ชื่อกระทู้: ช่างสิบหมู่
ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 23-03-2009, 20:27
วาโยรัตนะ วาโยรัตนะ is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 550
ได้ให้อนุโมทนา: 13,972
ได้รับอนุโมทนา 45,909 ครั้ง ใน 953 โพสต์
วาโยรัตนะ is on a distinguished road
Default

งานขั้นที่สาม นำเอาพื้นซึ่งทาสมุกและบ่มแห้งแล้วมาขัดปราบหน้าสมุกให้เรียบเสมอกันดี จึงชะล้างผิวพื้นให้หมดจดและสะอาด เช็ดน้ำแล้วผึ่งให้แห้ง
งานขั้นที่สี่ คือการลงรักหรือทารักน้ำเกลี้ยงลงเป็นพื้นให้ทั่วหน้าพื้นและเสมอกัน กวดหน้ารักให้เรียบเกลี้ยง จึงบ่มรักซึ่งทาลงเป็นพื้นนี้ให้แห้ง แล้วนำพื้นนี้กลับมาทารักน้ำเกลี้ยงทับอีกสองครั้งโดยต้องบ่มให้แห้งสนิทเสียก่อน ในแต่ละครั้ง
งานขั้นที่ห้า คือการปอกหน้ารัก งานขั้นนี้เป็นการนำเอาพื้นซึ่งทาหรือลงรักน้ำเกลี้ยงไว้ถึงสามขั้นนั้นมาขัด ปอกหน้ารักด้วยหินฟองน้ำ ขัดปอกผิวรักซึ่งทาไว้ให้เรียบเกลี้ยง จึงชะล้างให้หมดคราบขี้รักและสะอาด จึงเช็ดน้ำ แล้วผึ่งให้แห้ง
งานขั้นที่หก นำเอาพื้นที่ได้ปอกหน้ารักเรียบร้อยแล้ว มาทาหรือลงรักน้ำเกลี้ยงด้วยแปรงจีนให้หนาขึ้นพอสมควร และต้องให้เสมอกันทั่วพื้น จึงบ่มรักให้แห้งสนิท
งานขั้นที่เจ็ด ปอกผิวและเก็บรอย โดยการนำเอาพื้นซึ่งทารักบ่มรักแห้งสนิทแล้วปอกผิว ด้วยการใช้ผงถ่านไม้ผสมน้ำเล็กน้อยขัดแต่เบา ๆ มือ ชะล้างคราบขี้รักออกให้หมดและสะอาด เช็ดและผึ่งให้แห้งจึงทำการเก็บรอยต่อไปจนไม่มีรอยเป็นตำหนิจึงชะล้างทำความสะอาด และผึ่งให้แห้ง
งานขั้นที่แปด เป็นขั้นตอนท้ายสุดคือ "การเช็ดรักชักเงา" ด้วยการใช้สำลีปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเล็ก ๆ หรือจะใช้สำลีห่อด้วยผ้าเนื้อนุ่ม ๆ ทำเป็นลูกประคบขนาดเล็กแตะรักน้ำเกลี้ยงเล็กน้อย เช็ดถูแต่บาง ๆ ให้ทั่วผิวหน้าพื้น จึงบ่มให้แห้งประมาณ ๑ คืน เป็นสำเร็จการเตรียมพื้นสำหรับงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ


การร่างและทำแบบโรยเพื่อถ่ายแบบ เป็นงานขั้นเตรียมการขั้นที่สอง คือการร่างแบบลวดลายหรือรูปภาพขึ้นตามความคิดและวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ปรากฏ เป็นลายเป็นภาพที่ชัดเจน ถูกต้องและสวยงามมีคุณค่าแก่งานเขียนที่จะเป็นผลสำเร็จต่อไป
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำนี้ช่างเขียนไม่สู้นิยมเขียนร่างลวดลายหรือรูปภาพลงบนพื้นรักซึ่งได้เตรียมขึ้นไว้เป็นอย่างดีแล้วนั้น แต่จะเขียนร่างแบบลวดลายหรือรูปภาพขนาดเท่าจริงลงบนแผ่นกระดาษขนาดเท่ากับพื้นที่จะเขียนน้ำยารดน้ำปิดทอง เรียกว่า "แบบร่าง" การเขียนร่างเส้นขึ้นเป็นลวดลาย เป็นรูปภาพตามอย่างโบราณวิธีนี้ เรียกว่า "ผูกลาย" และ "ผูกภาพ"
เมื่อจัดทำแบบร่างขึ้นสำหรับเป็นแบบเพื่อเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำสำเร็จแล้ว ก็จัดทำ "แบบโรย" เพื่อถ่ายแบบร่างลงบนพื้นซึ่งจะได้ทำการเขียนน้ำยาต่อไป
การทำแบบโรยนี้ก็คือใช้กระดาษหรือรูปภาพไว้นั้นนำมาปรุด้วยเข็มให้เป็นรูเล็ก ๆ ต่อเนื่องกันไปบนเส้นร่างบนกระดาษแบบร่าง ปรุตามเส้นร่างไปจนครบถ้วนทุกเส้นเป็นเสร็จการเตรียมแบบโรยที่จะได้ใช้ถ่ายแบบลวดลายหรือรูปภาพลงบนพื้นซึ่งเตรียมไว้แล้ว
การคุมน้ำยาหรดาน หรือการผสมน้ำยาหรดาน มีสิ่งประกอบร่วมกัน คือ ผงหรดาน น้ำยางมะขวิด และน้ำต้ม ฝักส้มป่อย นำสามสิ่งนี้ใส่โกร่งดินตามส่วนที่ต้องการ กวนให้เข้ากันเป็นอย่างดี จึงใส่น้ำมะนาวลงผสมเล็กน้อย ก็จะได้น้ำยาหรดานพร้อมที่จะใช้เขียนลงบนพื้นต่อไป
การเขียนน้ำยาหรดาน เป็นงานขั้นปฏิบัติการเขียนให้เกิดเป็นลวดลาย หรือรูปภาพขึ้นบนพื้นซึ่งได้ทารักไว้ เริ่มต้นด้วยการนำแบบโรยมาวางทาบทับให้แนบสนิทกับพื้นซึ่งได้ผ่านการเตรียมทารักมาเป็นอย่างดีแล้ว จัดการตรึงแบบโรยอย่าให้เคลื่อนหรือเลื่อนไปมาได้ ใช้ลูกประคบซึ่งห่อผงดินสอพอง วางลงบนหน้าแบบโรยให้ทั่ว ผงดินสอพองจะรอดออกจากห่อผ้าผ่านรูซึ่งปรุบนแบบโรยลงไปติดอยู่บนพื้นรักที่ข้างใต้แบบโรย เมื่อทำให้ผงดินสอพองโรยตัวผ่านแบบโรยลงไปติดที่พื้นรักทั่วแผ่นแล้ว ยกแบบโรยขึ้นจากพื้นรักก็จะเห็นผงดินสอพองติดบนพื้นสีดำ เป็นจุด ๆ เรียงกันแทนเส้นร่างเหมือนกับแบบ ซึ่งร่างขึ้นเป็นลายเส้น เรียกว่า การถ่ายแบบหรือการโรยแบบ แล้วจึงจับการเขียนน้ำยาหรดานต่อไป
การเขียนน้ำยาหรดาน ต้องใช้สะพานรองมือวางพาดให้มือลอยอยู่เหนือพื้นที่จะเขียน เพื่อรองรับมือขณะเขียนน้ำยา มิฉะนั้นอาจเผลอไปถูกเส้นร่างที่โรยแบบไว้ลบเลือนกับป้องกันมิให้เหงื่อไปถูกส่วนที่เขียนน้ำยาหรดานไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้น้ำยาชื้นหลุดถอนออกมาเสียก่อนในขณะเขียนน้ำยาส่วนอื่นที่ยังไม่แล้วเสร็จ หรืออาจเป็นเหตุให้น้ำยาหลุดถอน ในตอนที่เช็ดรักเพื่อปิดทองต่อไปได้

งานเขียนน้ำยาหรดาน ทำด้วยการใช้พู่กันขนาดเล็ก ขนพู่กันยาวเป็นพิเศษ จุ่มน้ำยาหรดานพอประมาณ เขียนลากเส้นทับไปบนเส้นร่างที่เป็นเส้นจุดไข่ปลาที่เกิดจากผงดินสอพองที่ได้โรยไว้ ภาษาช่างเรียกวา "ถมเส้น" หรือ "ทับเส้น" เมื่อเขียนน้ำยาหรดานทับเส้นร่างครบถ้วนแล้ว จึงใช้พู่กันดอกเขื่องขึ้นเล็กน้อยจุ่มน้ำยาหรดานเขียนระบายลงในช่องไประหว่างลวดลายหรือระหว่างรูปภาพในส่วนที่ต้องการให้เป็นพื้นสีดำ ภาษาช่างเรียกว่า "ถมพื้น" หรือ "ล้วงพื้น" เมื่อได้ทำการเขียนน้ำยาหรดานลงบนพื้นรักเสร็จครบถ้วนตรงตามแบบร่างหรือแบบโรยแล้ว ผึ่งให้น้ำยาแห้งสักระยะเวลาหนึ่ง เส้นแสดงรายละเอียดของลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่เป็นช่องไฟ จะปรากฏเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ คือสีของน้ำยาหรดานนั่นเอง พร้อมกันก็จะเห็นลวดลายหรือรูปภาพเป็นสีดำคือสีพื้นรักเดิม ซึ่งมิได้เขียนหรือระบายน้ำยาถมหรือปิดเอาไว้ ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นสีทองเมื่อผ่านขั้นตอนต่อไป
งานปฏิบัติการขั้นต่อไป เป็นการ "เช็ดรัก" เพื่อปิดทองคำเปลวทำให้เกิดเป็นลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ การเช็ดรักนี้ต้องใช้ "รักเช็ด" หรือ "รักเคี่ยว" คือรักน้ำเกลี้ยงนำมาใส่ภาชนะตั้งไฟอ่อน ๆ เคี่ยวเพื่อขับน้ำซึ่งเจืออยู่ ตามธรรมชาติในรักน้ำเกลี้ยงให้ระเหยออกและยางรักนั้นงวดตัวมีความเหนียวขึ้น รักน้ำเกลี้ยงซึ่งผ่านการเคี่ยวได้ที่แล้วนี้ เรียกว่า "รักเช็ด" สำหรับทาพื้นโดยเฉพาะเพื่อปิดทองคำเปลว งานเช็ดรักทำด้วยการใช้สำลีปั้นเป็นก้อนกลม เล็ก ๆ แตะรักเช็ดแต่น้อย ทาถูลงบนผิวพื้นซึ่งได้เขียนน้ำยาหรดานไว้และน้ำยาแห้งสนิทดีแล้วแต่เพียงบาง ๆ ทาให้ทั่วพื้นที่ แล้วใช้สำลีปั้นก้อนเช่นเดียวกันเช็ดรักที่ทาไว้นี้เพื่อ "ถอน" คือเช็ดรักออกเสียบ้าง ให้เหลือรักเช็ดติดไว้เพียงบาง ๆ จึงจะปิดทองคำเปลวได้งามดี นำทองคำเปลวมาปิดลงบนพื้นที่ได้เช็ดรักไว้ให้เต็มทั่วพื้นที่ทั้งหมด การปิดทองคำเปลวนี้อาจใช้แปรงจีนช่วยในการ "กวดทอง" หรือกดหรือลูบแผ่นทองคำเปลวให้แนบติดกับพื้นที่ได้ เช็ดรักไว้ให้สนิท
งานขั้นสุดท้ายที่สุดสำหรับการเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ คือ "การรดน้ำ" โดยนำเอาชิ้นงานที่ได้ปิดทองคำเปลวสำเร็จแล้วมารดน้ำ ทำให้น้ำยาหรดานที่ได้เขียนปิดเส้นถมพื้นไว้นั้นพองตัว และหลุดถอนออกจากพื้น คงเหลืออยู่แต่ลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ เป็นสีทองคำเปลวบนพื้น มีลายเส้นแบ่งส่วนที่เป็นรายละเอียดของลวดลาย หรือรูปภาพและพื้นที่เป็นช่องไฟเป็นสีดำขึ้นมาแทนที่ในส่วนที่ได้เขียนปิดเส้นและถมพื้นไว้ด้วยน้ำยาหรดานมาแต่แรก
การรดน้ำนี้ คือเอาน้ำสะอาดมาโกรกบนพื้นที่ได้ปิดทองคำเปลวนั้นให้เปียกชุ่ม ใช้กระดาษฟางที่แหนบแผ่นทองคำเปลวชุบน้ำช่วยชำระให้น้ำยาหรดานหลุดถอนออกจากพื้นจนหมด เมื่อลวดลายหรือรูปภาพที่เป็นสีทองผุดขึ้นชัดเจน ทั่วทั้งหมดบนชิ้นงานนี้แล้ว จึงล้างทำความสะอาดและเช็ดแต่เพียงเบา ๆ ผึ่งทองรดน้ำสำเร็จสมบูรณ์
งานในหน้าที่ของช่างเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ ซึ่งมีประจักษ์พยานที่เป็นงานตกทอดมาแต่อดีตเหลือให้เห็นได้ในปัจจุบันที่เป็นประเภทเครื่องอุปโภคได้แก่ ฝาและบานตู้หนังสือ ใบประกับหน้าคัมภีร์ พานแว่นฟ้า ตะลุ่ม หน้าฆ้อง
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทครุภัณฑ์ ได้แก่ ฉากบังตา ลับแล ม้าหมู่ เตียง
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทองค์ประกอบสถาปัตยกรรมได้แก่ ฝาผนัง อาคาร เสาภายในอาคาร บานประตู บานหน้าต่าง
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทยานพาหนะ ได้แก่ งานเขียนลายตกแต่งหัวเรือหลวง เขียนลายแผงห้อย ข้างอานม้า
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทเครื่องอาวุธ ได้แก่ ลายตกแต่งเขน โล่ ดั้ง ลายฝักดาบ หอก ทวน ง้าว เป็นต้น

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วาโยรัตนะ : 23-03-2009 เมื่อ 21:01
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา