#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๓
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราให้อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
หายใจเข้าให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมเข้าไป กำหนดรู้ว่าลมหายใจนั้นผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ที่เราถนัด หรือบางท่านจะจับภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไปด้วยก็ได้ วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันสุดท้ายของเดือนกันยายนของเรา ยกเว้นท่านที่ไปสมัครบวชเนกขัมมะช่วงวันที่ ๑๒ – ๑๔ กันยายน ที่วัดท่าขนุน ก็จะได้ไปปฏิบัติเพิ่มเติมที่นั่น เมื่อสองวันที่ผ่านมาได้พูดถึงเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิไปแล้ว ดังที่ได้กล่าวว่า ศีลเป็นเบื้องต้นของความดีทั้งปวง และเป็นปัจจัยช่วยให้สมาธิทรงตัวได้ง่าย ส่วนสมาธินั้นเป็นการสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง สร้างสติให้แหลมคมว่องไว และเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดปัญญา วันนี้เราจะมากล่าวถึงปัญญา ปัญญานั้นมีการแบ่งออกเป็นหลายแบบด้วยกัน แบบที่ ๑ แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ประกอบด้วย สหชาติกะปัญญา เป็นปัญญาที่มาพร้อมกับการเกิดของเรา ปัญญาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสัญชาตญาณที่ฝังลึกอยู่ในขันธสันดานของแต่ละคน อย่างเช่นว่า รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักเสพกาม รู้จักหลบภัย เป็นต้น ปัญญาอย่างที่สองเรียกว่า ปาริหาริกะปัญญา เป็นปัญญาที่มาศึกษาเพิ่มเติมเอาในชีวิตปัจจุบัน อย่างเช่นว่า การเล่าเรียนหนังสือ เป็นต้น ปัญญาประการสุดท้ายเรียกว่า เนปักกะปัญญา เป็นปัญญาที่สามารถเอาตัวรอดจากวัฏสงสารได้ ปัญญาประเภทสุดท้ายนี้ เป็นปัญญาที่จะได้กล่าวถึงในวันนี้ ส่วนการแบ่งอีกอย่างหนึ่ง แบ่งปัญญาออกเป็น ๓ เช่นกัน คือแบ่งเป็น สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้รับประสบการณ์ด้วยตนเอง อย่างที่ ๒ คือ จินตมยปัญญา ได้แก่ปัญญาที่เกิดจากการนำที่สิ่งศึกษานั้นมาขบคิด แล้วเกิดความเข้าใจแตกฉานขึ้น ส่วนปัญญาอย่างสุดท้ายนั้นเรียกว่า ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่รู้แจ้งในธรรม เรียกง่าย ๆ ว่า ปัญญาชนิดนี้ รู้แล้วพาตัวรอดให้ปลอดภัยจากวัฏสงสารได้ ดังนั้น...ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแบบไหนก็ตาม ปัญญาที่กล่าวถึงในวันนี้ก็คือปัญญาประเภทสุดท้าย ปัญญาก็คือความรู้แจ้ง มาจาก ป อุปสรรค บวกกับ อัญญา คือความรู้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-09-2010 เมื่อ 05:00 |
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ความรู้แจ้งในที่นี้ ก็คือ การรู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่รู้เห็นอย่างเดียว สามารถที่จะทำให้จิตใจของเราให้ยอมรับในความเป็นจริงนั้นด้วย ถ้าหากว่ารู้เห็นอย่างเดียวแต่จิตใจยังไม่ยอมรับ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง
ปัญญาตัวนี้เกิดจากการที่เราพยายามรักษาศีล เจริญสมาธิ แล้วใช้กำลังนั้นไปพิจารณา ไม่ว่าจะใช้กำลังนั้นไปพิจารณาในส่วนของอริยสัจ ๔ ก็ดี ในส่วนของไตรลักษณ์ก็ดี หรือวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ดี ในส่วนของอริยสัจ ๔ นั้น ปัญญานี้ก็คือ รู้ว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดรู้ แต่ว่าเป็นการให้รู้แล้ววาง ไม่ใช่รู้แล้วแบกไว้ บุคคลที่พิจารณาแล้วเห็นทุกข์แล้วเอาทุกข์ไปแบกไว้ จะเป็นบุคคลคนที่น่าสงสารมาก เพราะว่าจะพบกับความทุกข์ที่ชัดเจนและหนักหน่วงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ถ้าหากว่ารู้แล้วปล่อยวางได้ ก็จะเกิดความเบา ความสบาย ปัญญาถัดไป ก็จะเห็นว่า สมุทัยนั้นเป็นสิ่งที่ควรละ เพราะว่าถ้าไปแตะต้อง ไปสร้างเหตุขึ้นเมื่อไร ความทุกข์จะเกิดแก่เราได้ทันที ส่วนพระอริยสัจข้อต่อไปนั้น ปัญญาเหล่านี้ต้องรู้ว่า นิโรธนั้นจำเป็นต้องทำให้แจ้ง ถ้าเข้าไม่ถึงนิโรธ ก็แปลว่าเรายังไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง และท้ายสุด รู้ว่ามรรคนั้นจะต้องทำให้เจริญ คือ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ มีสมาธิตั้งมั่นโดยชอบ นี่เป็นปัญญาตามอริยสัจ ๔ แต่ว่าจริตนิสัยบางคนไม่ชอบ เพราะเห็นว่าอริยสัจนั้นยากและหนักเกินไป ก็มาใช้ปัญญาในการพิจารณาไตรลักษณ์แทน ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะปกติที่มีแก่คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของต่าง ๆ ในโลกนี้ทั้งหมด ว่ามีสภาพที่เหมือนกันอยู่ ๓ อย่างก็คือ อนิจจัง มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง แล้วสลายไปในที่สุด ลักษณะที่ ๒ ก็คือ ทุกขัง เป็นสิ่งที่ต้องทน สิ่งไหนที่ต้องทน สิ่งนั้นก็คือความทุกข์ ในเมื่อมีสภาพที่จำเป็นจะต้องทนอยู่กับมัน ถ้าหากว่าเรากำหนดรู้แล้วว่า ทุกข์นั้นเป็นธรรมดาของสังขาร เกิดมาเมื่อไรก็ต้องมีทุกข์ สังขารจะอยากทุกข์ก็ทุกข์ไป เราไม่ไปยุ่งไปเกี่ยวก็แล้วกัน สิ่งไหนที่พอจะผ่อนคลายความทุกข์ได้เราก็จะทำ แต่ถ้าสุดความสามารถแล้วไม่สามารถจะผ่อนเบาบรรเทามันลงได้ เราก็จะวาง และข้อสุดท้ายคือ อนัตตา ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเหลือเป็นตัวตนเราเขาให้ยึดถือมั่นหมายได้ ทุกอย่างต้องเสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ก็จะออกมาในสภาพนี้ ถ้าพิจารณาดูตัวเราเองก็จะเห็นตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ เป็นเด็กโต เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ เป็นคนตาย เป็นต้น นี่คือความไม่เที่ยง หรือว่าเห็นความทุกข์ของการเกิด ของการแก่ ของการเจ็บ ของการตาย ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ของการได้รับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจ ของการกระทบกระทั่งจากอารมณ์ไม่ปรารถนา เป็นต้น และท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเหลือเป็นเราเป็นของเรา ทุกอย่างสักแต่ว่า เป็นนาม เป็นรูป เป็นธาตุเท่านั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2010 เมื่อ 02:03 |
สมาชิก 55 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
หรือถ้าหากว่าเราไม่มีความชำนาญในการพิจารณาแบบนี้ ก็ให้พิจารณาตามนัยของวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ก็ได้ อย่างเช่นว่า พิจารณาตามลักษณะของ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ คือ เห็นการเกิดและการดับ ทุกสิ่งมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้นและสลายไปในที่สุดทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วจะทรงตัวมั่นคงอยู่ได้
หรือว่าพิจารณาเห็น ความดับ ใน ภังคานุปัสสนาญาณ คือเห็นว่าทุกอย่างในที่สุดก็เสื่อมสลายไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ก้าวเข้าไปสู่ความเสื่อม สู่ความตาย สู่ความดับอยู่ตลอดเวลา หรือดูใน ภยตูปัฏฐานญาณ การเกิดมาแล้วมีแต่ทุกข์แต่ภัย คอยตามรังควานร่างกายเราอยู่เสมอ เช่น ความเจ็บป่วย หนาวร้อน หิวกระหาย เป็นต้น หรือว่าเราจะเห็นเป็นของที่น่าเบื่อ เป็นของที่ต้องหนีไปให้พ้น จนกระทั่งและท้ายสุดปล่อยได้วางได้ กลายเป็น สังขารุเปกขาญาณ คือ วางเฉยในสังขารร่างกายนี้ได้ เราถนัดแบบไหนให้พิจารณาแบบนั้น การพิจารณาเพื่อสร้างปัญญานั้น จำเป็นต้องใช้สัญญาก่อน ก็คือ จำได้ ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร ? เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม อย่างไร ? มีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นตัวเราของเราอย่างไร ? เมื่อพิจารณาทบทวน ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกดังนี้ จนสภาพจิตยอมรับ ก็จะกลายเป็นปัญญารู้แจ้งอย่างแท้จริง ก็คือรู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง เห็นตามธรรมดาแล้วปล่อยได้วางได้ ส่วนใหญ่แล้วพวกเราเมื่อพิจารณามารู้เห็นตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังมีกำลังไม่พอที่จิตใจจะยอมรับสภาพความเป็นจริงนั้น ๆ จึงต้องแบกทุกข์หาบทุกข์กันต่อไป ถ้าเป็นดังนั้นให้ทราบว่า เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิของท่านทั้งหลายยังอ่อนอยู่ เราต้องไปเร่งตรงศีลและสมาธิให้มากขึ้น คือทบทวนศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ พยายามรักษาได้อยู่ตลอดเวลา และบำเพ็ญสมาธิให้ทรงตัวตั้งมั่น อย่างน้อยต้องเป็นปฐมฌานขึ้นไป ถ้าได้ฌาน ๔ ยิ่งดี แล้วเอากำลังนั้นมาพิจารณาในวิปัสสนาณาณต่าง ๆ ทวนแล้วทวนอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเบื่อไม่ได้ หน่ายไม่ได้ จนกว่าสภาพจิตใจจะยอมรับอย่างแท้จริงว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-09-2010 เมื่อ 02:19 |
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
การดำรงชีวิตอยู่ในร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ถึงจะไม่เที่ยงก็ช่างเถอะ ถึงจะทุกข์ก็ช่างเถอะ ถึงไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราก็ช่างเถอะ เราจะอยู่กับร่างกายแค่ชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น เมื่อพ้นจากชาตินี้แล้ว ขึ้นชื่อว่าการเกิดใหม่มามีร่างกายอย่างนี้ เราไม่ต้องการอีกแล้ว เราต้องการที่เดียวคือพระนิพพาน
ถ้าเห็นว่าชาตินี้เป็นเรื่องที่ยาวนานเกินไป ก็เอาใกล้เข้ามาอีกหน่อย ว่าเราจะอยู่กับร่างกายนี้แค่วันนี้เท่านั้น พรุ่งนี้ไม่ทราบว่าเราจะได้ตื่นขึ้นมาเห็นตะวันขึ้นอีกหรือไม่ เราจะได้ลืมตาดูโลกอีกหรือไม่ เราอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ถึงจะตายลงไปก็ตามที เราต้องการที่เดียวคือเราพระนิพพาน เอาใจจดจ่ออยู่กับพระนิพพานเอาไว้ ถ้าเห็นว่าวันนี้ยังยาวนานเกินไป ก็เอาแค่ชั่วลมหายใจเข้าออก ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออก..เราก็ตาย หายใจออกถ้าไม่หายใจเข้า..เราก็ตาย ในเมื่อเราอยู่กับร่างกายนี้แค่ชั่วลมหายใจเดียว ทำไมเราจะอยู่อย่างมีความสุขไม่ได้ เพราะว่าเราจะพ้นไปอยู่แล้ว ถ้าหากว่ากำลังใจของท่านตั้งมั่นดังนี้ จิตใจจะไม่ไปกลัดกลุ้มกับความทุกข์ มีแต่ความยินดีเหมือนอย่างเช่นนักโทษประหารที่เขาจะปลดปล่อยเรา เราจะหลุดพ้นไปอยู่แล้ว กำลังใจจะมีแต่ความสดชื่นรื่นเริง ไม่ไปจมอยู่กับกองทุกข์ เห็นความเป็นธรรมดาว่าการเกิดมาต้องเป็นดังนี้ แต่เราจะไม่ขอเกิดอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสภาพจิตจดจำแน่วแน่มั่นคงและยอมรับ ถ้าอย่างนี้แล้วทุกท่านมีสิทธิ์หลุดพ้นไปสู่พระนิพพานได้ สำหรับตอนนี้ ขอให้ทุกท่านกำหนดความรู้สึกทั้งหมด อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาหรือภาพพระของเรา จะหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ให้กำหนดรู้ตามไป ลมหายใจจะมีหรือไม่มี คำภาวนาจะมีหรือไม่มี กำหนดรู้ตามไป ให้กำลังใจเราแน่วแน่มั่นคงอย่างนี้เอาไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๓
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-10-2010 เมื่อ 02:05 |
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|