ดูแบบคำตอบเดียว
  #596  
เก่า 21-08-2020, 13:46
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,886 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

ธรรมเทศนาโดยย่อ : ข้อวัตรปฏิบัติพระเณรวัดป่าบ้านตาด


@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@


อุปัชฌายะตามหลักพระวินัย

“...กฎเกณฑ์คณะสงฆ์ลักษณะปกครองอะไรมีขึ้นมาทุกวันนี้ เพราะเรื่องการประพฤติของพระของเณรเรามันพิสดารไปเรื่อย เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเรื่องกฎกระทรวงบ้าง ข้อบังคับ กฎกติกาอะไรบ้าง กฎหมายลักษณะปกครองสงฆ์บ้าง ขึ้นมาเพื่อปกครอง หลักเหล่านี้ถึงจะมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ต้องไม่ทำลายหรือทำความกระทบกระเทือนต่อหลักพระวินัยเป็นสำคัญท่านว่า อย่างบัญญัติหรือกฎข้อบังคับให้ตั้งอุปัชฌายะนี่เหมือนกันนะ ก็ตั้งตามเขตตามภาค ใครอยู่ในเขตไหน อำเภอใด ตำบลใด ควรจะมีอุปัชฌาย์ เพื่อไม่ให้ลำบากในการอุปสมบทของกุลบุตร สุดท้ายภายหลังก็ตั้งอุปัชฌาย์ ตั้งทางโน้นก็ให้บวชให้ทางโน้น ตั้งที่ไหนก็ให้บวชทางนั้น ๆ ผู้ไม่ได้ตั้งก็ไม่ให้เป็นอุปัชฌาย์ ไม่เรียกว่าอุปัชฌาย์ นี่ความหมายของการตั้งชื่อเมื่อภายหลังนี้ว่าอย่างนั้น

แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ควรจะบวช จะบวชนี่จะผิดไหม นี่เป็นปัญหาอันหนึ่งขึ้นมา เอ้า.. พระวินัยผิดไหม พระวินัยว่ายังไง เอาพระวินัยเป็นเกณฑ์เลย คือพระวินัยพระ ที่บวชตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้วสามารถที่จะเป็นอุปัชฌายะได้ นี่ละ..ตรงนี้อันหนึ่ง ถ้าสมมุติว่าเกิดมีผู้บวชขึ้นมา หรืออย่างผมนี้มีความจำเป็นที่จะบวชกุลบุตรสุดท้ายผู้ใดก็ตาม ผมบวชขึ้นมานี้สงฆ์จะรับรองไหม นี่เป็นข้อหนึ่งขึ้นมา

ที่ผมพิจารณาหรือผมพูดออกมา เพื่อให้หมู่เพื่อนได้ใช้ความพินิจพิจารณา หรือได้พิจารณาตามเหตุผลนี้ เทียบเคียงกับหลักธรรมหลักวินัยต่างหากนะ ไม่ใช่ผมจะเป็นผู้ล่วงเกินธรรมวินัย คือมันมีหลายแง่หลายทางนี่ ที่จะถือว่าถ้าได้ตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์แล้วถึงจะบวชได้ ถ้าไม่ได้ตั้งเป็นอุปัชฌาย์แล้วบวชก็เป็นโมฆะอย่างนี้ จะเป็นโมฆะจริง ๆ เหรอ ในเมื่อหลักพระวินัยมีอยู่นี่ พระวินัยท่านว่าผู้มีอายุ ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้ว และเป็นผู้ทรงธรรมวินัยด้วยดี มีสัมมาคาราวะ มีอาจาระดี เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนแล้ว ผู้นั้นเป็นอุปัชฌายะได้ โดยไม่ต้องตั้งจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย แน่ะ..นี่คือพระวินัยตั้งเอง หรือศาสดาตั้งเองก็ได้ เพราะศาสดาเป็นผู้บัญญัติไว้ นี่..ยังมีข้อแม้อยู่อันหนึ่ง...

แต่ท่านไม่ทำอันนั้นเพราะเคารพในกฎอันนี้ ไม่ทำนั้นเฉย ๆ ไม่ได้หมายถึงว่าจะบวชไม่ได้เลย พระวินัยมีอยู่ทำไมบวชไม่ได้ ศาสดาแท้ ๆ เป็นผู้ตั้ง เป็นผู้บัญญัติขึ้น อันนี้เป็นพวกคณะสงฆ์เราสุดท้ายภายหลังมาตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นความวุ่นวายเกินไป เพราะสมัยทุกวันนี้.. พระองค์ที่โลภมากเป็นอุปัชฌาย์แล้วคอยแต่จะกิน มี (อย่างนั้น) นั่นจะว่าไง ไม่ใช่อุปัชฌาย์ด้วยความเมตตาสงสารกุลบุตร สุดท้ายภายหลังไม่ได้ทำด้วยความเมตตาสงสาร แต่ผู้ที่ทำด้วยความเมตตาสงสารไม่ได้หวังโลภโลเลอะไรเลย บวชตามหลักพระวินัยทำไมจะเป็นไปไม่ได้ นี่อันหนึ่งที่เป็นข้อคิด

สำหรับเราเอง เราแน่ใจว่าได้ทั้งนั้น ไม่มีใครตั้งก็ตามพระวินัยตั้งแล้ว นั่น.. พระวินัยตั้งแล้วคือศาสดาตั้งแล้ว.. บวชได้ แต่ท่านไม่ทำ..เพราะเคารพในกฎนี้ กฎนี้ก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่ ท่านบวชมาสักเท่าไรแล้วไม่ทำความเสียหาย มันเป็นกฎ เป็นระเบียบอันดีงามซึ่งควรเคารพ เราจึงเคารพเรื่อยมา บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงเคารพในกฎนี้เรื่อยมา แต่ไม่ถึงกับว่าจะต้องลบล้างพระวินัยข้อนั้นทิ้งไปเลย..ไม่ให้มี ให้มีแต่ผู้ที่ตั้งเป็นอุปัชฌายะแล้วถึงจะบวชได้เท่านั้น นี้พูดเป็นข้อคิดให้คณะสงฆ์เราได้คิด แต่ไม่ใช่ให้อุตริไปทำนะ คณะสงฆ์ท่านตั้งไว้แล้วก็เป็นความสวยงามแล้ว เรียบร้อยแล้ว เราทำเป็นแง่คิดแห่งพระวินัยข้อหนึ่งขึ้นมาเท่านั้นเอง...”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:15
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา