ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 27-02-2011, 01:05
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,145 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ส่วนในเรื่องของการขบฉันของที่นี่ ตอนช่วงเช้าทางป่าไม้เขาเลี้ยง ส่วนช่วงกลางวัน ถ้าหากว่ามีโยมอยู่ โยมเขาจะทำอาหารถวายเอง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องของการบิณฑบาต สมัยที่ผมมาอยู่ใหม่ ๆ ต้องบิณฑบาต เดินขึ้นไปตรงทางหน้าวัดโน่น

ไปราว ๕ กิโลกว่า กลับอีก ๕ กิโลกว่า กว่าจะได้ฉันก็โน่น ๙ โมง จึงต้องฉันมื้อเดียวโดยอัตโนมัติ เพราะว่าออกเดิน ๖ โมงเช้า กว่าจะกลับมาถึง ๙ โมงเช้า ระยะทางไปกลับราว ๑๐ กิโลเศษ ๆ

มาตอนหลังพวกเขาโดนทางการกวาดล้าง เก็บเอาไปไว้ที่ศูนย์อพยพตรงหน้าอำเภอหมด ก็เลยไม่มีบ้านให้บิณฑบาต เพราะว่าทางด้านบน วัดสะพานลาวกับวัดเหมืองสองท่อ เขาก็มาบิณฑบาต วัดห้วยสมจิตรก็บิณฑบาตอยู่แล้ว หมู่บ้านเดียวต้องเลี้ยงพระถึง ๓ วัด

ทางด้านล่างก็มีวัดเขาถ้ำ มีวัดถ้ำทะลุและสำนักสงฆ์เขารวก เขาก็บิณฑบาตของเขาอยู่แล้ว เราจะลงไปรบกวนเขาอีกก็ไม่ดี เลยกลายเป็นว่าอยู่ที่นี่แล้วไม่ได้บิณฑบาต ขาดวัตรปฏิบัติของพระไปอย่างหนึ่ง

ส่วนเรื่องของการศึกษากรรมฐาน เราต้องแบ่งเวลาภาวนาให้เป็น เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือลมหายใจเข้าออกของเรา อย่าทิ้งเป็นอันขาด ทิ้งเมื่อไรก็ฟุ้งซ่านเมื่อนั้น เมื่อปฏิบัติรักษาอารมณ์ใจได้แล้ว ต้องหัดประคับประคองอารมณ์นั้นให้เป็น

ให้อารมณ์ใจนั้น อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่อย่างนั้นพอทำแล้วทิ้ง ความฟุ้งซ่านก็จะครอบงำเรา ถึงเวลาแล้วเราก็ทำใหม่ กลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ผลงานไม่มีเพิ่มขึ้นเลย

หลายคนบ่นว่าทำกรรฐานมาหลายปี บางคนก็เป็น ๑๐ ปีแล้ว แต่หาความก้าวหน้าไม่ได้ ก็เพราะว่าทำแล้วทิ้ง ไม่ได้รักษาของที่ทำเอาไว้ หาสมบัติมากองไว้ตรงหน้าเสร็จแล้วก็ทิ้งถังขยะไป หามาเท่าไรก็ไม่มีกินไม่มีใช้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องรู้จักสังวรระวังแล้วก็รักษากำลังใจตัวเองให้ดี

แรก ๆ ของนักปฏิบัติ ถ้าหากว่าตั้งใจรักษาอารมณ์จริง ๆ แทบจะไม่อยากคุยกับใคร เพราะเสียเวลาการปฏิบัติของตัวเอง เนื่องจากว่าคุยเมื่อไรก็ฟุ้งซ่านเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสกับพระมหาโมคคัลลานะ* ว่า

“เราจักไม่กล่าวคำพูดอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน คำพูดอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน ทำให้ต้องพูดมาก บุคคลที่พูดมากจิตใจย่อมฟุ้งซ่าน ผู้ที่จิตใจฟุ้งซ่านย่อมห่างจากสมาธิ” คือ กำลังใจจะไม่ทรงตัว

ถ้าจะพูด ก็พูดในสิ่งที่ชักนำให้ปฏิบัติ ชักนำให้คลายกำหนัด ชักนำให้สันโดษ ชักนำให้ยินดีในการปลีกตัวออกจากหมู่ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น..เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราค่อย ๆ ศึกษา แล้วค่อย ๆ ทำไป ความก้าวหน้าก็จะมีขึ้นได้


หมายเหตุ :
* พระสุตตันตปิฎก: อังคุตตรนิกาย: เอกนิบาต: เอตทัคคปาลิ: เอตทัคควรรค ; ธัมมปทัฏฐกถา ยมกวรรควรรณา ๘
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-02-2011 เมื่อ 02:58
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา