ชื่อกระทู้: ช่างสิบหมู่
ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 23-03-2009, 16:18
วาโยรัตนะ วาโยรัตนะ is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 550
ได้ให้อนุโมทนา: 13,972
ได้รับอนุโมทนา 45,909 ครั้ง ใน 953 โพสต์
วาโยรัตนะ is on a distinguished road
Default ช่างสิบหมู่

สำนักช่างสิบหมู่

ช่างสิบหมู่ เป็นชื่อของกลุ่มงานที่รวบรวมช่างต่าง ๆ เอาไว้อยู่ด้วยกัน ๑๐ กลุ่มหรือหมู่ช่างดังกล่าวเป็นช่างฝีมือของไทยที่มีลักษณะหน้าที่การทำงานต่างกัน ช่างสิบหมู่นั้นเข้าใจว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงได้มีการจัดช่างเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการจัดตั้งกรมช่างสิบหมู่ขึ้นซึ่งต่อมาในปัจจุบันคือสำนักช่างสิบหมู่อยู่ในสังกัดกรมศิลปากร


"ช่าง"ในสมัยก่อนนี้จะต้องเป็นทั้งผู้คิดและผู้ปฏิบัติด้วยอยู่ในคนคนเดียวกันจึงต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์และจินตนาการที่ลึกซึ้งตลอดจนฝีมือที่ละเอียดประณีตบรรจง และที่สำคัญจะต้องมีใจรักในงานเป็นอย่างยิ่ง ช่างทั้ง ๑๐ หมู่นี้จะเป็นช่างหลวงและทำงานสนองพระราชประสงค์ หรือพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน

ช่าง ๑๐ หมู่ประกอบด้วย

๑. หมู่ช่างเขียน ซึ่งเป็นงานแม่บทในกระบวนช่างทั้งหลายเพราะไม่ว่าจะเป็นงานช่างใดก็ตามจะต้องอาศัย การเขียน การวาดเป็นแบบก่อนเสมอ ช่างในหมู่นี้จึงประกอบด้วย ช่างเขียน ช่างปิดทอง ช่างลงรัก ช่างแกะ ช่างปั้น ช่างหุ่น และอื่น ๆ

๒. หมู่ช่างแกะ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าเป็นช่างแกะสลัก หมู่ของช่างแกะจะประกอบด้วยช่างแกะตรา ช่างแกะลาย ช่างแกะพระ ช่างแกะภาพ ทั้งยังหมายรวมไปถึงช่างเงินช่างทองและช่างเพชรพลอยอีกด้วย

๓. หมู่ช่างหุ่น " หุ่น " ในที่นี้หมายถึง "รูปร่าง" ช่างหุ่นจึงเป็นช่างที่ทำสร้างให้เป็นตัวหรือเป็นรูปร่างขึ้นมา หมู่ของช่างหุ่นจึงประกอบไปด้วย ช่างไม้ ช่างไม้สูง ช่างเลื่อย ช่างบากไม้ ช่างทำหุ่นรูปคน / รูปสัตว์ / หัวโขน ช่างเขียน

๔.หมู่ช่างปั้น ช่างปั้นจะมีความสัมพันธ์กับช่างปูนช่างหล่อเป็นอย่างมาก และผลงานช่างปั้นก็มักจะออกมาในรูปของผลงานของช่างทั้ง ๒ หมู่ของช่างปั้นจึงประกอบไปด้วย ช่างขี้ผึ้ง ช่างปูน ช่างขึ้นรูป และช่างหุ่น

๕. หมู่ช่างปูน ลักษณะงานของช่างปูนจะมีทั้งงานซ่อมและงานสร้างช่างปูนจะแบ่งออกเป็น พวกปูนก่อ พวกปูนฉาบ และพวกปูนปั้นซึ่งพวกหลังสุดคือพวกปูนปั้นนี้จะต้องมีความประณีตเป็นพิเศษ กับจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์จึงจะสามารถผลิตผลงานออกมางดงามและคงทน ช่างที่รวมอยู่ในหมู่ช่างปูนนี้จะประกอบไปด้วย ช่างปั้น ช่างปูนก่อ ช่างปูนฉาบ และช่างปูนปั้น

๖.หมู่ช่างรัก ช่างรักนี้มีมานานตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัยแล้วงานศิลปะไทยหลายแขนงที่จะต้องมี การลงรักปิดทองเป็นขั้นสุดท้าย ช่างที่อยู่ในหมู่ของช่างรัก ประกอบด้วย ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจกช่างมุก และช่างเครื่องเขิน

๗.หมู่ช่างบุ "บุ" หมายถึงการตีแผ่ให้เป็นแผ่นแบน ๆ ซึ่งอาจจะแบนออกมาเป็นรูปต่าง ๆ หรือเป็นแผ่นแบนธรรมดาก็ได้ งานของช่างจึงเกี่ยวพันโดยตรงกันกับงานโลหะทุกชนิด (เงิน นาก ทองเหลือง ทองแดง และทองคำ) จนบางครั้งเรียกกันว่าเป็นช่างโลหะไปเลย

๘.หมู่ช่างกลึง งานของช่างในหมู่ช่างกลึงนี้นอกจากจะมีการกลึงให้กลมและผิวเรียบแล้ว ยังรวมไปถึงการประดับตกแต่งสิ่งที่กลึงแล้วอีกด้วยเช่น การปิดทอง การประดับกระจก การแกะสลัก ช่างในหมู่ของช่างกลึงจึงประกอบไปด้วย ช่างไม้ ช่างเขียน ช่างแกะงา (ช้าง) ช่างทำกล่อง ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก

๙.หมู่ช่างสลัก งานของช่างสลักนี้จะเน้นไปในเรื่องของการสลักเสลาให้สวยงามจึงต้องมีความประณีตบรรจงเป็นพิเศษ วัสดุที่ใช้ในการสลักอาจเป็นของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ และของอ่อนที่ เรียกกันว่า เครื่องสด เช่น หยวกกล้วย ช่างของหมู่ช่างสลัก ประกอบด้วย ช่างฉลุ ช่างกระดาษ ช่างหยวก ช่างเครื่องสด

๑๐.หมู่ช่างหล่อ ด้วยประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ งานหล่อของไทยจึงเน้นหนักไปในการหล่อพระพุทธรูปเป็นส่วนใหญ่ หมู่ของช่างหล่อ ประกอบด้วย ช่างหุ่นดิน ช่างขี้ผึ้ง ช่างผสมโลหะ และช่างหล่อโลหะ


ปัจจุบันงานช่างต่าง ๆ ยังคงมี ๑๐ หมู่ มีดังนี้

๑.ช่างเขียนภาพและลายไทย

๒.ช่างไม้แกะสลัก

๓.ช่างปิดทองประดับกระจก ประดับกระเบื้อง

๔.ช่างมุก

๕.ช่างปูนและช่างปั้นลายปูนสด

๖.ช่างลายรดน้ำและเครื่องเงิน

๗.ช่างหัวโขน

๘.ช่างเคลือบโลหะ

๙.ช่างปั้นหล่อ

๑๐.ช่างเขียนแบบพุทธศิลป์สถาปัตย์


สำนักช่างสิบหมู่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรมีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้

- ผดุงรักษา ฟื้นฟู และสืบทอดศิลปวิทยาการทางด้านช่างฝีมือ และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านศิลปกรรมของชาติ

- ดำเนินการด้านช่างและงานศิลปะ ในการบูรณะซ่อมแซมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานและงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าของชาติ

- ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนางานด้านช่างศิลปกรรมของชาติ

- สำรวจ ออกแบบ เขียนแบบ งานสถาปัตยกรรม วิศวกรรมภูมิสถาปัตยกรรม ประมาณราคากลาง ควบคุมและตรวจงานก่อสร้าง เพื่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ไทยประยุกต์ และไทยร่วมสมัย การออกแบบตกแต่งภายในและศิลปสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ วัด สถาบัน องค์กร

- ดำเนินการสร้างสรรค์ งานจิตรกรรม ประติมากรรม และงานช่างสิบหมู่ รวมทั้งงานศิลปประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ

- ควบคุม ดูแล บำรุง รักษา ซ่อมบูรณะ สนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์สำคัญของชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ

- เผยแพร่ สนับสนุน และส่งเสริมงานด้านช่างศิลปกรรมของชาติแก่สถานศึกษา ชุมชน สังคม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วาโยรัตนะ : 09-04-2009 เมื่อ 08:41
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา