|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
พระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่ แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จากหนังสือโครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๓ เรียบเรียงโดย รศ.ดร.ปฐม -รศ.ภัทรา นิคมานนท์ มีนาคม ๒๕๔๘ โดยได้รับอนุญาตจากผู้เรียบเรียง ๑. พระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่งจากพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย ทั้งในและต่างประเทศ แม้หลวงปู่จะได้ลาขันธ์ไป ตั้งแต่คืนวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘ แต่ความทรงจำในกระแสเมตตา ปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ จริยาวัตรที่งดงาม พร้อมกับธรรมโมวาทอันล้ำค่าของหลวงปู่ ก็ยังส่องสว่างอยู่กลางใจของพวกเราชาวพุทธทุกผู้ทุกนาม เมื่อน้อมระลึกถึงหลวงปู่ทีไร ความสุข สงบ ความโสมนัส ชื่นบาน ความสมหวัง โชคดี ความเป็นสิริมงคล จะดื่มด่ำอยู่ในจิตใจอย่างไม่รู้อิ่มรู้คลาย ผู้ที่โชคดี มีโอกาสกราบไหว้องค์หลวงปู่ ได้เคยฟังการปรารภธรรม แสดงธรรมจากหลวงปู่ ต่างก็ประจักษ์ความไพเราะ นุ่มนวลละมุนละไม ประดุจเสียงทิพย์ที่ไพบูลย์ด้วยธรรมะ อันเป็นสากลสัจจะ ยังความอิ่มเอิบ เบิกบาน และเป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิต หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นผู้สืบเนื้อนาบุญอันไพศาล นับเป็นพระอริยสาวกที่ควรแก่กราบไหว้บูชาอย่างแท้จริง ท่านเจ้าคุณพระวิบูลธรรมาภรณ์ แห่งวัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ ศิษย์ใกล้ชิดท่านหนึ่ง ได้รจนาถึงปฏิปทาของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ดังนี้ :- " หลวงปู่แหวนท่านมีศีลที่สมบูรณ์ คือเป็นพระสงฆ์ที่มีความปกติครบถ้วนไม่เกินหรือขาด สภาพของท่านเปรียบเสมือนป่าใหญ่ที่มีต้นไม้ใหญ่เล็กนานาชนิด ทั้งยืนต้น และล้มลุก มี ดอก ใบ ผล สมบูรณ์ ตามสภาพของพันธ์นั้นๆ จะมีต่างอยู่ก็คือกลิ่นของดอกไม้ ในป่า หอมตามลม แต่กลิ่นศีลของหลวงปู่หวนตามลมและทวนลม และไม่นิยมกาลเวลา หอมอยู่เสมอ " หลวงปู่มีจริยาวัตร คือความประพฤติที่เรียบร้อย งดงาม เต็มพร้อมด้วยสิกขา วินัย กฎระเบียบ การปฏิบัติของท่านเรียบง่าย ถูกต้องทั้งในสมาคมสาธารณะและในที่รโหฐาน จะเป็นที่ชุมชนใหญ่ เล็ก ท่านทำตนเป็นกลางเสมอเหมือน ความประพฤติของท่านเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงามาก มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างให้คนเดินทางได้อาศัยร่มเงาพัก นกกาอาศัยเกาะกิ่ง มีกาฝากก็ขึ้นแซมบ้างบางครั้งบางคราว หลวงปู่ท่านมีปฏิปทา คือทางดำเนินสายกลางพอเหมาะพองาม ไม่ชอบระคนด้วยกลุ่มชนมาก ชอบหลีกเร้นอยู่ในที่สงบ ชอบชีวิตธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร ชีวิตของท่านอยู่กับป่ามาโดยตลอด แม้ในวัยชรา หลวงปู่จะปรารภเสมอว่า ขณะนี้ป่าธรรมชาติจะหายไป แต่มีป่ามนุษย์เข้ามาแทนที่ โดยท่านให้คติว่าต้นไม้ในป่าต่างต้นต่างเจริญเติบโต แสวงหาอาหารเลี้ยงต้น ใบ ดอก ผลของมันเอง ไม่แก่งแย่งเบียดเบียนกัน แต่มนุษย์ก็มีทางดำเนินเลี้ยงชีวิตตรงกันข้ามกับต้นไม้ในป่า หลวงปู่ท่านมีเมตตาธรรมเป็นเลิศ มีสมาธิดี มีพลังจิตสูงเปี่ยมด้วยเมตตา ถ้าได้สนทนาธรรมกับท่าน สิ่งที่เป็นคำสอนอันสำคัญสำหรับชาวเราทั่วไป ก็คือ ท่านจะสอนให้หัดแผ่เมตตา ความปรารถนาดี แก่คน สัตว์ ศัตรูหมู่มาร จะสอนให้แผ่ให้ทั่วจักรวาล ยิ่งแผ่มากจะทำให้จิตใจ สบาย รักชีวิต ทรัพย์สินของคนอื่นเหมือนกับของตนเอง หลวงปู่ท่านสอนให้แผ่ความปรารถนาดี ความสุขแก่ชนทุกชั้นทุกระดับ ใครจะได้รับมากน้อยสุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น สรูปได้ว่า หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ท่านสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วย ศีล จริยวัตร ปฏิปทา คุณธรรม แผ่ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ทั้งตามลมและทวนลม เกียรติคุณ บริสุทธิคุณ ปรากฏในชุมชนทั่วไป คุณแห่งศีลและเมตตาของท่านเป็นเสมือนมนต์ขลัง ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ มีคนจำนวนมากเดินทางไปกราบขอศีลขอพร ขอบารมีธรรม และบางรายขอทุกอย่างที่ตนมีทุกข์ เพื่อจะให้พ้นทุกข์ ทำให้เกิดศรัทธาสองทาง คือ คุณธรรมและวัตถุธรรม ผู้ใดต้องการธรรมะ ก็สดับตรับฟังศึกษาเอา ผู้ใดต้องการของขลัง รูปเหรียญวัตถุมงคลที่ระลึก ก็แสวงหาเอา ใครผู้ใดปรารถนาหรือศรัทธาอย่างใดก็ปฏิบัติอย่างนั้น ซึ่งก็คงสำเร็จประโยชน์ไม่มากก็น้อย ในสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ประชาชนจากใกล้ไกล ต่างแห่แหนไปกราบหลวงปู่ ซึ่งหลวงปู่ ได้ปรารภถามว่า พากันลำบากลำบนมากันทำไม" คำตอบจากประชาชนเหล่านั้นก็คือ ต้องการมากราบบารมีของหลวงปู่ หลวงปู่ได้แนะนำว่า บารมีต้องสร้างเอา เหมือนอยากให้มะม่วงของตนมีผลดก ก็ต้องหมั่นบำรุงรักษาเอา ไม่ใช่แห่ไปชื่นชมต้นมะม่วงของคนอื่น ต้องไปปลูก ไปบำรุงต้นมะม่วงของตนเอง การสร้างบารมีก็เช่นกัน ต้องสร้างต้องทำเอาเอง จากเว็บhttp://www.dharma-gateway.com/monk-hist-index-page.htm แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:43 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
๒. แผ่เมตตาไม่มีประมาณ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ท่านสอนให้ศิษย์ทุกคนได้หัดแผ่เมตตา คือส่งความปรารถนาดีแก่คน สัตว์ ศัตรูหมู่มารโดยแผ่ไปให้ทั่วจักรวาล ยิ่งแผ่มาก ก็ยิ่งทำให้ในสบาย รักชีวิตและทรัพย์สิน คนอื่นเหมือนกับของตนเอง สังคมก็จะมีความสุขสงบอย่างถ้วนทั่ว หลวงปู่แนะวิธีแผ่เมตตาให้บังเกิดผล โดยให้ทำตนและจิตใจเหมือนมารดาที่เลี้ยงลูก ให้ความรัก ความเอ็นดูสงสาร มุ่งหวังจะให้ลูกสุขกายสบายใจ มีอาชีพการงาน มีวิชาเลี้ยงตนเองได้ ความรักที่แม่ให้กับลูกเป็นความรักที่บริสุทธิ์ไม่มีพิษภัย และไม่ต้องการผลตอบแทนจากลูก มีแต่ให้อย่างเดียว ถ้าเราแผ่เมตตาเหมือนกับพระอาทิตย์ส่องแสง เมตตานั้นจะมีพลังสูงยิ่ง เพราะธรรมชาติของพระอาทิตย์ขณะที่ส่องแสงไม่ได้เลือกชุมชน สรรพสัตว์ยากดีมีจน อยู่ที่สูงหรือที่ต่ำ จะใกล้หรือไกลก็ได้รับความร้อนเท่ากัน เมตตาธรรมก็เช่นกัน ขอให้แผ่ไปให้แก่ชนทุกชั้นทุกระดับ ใครจะรับได้มากน้อย สุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น ผู้เขียน (รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์) เพิ่งประจักษ์ในความวิเศษของพระพุทธศาสนาเมื่อปี ๒๕๒๖ นี้เอง ก่อนหน้านั้นมัวไปลุ่มหลงศึกษาวิทยายุทธจากฝรั่งชาติตะวันตกอยู่นาน และเพิ่งมารับสัมผัสบารมีธรรมของหลวงปู่แหวน ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ เมื่อครั้งติดตามหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ไปกราบหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ที่วัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่แหวน ท่านเคยอยู่ที่วัดป่าบ้านปง (วัดอรัญญวิเวก ในปัจจุบัน) นานถึง ๑๑ ปี ก่อนจะย้ายไปพำนักที่ดอยแม่ปั๋ง และหลวงพ่อเปลี่ยน ก็ได้ตามไปอุปัฎฐากหลวงปู่เสมอมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน หลวงพ่อเปลี่ยน เล่าให้ฟังว่า “ทุกคืน หลวงปู่แหวน ท่านจะแผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล แต่แปลก ที่ประเทศรัสเซีย กับประเทศบริวารรับกระแสเมตตาของท่านได้บ้างเล็กน้อย ส่วนเวียตนามไม่ยอมรับเลย สะท้อนกลับคืนหมด ประเทศเขาจึงวุ่นวายตลอด มาภายหลังก็เริ่มรับได้มากขึ้น และหลวงปู่บอกให้หลวงพ่อเปลี่ยนช่วยแผ่เมตตาให้ประเทศเวียตนามมาก ๆ ให้ทำทุกคืน หลวงพ่อเปลี่ยน ท่านว่า “ พลังจิตของหลวงปู่เปรียบได้กับแสงพระอาทิตย์ ของอาตมาเป็นแค่แสงหิ่งห้อย เปรียบกันไม่ได้ แต่อาตมาก็ทำตามที่หลวงปู่บอกทุกคืน ตอนนี้เขาเริ่มดีขึ้น และจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ..." หลวงพ่อปรารภว่า ท่านอยากเอาหนังสือธรรมะไปแจก โดยเฉพาะแจกให้ “ พวกตัวใหญ่ ๆ ” ซึ่งท่านรู้ว่าควรจะแจกให้ใครและที่ใด เป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้เขียนจึงได้มีส่วนร่วมด้วยการไปหาผู้แปลและจัดพิมพ์หนังสือ " เมตตาธรรมค้ำจุนโลก " ซึ่งเป็นคำเทศน์ของหลวงพ่อ ออกมาเป็นภาษาเวียตนาม ตามความประสงค์ของท่าน ณ จุดนั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนและครอบครัวจึงได้เริ่มสัมผัสกระแสเมตตา และได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบารมีธรรมของหลวงปู่แหวนมาโดยลำดับ นับเป็นบุญและเป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิตตลอดมา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 20:02 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
๓. ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นพระป่าธรรมดา ๆ ไม่มียศศักดิ์หรือตำแหน่งใด ๆ แต่คุณธรรมความดีของท่านก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของมหาชนอย่างกว้างขวางตลอดมา หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่านแล้ว อัฐิของท่านได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุใสดังแก้วผลึกที่งดงามมาก ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของผู้ได้พบได้เห็น จึงไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงในความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสในจิตของท่าน เมื่อครั้งยังดำรงขันธ์อยู่ หลวงปู่มีจิตคงที่ ไม่แสดงอาการขึ้นลงตามกระแสใด ๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน ท่านไม่รู้สึกหวั่นไหว ไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ใครอยากขอ อยากทำอะไรกับท่านก็ทำไป ถ้าไม่เป็นการล่วงละเมิดวินัยสงฆ์ ท่านจะเมตตาสงเคราะห์ให้เสมอ การเทศน์การสอนของหลวงปู่ ท่านมักสอนให้ละอดีต ให้ละอนาคต โดยท่านบอกว่า " นั่นมัน ธรรมเมา ถ้าจะให้เป็นธรรมา ต้องให้จิตแน่วนิ่งลงในอารมณ์ปัจจุบัน " ใครถามประวัติหนหลังของหลวงปู่ ท่านจะบอกว่า “ เฮาบ่มีอดีต เฮาบ่มีอนาคต " ซึ่งแสดงว่า จิตของท่านตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันเสมอ ผู้รู้ในแนวทางพระพุทธศาสนา อธิบายว่า “ ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่แต่ในอารมณ์ปัจจุบันได้เสมอ กิเลสเครื่องเศร้าหมองย่อมจะครองใจไม่ได้ แล้วกิเลสอะไรจะครองใจของหลวงปู่อยู่อีกล่ะ ? " ใครไม่เชื่อว่า หลวงปู่แหวน เป็นพระอรหันต์ ก็ตามใจ ! แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:51 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
๔. ชาติภูมิ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านโป่ง ตำบลหนองใน ปัจจุบันคือ ตำบลนาใน อำเภอ เมือง จังหวัดเลย เมื่อตอนเด็ก หลวงปู่มีชื่อว่า ยาน เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๐ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน บิดาชื่อ นายใส รามสิริ ปู่และย่าไม่ปรากฏชื่อ มารดาชื่อ นางแก้ว รามสิริ ยายชื่อ ยายขุนแก้ว ตาชื่อ ตาขุนแก้ว อาชีพของบิดามารดาคือทำนา สืบเชื้อสายมาจากชาวหลวงพระบาง อพยพมานานแล้วหลายชั่วคน อาชีพพิเศษอย่างหนึ่งของนายใสผู้บิดา คือ เป็นช่างตีเหล็ก มีความชำนาญในการหลอมเหล็ก ตีเหล็กมาก เป็นที่เลื่องลือของคนในถิ่นนั้น หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันอยู่ ๒ คนคือ หลวงปู่กับพี่สาวชื่อ นางเบ็ง ราชอักษร มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่หลวงปู่ยังเล็ก บิดาได้มีภรรยาใหม่อีก ๓ คน ตามลำดับดังนี้ ภรรยาคนที่สอง มีบุตร ๑ คน คือนายคำ เมื่อภรรยาคนที่สองถึงแก่กรรมอีก บิดาก็ได้ภรรยาคนที่สาม มีบุตรสาว ๑ คนชื่อ นางนำ หลังจากคลอดลูกสาวไม่นาน ภรรยาคนที่สามก็ถึงแก่กรรมอีก บิดาจึงมีภรรยาคนที่สี่ มีบุตร ธิดา ๔ คน บุตรชายชื่อ นายฝ้าย และบุตรสาวชื่อ นางกองคาย นางตาบ และนางพวง ตามลำดับ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 20:05 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
๕. มารดาขอให้บวชตลอดชีวิต
เมื่อหลวงปู่แหวนอายุได้ประมาณ ๕ ขวบ โยมมารดาเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ รักษาเยียวยาหมอพื้นบ้านตามที่มีในสมัยนั้น อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดลงเรื่อย ๆ แม้โยมมารดามีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง แต่ท่านก็เป็นคนใจบุญสุนทาน ไหว้พระ ทำบุญเป็นประจำ โยมมารดารู้ตัวว่านางคงอยู่ได้ไม่นาน จึงเรียกลูกชายเข้าไปหา จับมือลูกรักไว้แน่น แล้วพูดเป็นการสั่งเสียว่า " ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฎิก็ตาม แม่ไม่ยินดี แม่ยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่ เมื่อลูกบวชแล้ว ก็ให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมียนะ " คำสั่งเสียของมารดาในครั้งนั้นเป็นเสมือนประกาศิตสวรรค์ที่กำหนดแนวทางดำเนินชีวิตของหลวงปู่ ท่านจดจำคำสั่งเสียของมารดาตรึงแน่นอยู่ในหัวใจไม่เคยลืม และคำสั่งนี้เป็นพลังใจให้หลวงปู่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างไม่เคยท้อถอย ส่งผลให้ท่านบรรลุถึงธงชัยในพระพุทธศาสนาได้อย่างน่าเลื่อมใสศรัทธาเป็นที่ยิ่ง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:54 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
๖. ความฝันของคุณยาย
หลังจากสั่งเสียบุตรชายได้ไม่นาน โยมมารดาของหลวงปู่ก็ถึงแก่กรรม เด็กชายยาน และ พี่สาว จึงอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของคุณตา คุณยายต่อมา คืนหนึ่ง คุณยาย ( ชาวอีสานเรียกว่า แม่ใหญ่ ) ของท่านได้ฝันไปว่า เห็นหลานชายตัวน้อยนอนอยู่ในดงขมิ้น ผิวกายแลดูเหลืองอร่ามไปหมด คุณยายเชื่อว่าเป็นฝันดี ถือเป็นบุพนิมิตแสดงให้เห็นว่า หลานชายของท่านคงจะได้มีวาสนาอยู่ในสมณเพศตามที่มารดาต้องการ ตื่นเช้า คุณยายได้เล่าความฝันให้หลานชายฟังว่า " ยายฝันประหลาดมาก ฝันว่าเห็นเจ้าไปนั่งอยู่ในดงขมิ้น เนื้อตัวของเจ้าดูเหลืองอร่ามไปหมด เห็นแล้วน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งนัก ยายเห็นว่าเจ้ามีอุปนิสัย วาสนาในทางบวชเรียน ยายจึงอยากให้เจ้าบวชตลอดชีวิต ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมีย ตามที่แม่เจ้าบอกไว้ เจ้าจะทำได้บ่ " นับเป็นประกาศิตครั้งที่สอง เด็กชายยานได้รับปากตามคำขอของยาย ทำให้ยายปลาบปลื้ม ยินดีเป็นอย่างยิ่ง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:55 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
๗. ขอให้บวชพร้อมน้าชาย
เด็กชายยานมีเพื่อนเล่นอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่มีศักดิ์เป็นน้าชาย ทั้งน้าและหลานมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก วันหนึ่งคุณยายได้เรียกเด็กชายทั้งคู่เข้าไปหา แล้วพูดอย่างเป็นการเป็นงานว่า " ยายอยากให้เจ้าทั้งสองบวชเป็นเณร เจ้าจะบวชให้ยายได้บ่ ครั้นบวชแล้วก็ไม่ต้องสึก เจ้าจะรับปากยายได้บ่ " ฝ่ายน้าชายตอบรับตามที่ยายต้องการ แล้วยายจึงถามหลานชายอีกว่า " แล้วเจ้าล่ะจะว่าอย่างไร จะบวชให้ยายได้ไหม บวชแล้วไม่ต้องสึก " เด็กชายยานตอบยืนยันตามที่เคยสัญญาไว้ว่า จะขอบวชจนตลอดชีวิต ตามที่แม่และยายต้องการ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:56 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
๘. สามเณรแหวน
คุณยายแสนปลาบปลื้มยินดี เมื่อหลานทั้งสองรับคำว่าจะบวชตลอดชีวิต จึงได้จัดหาบริขารสำหรับบวชเณรจนได้ครบ คุณยายนำหลานชายทั้งสองไปถวายตัวต่อพระอาจารย์คำมา ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหลวงปู่และเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย วัดประจำหมู่บ้านนาโป่งนั้นเอง เพื่อให้หลานทั้งสองได้ฝึกขานนาคและเรียนรู้ธรรมเนียมการอยู่วัด เตรียมตัวบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป ทั้งน้าชายและเด็กชายยานจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ชัยแห่งนั้น ขณะนั้นอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ หลวงปู่มีอายุได้ ๙ ปี หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว เด็กชายยานได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สามเณรแหวน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:56 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
๙. เหตุสะเทือนใจครั้งที่สอง
หลังจากเข้าพรรษาแรกได้ประมาณสองเดือน สามเณรที่มีศักดิ์เป็นน้าชายเกิดอาพาธ สุดที่จะเยียวยาได้ จึงมรณภาพในที่สุด การสูญเสียในครั้งนั้นทำให้สามเณรแหวนสะเทือนใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะสามเณรนั้นเป็นทั้งญาติ เพื่อนเล่น และเป็นคู่นาคตอนบรรพชาด้วย เรียกว่าใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตั้งแต่เกิดและไม่เคยแยกห่างจากกันเลย เป็นการสะเทือนใจครั้งที่สอง หลังจากสูญเสียโยมมารดามาเป็นครั้งแรก คุณยายพยายามพูดปลอบใจสามเณร รวมทั้งพูดเตือนย้ำคำขอร้องแต่เดิมว่า " หลานจะบวชอยู่ในผ้าเหลืองไปจนตาย ตามที่เคยรับปากกับยายได้ไหม ? " สามเณรแหวนยังคงรับคำหนักแน่นเช่นเดิม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:57 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
๑๐. เดินทางไปเรียนที่อุบลราชธานี
การบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบ้านเกิดนั้น สามเณรแหวนไม่ได้ศึกษาอะไรมาก เพราะไม่มีผู้สอน เพียงแต่หัดไหว้พระ สวดมนต์ รับใช้พระ รวมทั้งวิ่งเล่นบ้างตามประสาเด็ก ในบันทึก ไม่มีหลักฐานว่าหลวงปู่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาสายสามัญซึ่งยังไม่มีแพร่หลายเหมือนสมัยปัจจุบัน กิตติศัพท์ในสมัยก่อน คือ " อุบล ....เมืองนักปราชญ์ โคราช ... เมืองนักมวย " ด้วยเหตุนั้น ทั่วแคว้นแดนอีสานทั้งหมด ถ้าใครต้องการศึกษาเล่าเรียนทางบาลี ทางธรรมะ จะต้องไปศึกษาเล่าเรียนตามสำนักเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสำนักที่มีชื่อเสียงอยู่หลายแห่งด้วยกัน ผู้ใหญ่ต้องการให้สามเณรแหวนได้รับการศึกษา พระอาจารย์อ้วนซึ่งมีศักดิ์เป็นอาจึงได้พาสามเณรแหวนหลานชาย เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปศึกษา มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็น หลักสูตรสำหรับพระเณรที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ในประวัติไม่ได้บอกว่า หลวงปู่เดินทางไปอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านต้องรอนแรมเดินทางไปด้วยเท้า บุกป่าฝ่าดงไปชนิดที่ว่าค่ำไหนนอนนั่น ถ้าดูตามแผนที่ในปัจจุบัน สามเณรแหวน น่าจะเดินทางจากจังหวัดเลย ตัดตรงมาทางอุดรธานี เข้าสกลนคร มุกดาหาร ( เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ) แล้วเข้าจังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนที่เป็นเขตจังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:58 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
๑๑. สำนักเรียนมูลกัจจายน์
ในสมัยนั้น อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีการศึกษามูลกัจจายน์กันอย่างแพร่หลาย มีสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ถือเป็นแหล่งผลิตครูอาจารย์ทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นหลักเป็นฐาน สำนักเรียนที่มีชื่อเสียงมากและมีนักเรียนจำนวนมาก ได้แก่สำนักเรียนเวฬุวัน สำนักเรียนบ้านไผ่ใหญ่ สำนักเรียนบ้านเค็งใหญ่ สำนักเรียนบ้านหนองหลักและสำนักเรียนบ้านสร้างถ่อ พระเณรทั่วภาคอีสานที่ใฝ่ต่อการศึกษาต่างเดินทางมายังสำนักเรียนเหล่านี้ การเรียนมูลกัจจายน์ เป็นการเรียนที่ยุ่งยากมาก ผู้เรียนต้องมีสมองดี และมีความพยายามสูง ผู้ที่สามารถเรียนได้จบหลักสูตร จะได้รับการยกย่องจากคนทั่วไปว่าเป็นนักปราชญ์ มีความแตกฉานในธรรมะและในภาษาบาลี สามารถแปลได้ทุกประเภท ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นว่าการเรียนมูลกัจจายน์นั้นยากเกินไป มีผู้เรียนจบหลักสูตรน้อยและต้องเสียเวลาเรียนนานเกินความจำเป็น จึงทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนเสียใหม่ จนได้กลายมาเป็นหลักสูตรของการศึกษาฝ่ายคณะสงฆ์มาจนปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเรียนมูลกัจจายน์จึงได้ถูกลืมไปจากวงการศึกษาของคณะสงฆ์ตราบจนทุกวันนี้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ก้านบัว : 10-04-2009 เมื่อ 19:47 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
๑๒. ฝากตัวกับพระอาจารย์สิงห์
(!!!!!!! เหตุการณ์ในตอนนี้ขอให้อ่านโดยใช้วิจารณญาณ ข้อมูลอาจมีการคลาดเคลื่อนเพราะจากข้อเท็จจริง หลวงปู่แหวนเกิด พ.ศ. ๒๔๓๐ ก่อนหลวงปู่สิงห์ ซึ่งเกิดปี พ.ศ. ๒๔๓๒ อยู่ ๒ ปี ในปี ๒๔๔๕ ตามเรื่อง หลวงปู่แหวน อายุ ๑๕ ปี หลวงปู่สิงห์อายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น - webmaster) เหตุการณ์อยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระอาจารย์อ้วนผู้เป็นหลวงอาได้พาสามเณรแหวนเดินทางรอนแรมไปยังจังหวัดอุบลราชธานี โดยนำไปฝากกับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ศิษย์เอกสำคัญสูงสุดองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ในสมัยนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ยังไม่ได้เข้ามาเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ท่านยังเป็นอาจารย์สอนปริยัติอยู่ที่สำนักเรียนวัดบ้านสร้างถ่อ อำเภอเกษมสีมา ( ภายหลังเปลี่ยนเป็นอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ) พระอาจารย์อ้วนนำสามเณรขึ้นมากราบพระอาจารย์สิงห์ แนะนำตนเองว่ามาจากเมืองเลยอันไกลโพ้นและเป็นอาของสามเณร เดิมสามเณรชื่อ ยาน พอบวชเป็นเณรแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นแหวน " อ้อ! ชื่อสามเณรแหวนรึ " พระอาจารย์สิงห์กล่าวด้วยความชื่นชม " ชื่อแหวนนี้ดี แหวนเป็นเครื่องประดับกายของมนุษย์ จึงเป็นของสำคัญ เปรียบได้กับสติปัญญาของเราที่จะมาเสริมแต่งตัวเราให้รุ่งเรืองเปรื่องปราดต่อไปในอนาคต " ต่อจากนั้นพระอาจารย์สิงห์ก็ได้ซักถามเรื่องราวของสามเณรแล้ว พระอาจารย์อ้วนได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการนำสามเณรมาฝากเพื่อขอศึกษาบาลีธรรม ด้วยว่าสำนักแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมีพระเณรจากหัวเมืองต่าง ๆ ในอิสานเดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมาย พระอาจารย์สิงห์ทราบความประสงค์แล้วก็มีความยินดี มองพินิจพิจารณาสามเณรน้อย รูปร่างผิวพรรณเกลี้ยงเกลาสะอาด นัยน์ตาสุกใส บริสุทธิ์ ท่าทางสำรวมมีสง่าราศีอย่างประหลาด " นี่แหละช้างเผือกแก้ว เกิดในป่าแน่แล้ว " จากนั้นจึงพาสามเณรไปที่กุฏิพระอาจารย์หลีเจ้าอาวาส แนะนำให้รู้จักไว้ตามธรรมเนียม พระอาจารย์หลียินดีอนุญาตให้พระอาจารย์สิงห์รับสามเณรไว้ศึกษาในสำนักได้ตามปรารถนา ขณะนั้นมีพระเณรเรียนอยู่ในสำนักวัดสร้างถ่อหัวตะพาน ซึ่งมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอาจารย์ใหญ่สอนอยู่ประมาณ ๗๐ รูป ตอนนั้นพระอาจารย์สิงห์ยังเป็นพระมหานิกาย ยังไม่ได้ปวารณาเป็นศิษย์กรรมฐานของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
๑๓. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
ขออนุญาตท่านผู้อ่าน เขียนถึงประวัติของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม สักเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจของผู้ที่ใหม่ต่อพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่สิงห์ นับเป็นพระอาจารย์องค์แรกที่สอนพื้นฐานการภาวนาให้กับหลวงปู่แหวน อันเป็นเหตุให้หลวงปู่มอบกายถวายชีวิตให้กับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงที่สุดได้ หลวงปู่สิงห์ ท่านเป็นชาวอุบลฯ บวชที่วัดสุทัศนารามในเมืองอุบลฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดย มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศาสนดิลกเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่สิงห์เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมมาก่อน ได้เข้าศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงเลิกเป็นครูสอน แล้วออกปฏิบัติธรรมแสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรติดตามหลวงปู่มั่นและหลวงปู่เสาร์ กนตฺสีโล สหธรรมมิกที่เป็นสหายคู่ใจของหลวงปู่สิงห์ คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นศิษย์ที่หลวงปู่มั่นไว้วางใจมาก เมื่อหลวงปู่มั่นปลีกตัวออกแสวงวิเวกที่เชียงใหม่นานถึง ๑๒ ปี ได้มอบหมายการปกครองคณะสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐานให้กับหลวงปู่สิงห์ และท่านได้ทำการเผยแผ่วงศ์ธรรมยุตออกไปอย่างกว้างขวางทั้งภาคอิสานและในกรุงเทพฯ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่สิงห์ผู้เป็นศิษย์เอกจึงเป็นองค์แรกแทนหลวงปู่มั่นนำขบวนพระเณรลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นในสมัยนั้นออกเผยแพร่พระธรรม เมื่อคณะของหลวงปู่สิงห์ไปเผยแพร่ถึงที่ใดก็จะเกิดวัดป่าขึ้นที่นั่นนับจำนวนพันวัดทีเดียว หลวงปู่สิงห์ เมื่อรับหน้าที่หัวหน้ากองทัพธรรมแทนหลวงปู่มั่นจึงจำต้องสำแดงบุญฤทธิ์ให้ประชาชนได้ชื่นชมและเชื่อมั่นในธรรม ถือเป็นกุศโลบายในการโน้มน้าวชาวบ้านให้บังเกิดศรัทธาความเลื่อมใส " ดังนั้น นามของพระอาจารย์สิงห์จึงเป็นที่เลื่องลือระบือยิ่งใหญ่ในยุคนั้นหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็ต้องบอกว่า ในสมัยนั้นคนรู้จักพระอาจารย์สิงห์มากกว่าที่จะรู้จักพระอาจารย์ใหญ่มั่น " ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้มาพำนักประจำที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริรวมอายุได้ ๗๒ ปี ๗ เดือน ๑๒ วัน สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายของท่านเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิศิษฐ์สมิทธิวีราจารย์ พระธาตุของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ประดิษฐานอยู่บนบุษบกเดียวกับพระธาตุของอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าสาลวัน ในเมืองนครราชสีมา |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
๑๔. การเรียนมูลกัจจายน์ในสมัยก่อน
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ได้เล่าถึงการเรียนมูลกัจจายน์ว่า การเรียนในสมัยนั้นไม่มีห้องเรียนเหมือนสมัยปัจจุบัน ครูที่สอนก็ไม่ได้อยู่ในที่แห่งเดียวกันแต่จะแยกอยู่คนละที่ เมื่อถึงเวลาเรียน นักเรียนต้องแบกหนังสือไปเรียนถึงที่อยู่ของครูแต่ละท่าน วันนี้เรียนวิชานี้ก็แบกหนังสือไปเรียนกับครูท่านนี้ วันพรุ่งนี้เรียนวิชานั้นก็จะต้องแบกหนังสือไปเรียนกับครูท่านนั้น แบกไปแบกมาจนกว่าจะเรียนจบ ที่ว่าแบกหนังสือนั้น แบกกันจริง ๆ เพราะว่าในสมัยก่อน หนังสือพิมพ์เป็นเล่มไม่มีเหมือนสมัยปัจจุบัน หนังสือที่ใช้ในการเรียนการสอนก็ใช้คัมภีร์ใบลานเป็นพื้น นักเรียนต้องเคารพหนังสือ เพราะถือว่าหนังสือคือพระธรรม จะดูถูกไม่ได้ ถือเป็นบาป เวลาว่างจากการเรียน นักเรียนจะต้องเข้าป่าหาใบลานมาไว้สำหรับทำคัมภีร์ เพื่อฝึกหัดจารหนังสือ ( ใช้เหล็กแหลมเขียนลงไปให้เป็นรอย) วิธีทำคัมภีร์ก็คือ ไปหาใบลาน เลือกเอาเฉพาะใบที่อายุได้หนึ่งปีแล้ว ถ้าเอาใบอ่อนมามักใช้ได้ไม่ค่อยดี แต่ถ้าเอาใบแก่ไปใบมักเปราะแตกง่าย เมื่อได้ใบลานมาแล้ว ก็เอามากรีด รีดใบเลาะก้านใบออก ตากน้ำค้างไว้สามคืนพอหมาด แล้วใช้ด้ายหรือเชือกร้อยทำเป็นผูก ๆ มากน้อยตามต้องการ เวลาไปเรียนกับครู ก็ใช้คัมภีร์ที่เตรียมไปนี้สำหรับคัดลอกตำราและหัดจารหนังสือพร้อมกันไปด้วย ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องจารหนังสือขึ้นเอง เอาไว้ท่องบ่นทบทวนต่อไป |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
๑๕. เพื่อนร่วมเรียนและครูผู้สอน
เพื่อนพระ-เณรที่เรียนมูลกัจจายน์ด้วยกันกับหลวงปู่ตามที่ท่านเล่า ก็มีพระเฮียงกับพระเหลา ภายหลังเพื่อนทั้งสองได้พากันลาสิกขาไปหมด สำหรับครูผู้สอน ที่หลวงปู่เคยพูดไว้มีดังนี้ พระอาจารย์เอี่ยม วัดเวฬุวัน บ้านไผ่ใหญ่ สอนวิชามูลกัจจายน์ พระอาจารย์ชมเป็นพระที่ใจเย็น เวลาสอนหนังสือก็ใจเย็น ลูกศิษย์ชอบท่านมาก พระอาจารย์ชาลี เวลาสอนหนังสือจะดุมาก แต่แปลหนังสือได้พิสดาร เพราะเคยลงมาศึกษาอยู่กรุงเทพฯนานถึง ๑๐ ปี พระอาจารย์อ้วน สอนไวยากรณ์ สอนแปล โดยยึดพระปาฏิโมกข์เป็นพื้น หัดแปลกันจนคล่องแคล่วขึ้นใจ หลวงปู่เล่าว่า ท่านเองไม่เคยท่องปาฏิโมกข์ แต่ท่านสามารถยกสิกขาบทขึ้นมาแปลได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่ติดขัดเลย สำหรับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ในขณะนั้น ท่านเป็นครูสอนปริยัติธรรมในฝ่ายมหานิกายอยู่ ท่านมีภาระยุ่งอยู่กับการค้นคว้าตำรับตำราคัมภีร์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมไว้สอนลูกศิษย์ จึงหาเวลาว่างที่จะอบรมกรรมฐานให้ไม่ได้ หลวงปู่สิงห์ ได้แต่เพียงแนะนำหลักกว้าง ๆ อันเป็นพื้นฐานในการทำสมาธิภาวนาเท่านั้น ซึ่งหลวงปู่แหวนท่านให้ความสนใจมาก แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติอย่างจริงจัง |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
๑๖. ความเห็นพระอาจารย์สิงห์
พระอาจารย์สิงห์ ท่านมีความคิดเห็นว่า ธรรมะของพระพุทธองค์ที่ทรงค้นพบ สั่งสอนให้คนเราหลุดพ้นจากวัฏสังสารทุกข์คือความเวียนว่ายตายเกิด เพื่อไปสู่พระนิพพานคือความดับสนิท พระสงฆ์ผู้สืบศาสโนวาทของพระพุทธเจ้า พึงปฏิบัติด้วย กาย วาจา ใจ ให้บรรลุตามเป้าหมายของพระพุทธองค์ที่ทรงวางหลักบัญญัติไว้นี้ ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ลืมความจริงในข้อที่ว่า มนุษย์โดยมากคือคนเราทุกวันนี้ ยังไม่สามารถจะไปนิพพานกันได้ง่าย ๆ ต่างก็ดำเนินชีวิตอยู่เป็นหมู่คณะ มีชุมชนเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง เป็นประเทศชาติ ต้องทำมาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยความเหนื่อยยาก มีโลภ มีโกรธ มีหลง ดังนั้นชาวบ้านทั้งหลายจึงเห็นพระสงฆ์องคเจ้าคือผู้ที่ปลดเปลื้องทุกข์ให้พวกเขาไปเสียแทบทุกอย่าง เห็นพระเป็นครูบาอาจารย์ เป็นหมอยา เป็นตุลาการตัดสินปัญหาของชาวบ้านและเป็นอะไรต่อมิอะไรที่จะต้องช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาร้อยแปด ซึ่งพระก็ต้องจำใจอนุโลมตามเพื่อช่วยเหลือญาติโยมชาวบ้านไปตามมีตามเกิด เพราะถ้าไม่ช่วยแล้ว ชาวบ้านก็จะกล่าวหาได้ว่า พระสงฆ์องคเจ้าไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ช่วยเหลือชาวบ้านไม่ได้ สิ่งใดมีประโยชน์ บางอย่างทางไสยเวทวิทยาคม เราต้องยอมรับเอาไว้ใช้ในพระพุทธศาสนาบ้าง ไม่ควรจะเหยียดหยามสิ่งที่มีคุณค่าของลัทธิอื่น ๆ โดยไม่อยากจะเอาความรู้สึกดี ๆ ของคนอื่นมาใช้อำนวยประโยชน์ด้วย ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางธรรมบาลีอักขรสมัยและไสยเวทวิทยาคมในสมัยนั้น จึงได้ถ่ายทอดวิชาไสยเวท อำนาจจิตให้พระเณรลูกศิษย์ที่สนใจในทางนี้ ควบคู่ไปกับบาลีธรรมด้วย เพื่อที่พระเณรจะได้นำไปสงเคราะห์ชาวบ้านป่า เมืองดง ชนบทที่ห่างไกลความเจริญที่ได้รับทุกข์ภัยเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคร้ายนานา บ้างก็ถูกคุณไสยต้องอาถรรพ์ บ้างก็ถูกสัตว์ร้ายขบกัด บ้างก็ต้องอุบัติเหตุกระดูกหักรักษาไม่หาย พระก็ต้องใช้เวทมนต์คาถาประสานกระดูกให้ บ้างก็ปัดรังควานและสะเดาะกุมารตายในครรภ์ ฯลฯ ซึ่งแพทย์สมัยใหม่ไม่สามารถจะเดินทางเข้าไปเยียวยารักษาให้ได้เพราะอยู่ห่างไกล " เป็นวิชาพิเศษที่พระเณรจะต้องเรียนรู้ไว้นะ เพราะพระเณรและวัดเป็นที่พึ่งทางกายทางใจของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขามาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยแล้ว เราช่วยเหลือเขาไม่ได้ ชาวบ้านก็จะกล่าวหาเอาได้ว่า พระเณรบวชเรียนแล้วไม่เห็นทำประโยชน์อะไรให้ชาวบ้านได้ บวชเปลืองผ้าเหลือง เปลืองข้าวสุกชาวบ้านไปเปล่า ๆ เอาสบายแต่ตัวเอง " พระอาจารย์สิงห์ กล่าวทำนองนี้กับสามเณรแหวนผู้เป็นศิษย์ด้วยความเมตตาเอ็นดู |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
๑๗. อย่าหลงใหลไสยศาสตร์
สามเณรแหวน มีความสนใจใคร่รู้ในศาสตร์ลึกลับมหัศจรรย์ในพระศาสนาตามที่พระอาจารย์สิงห์แนะนำ พระอาจารย์สิงห์ก็เล็งเห็นนิสัยใจคออันบริสุทธิ์ของสามเณรอยู่แล้วว่ามีความเหมาะสมที่ควรจะได้รับวิชาพิเศษนี้ จึงได้ถ่ายทอดประสิทธิประสาทให้จบสิ้นตำราเลยทีเดียว แต่ได้กำชับว่า " วิชาไสยเวทวิทยาคมนี้เป็นเพียงโลกียวิชาเท่านั้นไม่ใช่วิชาประเสริฐ ให้เรียนรู้ไว้ด้วยใจมั่นเพียงเพื่อเอาไว้สงเคราะห์ชาวบ้านเท่านั้นนะ แต่เมื่อสามเณรออกธุดงค์กรรมฐานเมื่อไรขอให้ปล่อยวางวิชาไสยเวทนี้เสีย อย่ายึดมั่นถือมั่น อย่าติดใจหลงใหลว่าเป็นวิชาประเสริฐ เพราะเป็นเพียงโลกียวิชาเท่านั้น เป็นวิชาที่ขัดขวางโลกุตรธรรม ขัดขวางมรรค ผล นิพพาน สามเณรแหวนรับคำสอนของพระอาจารย์สิงห์ทุกประการ พระอาจารย์สิงห์กล่าวต่อไปว่า " ธรรมดาพระเณรที่บำเพ็ญเพียรด้านกรรมฐานจนบรรลุธรรมแก่กล้าได้ฌานสมาบัติ ได้วิโมกข์ ได้อภิญญาจิตข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ถ้าคิดจะสงเคราะห์ชาวบ้านเมื่อไรไม่จำเป็นต้องใช้เวทมนตร์คาถาเลย เพียงแต่นึกอธิษฐานจิตขอบารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ให้ช่วยขจัดปัดเป่าปัญหานั้น ๆ ก็จะสำเร็จประโยชน์ในพริบตาเป็นที่น่าอัศจรรย์ " ด้วยเหตุนี้เอง สามเณรแหวนจึงเป็นผู้รอบรู้ทางไสยเวทวิทยาคมอีกแขนงหนึ่ง ควบคู่ไปกับการเรียนบาลีธรรมตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อมีญาติโยมมาขอรดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์จากพระอาจารย์สิงห์ที่วัด พระอาจารย์มักจะให้สามเณรแหวนทำหน้าที่รดน้ำมนต์แทนท่านอยู่เสมอ เป็นการทดสอบวิชาความสามารถของลูกศิษย์ไปด้วย |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
||||
|
||||
๑๘. อุปนิสัยของสามเณรแหวน
ปฏิทาจริยาวัตรของสามเณรแหวน จัดเป็นผู้ถือเคร่งในพระธรรมวินัย พูดน้อย ชอบใช้ความคิด เงียบขรึม รักสงบ ชอบอยู่ในที่สงัดวิเวก ไม่ชอบร่วมคลุกคลีกับหมู่คณะ มักจะหาโอกาสแบกตนออกไปนั่งในที่สงัดนอกวัดเสมอ เป็นต้นว่า ตามใต้ร่มไม้ในทุ่ง ตามป่าช้า โคนต้นไม้ บางวันภายหลังจากเรียนบาลีธรรมกับพระอาจารย์แล้ว สามเณรแหวนจะออกจากวัดเข้าไปนั่งสงบอยู่ในป่าช้าแต่ลำพังโดดเดี่ยวตลอดทั้งคืน จนพระอาจารย์สิงห์ออกปากกับพระอาจารย์หลี เจ้าอาวาสว่า " สามเณรน้อยนี้กล้าหาญมาก มีจิตใจองอาจไม่กลัวอะไรเลย เป็นมหานิกายที่ถือเคร่งเหมือนธรรมยุต อาหารก็ฉันมื้อเดียว ไม่สนใจอาหารประเภทเนื้อเลย " สามเณรแหวนตื่นนอนประมาณตีสามตีสี่เป็นประจำ ถ้าคืนไหนไม่ได้ออกไปนั่งสมาธิในป่าช้า จะลงจากกุฏิไปเดินจงกรมประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วกลับขึ้นกุฏินั่งสมาธิให้จิตใจสงบ ตามหลักสมถกรรมฐานจนสว่าง แล้วจึงออกจากสมาธิไปทำกิจวัตรประจำวันต่อไป ปฏิทาจริยาวัตรของสามเณรแหวนนี้น่ารัก น่าเลื่อมใสเป็นที่ชื่นชมเมตตาของพระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์หลีผู้เป็นครูบาอาจารย์ยิ่งนัก |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
||||
|
||||
๑๙. เห็นแจ้งโดยธรรมชาติ
หลังจากฉันอาหารเช้าวันหนึ่ง พระอาจารย์สิงห์ได้ถามสามเณรแหวนว่า " ชอบกรรมฐานมากหรือ จัวน้อย " (จัว เป็นคำอิสานใช้เรียกสามเณร) สามเณรแหวนพนมมือตอบนอบน้อมว่า " กระผมชอบความเงียบสงัด ชอบพิจารณาต้นไม้ ใบหญ้า แล้วคิดเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์และสัตว์ แล้วเห็นว่าธรรมชาติกับใบไม้ใบหญ้านี้คล้ายชีวิตคนเรา มีเกิดมีดับ หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ยิ่งคิดยิ่งพิจารณาก็มีความเพลิดเพลินเจริญใจ เกิดสติปัญญาแปลก ๆ ผุดขึ้นมาให้คิดให้ขบ เหมือนน้ำไหลรินไม่ขาดสาย " พระอาจารย์สิงห์ฟังแล้วเห็นอัศจรรย์ อุทานในใจว่า เณรน้อยรูปนี้มีอารมณ์วิปัสสนา ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ทันได้สอนเลย เป็นปัญญาเห็นแจ้งซึ่งสภาวะธรรมโดยธรรมชาติคือ เห็นชาติ ชรา มรณะ ผู้เห็นแจ้งอย่างนี้เรียกว่าเริ่มมองเห็นมรรค ผล นิพพานได้รำไรแล้ว พระอาจารย์สิงห์รู้สึกยินดี กล่าวกับสามเณรแหวนว่า " จัวน้อย ปฏิบัติชอบแล้ว ถูกทางแล้ว การปฏิบัติธรรมถ้าเราได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ย่อมจะเปลี่ยนจิตใจเราให้ไปอยู่ในลักษณะที่จะเข้าถึงธรรมชาติ รู้จักความจริงตามธรรมชาติ การเข้าถึงธรรมะก็ง่ายเข้า เปรียบเหมือนต้นไม้ในภาพเขียน ย่อมจะไม่เหมือนกับต้นไม้จริง ๆ ในป่าฉันใด ปริยัติกับการปฏิบัติก็ฉันนั้น ปริยัติเปรียบได้กับต้นไม้ในภาพเขียน ส่วนการปฏิบัติเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่าจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านประสูติท่ามกลางธรรมชาติ กลางดิน โคนต้นไม้ ท่านตรัสรู้ที่พื้นดิน ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ท่านปรินิพพานที่ใต้ต้นไม้ กลางพื้นดินระหว่างโคนต้นไม้สองต้นในสวนป่าอุทยานแห่งหนึ่ง ธรรมชาตินี้แหละช่วยให้คนเรามีจิตใจสงบ เมื่อมีจิตใจสงบแล้ว การศึกษาไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติ หรือทางใดก็บรรลุได้ดียิ่งขึ้น " สามเณรแหวนได้สดับอรรถธรรมที่พระอาจารย์สิงห์เทศน์โปรดแล้ว ก็ให้มีความอิ่มเอิบ ชื่นบานใจ มั่นใจในหนทางที่ตนดำเนินยิ่งขึ้น เห็นว่าการที่ได้บวชเรียนสละความสุขทางโลกนี้เป็นการดำเนินที่ถูกทางแล้ว มองเห็นทางวิมุติสุขหรือความหลุดพ้นสำหรับผู้เดินตามรอยพระพุทธองค์ได้รำไรอยู่ไกลโพ้น หากวาสนาบารมีค้ำชูเราคงจะได้พบกับวิมุติสุขในวันข้างหน้าอย่างแม่นมั่น นี่แสดงให้เห็นว่า หลวงปู่แหวนท่านเกิดมาเพื่อที่จะเป็นสมณะ นักบวชผู้แสวงหาบุญตามรอยบาทพระพุทธเจ้าโดยแท้ มีมโนปณิธานแน่วแน่ต่อการปฏิบัติธรรมน่าสรรเสริญ |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|