ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 01-02-2010, 03:16
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,614
ได้ให้อนุโมทนา: 151,817
ได้รับอนุโมทนา 4,413,171 ครั้ง ใน 34,204 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้สติเป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะกำหนดรู้เท่าทันได้ บางทีก็ปล่อยให้กิเลสต่าง ๆ ชักจูงเราไปเสียไกล ดังนั้น..การปฏิบัติทั้งหมด แม้กระทั่งในอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ที่ว่าไว้ในวันก่อน อรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า

ศรัทธากับปัญญาต้องเสมอกัน ถ้าหากว่าศรัทธาล้นเกินปัญญา ก็จะมีแนวโน้มเชื่อใจได้ง่าย โดนหลอกลวงได้ง่าย วิริยะและสมาธิต้องเสมอกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว ท่านบอกว่าปฏิบัติไปแล้วจะไม่ได้ผล เพราะว่าจะเน้นหนักจนกลายเป็นทรมานตนเอง แต่ในส่วนของสติ ท่านบอกว่ามีมากเท่าไรก็ดีเท่านั้น ไม่ต้องไปปรับให้เสมอกับธรรมตัวอื่น

เมื่อกล่าวมาดังนี้ เราจะได้เห็นความสำคัญว่า การมีสตินั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าจะเป็นตัวผู้ดู ผู้รู้ ผู้ที่กำหนดคุมเกมต่าง ๆ แก่เรา ถ้าหากว่าละเอียดไปอีกก็เป็นผู้แยกแยะ ว่าส่วนใดดีส่วนใดชั่ว แล้วก็ละชั่วทำดี เพื่อสร้างความเจริญให้เกิดแก่เรา

ตัวที่สองท่านเรียกว่า ธัมมวิจยะ การแยกแยะในธรรม โดยเฉพาะการรู้เหตุ รู้ผล ส่วนใหญ่แล้วพวกเราไม่ค่อยจะรู้เท่าทันในเหตุ อย่างเช่นการปฏิบัติสมาธิของเรา เราก็ทำไป พอสมาธิทรงตัวตั้งมั่น มีความสุขมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าสมาธิที่ทรงตัวนั้นเกิดจากอะไร ? รู้แต่ผลว่าจิตใจตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีความสุข เราเองก็กินผลนั้นไปเรื่อย จนกระทั่งผลนั้นหมดไป แล้วก็ไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะไม่รู้ว่าสร้างกันอย่างไร เข้าไม่ถึงเหตุนั้น จนกว่าจะเปะปะไปทำถูกเข้าอีกที ผลเกิดอีก ก็จะเสวยผลนั้นต่อไป แต่ถ้าเราสามารถหาเหตุพบ ถึงเวลาผลนั้นสลายไป เราสร้างเหตุใหม่ ผลนั้นจะเกิดขึ้นอีก

อย่างเช่นว่า เราต้องการละจากนิวรณ์ ๕ ที่มากวนใจเรา ไม่ว่าจะเป็นรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศก็ตาม ถ้าหากว่าเราสร้างสมาธิให้ทรงตัวตั้งมั่น เป็นปฐมฌานขึ้นไปได้ ก็จะสามารถระงับดับนิวรณ์ทั้งหลายลงได้ชั่วคราว ผลก็คือ จิตที่ว่างจากนิวรณ์ มีความสงบ เยือกเย็น แจ่มใสอย่างบอกไม่ถูก ถ้าเรารู้จักวิจัยหาเหตุ ก็จะเห็นว่า เหตุนั้นก็คือสมาธิที่ทรงตัว เมื่อรู้ดังนั้น ถ้าหากว่าจิตใจเริ่มไม่ทรงตัว เราก็ภาวนาทรงสมาธิใหม่ ก็แปลว่าเรารู้จักสร้างเหตุให้ผลนั้นเกิดขึ้น

ในส่วนของอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าเราสร้างเหตุที่ดี ผลดีก็เกิดขึ้น เว้นเหตุที่ชั่ว ผลชั่วก็ไม่เกิดขึ้น ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ จึงเป็นเครื่องที่ช่วยให้เข้าสู่การตรัสรู้ได้ อย่างเที่ยงแท้แน่นอน


ข้อต่อไปก็คือ วิริยะ วิริยะนั้น เรากำหนดในความเพียรของสัมมัปปธาน ๔ ดังที่ได้กล่าวมาในวันก่อน ก็คือเพียรในการละชั่ว เพียรในการระมัดระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น เพียรในการทำความดี เพียรในการรักษาความดีให้อยู่กับเรา ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

เราจะเห็นได้ว่า ในธรรมะของแต่ละหมวดนั้น กล่าวไปแล้วมีส่วนเชื่อมโยงเข้าหากันหมด ไม่ว่าจะเป็นอิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ แล้วมาโพชฌงค์ ๗ ส่วนของความเชื่อมโยงจะมีในแต่ละหมวด ในแต่ละข้อ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-02-2010 เมื่อ 03:32
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา