ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 26-02-2009, 16:42
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 259
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,289 ครั้ง ใน 1,280 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default

อารมณ์ขันของท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์มีใบหน้าเมตตายิ้มแย้มแจ่มใสให้ลูกศิษย์ชื่นใจอยู่เสมอ ท่านเคยสอนคนขี้โกรธทำหน้าบึ้งบ่อย ๆ ว่าไม่ดี เดี๋ยวหน้าเหมือนยักษ์ ถ้าศิษย์คนไหนทำผิดท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ พอครั้งที่ ๓ ถ้าศิษย์ขัดขืนไม่เชื่อฟังอีกท่านบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นเห็นจะต้องบ๋าย บาย กันละบอกแล้วเขาอยากไม่เชื่อเรานี่" บรรดาผู้ที่ได้เคยสนทนากับท่านคงจะนึกได้ถึงอารมณ์ขันต่าง ๆ ที่ได้ประสบกับตัวเอง ในที่นี้จะกล่าวเพียง ๒ - ๓ เรื่อง

เรื่องแรกคือ เรื่องคุณหลวงสำเร็จ ตอนท่านอาจารย์อาพาธรักษาตัวอยู่ที่ รพ.พระปิ่นเกล้า ท่านเล่าว่าคืนหนึ่งท่านฝันว่า คุณหลวงสำเร็จมากราบท่านแล้วชวนท่านไปอยู่ด้วย ท่านอาจารย์พูดเสียงเบา ๆ เมื่อเล่าถึงตอนที่ว่า " เราก็บอกว่าไม่ไปซิ ปัทโธ่ ! จะไปได้ยังไงก็หลวงสำเร็จตายไปนานแล้วนี่ " ครั้นเมื่อท่านออกจากโรงพยาบาล ท่านก็เกิดอาการเบื่อหน่ายอาหาร ฉันได้แต่เต้าหู้ยี้กับข้าวต้มเป็นเวลาเกือบปี ถ้าเป็นพวกเราก็คงจะแย่ไปนานแล้ว ดังนั้นเวลาใคร ๆ นำอาหารมาถวายท่านจะตอบว่า "คุณเอ๋ย ขอบใจมากที่นำอาหารมาถวาย แต่ตอนนี้อาตมาฉันได้แต่ข้าวต้มกับเต้าหู้ยี้เท่านั้น อย่างอื่นมันรู้สึกเหม็นไปหมด แต่เราจะกลัวอะไรล่ะ" ท่านหยุดเว้นระยะก่อนจะพูดต่อไปว่า "ลูกศิษย์เรามีโรงงานทำเต้าหู้ยี้นี่นา เขาเอามาถวายทีละหลาย ๆ ขวด"

เรื่องต่อไปก็คือ เรื่องจัดแจกันดอกไม้ถวายพระ ศิษย์ผู้หนึ่งเมื่อจัดแจงตัดก้านดอกไม้ใต้น้ำเพื่อไม่ให้ฟองอากาศเข้า ดอกไม้จะได้สดชื่นอยู่นาน ๆ ตามวิธีการที่ท่านอาจารย์สอนแล้ว ก็นำไปปักแจกัน บังเอิญวันนั้นดอกไม้มีน้อยแจกันดูโหรงเหรง ศิษย์ผู้นั้นเลยเดินออกไปหาใบไม้สำหรับปักแซมในแจกัน เมื่อเดินไปหลังกุฏิซึ่งเป็นสวนมีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ ก็เจอใบไม้ชนิดหนึ่งรูปร่างลักษณะใบสวนสีเขียวเข้มคล้ายว่าน เลยตัดมาปักแซมดอกไม้ในแจกัน เมื่อเล็งซ้ายขวาเห็นว่างามแล้วจึงนำไปถวายท่านอาจารย์ หวังว่าคงจะได้รับคำชมเชยว่าตนเป็นผู้มีความคิดดี รู้จักหาใบไม้มาเพิ่มเติมทำให้แจกันไม่โหรงเหรง เมื่อนำแจกันไปถวายแล้วก็ยังรี ๆ รอ ๆ ไม่ยอมไป คอยให้ท่านอาจารย์ออกปากชมเสียก่อน ครั้นท่านอาจารย์เหลือบมาเห็นแจกันเข้าท่านวางหนังสือพิมพ์ที่อ่านค้างอยู่แล้วถามทันทีว่า

"นั่นไปเก็บใบอะไรที่ไหนมา"

ศิษย์ผู้นั้นรู้สึกแปลกใจมากที่ท่านอาจารย์ถามตรงจุด เดาเอาว่าท่านคงล่วงรู้วาระจิตของตนเลยรีบยิ้มแป้นตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า "ใบไม้ที่ขึ้นเองในสวนหลังกุฏิเจ้าค่ะ วันนี้ดอกไม้น้อยเลยหาใบมาแซม"

ท่านอาจารย์ถามซ้ำอีกว่า "แล้วรู้หรือเปล่าว่านี่ใบอะไร"

ศิษย์ "ไม่ทราบเจ้าค่ะ แต่เห็นว่าลักษณะใบแปลกสวยดีเลยเก็บมา"

ท่านอาจารย์ "ต้นอย่างนี้น่ะ รู้ไหมว่าเวลามีดอกแล้วคล้ายดอกหน้าวัว"

ศิษย์ "ไม่ทราบเจ้าค่ะ"

แล้วนั่งคอยฟังว่าเมื่อไรท่านจะชมเสียที

ท่านอาจารย์เห็นว่าศิษย์ผู้นั้นถ้าจะไม่รู้จริง ๆ เลยสรุปให้ฟังว่า

"เขาเรียกว่าดอกอุตพิด ยังไงล่ะ ทีนี้รู้หรือยัง"

ปรากฏว่าศิษย์ผู้นั้นรีบคว้าแจกันออกไปทันที

เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องบุรพกรรม ครั้งที่หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ตรวจบุรพกรรมให้ท่านอาจารย์นั้น ท่านอาจารย์ต้องทำพิธีถวายสังฆทานอุทิศให้ตาลุงคนหนึ่งซึ่งในอดีตชาติ ตาลุงคนนั้นทำความผิด ท่านอาจารย์ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาเลยสั่งให้กักบริเวณเป็นระยะเวลาหนึ่งเป็นการลงโทษ ของที่หลวงปู่บอกให้ท่านอาจารย์ถวายสังฆทานอุทิศให้ตาลุงนั้นจำไม่ได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่ที่พิเศษคือ ต้องให้ทานเสื้อผ้า หมากพลู และแว่นสายตาสำหรับคนแก่ด้วย เมื่อทำพิธีอโหสิกรรมแล้วลูกศิษย์ทั้งหลายพากันโล่งอก ต่อมาอีกไม่นานคืนหนึ่งหลังจากที่ท่านอาจารย์กลับมาจากอบรมกรรมฐานที่ซอยสายลม เมื่อลูกศิษย์ขับรถมาส่งที่กุฏิแล้วท่านก็สั่งให้กลับไปได้ บังเอิญวันนั้นท่านลืมเอากุญแจไขเข้ากุฏิติดตัวไปด้วย ท่านเลยต้องนั่งตากยุงคอยที่เฉลียงจนถึงรุ่งเช้า อันที่จริงท่านจะกดกริ่งให้พระลูกศิษย์ที่จำวัดห้องข้างบนอีกด้านหนึ่งลงมาเปิดประตูให้เป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านเกรงใจเลยนั่งรออยู่ตรงนั้นจนรุ่งเช้า เมื่อใคร ๆ รู้เรื่องเข้าต่างตกอกตกใจกันใหญ่ เพราะท่านอาจารย์อายุมากแล้วควรจะได้รับการพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ท่านอาจารย์กลับบอกอย่างอารมณ์ดีว่า

"ไม่เป็นไรหรอก คิดเสียว่าเราเคยทำกับตาลุงไว้ยังไงล่ะ นี่ดีแต่หลวงปู่ครูบาธรรมชัยแก้กรรมให้แล้วนะ ไม่งั้นเห็นจะยิ่งกว่านี้" เมื่อมีผู้ถามว่าแล้วยุงไม่กัดท่านหรือ เพราะห้องเฉลียงสมัยนั้นไม่ได้ติดมุ้งลวด ท่านตอบว่า

"ดูเหมือนจะมีเหมือนกันแหละที่มันบินมาตอม ๆ เอา ปัทโธ่ ! จะกลัวอะไรกันกับยุงตัวมันนิดเดียว มันอยากกัดก็ปล่อยให้มันกัดซีน่า"

เมื่อมาคิดดูแล้วนัยเป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ท่านอาจารย์นั่งอยู่ที่เฉลี่ยงทั้งคืน แต่ดูเหมือนไม่เห็นร่องรอยว่าโดนยุงกัดมากมายอะไร ยุงจะกัดท่านอาจารย์หรือเปล่าไม่มีใครทราบ แต่ทำให้คิดถึงคำสอนของท่านอาจารย์ว่า อะไรที่เราไม่รู้จริง หรือรู้จริงก็อย่าได้เที่ยวโอ้อวด "เดี๋ยวคนจะหาว่าเราโม้ จริงไหมล่ะ" สมัยหนึ่งหน้าประตูห้องท่านอาจารย์มีกระดาษติดเอาไว้ พร้อมกับข้อความตัวโรว่า "คนโง่ เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาด เอาปากไว้ที่ใจ"

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-08-2009 เมื่อ 21:17
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา