ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 19-07-2009, 01:30
สายท่าขนุน สายท่าขนุน is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 759
ได้ให้อนุโมทนา: 160,001
ได้รับอนุโมทนา 133,088 ครั้ง ใน 5,305 โพสต์
สายท่าขนุน is on a distinguished road
Wink พระอาจารย์มั่นตอบคำถามชาวกรุงเทพฯ

หลังจากที่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กลับจากเชียงใหม่ เข้าพำนักที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
ตามคำสั่งของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ก่อนเดินทางไปอุดรธานี
ในระยะที่ท่านพักอยู่ที่นั้น ปรากฏว่ามีคนมาถามปัญหากับท่านมาก
มีปัญหาของบางรายที่แปลกกว่าปัญหาทั้งหลาย ซึ่งมีดังนี้

(จาก “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ชาวกรุงเทพฯ : ได้ทราบว่าท่านรักษาศีลองค์เดียว มิได้รักษาถึง ๒๒๗ องค์ เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช่ไหม

หลวงปู่มั่น : ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว

ชาวกรุงเทพฯ : ที่ท่านรักษาเพียงอันเดียวนั้นคืออะไร

หลวงปู่มั่น : คือใจ

ชาวกรุงเทพฯ : ส่วน ๒๒๗ นั้นท่านไม่ได้รักษาหรือ

หลวงปู่มั่น : อาตมารักษาใจไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
จะเป็น ๒๒๗ หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาที่เป็นข้อบัญญัติห้าม อาตมาก็เย็นใจว่า ตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ
ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล ๒๒๗ หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิดจะพูดเอาตามความคิดของตน
เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกายวาจาอย่างเข้มงวดกวดขันตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบท

ชาวกรุงเทพฯ : การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือ

หลวงปู่มั่น : ถ้าไม่รักษาใจจะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้
นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้น จะไม่ต้องรักษาใจ แม้กายวาจาก็ไม่จำต้องรักษา
แต่ความเป็นเช่นนั้นของคนตายนักปราชญ์ท่านไม่ได้เรียกว่าเขามีศีล
เพราะไม่มีเจตนาเป็นเครื่องส่องแสดงออก
ถ้าเป็นศีลได้ควรเรียกได้เพียงว่า ศีลคนตาย ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ตามคำเรียกแต่อย่างใด
ส่วนอาตมามิใช่คนตายจะรักษาศีลแบบคนตายนั้นไม่ได้
ต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมกับใจเป็นผู้ทรงไว้ทั้งบุญทั้งบาปอย่างตายตัว

ชาวกรุงเทพฯ : ได้ยินในตำราว่าไว้ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล
จึงเข้าใจว่าการรักษาศีลไม่จำเป็นต้องรักษาใจก็ได้ จึงได้เรียนถามอย่างนั้น


หลวงปู่มั่น : ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยนั้นก็ถูก แต่กายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้นต้นเหตุมาจากอะไร
ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนายคอยบังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก
เมื่อเป็นมาจากใจ ใจจะควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง
จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตัวเอง และน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้
ไม่เพียงแต่ศีลธรรมที่จำเป็นต้องอาศัยใจเป็นผู้คอยควบคุมรักษาเลย
แม้กิจการอื่น ๆ จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยดี
การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาดและทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน
การรักษาโรคเขายังค้นหาสมุฏฐานของมัน จะควรรักษาอย่างไรจึงจะหายได้เท่าที่ควร ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่อไป
การรักษาศีลธรรมไม่มีใจเป็นตัวประธานพาให้เป็นไป
ผลก็คือความเป็นผู้มีศีลด่างพร้อย ศีลขาดศีลทะลุ ความเป็นผู้มีธรรมที่น่าสลดสังเวช
ธรรมพาอยู่ธรรมพาไปอย่างไม่มีจุดหมาย ธรรมบอ ธรรมบ้า ธรรมแตก
ซึ่งล้วนเป็นจุดที่ศาสนาจะพลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วยอย่างแยกไม่ออก
ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา และไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเลย

อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยวและอยู่ตามป่าตามเขา
เรียนธรรมก็เรียนไปกับต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำธาร หินผาหน้าถ้ำ เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา
เสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ตามทัศนียภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง
ไม่ค่อยได้เรียนในคัมภีร์ใบลานพอจะมีความรู้แตกฉานทางศีลธรรม
การตอบปัญหาจึงเป็นไปตามนิสัยของผู้ศึกษาธรรมเถื่อน ๆ
รู้สึกจนปัญญาที่ไม่สามารถค้นหาธรรมที่ไพเราะเหมาะสมมาอธิบายให้ท่านผู้สนใจฟังอย่างภูมิใจได้

ชาวกรุงเทพฯ : คำว่าศีลได้แก่สภาพเช่นไร และอะไรเป็นเป็นศีลอย่างแท้จริง

หลวงปู่มั่น : ความคิดในแง่ต่าง ๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร
ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกายวาจาใจให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ
ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมาชื่อว่ามีสภาพปกติ ไม่คะนองทางกายวาจาใจให้เป็นกิริยาที่น่าเกลียด
นอกจากความปกติดีงามทางกายวาจาใจของผู้มีศีลว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว
ก็ยากจะเรียกให้ถูกได้ว่าอะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก
ไม่เหมือนตัวบ้านเรือนกับเจ้าของบ้านเรือนซึ่งเป็นคนละอย่าง ที่พอจะแยกกันออกได้ไม่ยากนัก
ว่านั่นคือตัวบ้าน และนั่นคือเจ้าของบ้าน ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้นเป็นการลำบาก
เฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้ แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกไม่ออก
ถ้าแยกออกได้ศีลก็อาจกลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตลาดไปนานแล้ว
และอาจจะมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของเช่นเดียวกับสมบัติอื่น ๆ
ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอาที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน เพราะได้มาก็ไม่ปลอดภัย
ดังนั้น ความไม่รู้ว่า “อะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง” จึงเป็นอุบายวิธีหลีกภัยอันอาจเกิดแก่ศีล และผู้มีศีลได้ทางหนึ่ง
อย่างแยบยลและเย็นใจ อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้ เพราะระวังภัยยาก
แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกว่าอยู่สบาย ไปไหนมาไหนและอยู่ที่ใดไม่ต้องเป็นห่วงว่าศีลจะหาย
ตัวจะตายจากศีล และกลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีลเช่นเดียวกับคนเป็นห่วงสมบัติ
ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์ ไม่มีวันไปผุดไปเกิดได้ฉะนั้น
__________________
การรักษากำลังใจสำคัญที่สุด...ได้ดีอย่าฟู แล้วขณะเดียวกันว่า ถ้าได้ร้ายก็อย่าฟุบ ให้เห็นว่ามันเป็นปกติของมัน เรื่องของมัน
ถ้ามันดีมาพออาศัยได้ก็ดีกับมันไป ถ้าหากว่ามันไม่ดีมา เราอยู่กับมันก็ให้รู้อยู่มีสติอยู่ ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไปอยู่แล้ว...
กำลังใจของเราพลาดแม้แค่วินาทีเดียวนี่ อาจจะหมายถึงแพ้ทั้งกระดาน

อะไรมันก็ไม่เจ็บปวดเท่ากับต้องเกิดใหม่ มันเป็นทุกข์ เป็นโทษสุด ๆ จริง ๆ
กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๕๑
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 132 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สายท่าขนุน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา