ดูแบบคำตอบเดียว
  #44  
เก่า 17-09-2013, 23:10
สายท่าขนุน สายท่าขนุน is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 759
ได้ให้อนุโมทนา: 160,001
ได้รับอนุโมทนา 133,090 ครั้ง ใน 5,305 โพสต์
สายท่าขนุน is on a distinguished road
Wink อยู่วัด ปฏิบัติธรรม ตอนที่ ๓/๓ – รักษาอารมณ์การปฏิบัติ

ยายรีบมาเขียนตอนที่ ๓ นี้ไว้เลยดีกว่า ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้อง ‘ปฏิบัติ’ ตามคำ ‘สั่งสอน’ ของพระอาจารย์
ที่เราได้ยินกันสม่ำเสมอบ่อยครั้งมาก ทั้งที่ท่านเทศน์ช่วงปฏิบัติธรรมที่วัด และช่วงปฏิบัติกรรมฐานที่บ้านวิริยบารมี

เวลานี้ คำสอน หรือ โอวาท ของพระอาจารย์ที่ให้แก่ผู้บวชเนกขัมมะ ก็ได้มีการบันทึกนำลงกระทู้ในเว็บวัด
ให้พวกเราได้ 'อ่าน' กันอย่างทั่วถึง ที่ยังไม่ได้ฟัง ก็ได้อ่านเอา ที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว ก็นำมาย้ำใส่ใจ ให้ทบทวนกัน
ดังตัวอย่าง
อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ เถรี อ่านข้อความ
ดังนั้น...ในเรื่องของการปฏิบัติของพวกเรานั้น อันดับแรก..อย่ารอให้มีการจัดปฏิบัติธรรมแล้วเราค่อยมาภาวนา อย่ารอให้ค่ำลง เลิกงานแล้วค่อยมาภาวนา อย่ารอให้พักให้พอ กินให้พอ นอนให้พอแล้วค่อยมาภาวนา ถ้าทำอย่างนั้นเราสู้กิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสกินเราอยู่ทุกวินาที

มีเวลาว่างเมื่อไร สิ่งแรกที่ควรนึกถึงคือลมหายใจเข้าออก หรือภาพพระ หรือคำภาวนา ถ้าใครสามารถรักษากำลังใจแบบนี้ได้ อาตมายืนยันว่า ๓ เดือนจะเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว แต่ถ้าเราภาวนาเสร็จ ลุกขึ้นก็เลิกเลย วันรุ่งขึ้นเอาใหม่ ภาวนาครึ่งชั่วโมงกำลังอารมณ์ดี ลุกขึ้นก็เลิกอีก ถ้าอย่างนี้ก็ทำไปเถอะ กี่ชาติก็อยู่แค่นั้นแหละ เพราะการปฏิบัติภาวนาของเราเหมือนกับว่ายทวนน้ำ เราว่ายทวนน้ำมาเต็มที่เลย พอปล่อยอะไรเกิดขึ้น ? ไหลตามน้ำไปสิจ๊ะ ไปโน่น..เกือบถึงปากอ่าวแล้ว พอวันรุ่งขึ้นเริ่มว่ายขึ้นมาใหม่ หมดเวลาก็ปล่อยอีก เราจะกลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ผลงานไม่มีเลย เพราะออกปากอ่าวทุกที
อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ เถรี อ่านข้อความ
พระอาจารย์กล่าวให้โอวาทก่อนมอบวุฒิบัตรผู้ปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมะ
วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖
เรื่องของทานวันนี้เราได้แน่ ๆ ทำกันเหลือล้น แต่ในส่วนของศีลและสมาธิ เราต้องมาทบทวนกันอีกทีหนึ่ง การปฏิบัติของเรา ถ้ายังรักษาอารมณ์ต่อเนื่องไม่เป็น โอกาสที่จะได้ดีนั้นยากมาก ดังนั้น..ถ้ากิเลสกินใจเราเสียก่อน โอกาสที่เราจะชนะก็ยาก กำลังใจของเราอาตมาเปรียบอยู่เสมอว่า เหมือนกับเก้าอี้ที่นั่งเดียว ถ้าความดีนั่งอยู่ความชั่วก็เข้าไม่ได้ ถ้าความชั่วนั่งไปก่อน ความดีก็เข้าไม่ได้เช่นกัน ถ้าเราทิ้งให้ความชั่วยึดกำลังใจเราไปก่อน ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายจะต้องลำบาก

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเรายัง "ไม่เข็ด" อาตมาขอใช้คำนี้นะจ๊ะ เราก็จะทำแล้วทิ้ง ทำแล้วทิ้งอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ สมัยที่อาตมาปฏิบัติใหม่ ๆ ก็เหมือนกัน กำลังใจหกล้มหกลุกอยู่ทุกวัน เพราะไม่เข้าใจว่าถ้าเราเปิดโอกาสเมื่อไรกิเลสก็ตีกลับเมื่อนั้น คิดว่านั่งกรรมฐานจนเต็มที่แล้ว สมาธิก็ทรงฌานได้แล้ว ทำไมเลิกปฏิบัติแล้วกิเลสท่วมหัวเหมือนเดิม อาจจะมากกว่าเดิมด้วย
…ทีนี้ ผลของการปฏิบัตินั้นเล่า ยายสังเกตว่า การเผลอ ‘ทิ้งอารมณ์’
แล้วยอมรับกิเลสทันที ถึงแก่พ่ายแพ้แก่กิเลส ของยายเอง มันง่ายมาก ๆ
ทำให้ยายรู้สึกได้ถึงความอ่อนแอ จากการที่ไม่ฝึก ‘รักษาอารมณ์’ การปฏิบัติไว้ให้อยู่กับตัว
เพื่อจะได้ไม่พลาดท่าเสียทีแก่กิเลส
แบบที่พวกเรามักคิดว่า นั่นคือ
กลับไปใช้ชีวิต ‘โลก’ ตามปกติ…

เอ้อ อยากเตือนตัวยายเองให้ได้สติเหลือเกินว่า
ที่เราปฏิบัติมานี่ ต้องการที่จะ ‘ไม่กลับไปใช้ชีวิตโลก’ อีกแล้วนะ

แรก ๆ ที่มาบวช ยายได้รับคำแนะนำว่า ตอนออกไปใส่บาตร
ไม่ควรไปหาอะไรกินในตลาดนะ ให้กลับมากินข้าววัด…
ตอนนั้น ยายก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก เพียงแต่คิดว่า มันดูไม่งาม เหมือนคนบวชไปเที่ยวเล่นในตลาด
กับอีกเรื่องที่ยายเห็นว่าเป็นสาระของยาย คือ มาอยู่วัด ก็ให้ทำตัวอยู่ง่ายกินง่าย
หากยังอยากกินอะไรอร่อย ๆ ถึงกับเสาะหา (ที่พูดเช่นนี้ เพราะอาหารที่วัดก็อร่อย ฮี่ ฮี่)
ก็ไม่สมกับที่มาอยู่วัดกระมัง (ก็ยายไม่ชอบอยู่วัดนี่… แต่ระยะหลังนี้ เริ่มคิดถึงวัดบ้างแล้ว)…
ความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้ยายไม่ยอมซื้ออาหารที่มาขายในวัดกินเองเลย หากว่ายายบวชอยู่ด้วย
แต่จะซื้อให้ผู้บวชบ้างเป็นบางครั้ง

…ยายก็ได้บอกต่อให้น้องที่เพิ่งไปบวชทราบเป็นระยะ
น้องก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง เนื่องจากเห็นว่า ไม่เป็นไร
ยังคงลงนั่งกินข้าวเช้า ซื้อหมูปิ้ง ปาท่องโก๋ กินไปตามเรื่องตามราว
ยายเองก็ไม่ได้ติดใจว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ยังคงเตือนเรื่อย ๆ …
ล่าสุดนี้ ได้ยินพระอาจารย์กล่าวเทศน์ผู้บวชเรื่องนี้เองโดยตรง ถึงกับว่าทำนองนี้
ถ้าอาหารวัดไม่อร่อยก็ให้ทำใจ หรือข้าวต้มวัด เทให้หมากิน หมายังเมิน ก็ตาม...
ก็ให้อดใจ กลับมากินข้าววัด
...ทำให้ยายเข้าใจทั้งความไม่เหมาะควร
และเข้าใจการ ‘รักษาอารมณ์’ กับเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยนี้ชัดขึ้นมาก


…เมื่อครั้งบวชคราวก่อน พระอาจารย์ท่านกล่าวถึงว่าบางท่านนัดกันหลังจากลาศีลแล้วว่า
มื้อเย็นจะไปหาอะไรอร่อย ๆ กินกัน
และคราวนั้น ยายอยู่ที่วัดต่ออีกวัน เมื่อผู้บวชลาศีลกันแล้ว ยายก็เห็น ๒ เรื่อง คือ
ช่วงบ่าย ยายขับรถออกไปข้างนอก โดยไปส่งคนที่ตลาดก่อน
เสร็จแล้วยายก็ขับรถออกจากตลาดผ่านร้านอร่อยริมถนน…
อืม... อย่างที่พระอาจารย์ท่านว่า ชุดเสื้อขาวบ้าง ไม่ใช่เสื้อขาวบ้าง
แต่พวกเราที่บวชกันทั้งนั้น นั่งกินอาหารกันเต็มร้านเลย


เมื่อกลับมาวัดอีกที ก็เห็นพระอาจารย์หยอกพี่ท่านหนึ่ง
ซึ่งกำลังกินข้าวเย็นอยู่ในโรงครัวทำนองว่า
‘อะไรกัน อยู่วัดกินข้าวเย็น’
พี่เขาก็ตอบว่า ‘ต้องกินยา’
ท่านก็ว่า ‘กินยาก็ส่วนกินยา ข้าวก็ส่วนข้าว’
เวลานั้น ยายจะรีบออกไปตลาดหาซื้อของก่อนร้านปิด จึงไม่ได้อยู่ฟังต่อ

…นี่เองสินะ ที่ปฏิบัติกันก็เฉพาะช่วงที่บวชกันจริง ๆ
อารมณ์ ‘กินง่ายอยู่ง่าย’ ‘ไม่สนใจมื้อเย็น’ มันหายไปในพริบตา
มองเผิน ๆ ก็ไม่น่าเป็นไร ก็ลาศีลแปดแล้วนี่นา ตอนถือศีลอยู่ก็ ‘ตั้งใจ’ ทำ
ได้สัจจะบารมีแล้ว ปฏิบัติก็ดี ได้บุญเต็ม ๆ สารพัดกรณีอีกด้วย


ยายคิดดูต่อ (นั่น สนใจเรื่องชาวบ้าน !!!) ช่วงบวช พี่เขาก็กินยาโดยไม่กินข้าวเย็น
ส่วนพวกเราก็ ‘โหยหา’ มื้อเย็นแสนอร่อยกันทันที
(เรื่องกินนี่ยายก็ยังมีอาการ ‘อาหารอร่อย’ ชวนกินให้ต้องอดใจอยู่บ้าง)…
นี่มันแค่อาหารนะ มื้อเช้าเราก็กินได้ ไม่เห็นต้องกลับมากินที่วัดเลย
มื้อเย็นเราก็ลาศีลแล้ว กินได้แล้วนี่ ทำไมต้องมาห้าม... นั่นสิ
ไม่ใช่เรื่องทำสมาธิ ตั้งภาพพระ จับลมหายใจ หรือภาวนาสักหน่อย
จะให้รักษาอารมณ์อะไร อย่างไร และทำไปทำไมกัน…

...ที่ยายกลัวนั่นมันคือ กิเลสเพื่อนเกลอกันนี่แหละ

ถ้ายายจะเปรียบว่าเราถือขั้วไฟไว้ขั้วละมือ แล้วก็เล่นสนุก
พอมันแตะช็อตกันก็สว่างกระพริบแตกพราวเป็นลูกไฟสวยตื่นเต้นดี
พอไฟมันดูดเอา เราก็เจ็บก็กลัว…
แต่มัน ‘ชอบ’ ตอนเป็นลูกไฟนี่นา
พอเรามาบวช มาปฏิบัติธรรม เขาก็ให้เราวางขั้วไฟฟ้านั้นไว้ ไม่ไปยุ่งกับมัน
พอเราลาศีลแปด เราก็รีบวิ่งแจ้นไปหยิบขั้วไฟมาแตะกันเล่นอีก เป็นอย่างนี้หรือเปล่า
หรือเราจะชะลอวางมันทิ้งไว้ได้อีกสักพัก แล้วก็ฝึกไม่สนใจมัน
กระทั่งไม่ไปยุ่งกับมันอีกได้ เพราะเห็นโทษของมัน
(ที่จริงคราวก่อนนี้ ยายก็ได้ยินว่าลูกของน้องท่านหนึ่งทนหิวมื้อเย็นไม่ไหว กินบะหมี่สำเร็จรูปไป
ยายก็ได้แต่บอกเขาว่า พยายามให้เป็นนมดีกว่าไหม…
คราวล่าสุด ยายเห็นว่ามีคนมาแกะห่อบะหมี่สำเร็จรูปชงน้ำร้อนตอนกลางคืน
น่าแปลก ยายมองเห็นแต่ชามกับบะหมี่ในชามที่เขากำลังลวก เพราะได้กลิ่นอาหาร
แต่ยายไม่ได้สนใจดูว่าใคร แล้วไม่ได้มีอารมณ์อะไรเลย)

…ตอนที่ ๓ นี้ ยายเอาเรื่องกินเรื่องเดียวดีกว่า เรื่องไม่พอใจกันในวัด
เรื่องสมาธิลึกตื้น เรื่องหลับไม่หลับตอนกรรมฐาน เรื่องรักษาภาพพระไว้ได้หรือไม่
เรื่องจับลมหายใจต่อเนื่อง เรื่องรักษาอารมณ์ใจสบายหลังกรรมฐาน
อะไรอย่างนี้ ดูมันเกินกว่าที่ยายจะเขียนเล่าได้…

ยายอยากเพียงเตือนตัวเองและบอกพวกเราให้พยายาม ‘ฟัง’ พระอาจารย์
ให้ ‘ได้ยิน’ และ ‘เข้าใจ’ ว่าท่านเมตตา ‘บอก’ อะไรพวกเรา
เชื่อว่า หากได้ยิน ‘ชัด’ แล้ว พวกเราจะเร่งปฏิบัติ
แล้ว ‘รักษาอารมณ์การปฏิบัติ’ ไว้แน่นอน

ไปบวชเนกขัมม์ฯ ร่ำใจให้ใส ทำไว้ได้แก้ว
ออกจากวัดแล้ว ปล่อยแก้วทิ้งไป แตกเดี๋ยวมาใหม่ กระไรนักฤๅ ?
__________________
การรักษากำลังใจสำคัญที่สุด...ได้ดีอย่าฟู แล้วขณะเดียวกันว่า ถ้าได้ร้ายก็อย่าฟุบ ให้เห็นว่ามันเป็นปกติของมัน เรื่องของมัน
ถ้ามันดีมาพออาศัยได้ก็ดีกับมันไป ถ้าหากว่ามันไม่ดีมา เราอยู่กับมันก็ให้รู้อยู่มีสติอยู่ ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไปอยู่แล้ว...
กำลังใจของเราพลาดแม้แค่วินาทีเดียวนี่ อาจจะหมายถึงแพ้ทั้งกระดาน

อะไรมันก็ไม่เจ็บปวดเท่ากับต้องเกิดใหม่ มันเป็นทุกข์ เป็นโทษสุด ๆ จริง ๆ
กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๕๑

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-09-2013 เมื่อ 03:18
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สายท่าขนุน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา