ชื่อกระทู้: กำลังใจไม่ดี
ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 30-11-2011, 11:13
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,554 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default กำลังใจไม่ดี

กำลังใจไม่ดี
ทำให้การเจริญพระกรรมฐานไม่ดีด้วย

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ มีความสำคัญดังนี้

๑. “เมื่อกำลังใจไม่ดี ก็ทำให้การเจริญพระกรรมฐานไม่ดีไปด้วย ให้ถือว่าเป็นของธรรมดา ภาระหน้าที่อันมีต่อร่างกายก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว (ภาราหะเว ปัญจักขันธา) หากขาดปัญญาในจุดนี้ ก็จักเพิ่มปัญหา หรือเพิ่มทุกข์ให้กับกายและจิตยิ่งขึ้น งานทางโลกอันเป็นภาระหน้าที่ที่จักต้องทำ เราสามารถวางได้ชั่วคราว หากจิตมีกังวลกับมันเกินพอดี จิตก็เป็นทุกข์ มีผลเสียทั้งทางโลกและทางธรรม ให้เอาเหตุการณ์ที่ประสบอยู่นี้ศึกษาให้ดี เหตุการณ์เหล่านี้ จักเป็นครูสอนอารมณ์ของจิตได้อย่างดีที่สุด” (สาเหตุเพราะเพื่อนของผม ท่านเอาจิตไปยึดติดกับการเจ็บป่วยของพระที่ท่านเคารพ และนับถือจนเกินพอดี ไปเกาะกายท่าน มิได้เกาะความดีหรือพระธรรมที่ท่านมีอยู่ เหมือนกับตอนขันธ์ ๕ ของหลวงพ่อฤๅษีท่านป่วย และที่สุดก็ทิ้งขันธ์ ๕ ไปสู่พระนิพพาน แต่จิตที่ยังมากอยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม มันก็ย่อมวุ่นวายอยู่เป็นธรรมดา ขออธิบายสั้น ๆ ว่า ล้วนเป็นอารมณ์ตัณหา ๓ หรือสมุทัยทั้งสิ้น)

๒. “เรื่องเวทนาของปุถุชนกับเวทนาของพระอริยเจ้าต่างกันมาก ปุถุชนยังคิดว่ากายเป็นเรา เป็นของเรา ดังนั้น เมื่อเวทนาเกิดก็ยึดเวทนานั้นเป็นของตน แต่พระอริยะ ท่านเห็นกายท่านเกิดดับ ๆ เป็นสันตติ เวทนาที่เกิดก็เกิดดับ ๆ ตามกายเป็นสันตติตามกาย หากจิตไปยึดเวทนาเข้า อัตตาตัวตนก็เกิด ทุกข์เกิดที่จุดนั้น เพราะสัญญาหรือความจำเป็นพิษเป็นภัย คือจำไม่ยอมลืม จิตฝืนความจริงของกาย ซึ่งประกอบด้วยรูป ๑ นาม ๔ คือ เวทนา-สัญญา-สังขารและวิญญาณ

ทั้ง ๕ อาการหรือขันธ์ ๕ นี้ โดยปกติธรรมจะเกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา นาม ๔ อาศัยรูปอยู่... เมื่อรูปเกิดดับ ๆ เป็นสันตติ นาม ๔ ที่อาศัยรูปอยู่ย่อมเกิดดับ ๆ ตามรูปกายอยู่เป็นธรรมดา แต่จิตไปฝืนความจริง ไม่ยอมให้มันเกิดดับ ๆ ไปตามรูป เวทนาและสัญญาจึงเป็นพิษเป็นภัยกลับมาทำร้ายจิตตนเอง อุปาทานหรือสังขารคืออารมณ์ปรุงแต่งธรรม ก็เป็นพิษตาม ผลทำให้เวทนาไม่ดับ เพราะสัญญาหรือความจำเป็นพิษ ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ทุก ๆ ครั้งที่เวทนาเกิดก็ยึดไว้หมดไม่ยอมให้ดับ เวทนาเก่าก็ยังอยู่ เวทนาใหม่ก็เพิ่มเข้ามา ทุกข์ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทุก ๆ ครั้งที่เวทนาเกิด เป็นเวทนาซ้อนเวทนา เป็นเวทนากำลัง ๒-๓-๔ ตามลำดับ เหตุจากความหลงของจิตที่ไม่ยอมวางสัญญาเดิม บุคคลใดที่เข้าใจพระกรรมฐานในจุดนี้แล้ว เมื่อยกเอากายคตา ฯ บวกอสุภกรรมฐานขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก็จะเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้มันไม่เที่ยง เกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะความไม่เที่ยงนี่แหละ จึงทำให้ทุกข์ และเห็นความจริงว่ามันแสนสกปรก จิตที่หลงยึดกายว่าเป็นตัวเป็นตน จึงเท่ากับหลงอยู่ในดงของกิเลส มีผลทำให้จิตที่ยังหลงยึดเกาะกายไว้ ต้องเกิดมามีร่างกาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างไม่รู้จบ

๓. “เมื่อเข้าใจเรื่องเวทนาของพระอริยเจ้าแล้ว ก็จงอย่าไปกังวลกับร่างกายของพระอริยเจ้าท่าน ควรจักต้องหันมาสำรวจจิตและกำลังใจของตนเองเข้าไว้ ให้มีอินทรีย์สังวรณ์ คือ สำรวมอายตนะทั้ง ๖ ทั้งภายนอก ๖ และภายใน ๖ กระทบกันอยู่เป็นปกติธรรม ห้ามไม่ได้ กระทบแล้วให้อยู่ในอารมณ์สักเพียงแต่ว่า โดยเฉพาะโลกธรรม ๘ ซึ่งไม่มีใครหนีพ้น แล้วให้เห็นเป็นธรรมดาของโลก อะไรมันจักเกิดมันก็ต้องเกิดขึ้นด้วยกฎของกรรม อย่าไปกังวลใจให้มากนัก ดูแต่ความถูกต้องและความพอดี หรือทางสายกลางของจิตเข้าไว้ โดยอย่าทิ้งพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักตัดสินปัญหาทุกชนิด ใครจักคิดอย่างไร พูดอย่างไร เราห้ามเขาไม่ได้หรอก มีแต่เราพึงสำรวมความคิด สำรวมวาจา พูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่พึงปล่อยตัว อย่าตามใจกิเลสอีกต่อไป ให้มีสติ-สัมปชัญญะกำหนดรู้เข้าไว้ โดยให้ยึดหลักรักษาผลประโยชน์ของจิตให้มาก อย่าให้เห็นสิ่งอื่นสิ่งใดสำคัญกว่าจิต

๔. “ให้รักษาจิตอย่าให้ตกเป็นทาสของกระแสเงินตรา เรื่องโลกธรรม ๘ นั้นไม่มีใครหนีพ้นอยู่แล้ว พึงระวังจิตให้ดี ๆ เพราะการหลงติดอยู่ในเงินตรา หรือลาภสักการะฆ่าคนให้ต้องลงนรกมามากแล้ว จงอย่าประมาทในทุกกรณี โดยเฉพาะในความตาย ในความไม่เที่ยงของร่างกาย แต่ความตายเป็นของเที่ยง จุดนี้จักต้องเตือนจิตของตนเองเข้าไว้อยู่เสมอ อย่าไปเห็นกายผู้อื่นไม่เที่ยงเป็นสำคัญ ให้เห็นกายเราไม่เที่ยงเป็นสำคัญ เพราะความตายอาจเกิดขึ้นได้ทุก ๆ ขณะจิต และจงอย่าไปยินดี-ยินร้ายกับความชั่วของผู้อื่น นั่นเป็นการวางอารมณ์ไม่ถูก เรื่องของเขาก็เป็นเรื่องของเขา จงอย่าไปเสียเวลาปฏิบัติธรรมของเรา เวลาทุก ๆ ขณะจิตมีค่ามากสำหรับนักปฏิบัติธรรม การที่จิตเราไปนึกตำหนิกรรมชั่วของผู้อื่น ทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ-รังเกียจเขา ทำให้เกิดปฏิฆะขึ้นกับจิตเรา เป็นการเบียดเบียนจิตตนเองก่อนทั้งสิ้น เพราะขาดพรหมวิหาร ๔ สู้มีจิตเมตตา-อ่อนโยน-สงสารเขาแทน จักมิดีกว่าหรือ เพราะบุคคลที่ไม่มีศีลเหล่านี้ ยังแสวงหาภพชาติในการเกิด ต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารอีกชั่วกาลนาน จักไปขุ่นข้องขัดเคืองกับเขา ยังจักไปเกิดตายกับเขาอีกทำไมกัน สู้อยู่รักษาจิต สำรวมอารมณ์ให้สงบมิดีกว่าหรือ ให้กลับใจเสียใหม่นะ”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-11-2011 เมื่อ 15:57
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา