#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ เป็นการปฏิบัติธรรมวันสุดท้ายของต้นเดือนเมษายน ในวันนี้จะกล่าวถึงญาติโยมจำนวนมาก ที่อยู่ในลักษณะของบุคคลที่รู้มากแล้วยากนาน เนื่องเพราะว่าในยุคสมัยนี้ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้น มีข้อมูลให้ค้นหาจากอินเทอร์เน็ตจำนวนมากมายมหาศาล หลายครูหลายอาจารย์ หลายสายวิชา
คราวนี้ด้วยความที่ท่านทั้งหลายศึกษามาก บางทีก็เกิดความสับสนขึ้นมาเองว่า เราจะยึดกองกรรมฐานใดถึงจะเหมาะสมแก่ตน ? ซึ่งอาตมาเองด้วยความที่คลุกคลีกับครูบาอาจารย์สายวัดป่า หรือว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านมีชื่อเสียงในการปฏิบัติธรรม ก็ไม่เห็นท่านสอนอะไรมากมาย สมัยที่อยู่กับหลวงปู่ฝั้น ท่านก็บอกแค่ว่า "พุทโธคำเดียว คุ้มได้สามโลก" ก็คือให้ปฏิบัติในพุทธานุสติด้วยการภาวนาพุทโธเท่านั้น ซึ่งอาตมาเองเมื่อภาวนาพุทโธไป พอใจสงบได้ที่ อาการที่กายในหลุดออกไปเองก็ปรากฏขึ้นได้เหมือนกับการภาวนานะมะพะธะเช่นกัน ก็แปลว่าไม่ได้สำคัญที่กองกรรมฐานหรือว่าคำภาวนา แต่สำคัญตรงที่ว่าเรามีพื้นฐานกรรมฐานเดิมจากชาติก่อน ๆ มาอย่างไร เมื่อมากราบหลวงปู่ดู่ ที่วัดสะแก ท่านก็บอกว่า "ครูบาอาจารย์ของผมไม่ได้สอนมาก ท่านสอนแค่ว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็นที่พึ่ง" ก็คือ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ แค่นั้น ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า จะไปตั้งหน้าตั้งตาทำกันจริงจังขนาดไหน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-04-2021 เมื่อ 11:06 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ถ้าใครศึกษาประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จะเห็นว่าครูบาอาจารย์สายกรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบันนี้ มีอยู่จำนวนมากที่ในชีวิตได้เห็นหลวงปู่มั่นแค่แวบเดียวในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งท่านกำลังขึ้นรถไฟเดินทางไปรักษาตัว
บรรดาพระภิกษุสามเณรสายปฏิบัติของวัดป่า เมื่อทราบว่าท่านจะผ่านสถานีไหนก็ไปดักยืนไหว้ตอนที่ท่านผ่านไป ซึ่งท่านเองก็ตะโกนบอกแค่ว่า "ไปทำเอา ไปภาวนาเอานะ" ไม่ได้รับคำสอนอะไรมากไปกว่านี้ แต่ท่านทั้งหลายก็ทำกันอย่างจริงจัง ทำกันแบบทุ่มเทชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วก็มาเป็นครูบาอาจารย์ที่มีคนเคารพนับถือกันทั้งบ้านทั้งเมืองในยุคของพวกเรา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ล่วงลับดับขันธ์กันไปเกือบจะหมดแล้ว ก็แปลว่าท่านทั้งหลายเองที่ศึกษาเรียนรู้ทั้งจากตำราก็ดี จากการค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตก็ดี บางทีการที่ท่านทั้งหลายรู้มากเกินไป ก็เหมือนกับเอื้อมมือเลยหัว สมมติมีของอย่างหนึ่งวางไว้บนหัวของตัวเอง แต่เราเอื้อมมือเลยไป ก็หยิบของชิ้นนั้นไม่ได้เสียที ซึ่งสภาพเช่นนี้ในปัจจุบันมีมากต่อมากด้วยกัน ทำให้เกิดความลังเลสงสัย กรรมฐานกองนั้นก็ดี กรรมฐานกองนี้ก็ใช่ แล้วเราก็เกิดอาการห่วงหน้าพะวงหลัง ไปภาวนาแบบนั้นบ้าง ไปภาวนาแบบนี้บ้าง โดยไม่ได้ทำให้ถึงที่สุดแม้แต่กองเดียว จึงไม่ได้บังเกิดผลอย่างแท้จริงสำหรับตัวเอง กลายเป็นจับจดฟุ้งซ่าน ไม่ได้มีผลการปฏิบัติที่อาศัยเป็นหลักของตนเองเลย ดังนั้น..ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น อันดับแรกเลยที่ลืมไม่ได้คือลมหายใจเข้าออก เพราะว่าจะช่วยสร้างสมาธิของเราให้มั่นคง เมื่อสมาธิมั่นคง เราก็สามารถต้านกระแส รัก โลภ โกรธ หลง ที่ประเดประดังเข้ามาทุกวันได้ เหมือนกับเป็นก้อนหินใหญ่กลางสายน้ำเชี่ยว สามารถที่จะยืนหยัดโดยไม่โดนพัดหลุดลอยตามกระแสน้ำไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-04-2021 เมื่อ 11:06 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ลำดับต่อไปก็หากองกรรมฐานที่เหมาะสมแก่ตน ถ้าศึกษามามากก็พินิจพิจารณาดูว่า กรรมฐานกองใดที่เรารักเราชอบมากกว่ากองอื่น ให้นำมาภาวนาควบคู่กับลมหายใจเข้าออก หรือถ้าหากรู้ว่าลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวก็พอแล้ว เราก็เน้นลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เอาให้สามารถทรงอัปปนาสมาธิแนบแน่นได้ อย่างต่ำสุดก็ระดับปฐมฌานละเอียด อย่างสูงก็ให้เป็นฌานสี่ละเอียดไปเลย ส่วนท่านจะมีวิสัยในการปฏิบัติต่อจนเป็นสมาบัติแปดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความเพียรพยายามเฉพาะของแต่ละคน
ถ้าท่านสามารถทำอย่างนี้ได้ ก็จะมีหลักยึดและเข้าถึงในเรื่องของการปฏิบัติธรรมได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วท่านทั้งหลายก็มัวแต่จับจด ส่งส่าย เปลี่ยนแปลงไปตามกองกรรมฐานหรือสายวิชาการที่ศึกษามา แล้วก็ทำอย่างโน้นนิด ทำอย่างนี้หน่อย พอที่จะเป็นแนวทาง โดยขาดความอดทน ขาดความจริงจัง คือไม่มีขันติบารมี ไม่มีสัจจบารมี ก็ทำให้เรากลายเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ไม่สมควรแก่ธรรม เพราะว่าปฏิบัติไปแล้ว ก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ตัวเองอาศัยได้ หรือว่านำไปช่วยเหลือบอกกล่าวต่อคนอื่นเขาได้ พวกเราจึงต้องเป็นคนประเภทรักเดียวใจเดียว หยิบกองกรรมฐานใดขึ้นมา ก็ทำให้ถึงที่สุดไปเลย เมื่อได้ผลแล้วค่อยเปลี่ยนแปลงไปสู่กองกรรมฐานอื่น แล้วก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่กองกรรมฐานอื่น ก็ต้องทบทวนของเก่าให้คล่องตัวอยู่เสมอ ๆ จึงจะสามารถที่จะปฏิบัติแล้วเกิดผลอย่างแท้จริงกับตนเองได้ ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย น้องผักชี)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-04-2021 เมื่อ 09:50 |
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|