย ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันนา นั่นเป็นเรื่องของพระ ของแม่ชีเขาจะสวดต่างหากออกไป

แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว พวกเราจัดอยู่ในประเภทสามัคคีชุมนุม ไม่ยอมแตกแยกกัน สวดตามกันไปเลย จะพระ จะเณร แม่ชี ฆราวาส สวดเหมือนกันหมด เล่น ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันนา เป็นพระกันไปหมด

วันนี้อาสาฬหบูชาแล้ว พรุ่งนี้จะเข้าพรรษา สมัยที่อยู่วัดท่าซุง "หลวงพ่อ"**จะให้อธิษฐานพรรษาตั้งแต่วันนี้ เพราะว่านับหัวท้ายจะได้ครบ ๙๐ วันพอดี เนื่องจากว่าในระเบียบของการรับกฐิน*** ระบุว่า ให้แก่ภิกษุที่จำพรรษาในวัดครบถ้วนไตรมาส

คราวนี้ถ้าหากว่าไม่ครบ ดีไม่ดีจะไม่มีสิทธิ์รับ เพราะฉะนั้นว่า..ถ้าหากตามสายของวัดท่าซุง จะอธิษฐานพรรษาตั้งแต่วันนี้ แล้วไปปวารณาออกพรรษาโน่น..วันตักบาตรเทโว ก็แปลว่าหัวท้ายจะได้ ๙๐ วันถ้วน ถ้านับอย่างที่อื่นเขาก็ได้ถึง ๙๒ วัน

พวกเราพอตื่นเช้าขึ้นมา เราก็มานั่งกรรมฐาน แล้วก็ต่อด้วยทำวัตร หาอาหารใจให้ตัวเอง ถ้าไม่หาให้เดี๋ยวเราจะอดตาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า อาหารนั้นมี ๔ อย่าง****ได้แก่

๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ได้แก่ ข้าว น้ำ เป็นต้น
๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก เป็นต้น
๓. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น
๔. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความมุ่งมั่นของใจ

แต่ถ้าเรามาสรุปอย่างง่าย ๆ มี ๒ อย่าง คืออาหารกายกับอาหารใจ อาหารกายใช้หล่อเลี้ยงร่างกาย พวกข้าว กับ น้ำ ขนม อะไรพวกนั้น ส่วนอาหารใจ ก็คือ สิ่งที่เราส่งเข้าไปหล่อเลี้ยงใจของเราเอง

ปัจจุบันนี้แล้ว คนส่วนใหญ่จะมีแต่อาหารกาย กินได้อย่างเดียว อาหารใจไม่ค่อยมี เพราะว่าห่างวัด ห่างการปฏิบัติ พออาหารใจไม่มี ก็จะรู้สึกอยู่เสมอว่าตัวเองขาดอะไรไปอย่าง แล้วก็ตะเกียกตะกายไขว่คว้าหามาจนจะทับตัวเองตาย

หมายเหตุ :
*พระครูอรุณธรรมรังษี : มนต์พิธี : อักษรสมัย(๑๙๙๙): กรุงเทพฯ: พ.ศ. ๒๕๔๒
**พระราชพรหมยาน(วีระ ถาวโร ป.ธ. ๔) วัดจันทาราม(ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
***พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕: มหาวรรค ภาค ๒ : กฐินขันธกะ
****ที.ปา. ๑๑/๒๔๔-๒๔๐: ม.มู. ๑๒/๑๑๓/๘๗: สํ.นิ. ๑๖/๒๔๕/๑๒๒: อภิ.วิ. ๓๕/๑๐๘๑/๕๔๓
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-11-2010 เมื่อ 17:12
สมาชิก 90 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา