ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 25-01-2010, 11:37
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,614
ได้ให้อนุโมทนา: 151,817
ได้รับอนุโมทนา 4,413,163 ครั้ง ใน 34,204 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๓

เมื่อทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนแล้ว ก็ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาหรือภาพพระของเรา หายใจเข้า กำหนดรู้ตามไป หายใจออก กำหนดรู้ตามไป

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ถือว่าเป็นวันที่สองของปีใหม่แล้ว และเป็นวันที่สองของการปฏิบัติกรรมฐานของเดือนมกราคม เมื่อวานเรากล่าวถึงการประเมินตนเองตามหลักของอิทธิบาท ๔ เพื่อที่จะดูว่า ในรอบปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ในส่วนของศีล สมาธิ และปัญญาของเรานั้น มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งก้าวหน้าหรือถอยหลังเป็นประการใด ?

ซึ่งได้ย้ำไปว่า ประเมินตนเองนั้น เราต้องไม่เข้าข้างตนเอง เพราะถ้าหากเราเข้าข้างตนเอง คือ ประเมินตนเองในด้านที่สูงที่ดีอยู่ตลอด โอกาสที่จะแก้ไขตนเองก็มีน้อย สำหรับวันนี้จะกล่าวต่อจากอิทธิบาท ๔ ก็คือ ในส่วนของสัมมัปปธาน ๔

สัมมัปปธาน ๔ เป็นความเพียร ๔ ประการ คือ ความเพียรในการที่จะละความชั่ว ๑ ความเพียรในการระมัดระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจของเรา ๑ ความเพียรในการสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา ๑ และความเพียรในการรักษาความดีในใจของเราให้มั่นคงยาวนาน ๑

อิทธิบาท ๔ ก็ดี สัมมัปปธาน ๔ ก็ดี อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ รวมแล้วท่านเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นธรรมอันเป็นองค์คุณเครื่องตรัสรู้ คือ สามารถช่วยให้เราบรรลุมรรคผลได้ทั้งนั้น

ในส่วนของสัมมัปปธาน ๔ นั้น อยากจะกล่าวว่า เป็นเครื่องประกันผลการปฏิบัติให้แก่เรา เปรียบเสมือนกับตรารับประกันสินค้า เพราะถ้าเราสามารถตามดู ตามรู้กำลังใจของเราเองว่า ในขณะนี้มีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้ามีอยู่เราก็ขับไล่มันออกไป แล้วระมัดระวังเอาไว้ อย่าให้มันเข้ามา การระมัดระวังไม่ให้ความชั่วเข้ามา เขาเรียกว่า สังวรปธาน การขับไล่ความชั่วออกไป เขาเรียกว่า ปหานปธาน

แล้วเรามาดูว่า ใจเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้าไม่มีความดีอยู่ ให้สร้างความดีนั้นขึ้นมา ถ้ามีความดีอยู่แล้ว ให้ทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป การสร้างความดีขึ้นมา ท่านเรียกว่า ภาวนาปธาน การรักษาความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่า อนุรักขนาปธาน

ที่กล่าวว่าเปรียบเหมือนตรารับประกันสินค้า คือ ประกันว่าสินค้าของเรามีคุณภาพแน่นอน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับบริษัทห้างร้าน ถ้าหากเราพบจุดบกพร่องก็ต้องรีบแก้ไข รีบกำจัด เพื่อให้หมดจากข้อบกพร่องนั้น ๆ แล้วคอยตรวจสอบระวังไม่ให้ข้อบกพร่องนั้นเกิดขึ้นอีก ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่ามีจุดเด่น สมมติว่ายังไม่มี..เราก็สร้างให้มีจุดเด่นขึ้นมา ถ้ามีจุดเด่นอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าหากบริษัทของเราได้ชื่อว่า กำจัดในส่วนที่ไม่ดี สร้างเสริมแต่สินค้าที่ดี ๆ มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขัน ก็ถือว่าเป็นตรารับประกันอันหนึ่ง ที่ผู้บริโภคใช้สอยจะมีใจยอมรับในสินค้าบริษัทของเรา

ถ้าหากเราปฏิบัติตามสัมมัปปธาน ๔ แล้ว ก็เป็นเครื่องประกันได้ว่า เราต้องสามารถละความชั่วทั้งปวง และทำความดีให้ถึงพร้อมได้แน่ ๆ จึงได้กล่าวว่า สัมมัปปธาน ๔ เปรียบเหมือนตรารับประกันสินค้า ถ้าผลิตออกจากโรงงานนี้ จะต้องเป็นสินค้าที่ดีอย่างแน่นอน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2010 เมื่อ 18:37
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา