ชื่อกระทู้: ช่างสิบหมู่
ดูแบบคำตอบเดียว
  #24  
เก่า 24-03-2009, 09:04
วาโยรัตนะ วาโยรัตนะ is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 550
ได้ให้อนุโมทนา: 13,972
ได้รับอนุโมทนา 45,909 ครั้ง ใน 953 โพสต์
วาโยรัตนะ is on a distinguished road
Default

งานช่างประดับกระจก

งานช่างประดับกระจกหรือบางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก เป็นงานช่างรักประเภทหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังได้รับการจัดให้เป็นประณีตศิลปหรือมัณฑนศิลปอีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยงานช่างประดับกระจกเป็น งานตกแต่งสิ่งอุปโภคหรือครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความงามเพิ่มเติมสมบูรณ์ขึ้นด้วยศิลปลักษณะบนผิวภายนอกของ สิ่งนั้นๆ โดยการประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ผิวมันวาว ซึ่งได้รับการตัดแบ่งและแต่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ติดต่อกันเป็น ลวดลายเป็นลายหลากหลายแบบด้วยกันขึ้นบนศิลปภัณฑ์นั้นๆ


งานช่างประดับกระจกก็ดี ความนิยมต่องานประดับกระจกก็ดี เนื่องมาแต่สาระซึ่งผู้คนแต่ก่อนเห็นความ สำคัญในคุณลักษณะของกระจกที่เป็นทั้งสีและมีความมันแวววาว กับยังเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเปล่งประกายออกได้ คล้ายกับอัญมณีเมื่อได้รับแสงสว่างส่องมากระทบผิวกระจกนั้น กระจกสีจึงได้รับการนำมาประดับลงในบางสิ่งที่พึ่ง ประดับด้วยอัญมณีจริง หรือประดับเป็นอย่างของเทียมแทนจะใช้อัญมณี นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุ ที่มีคุณภาพแข็ง คงทนถาวรต่อแดด ฝน เป้นเครื่องช่วยป้องกันมิให้วัตถุที่กระจกปิดทับเสื่อมสลายง่าย จึงเป็นเหตุให้เกิดมีงานเครื่อง ประดับกระจกและกระบวนการช่างประดับกระจกเป็นขนบนิยมขึ้นในแวดวงช่างสิบหมู่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วัตถุที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานประดับกระจกคือ กระจกหรือแก้วที่ทำเป็นแผ่นบางๆ ใช้กันมาแต่โบราณ มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน ดังนี้
กระจกแก้ว ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ รูปร่างสี่เหลี่ยม มีสีต่างๆ กระจกแต่ละแผ่นฉาบด้านหลังด้วยแผ่น บางๆ ของโลหะเงิน หรือโลหะเจือปรอท ผิวหน้าเป็นมันวาว เนื้อกระจกแข็ง
กระจกเกรียบ ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีต่างๆ ด้านหลังเป็นดีบุก ด้านหน้าผิวมัน กระจกชนิดนี้เนื้ออ่อน อาจตัดแบ่งเป็นชิ้นได้ด้วยกรรไกร กระจกเกรียบนี้ในบางแห่งเรียกว่า แก้วชื่น แก้วจีน หรือแก้วพุก่ำ

วัสดุใช้สำหรับงานช่างประดับกระจก

รักน้ำเกลี้ยง
สมุก ผงถ่านใบตองแห้ง
ชันผง
น้ำมันยาง
ปูนขาว

เครื่องมืองานช่างประดับกระจก



เพชรตัดกระจก ด้ามทำด้วยทองเหลืองลักษณะคล้ายรูปดาบ ยาวประมาณ ๖ นิ้ว ตอนปลายค่อนข้างแบน ติดเศษเพชรยื่นออกมาเล็กน้อย เรียกว่า เพชรเขี้ยวงู
ไม้ตับคีบกระจก ทำด้วยไม้ไผ่ สำหรับคีบจับแผ่นกระจกได้มั่น และตัดกระจกสะดวกดี
ไม้กะขนาด สำหรับกะขนาดกระจกที่จะแบ่งตัด
ไม้ติดขึ้ผึ้งติดกระจก ใช้ติดชิ้นกระจกนำไปปิดลงบนพื้นที่จะประดับกระจก
เกรียงทาเทือก ใบเกรียงทำด้วยเหล็ก รูปร่างคล้ายช้อน ใบเรียวรี ปลายแหลม ต่อด้ามทำด้วยไม้
กรรไกรจีน ใช้สำหรับตัดแต่ง เล็บมุม หรือขอบที่ต้องการตัดกระจกเป็นรูปกลมๆ
กระดานผสมสมุก ทำด้วยไม้แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามสำหรับมือจับอยู่ในตัว
ไม้ซาง ใช้สำหรับกวดผิวหน้ากระจก
งานประดับกระจกซึ่งดำเนินการตามขนบนิยมที่เป็นโบราณวิธี มีขั้นตอนโดยลำดับ คือ

การกำหนดแบบลวดลายประดับกระจก

ขั้นต้น ต้องคิดแบบลวดลายสำหรับประดับกระจกขึ้นเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนเสียก่อน ลวดลายสำหรับงาน ประดับกระจกเป็นลายประเภทคุณลักษณะของวัสดุเป็นเงื่อนไขบังคับ จะทำเป็นรูปคดโค้งไม่ได้ ทำได้แต่เป็นรูป เหลี่ยมง่ายๆ ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานและประเภทรูปแบบเรขาคณิต (Geometric Shape)
ลวดลายแบบเรขาคณิตที่ผูกขึ้นสำหรับประดับกระจกอาจผูกเป็นลวดลายแบบต่างๆ เช่น
แบบลายชนิดที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียงชิดติดต่อกัน คล้ายตาสี่เหลี่ยมบนกระดานหมากรุก
แบบลายชนิดที่ใช้รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ต่อด้านเข้าด้วยกันโดยให้มุมชนกันเป็นคู่ๆ ไปโดยรอบ เรียกว่า ดอกพิกุลร่วง
ลวดบายติดต่อแบบด้านและมุมต่อผสมกัน ซึ่งอาจใช้รูปเหลี่ยมต่างๆ เช่นสี่เหลี่ยม ลูกฟักตัดมุมต่อกันเป็นลาย เรียกว่า ลายแก้วชิงดวง
ขั้นหลัง คือการเตรียมงานตัดกระจกสีต่างๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้เป็นรูปเหลี่ยมต่างๆ ได้ขนาดต่างๆ และสี ตามจำนวนที่ต้องการและเพียงพอแก่การจะใช้ประดับทำเป็นลวดลายตามแบบลวดลายที่ได้กำหนดขึ้นไว้

การเตรียมเทือกรัก

เทือกรัก เป็นสิ่งประกอบสำคัญในงานประดับกระจก เป็นตัวเชื่อมอยู่ระหว่างด้านหลังแผ่นกระจกแต่ละชิ้นๆ กับผิวพื้นของสิ่งที่ประดับด้วยกระจกนั้น
เทือกรัก ลักษณะเป็นของเหลวข้นมากและเหนียวจัด ทำขึ้นด้วยรักน้ำเกลี้ยง สมุก น้ำมันยาง หรือรักน้ำเกลี้ยง กับชัน หรือรักน้ำเกลี้ยง ปูนขาว และน้ำมันยางคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวและกวน ให้เหนียวจัดจึงเอาลงพักไว้สำหรับใช้งานต่อไป

การประดับกระจก

การประดับกระจกอาจทำประดับเครื่องอุปโภคประเภทภาชนะต่างๆ ที่ผิวพื้นไม่เป็นพื้นราบ เช่น ตะลุ่ม เตียบ เชิงบาตร มักเรียกว่า "หุ่น" กับได้ประดับลงบนผิวพื้นราบกว้าง เช่น ฝาผนัง ฝาตู้หนังสือ หน้าเสา เป็นต้น
วิธีการประดับกระจกขั้นต้นคือ การใช้เกรียงทาเทือกรักลงบนพื้นเกลี่ยให้ราบเสมอกัน แล้วจึงเอาไม้ติดขี้ผึ้ง ติดกระจกจิ้มบนหน้าชิ้นกระจกที่ตัดเตรียมไว้ปิดลงบนเทือกรัก โดยให้จมลงในเทือกรักจนเทือกรักปลิ้นออกมาจาก ใต้กระจก เพื่อจะได้เป็นเครื่องยึดริมชิ้นกระจกแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน และยังช่วยป้องกันน้ำฝนมิให้ซึมเข้าแนวเทือกริม ชิ้นกระจกนี้เรียกว่า "สาแหรก" ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนเต็มพื้นที่ครบถ้วนกระบวนรายที่กำหนด
จากนั้นจึงกวดผิวหน้ากระจกแต่ละชิ้นด้วยไม้ซางที่ตัดให้ได้พอเหมาะกับพื้นที่โดยการกลิ้งคลึงแต่เบาๆ จน กระจกอัดตัวติดกับเทือก และมีผิวราบเสมอทั่วกันก็ถึงงานขั้นสุดท้าย คือ การทำความสะอาดเช็ดถูหน้าชิ้นกระจกที่ เปรอะเปื้อนคราบเทือกรักออกด้วยผ้าเนื้อนุ่มสะอาดชุบน้ำมันการะบูนผสมเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์แล้วล้างด้วย น้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง ผิวกระจกจะขึ้นมันสดใสสวยงาม
อนึ่ง การประดับกระจกของช่างประดับกระจกแต่โบราณ ยังมีวิธีการประดับกระจกที่พิสดารเป็นความรู้ทาง ช่าง ให้เกิดเป็นรูปทรงต่างๆ บนพื้นที่อีกหลายวิธี เช่น วิธีประดับแบบ "หนามขนุน" มีรูปทรงแลดูคล้ายหนามขนุน วิธีประดับแบบ "ดอกจอก" เป็นรูปทรงเรียงรายเปรียบดังดอกจอก หรือวิธี "ตัดตูดใส่ใจ" ซึ่งเป็นวิธีประดับกระจก ขัดลายขัดสีด้วยรูปแบบกระจกและสีต่างกัน มีการใส่กระจกสีลงตรงใจกลางชิ้นกระจกที่ล้อมอยู่โดยรอบเรียกว่า "ใส่ใจ" เป็นต้น

งานช่างประดับกระจกประเภทต่างๆ

การประดับกระจกโดยประสงค์ตกแต่งสิ่งต่างๆ ให้มีความงามเพิ่มเติมขึ้นแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น อาจจำแนก ประเภทของลักษณะการประดับกระจกออกไปได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้
การประดับกระจกประเภทพื้นลาย เป็นการประดับกระกกทำเป็นพื้นผิวดาดๆ หรือทำเป็นลวดลายขึ้นบนพื้น ราบ กึ่งราบหรือโค้ง ลักษณะผิวหน้าของชิ้นกระจกอยู่ในระดับเสมอกัน
การประดับกระจกประเภทร่องกระจก เป็นการประดับกระจกลงในพื้นร่องว่างที่เป็นช่องไฟระหว่างลวด ลายสลัก ไม้หรือปั้นปูนลงรักปิดทอง พื้นร่องว่างนั้น อยู่ต่ำกว่าลวดลาย โดยประสงค์ใช้กระจกสี เช่น สีคราม สีเขียว ช่วยขับลวดลายปิดทองคำเปลวให้ดูเด่นขึ้น เรียกว่า "ร่องกระจก"
การประดับกระจกประเภทลายยา เป็นการประดับกระจกสีต่างๆ สีที่ได้รับการตัดแบ่งเป็นชิ้นตามแบบลวด ลายและขนาดที่กำหนดลงในร่องตื้นๆ ซึ่งได้ขุดควักลงบนหน้ากระดานที่จะประดับกระจก งาน "ประดับกระจก ลายยา" นี้ย่อมาจากคำว่า "กระยารง" แปลว่า "เครื่องสี" และการเรียกงานประดับกระจกประเภทนี้ว่า "ลายยา" ก็เป็น ไปในเชิงเปรียบเทียบว่าลวดลายประดับด้วยกระจกสีต่างสีที่ปรากฏบนพื้นสีทองนั้นแลดูคล้ายกันกับลวดลายเขียน ด้วยกระยารง หรือกระยาสี คือเครื่องสีนั่นเอง
การประดับกระจกประเภทแกมเบื้อ เป็นการประดับกระจกสีร่วมด้วยกันกับงานประดับมุก เพื่อเพิ่มเติมสีสันให้ สวยงามแก่งานประดับมุก คำว่า "เบื้อ" หมายถึง "มีแสงเลื่อมพราย" โดยปริยาย หมายถึงกระจก คำว่า "แกมเบื้อ" จึงหมายถึง "ปนด้วยกระจก"
การประดับกระจกประเภทสุดท้ายเป็นการปิดหรือติดกระจกทำเป็น "แวว" สอดประดับตกแต่งในตัวลายแบบ ต่างๆ ด้วยการตัดกระจกเป็นรูป หยดน้ำ กลม ปิดเป็นไส้ลายกระจัง ลายใบเทศ หรือ ลายดอกมะเขือ เป็นต้น
งานช่างประดับกระจก ประเภทได้ทำกันมาแต่กาลก่อน อาจประมวลมาให้ทราบเป็นลำดับ ดังนี้
งานประดับอาคารสถาน เช่น ประดับฝาผนังพระอุโบสถ หอไตร พระที่นั่ง บุษบก หน้าบัน เป็นต้น
งานประดับองค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ประดับช่อฟ้า เครื่องลำยอง บัวหัวเสา คันทวย หน้าเสา บานประตู เป็นต้น
งานประดับครุภัณฑ์ เช่น ฐาน แท่น พระแท่นแว่นฟ้า ม้าหมู่ ตู้หนังสือ ตู้พระธรรม หีบใส่คัมภีร์ เป็นต้น
งานประดับยานพาหนะ เช่น เรือพระที่นั่ง ราชรถ พระราชยาน สีวิกา เป็นต้น
งานประดับเครื่องอุปโภคต่าง เช่น ตะลุ่ม กระบะ พานแว่นฟ้า เตียบ ใบประกับหน้าคัมภีร์ เป็นต้น
งานประดับเครื่องประกอบการแสดงมหรสพ เช่น มงกุฎ ชฎาหน้า หรือหัวโขน เครื่องอาวุธบางชนิด เป็นต้น
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน
สุธรรม (29-04-2010)