ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 12-09-2009, 18:58
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,532
ได้ให้อนุโมทนา: 151,526
ได้รับอนุโมทนา 4,406,712 ครั้ง ใน 34,120 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกว่าไตรสิกขา คือ การศึกษา ๓ อย่างของพระพุทธศาสนานี้ ถือว่าเป็นหลักการปฏิบัติที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเราตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อความสุขในปัจจุบันนี้ หรือเพื่อความสุขในอนาคตข้างหน้า หรือว่าเพื่อทั้งความสุขในปัจจุบัน ในอนาคตเบื้องหน้า และเพื่อประโยชน์สุขสูงสุด คือ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยไตรสิกขาคือการศึกษา ๓ อย่าง ในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง หน้าที่ของเราจึงลงอยู่เฉพาะหน้าว่า ทำอย่างไรจะให้ศีล สมาธิ ปัญญาของเราทรงตัวได้ นั่นก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นเกณฑ์เป็นหลัก ถ้าเราดำเนินอยู่ในสมาธิ ศีลทุกสิกขาบทจะบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ ปัญญาจะเกิดเห็นช่องทางว่าทำอย่างไรจะรักษาศีลและสมาธิให้ทรงตัวอยู่ได้

การปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นทุกรูปแบบ ไม่มีใครที่สามารถจะละเว้นศีล สมาธิ ปัญญานี้ได้ นักบวชในศาสนาอื่น ในนิกายอื่น แม้ว่าจะรู้จักศีล สมาธิ ปัญญาเช่นกัน แต่เนื่องจากไม่สามารถประมวลมาเข้าเป็นระบบเดียวกัน ไม่มีระบบในการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนอย่างกับศาสนาพุทธของเรา โดยเฉพาะขาดปัญญาในการพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายโดยเฉพาะร่างกายของเรา ประกอบด้วยความไม่เที่ยงเป็นปกติ ระหว่างดำรงชีวิตอยู่มีความทุกข์เป็นปกติ และท้ายสุดก็ไม่สามารถยึดถือมั่นหมายในตัวตนเราเขาได้ เพราะต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างพังไปทั้งสิ้น

เมื่อศาสนาอื่นไม่มีตัวปัญญาต่อท้ายเช่นนี้ จึงไม่สามารถจะหลุดพ้นได้ อย่างดีที่สุดก็ก้าวเข้าสู่ความเป็นพรหม ไม่ว่าจะเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหมก็ตาม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้แล้ว นำเอาธรรมะทั้งหมดมาจำแนก มาแยกแยะ มาบัญญัติ มาก่อตั้ง ประมวลจัดเป็นหมวดเป็นหมู่ เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ ทำของยากให้เป็นของง่าย สงเคราะห์พวกเราอย่างเต็มที่ เพราะว่าพวกเราทั้งหลายนั้น เมื่อรักในการปฏิบัติ แสดงว่าสร้างบุญสร้างบารมีมาอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว ถ้าตั้งใจเอาจริงสามารถบรรลุมรรคผลได้ทุกคน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 12-09-2009 เมื่อ 19:02
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา