ดูแบบคำตอบเดียว
  #42  
เก่า 20-08-2013, 01:10
สายท่าขนุน สายท่าขนุน is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 759
ได้ให้อนุโมทนา: 160,001
ได้รับอนุโมทนา 133,088 ครั้ง ใน 5,305 โพสต์
สายท่าขนุน is on a distinguished road
Wink อยู่วัด ปฏิบัติธรรม ตอนที่ ๑/๓

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ สายท่าขนุน อ่านข้อความ
รู้สึก งง ๆ ว่า นี่ตูมาบวชได้อย่างไรนี่ ทั้งที่ไม่เคยนึกอยากจะบวช ไม่ว่าชี หรือ ชีพราหมณ์...
ไม่ชอบอยู่วัด เพราะกลัวทำตัวไม่เหมาะสม ไม่ชอบนอนกับใคร ไม่นอนกลางสาธารณชน ไม่ชอบใส่ชุดฟอร์ม...
นี่แค่ไม่ต้องนุ่งขาวห่มขาว ('แค่เสื้อขาวก็พอ ข้างล่างอยากลายอย่างไร ก็ตามใจ') ก็มาบวชแล้ว
ตื่นเช้าสวดมนต์อีก ถึงไม่ใช่คนตื่นสาย แต่ก็งงกับตัวเองที่รีบตื่นมาทำวัตรทุกครั้ง
...
อะไรต่ออะไรที่ดี ๆ ทยอยได้มาเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ไปบวช... รออ่านของท่านอื่นด้วย
...สรุปว่า รู้สึกงง ๆ ว่า นี่ตูมาบวชได้อย่างไรนี่..?
เริ่มจากข้อสงสัยกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่าต้องนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ เพราะไม่ชอบอย่างแรง (คงเป็นวิบากกรรม ที่อาจทำให้ไม่ยอมบวช)
คำตอบข้างต้นนี่เอง ที่ทำให้ตัดสินใจไปบวชเนกขัมมะ และต่อมาก็ไปทุกครั้งที่โอกาสอำนวย มาถึงทุกวันนี้

บวชครั้งแรก ๆ ก็โดนเรื่องนี้เต็ม ๆ มีท่านผู้ร่วมบวชดูอาวุโสแล้ว แต่งชุดขาวแบบชีพราหมณ์เต็มยศ ตรงมาถามยายว่าบวชด้วยหรือเปล่า ? ทำไมไม่แต่งชุดขาว ? ไม่รู้หรือว่าคนที่บวชเนกขัมมะต้องแต่งชุดขาว ? แล้วทำหน้ายอมรับการแต่งตัวของยายไม่ได้เลย (ช่วงนั้น คลับคล้ายคลับคลาว่า ยายนุ่งผ้านุ่งสีด้วยนะ)…

ยายก็ตอบไปว่า กราบเรียนถามหลวงพ่อแล้ว ท่านอนุญาตให้ใส่เฉพาะเสื้อขาวได้
เขาก็ถามว่า หลวงพ่อไหน ?
ก็ตอบไปว่า หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาส
…เอ นี่เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า ? หรือจะไปทำให้เขาปรามาสพระอาจารย์ไหมหนอ ?

เอาเถอะ... อย่าไปกังวลเลย นี่แหละหนอที่ท่านเมตตาให้เรามีบุญได้มาถือศีลอยู่วัด
(แต่ช่วงแรกเวลาถ่ายรูป ยายก็จะหนีไปหลบหลังคนใส่ชุดขาว ให้รูปที่ออกมา ‘สร้างภาพ’ ที่สวยงามกว่า)

พระอาจารย์ท่านเมตตารักษากำลังใจทุกคน ให้มีความ 'สบายใจ' ในการปฏิบัติธรรมอย่างที่สุด
แม้ไม่นานมานี้ ยายต้องกราบขอขมายกเลิกการสมัครบวช เพราะไม่มีคนอยู่ที่บ้านกับคุณแม่ที่อายุมากแล้ว และแถมมีช่างเข้าออก ทุบซ่อมบ้านกันเกือบทุกวัน
…ยายเองนั่นแหละ ที่อยากจะไปอยู่วัด แล้วทำท่าจะดื้อไปให้ได้...

พระอาจารย์ท่านว่า 'อยู่บ้านก็ปฏิบัติธรรมได้จ้ะ' และแล้ว ทันทีที่คนที่บ้านเริ่มเดินทางกลับบ้าน ยายก็ขับรถไปวัดทันที
เมื่อกราบท่านหลังทำวัตรเช้า ท่านเมตตาถามว่า ตกลงว่ามีคนดูแลคนแก่แล้วหรือ ? ไม่ให้เราห่วงหน้าพะวงหลัง

เมื่อท่านรับสังฆทานงานบุญหลังจากนั้น ยายก็นึกสงสัยว่า ท่านทำกรรมฐานทรงสมาธิขั้นสูงเช่นนั้น จะได้ยินเสียงเราสวดบ้างไหมหนอ ? (ตัวกูนะนี่)…
ท่านเปรยขึ้นมาเลยว่า เมื่อเช้าตอนทำวัตรเช้าได้ยินเสียงป้าจี๋ นึกว่าหูฝาด

ครั้งใดที่ยายไม่ได้บวช ไม่ได้อยู่วัด ยายก็เข้า-ออกวัดตามสบาย ใส่บาตรก็ขับรถไป ไม่ต้องขออนุญาตออกนอกวัดเหมือนที่ผู้บวชต้องทำเป็นปกติ
(ส่วนเรื่องขอพักวัดนั้น ยายได้เคยกราบขออนุญาต ท่านอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่า อย่าให้เกิน ๓ ชาติก็แล้วกัน)
ทำให้ยายสังเกตความเปลี่ยนแปลงของการบวชปฏิบัติธรรมที่ผ่าน ๆ มา

๒ ครั้งล่าสุดนี้ (ครั้งที่ ๖ และ ๗/๒๕๕๖) มีคนที่บวชมาถามว่า
ห้องน้ำใกล้โรงครัวไปทางไหน ?,
อาหารที่ตั้งที่โรงครัวกินได้ไหม ? (หลังจากที่มีคนกินก่อนได้อรุณ แม่ชีก็นำป้ายมาติดบอกไว้แล้ว),
นัดครั้งถัดไปเป็นที่ไหน ? เมื่อไร ? (ยายก็ดูที่เสาโรงครัว ปรากฏว่ามีแต่กำหนดการงานบุญประจำปี),

ต้องทำอะไรบ้าง ? มีอะไรให้ช่วยไหม ?,
เครื่องมือทำความสะอาดอยู่ที่ไหน ?,
ได้ยินว่าเขาไปทำความสะอาดผางประทีปกัน อยู่ที่ไหน ? ทำอะไรหรือ ?,
ใส่บาตรที่ตลาดก็ถามว่า เดินไปอย่างไร ? ซื้ออาหารตรงไหน ? รอใส่บาตรท่านที่ไหน ?

ยายสังเกตว่า ผู้บวชหลายท่านไม่มีผู้แนะนำ และไม่ทราบข้อพึงปฏิบัติของการอยู่วัด
โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องขออนุญาตออกนอกวัด

(ยายนึกว่าเกิดเฉพาะช่วงที่มีคนมาบวชเพื่อบูชาพระ ไม่ได้ตั้งใจจะ ‘อยู่วัด’
ซึ่งจะเห็นออกไปกดเงินกันบ้าง ช่วงแรก ๆ ก็ยังมีไปถ่ายรูป ไปซื้อนม น้ำ มาตุนไว้กันหิว ฯลฯ )


ก่อนหน้านี้ เมื่อเข้านอนที่โรงครัว ก็พบว่า มีบางท่านนอนตรงที่เราปูผ้าวางหมอนไว้ เพราะคิดว่า ที่วัดนี้มีปูเตรียมไว้ให้
ยังดีกว่าแรก ๆ ที่มีคนพักกันทั้งครอบครัว ไม่แยกผู้ชาย-ผู้หญิง,
นอนกันเต็มตรงหน้าแท่นบูชาพระ (ไม่เบี่ยงหลบ – หลวงพ่อเคยบอกว่า จะขวางเทวดาที่มากราบพระเป็นปกติตอนกลางคืน),

พาดผ้าหรือแม้แต่ชุดชั้นใน ที่ขึงเหนือโฟมและข้าวของทำบายศรี
(กรณีนี้ ไม่ทราบจะถามใคร พวกเราจึงช่วยกันเขียนกระดาษปิดบอกไว้
และมีคนไปพูดคุยด้วย เพราะเจ้าตัวรู้สึกผิดมาก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์),

เปิดประตูทิ้งไว้ ไม่ปิด,
ไม่รองน้ำในห้องน้ำเติมเมื่อใช้น้ำแล้ว,
วางเครื่องอาบน้ำไว้เลอะเทอะ,
(๒ กรณีหลังนี้ เราก็ได้โอกาสทำบุญ รองน้ำ ทำความสะอาดห้องน้ำ),

หมอน ผ้าห่ม หยิบจากตู้ของพระกันบ้าง
(ส่วนเสื่อนี่ มีคนทยอยซื้อมาเปลี่ยนให้เป็นระยะ เวียนกันไป)
ช่วงทำครัวกลางคืน สมัยทำแกงหยวก ก่อฟืนกันแมลงนั้น มีคนนอนไม่ได้เพราะควัน
และบางคนก็นอนไม่หลับเพราะเสียงพูดคุยของคนเตรียมอาหารหรือเตรียมดอกไม้ที่ข้างล่างถึงดึกดื่น

(แต่ยายอยากให้ก่อฟืนเหมือนเดิมนะ เพราะยายโดนเจ้าตัวริ้นเล่นงาน
ชนิดผมร่วงเป็นกระจุกทั่วหัวมารอบหนึ่ง
เวลานี้ มีแต่จุดจากรอยเจ้าตัวแสบนี้กัด เต็มตัว และเพิ่มทุกรอบ
จะทายากันแมลงก็มีสิทธิ์แพ้ยาเกือบทุกชนิด… ช่วงก่อฟืน ก็ไม่โดนตัวริ้นกัด
และอยากให้แกงหยวกกลับมา หากินยากมาก
แต่ลำบากแม่ชีเหลือเกิน ทำกันทั้งวันทั้งคืน),

เด็กน้อยคว้าเนื้อลำไยในน้ำลำไยมากิน ก็บอกให้เข้าใจ
น้องน่ารักมาก ระมัดระวังรักษาศีลอย่างดี
ถึงวันนี้ก็ยังบวชอยู่ แต่โตขึ้นมากทีเดียว เกือบจะเป็นสาวแล้ว


เรื่องที่ดูจะละเลยกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คือ เรื่องฟังเสียงหลวงพ่อวัดท่าซุง ที่เปิดเป็นรอบ
ที่ว่าละเลยมากขึ้น สังเกตจากแต่ก่อนนี้ ยายพอจะหลบไปหาที่ฟังได้มุมใดมุมหนึ่งของบริเวณนอกโรงครัวได้
(แต่ก่อนลำโพงตรงนี้ชอบดับด้วย และข้างบนไม่ได้ยิน แต่ล่าสุดนี้ เสียงดังฟังชัดมาก)
หากจะไม่ตั้งใจฟัง ยายจะขอขมาหลวงพ่อฯ ก่อน

เดี๋ยวนี้ หากเป็นช่วงพัก คนที่มาบวชก็จะจับกลุ่มกินน้ำ คุยกัน เสียงดังมาก ไม่สามารถหามุมแถวนั้น ฟังให้ได้ยิน แม้แต่ตอนกลางคืน (แม้ท่านจะไม่ได้บังคับ และลูกศิษย์หลวงปู่สายหรือคนท้องถิ่นก็มี แต่สังเกตว่า เขามักจะไม่มาคุยส่งเสียงกลบพระธรรมกัน)

ยายก็มานึกดูว่า ช่วงแรก ๆ เคยเจอคนที่อยู่ในช่วงบวชไปเล่นน้ำที่บ่อน้ำร้อนกันสนุกสนาน และไม่ได้กลับมาทำวัตรเย็น โดยไม่ทราบว่าหากจะออกนอกวัดต้องขออนุญาต และหากถือศีลแปด ไม่ควรเล่นน้ำด้วยความบันเทิงเช่นนั้น

ที่สำคัญ กำหนดการบวชที่ท่านประกาศไว้นั้น เรียกว่า 'วัตร' ซึ่งหมายถึงกิจพึงกระทำของผู้บวช
รวมถึงการสวดมนต์ ทำกรรมฐานด้วย
... เหล่านี้ ไม่ใช่กิจอันละเว้นได้ตามสบาย หากไม่มีเหตุอันสมควร
ซึ่งหากมีเหตุจำเป็น (ไม่ใช่เพราะ 'นอนต่อดีกว่า') ก็ควรกราบขออนุญาตให้เรียบร้อย
(หากกราบขอไม่ทันจริง ๆ ก็เป็นไปได้ว่า เป็นเหตุจำเป็น... อย่างไรก็ขอให้ตั้งใจให้ดีเถอะ)

เรื่องที่อยู่บ้านแล้วไม่มีพระอาจารย์นำให้แบบนี้นะ...
เป็นกำไรเพิ่มเติมด้วยบุญมหาศาลยิ่ง ที่พระอาจารย์เมตตาให้มีกำหนดการที่ท่านนำกรรมฐานก่อนทำวัตรเช้า

…ครั้งล่าสุด เจอน้องสนิทสนมกันดีมาก บวชอยู่ด้วยกัน จะออกไปซื้อข้าวสารมาถวายทำบุญวันแม่ (เป็นเหตุให้ยายมีโอกาสร่วมบุญถวายสังฆทานกับคณะด้วยอีกต่างหาก สาธุ)
ยายก็ถามว่าขออนุญาตแล้วหรือยัง ? น้องก็บอกว่าออกไปซื้อของทำบุญต้องขอด้วยหรือ ? อีกคนก็ว่า ไปเดี๋ยวเดียว ไม่น่าต้องขอนะ อีกคนก็ว่า ทีใส่บาตรท่านยังไปได้เลย (นั่นแหละ ๆ น้องรัก ท่านถึงต้องบอกอนุญาตไว้ล่วงหน้า)…

ทำความเข้าใจกันแล้ว น้องก็ไปฝากขออนุญาตจากหลวงตาธีร์…

ปกติต้องขอจากเจ้าอาวาส แต่พวกเราจะไม่รบกวนพระอาจารย์กัน จึงไปขอที่พระเลขาฯ ตั้งแต่สมัยหลวงตาหน่อย เดี๋ยวนี้ทางวัดส่งออกหลวงตาหน่อยไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบ้านเก่าแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นหลวงตาธีร์ (หลวงตาว่าเรียกอย่างนี้ฟังรื่นหูกว่า หลวงตายี้... ท่านเดียวกัน) หากไม่มีท่านใดอยู่ (หรืออยู่ แต่ไม่กล้า…) ก็มักหลบไปขอแม่ชีชื่น ผู้อาวุโส (อาจมีที่ไม่กล้าเช่นกัน… ก็ไม่ต้องออกไป ไม่เสี่ยงศีลด่าง ศีลพร้อย)
หมายเหตุ : ที่วัดเขาเรียกพระว่าหลวงตาตามเด็ก ๆ ทุกรูป

ตกกลางคืน เราก็คุยกับหนุ่มที่สนิทสนมกันดีอีกคน ที่เพิ่งตัดสินใจมาบวชครั้งแรก ใส่เสื้อทีมสีน้ำตาลอย่างดี (เจตนาเขาดีจริงนะ)
ยายก็เลยบอกว่า ถ้าหาเสื้อขาวได้ ก็หามาใส่นะ ท่านขอไว้เฉพาะเสื้อให้เป็นสีขาว…
ไม่ต้องห่วง พรรคพวกเหล่านี้ มีความเคารพพระอาจารย์เป็นปกติ

…เออหนอ นึกว่าพวก ‘แก่วัด’ จะรู้ดี
เอาเป็นว่า ท่านที่ทราบก็ช่วยแนะนำคนอื่น ๆ ที่มาใหม่หรือท่านที่ไม่ทราบสักหน่อย คงจะดีไม่น้อย ช่วยเหลือรักษากำลังใจกันด้วย

หมายเหตุ :
เรื่องที่ยายทำ หลายอย่างที่เริ่มจากความ 'ไม่ชอบ' นี้ มีส่วนดีต่อยายมาก เพราะเมื่อเราจะทำ เราก็คิดว่า 'ทำไมเราถึงจะทำ' 'ทำแล้วได้อะไร' ไม่ได้ชอบสักหน่อย... 'ทำไปแล้วได้สิ่งที่ตั้งใจมาหรือยัง'...
บางอย่างก็ทำเพราะพระอาจารย์ท่านชวน เช่นรักษาศีล... ระดับครูบาอาจารย์ อธิบายผลได้ชัดเจนแน่ หากเราไม่รู้เรื่องหรือไม่สนใจ ก็ยอมรับเถิดว่า 'ปัญญา' เรายังไม่ถึง
ทุกองค์สอนเราว่าจะเข้าถึงพระนิพพานได้อย่างไร... เราก็ต้องทำไปตามกำลังเราอยู่ดี
ทุกวันนี้ ยายก็ยังไม่ชอบอยู่วัด และไม่ชอบนุ่งขาวห่มขาวเช่นเดิม...
เพียงแต่คิดถึง อยากไปวัด ไปหาพระอาจารย์ ไปแล้วหากอยู่ได้แต่ไม่อยู่ เสียดายแน่ 'จริงไหม'


ส่วนของยายสรุปว่า...

เสื้อขาวก็พอ เคารพฟังพ่อ ขอไปนอกวัด
ตื่นเช้าเข้าสวด เย็นสวดทำวัตร ศีลแปดเคร่งครัด ปฏิบัติตั้งใจ
__________________
การรักษากำลังใจสำคัญที่สุด...ได้ดีอย่าฟู แล้วขณะเดียวกันว่า ถ้าได้ร้ายก็อย่าฟุบ ให้เห็นว่ามันเป็นปกติของมัน เรื่องของมัน
ถ้ามันดีมาพออาศัยได้ก็ดีกับมันไป ถ้าหากว่ามันไม่ดีมา เราอยู่กับมันก็ให้รู้อยู่มีสติอยู่ ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไปอยู่แล้ว...
กำลังใจของเราพลาดแม้แค่วินาทีเดียวนี่ อาจจะหมายถึงแพ้ทั้งกระดาน

อะไรมันก็ไม่เจ็บปวดเท่ากับต้องเกิดใหม่ มันเป็นทุกข์ เป็นโทษสุด ๆ จริง ๆ
กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๕๑

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายท่าขนุน : 20-08-2013 เมื่อ 19:19
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สายท่าขนุน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา