ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 29-01-2019, 19:02
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,500
ได้ให้อนุโมทนา: 151,165
ได้รับอนุโมทนา 4,405,621 ครั้ง ใน 34,089 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถ้าหากว่าเรามีการแผ่เมตตาเป็นปกติ สภาพจิตของเราจะเยือกเย็นทรงตัว ศีลทุกข้อจะรักษาได้โดยง่าย กรรมฐานทุกกองก็จะไม่แห้งแล้ง มีความชุ่มชื่น กระปรี้กระเปร่า อยากจะปฏิบัติแบบไม่เบื่อไม่หน่าย เป็นต้น

คราวนี้การแผ่เมตตานั้น ถ้าหากว่าเรากำหนดกำลังใจคิดว่า เราหวังดีปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างไร กำลังใจของเราก็ทรงตัวยาก และไม่สามารถที่จะแผ่ออกไปกว้างไกลอย่างที่ต้องการ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบกับลมหายใจเข้าออก ก็คืออาศัยกำลังฌาณสมาบัติจากอานาปานสติในการแผ่เมตตา เพื่ออาศัยความกว้างไกล ไร้ขอบเขต ไม่มีประมาณของสมาธิที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น..ในการที่เรากำหนดภาวนาในแต่ละวัน เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่แล้ว ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจกำหนดแผ่เมตตา ถ้าเอาแบบที่อาตมาเคยสอนก็คือกำหนดภาพพระขึ้นมา ให้สว่างไสวที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วตั้งใจกำหนดให้รัศมีความสว่างนั้น แทนพระเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แผ่ออกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิทุกหมู่ทุกเหล่า บุคคลใดตกอยู่ในห้วงทุกข์ ขอให้พ้นจากกองทุกข์ บุคคลใดมีความสุข ขอให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

แรก ๆ ก็กำหนดแผ่ออกมาแค่รอบตัวเรา ถ้าสมาธิทรงตัวมากก็แผ่กว้างไปทั้งห้องที่เราอยู่ ถ้ามีกำลังสูงกว่านั้นก็กว้างออกไปทั้งบ้าน กว้างออกไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ ทั้งโลก เป็นต้น ถ้าแผ่เมตตาถึงที่สุด จะรู้สึกเหมือนตัวเราโตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกเราเป็นแค่วัสดุเล็ก ๆ ที่อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา สามารถกำหนดจิตครอบคลุมให้ทั่วถึงได้โดยง่าย จักรวาลที่ประกอบไปด้วยดวงดาวต่าง ๆ นับไม่ถ้วน สามารถแผ่กำลังใจครอบคลุมให้ทั่วถึงได้โดยง่าย

ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็แปลว่า ท่านสามารถใช้กำลังของพรหมวิหาร ประกอบกับอานาปานสติในการแผ่เมตตา ก็ขอให้กระทำทุกครั้งที่ภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัว

ถ้าอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์ปรมาจารย์แห่งพระสายวัดป่า ท่านบอกว่าท่านกำหนดแผ่เมตตาใหญ่ ๆ วันหนึ่งอย่างน้อย ๓ ครั้ง แล้วแผ่เมตตาเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน เพราะเหตุนี้เอง กำลังใจของท่านจึงได้ทรงตัว เยือกเย็น สามารถกำหนดกองกรรมฐานต่าง ๆ ได้ง่าย

ดังนั้น..ในเรื่องของเมตตาพรหมวิหารจึงเป็นกรรมฐานที่ต้องแสวงหา ต้องกระทำให้ได้ เพราะว่าเป็นกรรมฐานสารพัดประโยชน์ มีแต่จะหนุนเสริมการปฏิบัติของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป



ลำดับต่อไป ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม,ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-01-2019 เมื่อ 02:43
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา