ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 05-08-2010, 12:00
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,495
ได้ให้อนุโมทนา: 151,165
ได้รับอนุโมทนา 4,405,491 ครั้ง ใน 34,084 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา พร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของเดือนสิงหาคมของเรา

สำหรับการปฏิบัติของเราทั้งหลายนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ สิ่งที่ร้อยรัดเราให้อยู่ในกองทุกข์นั้น มีตั้งแต่กิเลสหยาบ ๆ อย่างนิวรณ์ ๕ ประการ ไปจนถึงกิเลสระดับละเอียดอย่างสังโยชน์ ๑๐ เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าสภาพจิตของเรานั้น มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ ให้พิจารณาดูว่า ในขณะนี้ก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในวันนี้ก็ดี ในวันก่อน ๆ นั้นก็ดี สภาพจิตของเราเป็นทาสของนิวรณ์ ๕ หรือไม่ ?

คือ มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสระหว่างเพศหรือไม่ ? มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทผู้อื่นอยู่หรือไม่ ? มีความง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจปฏิบัติหรือไม่ ? มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่สงบหรือไม่ ? และท้ายสุดมีความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติบ้างหรือไม่ ?

ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่มี แสดงว่าสภาพจิตของเรานั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่ว่าก็ยังตกเป็นทาสของสังโยชน์ ซึ่งเป็นกิเลสในระดับที่ละเอียดขึ้นไปอีก ดังนั้น..ในวันนี้ เรามาดูหน้าตาของสังโยชน์ คือเครื่องร้อยรัดให้เราติดอยู่กับวัฏฏะนี้ ไม่ยอมให้เราพ้นไปได้นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ?

สังโยชน์มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน ข้อแรก สักกายทิฐิ มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ถือว่าเป็นสังโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เราจะรักไปกว่าตัวเราเอง

วิธีที่จะแก้ไขสังโยชน์ข้อนี้นั้น อันดับแรก เราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา เมื่อเกิดมามีร่างกายนี้แล้ว อย่างไรเสียก็ก้าวเข้าไปหาความตายอยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย ก็ต้องกำหนดเป้าหมายไว้ว่า "ตายแล้วจะไปไหน ?" ในเมื่อกำหนดแล้วว่าตายแล้วเราจะไปไหนได้ เราจะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อไปยังสถานที่นั้น

การที่เรากำหนดรู้ในลักษณะว่าเราจะต้องตายนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะสลัดตนเองให้หลุดพ้นจากสังโยชน์ใหญ่ คือ สักกายทิฐินี้ได้ แต่ว่าก็เป็นการหลุดพ้นในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการร้อยรัดอย่างอื่นในสักกายทิฐิ คือ เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนยังมีอยู่อีกมาก ทำให้เรายึดมั่นถือมั่น กลายเป็นมานะถือตัวถือตน กลายเป็นสังโยชน์ที่ละเอียดขึ้นไปอีก

ดังนั้น ในเบื้องต้นเมื่อเราปฏิบัติแล้ว อย่างน้อยต้องรู้อยู่ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ลมหายใจที่เราตามดูตามรู้อยู่นี้ เมื่อหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หรือหายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตายอีกเช่นกัน เมื่อรู้ว่าตนเองจะต้องตาย ก็ต้องขวนขวายปฏิบัติ เพื่อให้ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หรือให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารเข้าสู่พระนิพพานไปเลย

ดังนั้น เราระลึกถึงความตายก็คือ มรณานุสตินี้ จัดว่าเป็นเครื่องทำลายสังโยชน์ในตัวสักกายทิฐิในจุดแรกเริ่มได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 05-08-2010 เมื่อ 12:41
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา