ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 29-09-2011, 11:04
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default ให้ศึกษาอารมณ์จิตที่ยังเกาะติดร่างกายให้มาก

ให้ศึกษาอารมณ์จิตที่ยังเกาะติดร่างกายให้มาก

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้มีความสำคัญดังนี้

๑. “ให้ศึกษาอารมณ์ของจิตที่เกาะติดร่างกายให้มาก จักเห็นความเกาะติดในทุก ๆ อิริยาบถ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาจนกระทั่งหลับนอนไปเลย นี่แหละคือการค้นคว้าหาตัวสักกายทิฏฐิ คนเราจักละหรือตัดมันได้ ก็ต้องรู้จักตัวสักกายทิฏฐิจริง ๆ ต้องเห็นศัตรูก่อน จึงจักกำจัดศัตรูได้ ข้อนี้ฉันใด การจักตัดสักกายทิฏฐิก็ฉันนั้น จึงต้องทำกันจริง ๆ มิใช่ทำเล่น ๆ ต้องอย่างจริงจัง แล้วหาเหตุหาผลในการละ หรือตัดกิเลสด้วยปัญญาจริง ๆ แล้วผลที่ได้ก็จักจริงทุกอย่าง”

๒. “งานทางโลกไม่มีใครทำได้จบจริง ๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณญาณ บุคคลใดยังข้องติดอยู่กับงานทางโลก จึงทำไปไม่รู้จักจบ งานทางโลกเป็นกิจที่ทำได้เฉพาะเมื่อมีขันธ์ ๕ เท่านั้น บุคคลผู้รู้คุณค่าของการมีขันธ์ ๕ ก็จักทำหน้าที่อย่างชาญฉลาด มุ่งทำงานเพื่อเป็นที่เจริญของจิตด้วย ไม่เบียดเบียนตนเองทั้งกาย วาจา ใจด้วย สงเคราะห์ตนเองและผู้อื่นเท่าที่จักสงเคราะห์ได้ จิตก็จักเป็นสุข ทำงานทางโลกไปตามหน้าที่ โดยไม่เบียดเบียนและไม่ข้องติดอยู่ในหน้าที่นั้น ความรับผิดชอบนั้นมี ทำอย่างดีที่สุด ตามกำลังความสามารถจักทำได้ แต่จิตไม่เกาะติดให้เกิดความเศร้าหมองของจิต มีธรรมค้ำชูจิต ตายเมื่อไหร่ งานทางโลกก็เลิกกัน วางได้สนิท จิตไม่ติดห่วงใด ๆ ทั้งสิ้น เวลานี้จิตเจ้ายังห่วงทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม งานทางโลกกลัวจักทำไม่เสร็จ งานทางธรรมกิเลสก็ยังสิงใจหนาอยู่ กลัวทำไม่เสร็จเช่นกัน เพราะฉะนั้น จงพยายามตรวจสอบจิต อย่าให้คิดห่วงอะไร เพียรใช้ปัญญา ปล่อยอารมณ์ห่วงนั้นให้ลุล่วงไป ตรวจสอบดูกันให้ดี แล้วจักเห็นจุดบกพร่องได้”

๓. “สิ่งใดเป็นอันตรายกับจิต เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสก็พึงหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น และพยายามหาเหตุหาผลมาวางอารมณ์เกาะยึดโทสะ โมหะ ราคะ ให้คลายไปจากจิต ให้เห็นสภาพความโกรธ ความรัก ความหลงตามความเป็นจริง อย่าไปอนุโลมตามกิเลส คำว่ารักมิใช่เพียงแต่หนุ่มสาว ให้ดูอารมณ์เกาะติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสด้วย ให้ครอบไปหมดทุกอายตนะสัมผัส อย่าไปใจอ่อนยอมแพ้กิเลส ค่อย ๆ พิจารณาให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง แล้วจิตจึงจักตัดวางอารมณ์ที่เกาะติดนั้นลงได้”

๔. “ให้สังเกตอารมณ์ของจิต ยิ่งตามรู้ลึกเข้าไป ยิ่งเห็นความละเอียดของกิเลสมาก อย่าพึงสนใจกับบุคคลอื่น ให้สนใจกับจิตของตนเองให้มาก เช่น การพูดกล่าวสอนธรรมให้คนอื่นยังเป็นของง่าย แต่ที่จักกล่าวสอนธรรมให้แก่จิตตนเองเป็นของยาก ที่เห็น ๆ ได้ง่าย ก็เรื่องการติดรูปและรสอาหารเป็นต้น แม้จักรู้สึกเบื่อในการประกอบอาหาร แต่บางขณะพอกระทบกลิ่น-รสของอาหารเข้า จิตก็ยังมีความอยากบริโภคอาหารนั้น เรียกว่าเบื่อไม่จริง ยังมีราคะในอาหาร จุดนี้เป็นการยกให้เห็นแนวทางของการพิจารณาหาอริยสัจ และให้เห็นอารมณ์ทะยานอยากของจิต แต่การพิจารณานี้ให้เป็นแนวทางครอบคลุมไปทั่ว ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ สุดแล้วแต่จิตของพวกเจ้า จักละเอียดขึ้นมาพิจารณาธรรมนั้น ๆ ได้สักแค่ไหน”
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา