ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 17-11-2011, 11:11
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,554 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

๗. “ให้สังเกตอารมณ์จิต ในช่วงที่ได้พักผ่อนเพียงพอกับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีอารมณ์ต่างกันอย่างไร จิตที่มีร่างกายพักผ่อนเพียงพอมีอารมณ์ผ่องใสมากกว่า และพิจารณาธรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็จงอย่าเพลิดเพลินกับการนอนมากจนเกินไป จักเป็นการติดสุขในการนอน พึงหาความพอดีให้พบระหว่างกายกับจิตนี้ ตรากตรำกายมากเกินไปก็ทุกข์เป็นอัตกิลมถานุโยค พึงระมัดระวังอย่าให้ไปตกอยู่ในส่วนสุด ๒ ประการนี้ พยายามหามัชฌิมาปฏิปทาของกายกับจิตให้พบ แล้วแต่ละคนพึงหาความพอดีของตนเองให้พบ แล้วการปฏิบัติธรรมไปย่อมจักมีผลดีได้

๘. “ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ความเบื่อหน่ายอันเป็นนิพพิทาญาณจักได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง มิใช่เบื่อ ๆ อยาก ๆ อยู่เช่นในปัจจุบัน ให้เห็นโทษของการมีร่างกาย มันเต็มไปด้วยภาระและความทุกข์อยู่ตลอดเวลา (ภาราหะเว ปัญจักขันธา) ให้เห็นความเสื่อมของร่างกายหรือขันธ์ ๕ เมื่อวานนี้และตลอดมาจนถึงวันนี้ ให้จิตหมั่นกำหนดรู้อยู่อย่างนี้ ไม่คลายจากอารมณ์พิจารณาธาตุ ๔ หรือขันธ์ ๕ จิตก็ทรงอยู่ในอำนาจของวิปัสสนาเป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำไป วางภาระภายนอกทิ้งไป เอาเวลามาทำกิจภายในให้เป็นกิจลักษณะเสียที อย่าเป็นผู้มีภาระมาก เรื่องของคนอื่นปล่อยวางเสีย

๙. “การที่รู้สึกมีอารมณ์เบื่อนั้นเป็นของดี แต่พึงรักษาอารมณ์อย่าให้เบื่อมากจนเกินไป จนเกิดเป็นความเศร้าหมองของจิต ความเบื่อขันธ์ ๕ เป็นของดี เพราะทุกภพ-ทุกชาติพวกเจ้าไม่เคยเบื่อขันธ์ ๕ ด้วยเหตุของการพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริงอย่างปัจจุบันนี้ ในอดีตหรืออดีตชาติที่ผ่านมา ถ้าหากจักเบื่อ ก็เบื่อด้วยเหตุภายนอกเข้ามาเป็นปัญหากระทบกระทั่งใจ ถือว่าเป็นอารมณ์เบี่อที่เจือไปด้วยความกลัดกลุ้มใจ มิใช่อารมณ์เบื่ออย่างในปัจจุบัน (เบื่อจากภายนอกกับเบื่อจากภายใน) ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอารมณ์เบื่อ ก็ต้องดูต้นเหตุให้ถึงที่สุดของความเบื่อจริง ๆ แล้วจักปลดอารมณ์ราคะและปฏิฆะได้ แต่ให้ระวังกำลังใจเบื่อไม่จริงเอาไว้ให้ดี กิเลสมารมันจักหลอกจิตได้ง่าย เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งแน่ใจในความเบื่อ ให้ค่อย ๆ ดูไป และพยายามเบื่ออย่างเบา ๆ อย่าให้อารมณ์เบื่อมันรุนแรงมากเกินไป จักทำให้เกิดอารมณ์เป็นทุกข์เสียประโยชน์เปล่า ๆ พยายามใช้ปัญญาพิจารณาให้มาก อย่าใช้สัญญาคือความจำตัวเดียว จักไม่ได้มรรคผลที่แท้จริง

๑๐. “อย่าสนใจกับร่างกายให้มากจนเกินไป ให้พิจารณาจนเข้าใจถึงกฎธรรมดาด้วยว่า เมื่อเกิดมามีร่างกายแล้ว ก็จักต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย นี่เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นกฎของธรรมดาอันนี้ไปได้ สำคัญอยู่ที่จิตของพวกเจ้ายอมรับนับถือกฎธรรมดาได้มากแค่ไหน จุดนี้พึงพิจารณาให้มาก เพราะเป็นการเตรียมจิตเพื่อละซึ่งขันธ์ ๕ ให้ได้จริง ๆ ในยามที่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จักเข้ามาถึงร่างกายในกาลข้างหน้า คำว่ากาลข้างหน้าอย่าไปคิดว่าอีกนาน เพียงขณะจิตเดียวนี้ผ่านไป ขณะจิตเดียวข้างหน้าจักเข้ามา นั่นก็เป็นกาลข้างหน้าแล้ว และไม่พึงมีความประมาทในชีวิต เพราะร่างกายเป็นของเปราะบาง จักถึงแก่ความตายเมื่อไหร่ก็ได้ อย่าคิดว่าจิตเราพร้อม เหตุการณ์ที่ประสบอุบัติเหตุไฟดูดนั่นแหละ เป็นบทเรียนสอนจิตของเจ้าได้เป็นอย่างดี อย่างคุณหมอเคยคิดซ้อม ๆ เอาไว้ว่า ถ้ามีคนเอาปืนมาจ่อยิง จักเตรียมจิตพุ่งไปพระนิพพาน นั่นมันเป็นเพียงแค่คิดยังไม่ใช่ของจริง เพราะของจริง.. คำว่าอุบัติเหตุ คือเหตุที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน จุดนี้ถ้าจิตไม่มีพระนิพพานให้มั่นคงแล้ว อย่างไรก็เตรียมจิตไม่ทันแน่(ก็คิดสงสัยว่า แม้แต่พระโสดาบันด้วยหรือ) ทรงตรัสว่า “เจ้าอย่าลืมสิ พระโสดาบันมี ๓ ระดับ ยังต้องเกิดเป็นมนุษย์ ๑ ชาติ ๓ ชาติ ๗ ชาติ เพียงแต่เมื่อถึงพระโสดาบันแล้ว ตายไปจะไม่ตกสู่อบายภูมิ ๔ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น พึงซ้อมจิตเตรียมรับอุบัติเหตุทุกรูปแบบเข้าไว้ให้ดี ๆ”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-11-2011 เมื่อ 12:27
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา