ดูแบบคำตอบเดียว
  #431  
เก่า 31-05-2020, 12:54
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

ปฏิปทาข้อ ๘ ตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ชอบ ได้แก่สมาธิที่สัมปยุตปัญญา ไม่ใช่สมาธิแบบหัวตอ และไม่ใช่สมาธิที่ติดแน่นทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมพิจารณาทางด้านปัญญาเลย โดยเห็นว่าสมาธิเป็นธรรมประเสริฐพอตัว จนเกิดความตำหนิติโทษปัญญา หาว่าเป็นของเก๊ไปเสีย สมาธิประเภทนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ไม่จัดเป็นสมาธิที่จะทำบุคคลให้พ้นจากทุกข์ไปโดยชอบธรรม ส่วนสมาธิที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องกำหนดลงไปในหลักธรรมหรือบทธรรมตามจริตชอบ ด้วยความมีสติกำกับรักษา จนจิตรวมลงเป็นสมาธิได้ และจะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม เมื่อรู้สึกจิตของตนสงบหรือหยุดจากการคิดปรุงต่าง ๆ รวมอยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายจนกว่าจะถอนขึ้นมา จัดเป็นสมาธิที่ชอบ

และไม่เหมือนสมาธิซึ่งรวมลงไปแล้วไม่ทราบกลางวันกลางคืน เป็นตายไม่ทราบทั้งนั้น เหมือนคนตายแล้ว พอถอนขึ้นมาจึงระลึกย้อนหลัง ว่าจิตรวมหรือจิตไปอยู่ที่ไหนไม่ทราบ นี่เรียกว่าสมาธิหัวตอ เพราะรวมลงแล้วเหมือนหัวตอ ไม่มีความรู้สึก สมาธิประเภทนี้จงพยายามละเว้น แม้ที่เกิดขึ้นแล้วรีบดัดแปลงเสียใหม่ สมาธิที่กล่าวนี้เคยมีในวงนักปฏิบัติด้วยกัน วิธีแก้ไขคือหักห้ามอย่าให้รวมลงตามที่เคยเป็นมาจะเคยตัวตลอดกาล จงบังคับให้ท่องเที่ยวในสกลกายโดยมีสติบังคับเข้มแข็ง บังคับให้ท่องเที่ยวกลับไปกลับมา และขึ้นลงเบื้องบนเบื้องล่างจนควรแก่ปัญญาและมรรคผลต่อไป

ส่วนสัมมาสมาธิ เมื่อจิตรวมลงไปแล้ว มีสติรู้ประจำอยู่ในองค์สมาธินั้น เมื่อถอนขึ้นมาแล้วควรจะพิจารณาทางปัญญาในสภาวธรรมส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกาย ในจิต ก็พิจารณาในโอกาสอันควร สมาธิกับปัญญาให้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกันเสมอไป อย่าปล่อยให้สมาธิเดินเหินไปแบบไม่มองหน้ามองหลังโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น

สรุปความแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน โดยจะแยกจากกันให้เดินแต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ สมาธิกับปัญญาต้องผลัดเปลี่ยนกันเดิน โดยมีสติเป็นเครื่องตามรักษาทั้งสมาธิและปัญญา

นี่แลปฏิปทาทั้ง ๘ ที่ได้อธิบายมาโดยอิงหลักธรรมบ้าง โดยอัตโนมัติบ้าง ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ถึงสัมมาสมาธิ พึงทราบว่าเป็นธรรมหลายชั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะนำไปปฏิบัติตามภูมิแห่งธรรมและความสามารถของตน

ในปฏิปทาทั้ง ๘ ประการนี้ ไม่เลือกว่านักบวชหรือฆราวาส ใครสนใจปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ ผลคือวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้นั้น เพราะศีล สมาธิ ปัญญารวมอยู่ในมรรคนี้ และเป็นเหมือนกุญแจไขวิมุตติทั้งสองให้ประจักษ์กับใจอย่างเปิดเผย

อนึ่ง ท่านนักปฏิบัติอย่าพึงเข้าใจว่า วิมุตติกับวิมุตติญาณทัสสนะทั้งสองนี้.. แยกกันไปอยู่ในที่ต่างแดนหรือแยกกันทำหน้าที่คนละขณะ ที่ถูกไม่ใช่อย่างนั้น เขาตัดไม้ให้ขาดด้วยขวาน ขณะไม้ขาดจากกัน ตาก็มองเห็น ใจก็รู้ว่าไม้ท่อนนี้ขาดแล้วด้วยขวาน เห็นด้วยตากับรู้ด้วยใจเกิดขึ้นในขณะเดียวกันฉันใด วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะก็ทำหน้าที่รู้เห็นกิเลสขาดจากใจด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ในขณะเดียวกันฉันนั้น จากนั้นแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะปัญหายุ่งยากก็คือปัญหากิเลสกับใจเท่านั้นที่ใหญ่ยิ่งในไตรภพ เมื่อปล่อยใจอันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดแล้ว กิเลสซึ่งเป็นสิ่งอาศัยอยู่กับใจก็หลุดลอยไปเอง ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง เรียกว่าต่างฝ่ายต่างจริงแล้วก็หมดคดีคู่ความลงเพียงเท่านี้...”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 31-05-2020 เมื่อ 19:59
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา