ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 25-02-2009, 19:48
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 259
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,289 ครั้ง ใน 1,280 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default

แจ้งใจในสัจธรรม

แม้ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯท่านจะมีจิต ฝักใฝ่ในธรรมและสนใจในการปฏิบัติพระกรรมฐานมาตั้งแต่ต้นแล้วก็ตาม แต่สำหรับสาเหตุที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต ทั้งๆที่แต่แรก ท่านหาได้คิดที่จะบวชจนตลอดไม่ ด้วยมีโครงการจะบวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้น ท่านก็คิดจะแต่งงานและไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมารับใช้ชาติต่อไปนั้น ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ปรารภถึงเรื่องนี้ไว้เองว่า เป็นเพราะท่านได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว ซึ่งก็คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(เจริญ ญาณวรมหาเถระ) สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของท่านนั่นเอง ที่ได้สอนเรื่องอริยสัจ ๔ แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกอยู่ในความสุข จนกล่าวได้ว่า “ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาส ที่ไม่มีมีความทุกข์ซ้อนซ่อนอยู่เลย” และเมื่อท่านได้นำมาเปรียบกับชีวิตของท่านเองที่ผ่านมา ท่านก็ได้แลเห็นว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์อย่างแท้จริง และอยากจะหาทางพ้นทุกข์ จนกระทั่งปีที่ ๖ แห่งการอุปสมบท ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่ความบันเทิงในธรรมแต่เพียงอย่างเดียว และยิ่งเมื่อท่านเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองและชีวิต จึงทำให้ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯได้แจ้งใจอย่างถ่องแท้ว่า ท่านไม่อาจที่จะกลับไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกแน่นอนแล้ว แม้ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๗ จะได้ทรงพระมหากรุณาแต่งตั้งท่านเป็นองคมนตรีรอท่าไว้ ทั้งๆที่ท่านยังครองสมณเพศอยู่ก็ตาม แต่ท่านจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะบวชไม่สึกอย่างแน่นอน โดยท่านได้ให้เหตุผลที่ลึกซึ้งและกินใจเป็นที่สุดว่า
“ชีวิตฆราวาส เป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยไม่รู้ว่าจะต่อสู้ไปทำไม และเพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ก็ควรที่จะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ...???”


ทำเมืองให้เป็นป่า

ครั้งหนึ่ง มีนายแพทย์ท่านหนึ่ง(นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์) ได้กราบเรียนถามท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯว่า
“พระเดชพระคุณขอรับ พระอริยบุคคลในปัจจุบันนี้ ยังพอมีอยู่บ้างไหม.??”
เมื่อได้ฟัง ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ตอบในทันทีทีเดียวว่า “มี....”ท่านวิสัชนา”แต่ท่านไม่ค่อยเข้ามาอยู่ในเมือง ชอบอยู่ตามป่าตามเขากัน เพราะท่านเหล่านั้นไม่ชอบความวุ่นวาย” จากคำตอบดังกล่าว จึงเป็นการยืนยันว่า แม้ในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายร้อยแปดพันประการ พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ขีณาสพ ก็ยังคงมีอยู่มิขาดสาย สมดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเคยตรัสเอาไว้ว่า “ตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดอยู่โดยชอบแล้ว ตราบนั้นโลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์”

แต่ด้วยเหตุดังว่า จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างยิ่งว่า ทำไมกรณีของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯนั้น ทั้งๆที่ที่ท่านพำนักอยู่ คือวัดเทพศิรินทราวาสนั้น ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองหลวงอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการและธุรกิจมากมาย อีกทั้งยังแวดล้อมไปด้วยความอึกทึกวุ่นวายนานับประการ แต่ทำไมท่านจึงสามารถบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมขั้นสูงได้ ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็คือ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯนั้น ท่านทำเมืองให้เป็นป่าสำหรับองค์ของท่านนั่นเอง โดยการตัดโลกแยกตัวท่านออกมาจากสังคม ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวสมาคมกับโลกภายนอกอย่างเด็ดขาด ถึงขนาดโยมบิดามารดาถึงแก่กรรม ท่านก็ยังไม่ยอมไปเผา ได้แต่สั่งการให้น้องๆดำเนินการแทน ทั้งๆที่ท่านมีความเคารพและกตัญญูต่อบุพการีและผู้มีพระคุณอย่างยวดยิ่ง ท่านไม่ยอมออกไปนอกเขตวัดเลยนานถึงกว่า ๔๐ ปีเต็มๆ ท่านไม่เคยไปยังกุฏิใคร และก็ไม่ยอมให้ใครมายังกุฏิของท่าน หากจะต้องออกจากกุฏิ ก็จะตรงมาโบสถ์เพื่อทำวัตรเช้าและค่ำ วันละ ๒ เวลาเท่านั้น ท่านอยู่ลำพังของท่านอย่างโดดเดี่ยวเอกา ที่สุด แม้แต่ไฟฟ้า พัดลม ทีวี ตู้เย็น โทรทัศน์ วิทยุ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอันใด ท่านก็ไม่มีกับเขาทั้งสิ้น ซึ่งก็แปลว่า ท่านปลีกวิเวกอย่างไร้สิ่งปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิงเหมือนกับอยู่ในป่าดงจริงๆ ใครคนไหนมีธุระต้องการพบท่าน ก็พบได้แต่เฉพาะเวลาที่ท่านลงโบสถ์เท่านั้น ไม่ว่าคนสามัญ หรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยท่านเคยกล่าวไว้ว่า “คนทั้งหลายที่มาพบนี่ เมื่ออาตมากลับกุฏิแล้ว อาตมาทิ้งหมด ไม่ได้นึกถึงเลย ผีทั้งนั้น...” ด้วยปฏิปทาอันแน่วแน่และเฉียบขาดเป็นที่สุดเยี่ยงนี้เอง จึงทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมชั้นสูงได้อย่างน่าอนุโมทนา สาธุการเป็นที่ยิ่งอย่างนี้ สมดังที่ท่าน ธมฺมวิตกฺโกได้ปรารภเป็นการส่วนตัวกับพระภิกษุนวกะรูปหนึ่งไว้คว่า
“อาตมาไม่ต้องการเกิดอีกแล้ว อาตมามั่นใจว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของอาตมาแล้ว”
และท่านก็ยังได้พูดยืนยันเป็นภาษาอังกฤษไว้อีกด้วยว่า “This Life Is The Last”

อีกครั้งหนึ่ง ท่านได้ถูกคางคกไฟกัดเอาที่เท้า ขณะกลับจากทำวัตรค่ำ พิษนั้นได้สร้างความเจ็บปวดเสียดแทงเข้าถึงหัวใจ ได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องก็ได้ทราบถึงพระภิกษุผู้จำพรรษาใกล้ๆกันและได้มาเยี่ยมเยียนแสดง ความเห็นอกเห็นใจ แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯกลับตอบขอบใจเป็นคติที่น่าคิดอย่างยิ่งว่า “ไม่เป็นไร คางคกมันกัดเราได้ชาติเดียว แต่เสียงหวานๆนั้น มันกัดพวกคุณหลายชาติ..!!!!”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 15-07-2009 เมื่อ 11:29
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา