ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 02-03-2009, 19:35
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 260
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,193 ครั้ง ใน 1,278 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)


เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
(พ.ศ. ๒๓๒๐-๒๓๙๒)
สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
"เจ้าพระยาบดินทรเดชา" เป็นราชทินนามพิเศษ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานราชทินนามนี้มีแต่ท่านเพียงผู้เดียวเท่านั้น

ประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสน) เป็นบุตรคนที่ ๔ ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กำเนิดแต่ท่านผู้หญิงฟักเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๒๐ อันเป็นปีที่ ๑๐ ในสมัยของ พระเจ้าตากสินมหาราช สถานที่เกิดอยู่ในเขตพระนคร ตอนเชิงสะพานช้างโรงสี หน้ากระทรวงมหาดไทยทุกวันนี้

เมื่อเติบใหญ่เจริญวัยขึ้น เจ้าพระยาอภัยราชา ผู้เป็นบิดาได้นำตัวนายสิงห์เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และได้รับพระราชทานยศศักดิ์ อันเป็นผลมาจากความเพียรในหน้าที่ราชการในขั้นแรกคือ ตำแหน่ง จมื่นเสมอใจราชและพระนายเสมอใจ ต่อมาได้เป็นพระยาเกษตรรักษาว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ ๒ ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์สมบัติจึงโปรดให้เป็นพระยาราชสุภาวดี

พระยาราชสุภาวดี ได้ทำความดีความชอบไว้มากมายในรัชกาลนี้ เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์คิดการกบฏขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๖๙ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพหน้ายกไปปราบปรามบรรดาพวกกบฏ ท่านได้รบอย่างกล้าหาญจนพวกกบฏมิอาจจะต่อต้านได้ถึงกับถอยร่นไม่เป็นขบวน ในที่สุดทัพของพระยาราชสุภาวดีก็ยกเข้าครองจำปาศักดิ์ได้สำเร็จ ผลแห่งความดีความชอบในครั้งนี้คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก

เสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกใน พ.ศ. ๒๓๗๒ (เวลานั้นท่านอายุได้ ๕๓ ปี)

ชีวิตของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาดูจะไม่ได้ห่างจากการศึกสงครามไปได้ เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๓๗๖) ญวนเกิดเข้าไปแทรกแซงหาทางจะเอาเขมรเป็นของตน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพขึ้นไปสู้รบกับญวนอีก จนกระทั่งญวนยอมทำไมตรีกับไทยแล้ว และเหตุการณ์ในกัมพูชากลับเป็นปกติตามเดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดินทาง กลับเข้าสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๓๙๑ ท่านได้ควบคุมบ้านเมืองในเขมรนานถึง ๑๕ ปีเต็ม

ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ใช้หลักความเฉียบขาดในการบังคับบัญชา จึงได้ผลคือปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทน์ และได้ช่วยป้องกันเขมรจากญวนได้สำเร็จตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนำเกียรติคุณมาสู่ทหารไทยและประเทศไทยอย่างมากมาย

ปีที่กลับจากเขมรมานั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีอายุย่าง ๗๑ ปี แต่ก็ยังเข้มแข็งสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ต่อมาจนกระทั่งถึงวัน อาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ก็ถึงอสัญกรรมด้วยอหิวาตกโรคซึ่งระบาดชุกชุมในปีนั้น รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๓๙๓ จึงได้พระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศ

เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว องหริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตรทั้ง ช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย(เมืองหลวงเก่าเมืองเขมร)แล้วให้พระภิกษุสุกชาวเขมรช่างปั้น ฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลมีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้งที่เก๋ง ชาวเขมรเรียกว่า "รูปองบดินทร" ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๒

จากผลงานและคุณงามความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของท่านหลายแห่ง เช่น เมืองอุดงมีชัย ประเทศกัมพูชา, วัดจักรวรรดิราชาธิวาส (วัดสามปลื้ม), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒, วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร, ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ อ.มะขาม จ.จันทบุรี, ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี), กองกำกับการตำรวจตระเวรชายแดนที่ ๑๒ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ ๑๖ อ.เมือง จ.ยโสธร

ผลงาน
ด้านการสงคราม


* แม่ทัพใหญ่ในศึกปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์
* แม่ทัพใหญ่ในเหตุการญวณแทรกแซงเขมร
* ว่าราชการที่เขมรกว่า ๑๐ ปี
* ช่วยทำราชการปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่ก่อการกำเริบที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

ด้านศาสนา

* ปฏิสังขรณ์วัด "วัดสามปลื้ม" ปัจจุบันคือ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรวิหาร
* ปฏิสังขรณ์วัดพรหมสุรินทร์ จังหวัดพระนครในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดปรินายก และทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา
* ปฏิสังขรณ์วัดช่างทอง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านผู้หญิงฝักผู้เป็นมารดาได้สร้างไว้ อยู่ที่เกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
* ปฏิสังขรณ์วัดวรนายกรังสรร(เขาดิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
* สร้าง วัดตึก ปัจจุบันคือ วัดเทพลีลา
* ยกที่บ้านถวายเป็นวัด สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญเสนาสนะพร้อม มีชื่อว่าวัดไชยชนะสงครามแต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าวัดตึกจนทุกวันนี้ อยู่ตรงข้ามกับเวิ้งนครเขษมใกล้สี่แยกวัดตึก จังหวัดพระนคร
* สร้างวัดที่เมืองพัตบอง และเมืองอุดงมีชัย



ที่มา : th.wikipedia.org

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 02-03-2009 เมื่อ 21:18
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา