ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 12-01-2012, 11:56
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,549 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

๒.๖ ยิ่งร่างกายมันไม่ดี ยิ่งต้องหมั่นพิจารณาดูสภาพของร่างกายตามความเป็นจริง ให้จิตยอมรับนับถือสภาพของร่างกาย ที่มันแก่ มันเสื่อม มันป่วยอยู่อย่างนี้เป็นธรรมดา แม้ความตายจักเข้ามาถึง มันก็เป็นปกติธรรมของร่างกาย พิจารณาเข้าไว้ แล้วตั้งจิตให้มั่นคงว่า ร่างกายอย่างนี้จักไม่มีกับเราอีก ตายเมื่อไหร่ไม่ขอมีร่างกายเช่นนี้อีก มนุษยโลก-เทวโลก-พรหมโลกก็ไม่ปรารถนา หวังอยู่จุดเดียวคือพระนิพพาน จุดนี้พยายามรักษาให้ทรงอยู่ในอารมณ์ของจิตเข้าไว้

๒.๗ อย่าไปหาธรรมภายนอก ให้หาที่กายและจิตเรานี่แหละ อริยสัจแปลว่า ความจริงที่ตถาคตเป็นผู้พบเป็นบุคคลแรกในโลก ได้พิสูจน์แล้วด้วยตนเองจนบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จึงนำมาสอนให้ผู้อื่นบรรลุตาม โลกไม่เที่ยงหมายความว่า โลกภายนอกมันไม่เที่ยงอยู่เป็นปกติ แก้ไขอะไรไม่ได้ โลกภายในคือขันธโลกหรือร่างกาย (ขันธ์ ๕) ก็ไม่เที่ยง แต่ขันธโลกประกอบด้วยกายกับจิต (ใจ) กายเป็นสมบัติของโลก ซึ่งไม่มีใครเอาไปได้ มันก็แสดงไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงของมันอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาหาความจริงให้พบ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ หากธาตุใดธาตุหนึ่งหย่อนลงไป ก็ทำให้ความเจ็บไข้ไม่สบายปรากฏ สร้างให้เกิดทุกขเวทนาแก่ร่างกาย แล้วจิตนั่นแหละเป็นผู้รับรู้แห่งเวทนานี้ ดังนั้นตราบใดที่ยังมีร่างกาย ก็ย่อมจักหนีสภาวะธรรมของร่างกายที่ไม่เที่ยงอยู่นี้ไม่พ้น จงพิจารณาให้ถึงซึ่งความเบื่อหน่ายในร่างกาย ให้ถึงซึ่งความวางเฉยในร่างกายลงได้ เมื่อนั้นแหละ จิตจึงจักสิ้นทุกข์ และอารมณ์นั้นจักถึงพระนิพพานได้โดยง่าย ด้วยความปรารถนาในร่างกายนี้ไม่มีในจิตอีกต่อไป ทุกวันนี้ที่ยังทุกข์อยู่ เพราะจิตยังห่วงร่างกายของตนเองบ้าง ของผู้อื่นบ้าง จักด้วยจุดประสงค์อะไรก็เป็นทุกข์อยู่ดี ให้สอนจิตให้ดี ๆ จักได้รู้จักปล่อยวางได้ ชีวิตล่วงไป ความตายก็ใกล้เข้ามา อย่าเอาแต่ห่วงคนอื่น ให้ห่วงจิตของตนเองเป็นสำคัญ ตรวจสอบจิตดูว่า จิตปล่อยวางร่างกายของตนเองได้บ้างหรือยัง ติดตรงไหนให้แกะตรงนั้น ดูให้เห็นจริง ๆ นะ จึงจักแกะได้

๒.๘ พระอริยเจ้ายิ่งปฏิบัติไป ท่านจะไม่เบียดเบียนกายและจิต ท่านจะถนอมรักษาร่างกายตามที่จะสามารถรักษาได้ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาเบียดเบียนจิต เพื่อจะทำให้จิตได้ดำเนินงานคือ เจริญพระกรรมฐานไปได้สะดวก ปัจจุบันของท่านอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่ห่วงร่างกายแต่ทำหน้าที่ให้กับร่างกาย โดยยึดหลักเมตตาในพรหมวิหาร ๔ ต้องไม่เบียดเบียนกายและจิต เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป (ไม่ตึงไป-ไม่หย่อนไป ใช้หลักสายกลาง) แต่ถ้ากายจะตายก็ปล่อยวาง เพราะห้ามตายไม่ได้ จุดนี้แหละคือมัชฌิมาของกายและจิต คำว่าพระอรหันต์คือ ท่านเลิกเบียดเบียนกายกับจิตของตนเอง ด้วยเหตุของการพิจารณาเห็นกายกับจิตตามความเป็นจริง จุดนั้นแหละ จึงจักหาความพอดีของกายกับจิตได้ จุดนี้ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง แล้วจักเห็นได้ชัดว่ามีธรรมละเอียดซ่อนอยู่ เมื่อพบแล้วจักรู้ได้ถึงคำว่าไม่เบียดเบียนทั้งกายและจิต ตรัสไว้แค่นี้ให้พวกเจ้าเก็บไปพิจารณาให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป

๒.๙ ตราบใดที่ยังไม่ถึงซึ่งพระนิพพาน อย่าให้จิตทิ้งบุญ เพราะปกติจิตของเรามักจะไหลลงสู่เบื้องต่ำ คือใฝ่หาบาป ชอบทำจิตของตนเองให้เศร้าหมองอยู่เสมอ บุญนี่แหละจะสะสมให้เป็นกำลังเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ใครมีกำลังใจทำบุญทำทานในระดับไหนก็ได้ชื่อว่าบุญ จงอย่าไปขัดศรัทธาของเขา จิตของคนเกาะบุญไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อเขาได้ทำตามความพอใจของเขา จิตเขาก็เป็นสุข ดังนั้น ใครอยากทำบุญทำทานในระดับไหน เพื่อความสุขของจิตก็อย่าไปขัด และให้รับได้หมดทุกประการ ในขณะที่ฟังคนอื่น ๆ เขาคุยถึงการทำบุญทำทานในระดับไหน ๆ ก็ตาม หรือแม้แต่ซื้ออาหารเลี้ยงปลา ปล่อยสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ให้ถือว่าเป็นบุญ จิตเขาเป็นสุขดีกว่าให้จิตเขาเป็นบาป

๒.๑๐ จักเจริญกรรมฐานให้ได้ดีจักต้องตัดอาลัยในชีวิต อย่าไปหดหู่กับร่างกาย ให้เห็นธรรมดาของร่างกาย มันจักป่วยก็เป็นธรรมดา มันจักตายก็เป็นธรรมดา การเจริญพระกรรมฐานเป็นการฝึกจิต ให้ยอมรับกฎธรรมดาของร่างกายตามความเป็นจริง อย่าท้อแท้อ่อนแอจักไม่มีผล พิจารณาจุดนี้ให้ดี ๆ จิตของเจ้าเวลานี้ แย่ตรงที่ท้อแท้หดหู่อยู่กับสภาพร่างกาย ที่มันมีแต่ทรุดโทรมลงไปทุกขณะ แล้วจิตไม่ยอมรับกฎธรรมดาของร่างกาย ต้องปรับปรุงกำลังใจเสียใหม่ พิจารณาให้ตก อารมณ์นี้อันตราย เพราะจิตเศร้าหมอง อย่าไปสนใจจริยาของผู้อื่น ให้ตั้งใจทำความดีเพื่อพระนิพพาน และเพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้นเป็นพอ พวกเจ้าแต่ละคนพึงเตรียมใจไว้เพื่อรับความจริงเกี่ยวกับร่างกายที่ไม่เที่ยง หาความทรงตัวไม่ได้ เดินเข้าไปหาอนัตตาในที่สุด เพราะทุกคนก็ต้องทิ้งร่างกายไปในที่สุด ไม่มีใครหนีพ้นความตาย ไม่ว่าตนเองจักทิ้งร่างกายหรือคนอื่นจักทิ้งร่างกาย ก็ให้ลงตรงกฎธรรมดาเข้าไว้ อย่าเสียกำลังใจให้มากจนเกินไป (เฉพาะผู้ที่หมดความหวั่นไหวเรื่องความตายได้จริง ๆ ก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น)

๒.๑๑ ให้พยายามทรงอารมณ์ของจิตให้อยู่ในธรรมปัจจุบันให้มาก การนึกถึงอดีตก็ดี การนึกถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ดี เป็นนิวรณ์เลว เพราะจิตส่งออกเบื้องหลังและเบื้องหน้า ไม่อยู่ในธรรมปัจจุบัน และอารมณ์เหล่านี้เป็นเหตุทำให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่จิต ดึงจิตลงต่ำให้มีอารมณ์เศร้าหมอง ส่วนการวางแผนชีวิต ว่าจักดำเนินไปอย่างไรในอนาคตนั้น เป็นการไม่ประมาทในชีวิต แต่มิใช่คิดมากจนเกินไป จนกลายเป็นฟุ้งซ่าน กลายเป็นนิวรณ์ทำปัญญาให้ถอยหลัง กลับมาเบียดเบียนจิตและกายตนเองใหม่ ดังนั้น จงอยู่กับธรรมปัจจุบันให้มาก แล้วจิตจักเป็นสุข

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2012 เมื่อ 13:23
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา