ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 13-05-2009, 15:55
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,280 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default ประวัติศาสตร์ฉบับแพะชนแกะ "ว่าด้วยก่อนอยุธยา"

ด้วยเหตุที่ท่านทิดใช้ศิลปะลิ้นกระหวัดถึงใบหูประกอบคาถามหาระรวย ออดอ้อนให้อีตาคนเก่านำบทความที่เคยเขียนไว้มาลงในเว็บนี้ ใจจึงอ่อนระทวย มิอาจขัดความประสงค์ท่านทิดได้ ตะกายค้นหา ได้บทความที่เขียนไว้เมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่แล้ว ลงเว็บวิชาการดอทคอมตั้งแต่แรกเริ่มตั้ง และต่อมายังถูกก๊อบไปลงเว็บอื่นอีก

ขัดสีฉวีวรรณอย่างเร็ว ๆ เพื่อให้ไม่ผิดนโยบายของเว็บท่าขนุน หากยังหลงเหลือที่ผิดพลาดประการใด ขอท่านทิด และท่านอื่น ๆ เมตตาแก้ไขให้ด้วยนะครับ โปรดอย่าให้อีตาคนเก่าต้องมีอาการขี้หูเต้นร็อกอีกเลย ระยะหลังยิ่งชักเริ่มจะตึง ๆ ไปสักหน่อย เกรงจะพิการเสียก่อนวัยอันควร

อาจขัด ๆ กับที่หลวงพ่อเล่าไว้บ้างนะครับ เพราะเมื่อครั้งที่เขียนบทความนี้ยังไม่ทันได้ศึกษาคำบอกเล่าประวัติศาสตร์ของหลวงพ่ออย่างละเอียดนัก

เชิญอ่านและวิจารณ์กันได้ตามสะดวกครับ ไม่ใช่ตำราทางวิชาการที่สลักสำคัญอะไร เป็นเพียงแนวคิดของอีตาคนเก่านี้เท่านั้นเอง เพราะรำคาญใจที่นักวิชาการยุคใหม่ต่างปฏิเสธตำนานแล้วพาลหั่นประวัติศาสตร์ชาติไทยลงเหลือสั้นจู๋ ย้อนกลับไปได้ถึงเพียงสร้างกรุงสุโขทัยและอยุธยาเท่านั้น

จึงลุกขึ้นมาแต่งเองโลด ดังนี้

....................................................


ว่าด้วยยุคก่อนอยุธยา


มีการพบหลักฐานของการตั้งบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยมากมายย้อนหลังไปได้ถึงยุคพุทธกาล เมืองโบราณต่าง ๆ ในบริเวณนี้ มีอาทิเช่น อู่ทอง อโยธยา ศรีมโหสถ ไตรตรึงส์ นครปฐม(พระปถม) ละโว้ เป็นต้น

ในเดือน กันยายน ๒๕๔๓ ก็ปรากฏข่าวการค้นพบซากเมืองโบราณในเขตบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุวรรณภูมิที่ถูกกล่าวถึงในพระไตรปิฎก

ความมั่งคั่ง และความหนาแน่นของผู้ที่หากินอาศัยในบริเวณนี้ เป็นเหตุให้เกิดชุมชนเมืองมาแต่โบราณ ที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชุมชนอื่น ๆ โดยรอบ ซึ่งพิจารณาได้จากความเป็นศูนย์กลางการค้า โดยดูจากตำนานความมั่งคั่งของสุวรรณภูมิ แดนสวรรค์ของเหล่าพ่อค้าสำเภา และความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคโดยดูจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ ตำนานหลายตำนานได้แสดงถึงแรงดึงดูดให้ราชวงศ์กษัตริย์เข้ามาแย่งชิงอำนาจเหนือภูมิภาคแห่งนี้ ไปพร้อม ๆ กับแสนยานุภาพที่เข้มแข็ง สามารถแผ่เดชานุภาพ ครอบงำภูมิภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือ เช่น ตำนานการเสียเมืองเชียงแสนให้กับพวกไทยใหญ่ และเชื้อสายพระเจ้าพรหมมาตั้งเมืองไตรตรึงส์ (อยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์) สอดรับกับตำนานการกำเนิดเมืองอู่ทองที่ว่า

พระธิดาของเจ้าเมืองไตรตรึงส์ได้เสวยมะเขือของท้าวแสนปมจนตั้งครรภ์ และพระอินทร์เนรมิตเมืองอู่ทองให้ท้าวแสนปมขึ้นครอง ทั้งยังมีตำนานที่กล่าวถึงการว่างกษัตริย์ของเมืองสุพรรณบุรี เชื้อสายพระเจ้าพรหมได้ยกกำลังมาซุ่มดูเหตุการณ์ ชาวเมืองเห็นลักษณะเข้าตำรา จึงยกขึ้นเป็นกษัตริย์สืบราชวงศ์สุพรรณบุรีต่อมา

ในตำนานจามเทวีกล่าวถึง การรุกรานของขุนวิลังคะ กษัตริย์ชาวลัวะ ซึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็ง เมืองหริภุญชัยไม่สามารถ ต้านทานได้ จนพระนางจามเทวีใช้มารยาหญิง จึงรอดพ้นจากการถูกครอบครองได้

พิจารณาจากตำนานเมืองเชียงแสนที่ว่าต้นราชวงศ์คือปู่จ้าวลาวจก หรือพระเจ้าลวจักรราช ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านตีความว่าเป็นผู้นำชาวลัวะ ประกอบกับการเสียเมืองเชียงแสนให้กับขอมในรัชสมัยพระเจ้าพังคราช แล้วกู้คืนได้โดยพระเจ้าพรหมผู้เป็นบุตร

ผมสงสัยว่าตำนานทั้งสองอาจมีรากฐานจากข้อเท็จจริงเดียวกันก็ได้

ละโว้และหริภุญชัยยังถูกกล่าวถึงในตำนานที่เกี่ยวกับศรีวิชัย ("เอ หรือว่า นครศรีธรรมราชก็ไม่รู้ซิ ชักเลือน ๆ") ว่าครั้งหนึ่ง กษัตริย์ละโว้ยกไปรบกับกษัตริย์หริภุญชัย ทัพของศรีวิชัยก็ฉวยโอกาสเคลื่อนกำลังมาครอบครองละโว้ เมื่อทัพละโว้ทราบข่าวว่าเสียเมืองก็รีบตรงเข้าเมืองหริภุญชัยได้ก่อน วงศ์เดิมของหริภุญชัยจึงสาบสูญตั้งแต่นั้นมา

นักโบราณคดียังพบความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างละโว้ กับพระนคร (เขมร) ซึ่งเดิมเชื่อว่าพระนครมีอำนาจเหนือละโว้ แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างอยุธยา ลพบุรี (ละโว้) กลับเป็นดังเมืองลูกหลวงของอยุธยา และพระเจ้าอู่ทองได้ส่งกองทัพนำโดยขุนหลวงพะงั่ว (น้องเมีย) แห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี ไปตีพระนครได้สำเร็จ โดยให้เหตุผลที่ไปตีว่า "ขอมแปรพักตร์" จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ราชวงศ์อู่ทองมีอำนาจสูงสุดเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคนี้แล้วตั้งแต่ก่อนสร้างอยุธยา

ประวัติศาสตร์ยังได้กล่าวถึง สามพ่อขุน คือ พญาเม็งรายแห่งล้านนา พญางำเมืองแห่งภูกามยาว และพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ต่างก็ถูกส่งไปเรียนต่อเมืองนอกในสมัยนั้น คือ ละโว้

พ่อขุนผาเมืองผู้ร่วมรบขับไล่ขอมกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ดูจะสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสุโขทัย แต่ก็ไม่น่าเป็นเช่นนั้นเพราะพิจารณาจากที่พ่อขุนผาเมืองได้รับพระราชทานพระธิดาจากผีฟ้าแห่งยโสธรปุระ (พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗?) เป็นมเหสี ย่อมแสดงถึงศักดานุภาพที่ไม่ธรรมดาเกินกว่าจะสาบสูญไปง่าย ๆ จากหน้าประวัติศาสตร์

ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนศิลาจารึกหลักที่ ๓ มีระบุนัยยะสำคัญว่า เมื่อสูงวัยพ่อขุนผาเมืองได้กลายเป็นอาจารย์ สอนศิลปศาสตร์แก่กษัตริย์ทั้งปวง ผมจึงเอาแพะมาชนแกะ สงสัยว่าท่านคงจะเป็นครูของพ่อขุนทั้งสาม และในจารึกเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงบิดาและตัวหลวงพ่อศรีศรัทธา ผู้เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง ว่ามีรากฐานเดิมอยู่ที่ละโว้ ผมจึงยิ่งเกิดแรงบันดาลใจมากยิ่งขึ้นว่า แพะกับแกะคงจะชนกันได้พอดี ประกอบกับนักประวัติศาสตร์หลายท่านยังมองว่า พ่อขุนผาเมืองได้ไปครองเขมร หรืออย่างน้อยเมืองใหญ่เมืองหนึ่งใต้อิทธิพลเขมร

ฉะนั้นประวัติศาสตร์ฉบับแพะ ๆ แกะ ๆ ของผมจึงมองว่า เชื้อสายของพ่อขุนผาเมืองคงจะได้ตั้งราชวงศ์ที่ทั้งเขมรและไทยต่างก็กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ เป็นศูนย์กลางอำนาจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสืบทอดมาถึงพระเจ้าอู่ทองนั่นเอง หลักสำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีนี้ คือข้อสรุปของจิตร ภูมิศักดิ์ ว่าด้วยการเรียกชาวใต้ว่า ขอม ของชาวเหนือ ซึ่งผมตีความว่า ชาวเชียงแสนในยุคเดียวกับพระนางจามเทวีคงจะเรียกชาวหริภุญชัยว่า ขอม ครั้นต่อมาชาวสุโขทัยก็เรียกผู้ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาว่าขอม

ในยุคที่ละโว้กับพระนครมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คำว่าขอมในสายตาของชาวเหนือ จึงรวมเอาเขมรไปด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผลไม่น้อยที่ผมเหมาว่าพระเจ้าอู่ทองท่านเป็นเชื้อสายชาวเหนือ ท่านจึงสมรสกับเชื้อสายชาวเหนือด้วยกัน (ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าทั้งราชวงศ์สุพรรณบุรีและต้นราชวงศ์อู่ทองสืบเชื้อสายจากพระเจ้าพรหม) แถมน้องเมียของท่าน คือขุนหลวงพะงั่ว ก็ได้สมรสกับชาวสุโขทัยเสียอีก เข้าตำราการสงวนวงศ์อสัญแดหวาอย่างยิ่ง พระเจ้าอู่ทองจึงทรงเรียกเขมรว่าขอมเป็นธรรมดา ประสาชาวเหนือ

แพะและแกะจึงชนกันได้ด้วยประการฉะนี้ละครับ ท่านสารวัตร

ยังไม่เท่านั้นนะครับ อันว่าเมืองราดเมืองเดิมของพ่อขุนผาเมืองนั้น บางกระแสก็ว่าอยู่แถบนครไทย (พิษณุโลก ค่อนมาทาง เพชรบูรณ์-เลย) และยังมีที่ว่าว่าเป็นเชื้อสายของพระเจ้าพรหมเสียอีก บางทีในยุคสุโขทัย-ต้นอยุธยา อาจมีความเชื่อว่าราชวงศ์สุโขทัยสืบทอดมาแต่พระเจ้าพรหมเช่นกัน

การค้นพบวัตถุโบราณร่วมสมัยทวารวดีในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีความประณีตบรรจงยิ่งกว่าศิลปวัตถุในยุคเดียวกันที่ค้นพบในที่อื่น แม้ตามเมืองท่า ดูจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ความเจริญ และอำนาจที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่อื่น

วัดพนัญเชิงซึ่งถูกสร้างตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีฯ ยังมีตำนานของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับพระราชทานพระราชธิดาจากพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งผมสงสัยว่าน่าจะเป็นราชวงศ์สุพรรณบุรี เพราะในยุคต้นกรุงศรีฯ ที่กษัตริย์อยุธยาแตกคอกับทางสุพรรณบุรี เมืองจีนก็ยังรับรองกษัตริย์แห่งเมืองสุพรรณว่าเป็นอ๋อง โดยพระราชทานตราตั้งให้ แทนที่จะให้กับกษัตริย์อยุธยาซึ่งมีพระราชอำนาจมากกว่า ก็คงด้วยสนิทใจว่าเป็นญาติกันกระมัง ?

แต่ประเด็นสำคัญที่จะชี้ให้เห็นจากตำนานนี้ ก็คือพระบรมเดชานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของกษัตริย์แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แม้พระเจ้ากรุงจีนยังต้องเกรงใจมาตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงศรีฯ ซึ่งก็เป็นประเด็นสนับสนุนที่ชวนให้เชื่อได้ว่าพระนครอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีฯ

คุณไมเคิล ไร้ท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในแถบนี้ต่างก็ได้รับอิทธิพลอารยะธรรมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมหาภารตยุทธ์ หรือเทวานุภาพของพระราม แต่กลับมีแต่เพียงในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นำเอาชื่อเมืองเหล่านี้มาใช้ ในเขมรกลับไม่ใช้ ในความเห็นผม มองว่าก็ด้วยความเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจมาตั้งแต่ยุคอโยธยา พระเจ้าอู่ทองจึงทรงเฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ด้วยพระบรมเดชานุภาพที่สมกับพระนามและชื่อเมืองอย่างแท้จริง

นึกได้อีกตำนานที่มีนัยยะสำคัญแสดงการสู้รบอันยาวนาน ระหว่างชาวเหนือกับชาวใต้ (ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) นั้นคือ ตำนานพระร่วง ซึ่งมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน แต่ก็ล้วนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงบุญญาธิการยิ่งของสุโขทัย ในยุคก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (เข้าใจว่า หลายร้อยปี) ผู้เป็นราชโอรสของกษัตริย์สุโขทัยกับนางนาค ซึ่งภายหลังเป็นผู้ที่สามารถต่อต้านขอมผู้ครอบครองได้ และเป็นที่มาของตำนานปลีกย่อยไปอีก เช่น ขอมดำดิน และการใช้ชะลอมส่งส่วยน้ำให้ขอมแทนตุ่ม

เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สื่อประเด็นสำคัญของความเป็นมาในภูมิภาคนี้ในอดีต ที่บ่งชี้ความเจริญและศูนย์กลางแห่งอำนาจนั้นอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอด โดยแผ่อำนาจขึ้นไปทางเหนือเป็นเวลานับพันปีมาแล้ว ในขณะที่ฝ่ายเหนือก็พยายามสู้รบ ต่อต้านมาโดยตลอดเช่นกัน จนมารวมกันได้ติดอย่างแท้จริงในสมัยอยุธยา (ผนวกสุโขทัย) และยุครัตนโกสินทร์ (ผนวกล้านนา) และความพยายามในการรวมดินแดนแถบเหนือและใต้ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ก็มีมาโดยตลอดพันปีเช่นกัน ดูจากตำนานต่าง ๆ ที่ล้วนอ้างสิทธิความชอบธรรม ในราชสมบัติของอาณาจักรฝ่ายเหนือ จากความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขราชวงศ์ฝ่ายเหนือของผู้ครองบัลลังก์ฝ่ายใต้ จนดูจะพัฒนาเป็นราชประเพณีสำคัญของราชสำนักไป แม้ในยุครัตนโกสินทร์เองก็มีหนังสือ "อภินิหารบรรพบุรุษ" ที่กล่าวถึงการสืบราชวงศ์จักรีมาแต่ราชวงศ์พระร่วง

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์อารยะธรรมต่าง ๆ ก็ดูมีเค้ามูลความเป็นไปได้อยู่มากเช่นกัน เช่น จีนที่ถูกมองโกลรุกราน แต่กลับกลืนผู้ครอบครองให้กลายเป็นจีนไป หากความเจริญและร่ำรวยที่ยาวนานก็สร้างความอ่อนแอให้กับระบบ จนทำให้ผู้ที่เคยอยู่ใต้การปกครองลุกขึ้นมาต่อต้าน แล้วกลับกลายเป็นผู้ปกครองได้ หากผู้ปกครองใหม่ย่อมถูกดึงดูดให้ไปอยู่ที่ที่เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์ในการปกครองและเศรษฐกิจ ด้วยอารยธรรมที่เข้มแข็งกว่า หรืออาจผสมด้วยนโยบายทางรัฐศาสตร์ที่ต้องการสร้างความกลมกลืน เป็นเหตุให้ราชวงศ์ใหม่กลายเป็นขอมไปด้วย ตำนานที่เล่าสืบกันมาแต่โบราณจึง อาจเป็นเค้าเงื่อนที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาในอดีตอย่างเที่ยงตรงกว่า การสร้างทฤษฎีของนักวิชาการบางท่านด้วยซ้ำไป

ดังนั้นจากแนวคิดนี้เราจึงเห็นความเป็นขอมที่ไม่ใช่เขมร หากเป็นคำเรียกชนกลุ่มหนึ่ง โดยชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งผู้เรียกและผู้ถูกเรียก เมื่อ ๑,๐๐๐ ปีก่อนก็จะเป็นคนละกลุ่มกับในเวลา ๕๐๐ ปีต่อมา ยิ่งไปกว่านั้นความเป็นไทยในปัจจุบัน จึงมีที่มาอันหลากหลายและกว้างขวางยิ่งจนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปราสาทหินและวัตถุโบราณแบบขอมที่เราพบอยู่เกลื่อนกลาดในภูมิภาคนี้ คือมรดกของไทยอันชอบธรรม ฉะนั้นจงช่วยกันไปตีเอาเขาพระวิหารคืนจากเขมรกันเถิด ไชโย !?!

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 14-05-2009 เมื่อ 09:41
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา