|
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เทฺวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพาติ ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนาในอาสาฬหปูชากถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ของบรรดาธนิสราทานบดีทั้งหลาย ที่ได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันอาสาฬหบูชานั้นเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบถ้วนโดยสมบูรณ์ ซึ่งก่อนหน้านั้น เรามีเพียงแต่พระพุทธรัตนะ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีพระธรรมรัตนะ คือหลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ก็เพิ่งจะมาในวันอาสาฬหบูชาหลังจากนั้น ซึ่งองค์สมเด็จพระภควันต์ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระอัญญาโกณฑัญญะเถระได้มีดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ท่านกลายเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงทำให้มีพระรัตนตรัยครบถ้วน ๓ ประการ และยังเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือการแสดงธรรมอย่างเป็นทางการครั้งแรก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-07-2021 เมื่อ 15:51 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ใจความที่พระองค์ท่านได้ตรัสเอาไว้คือ
เทฺวเม ภิกขะเว อันตา ส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา ซึ่งบรรพชิตทั้งหลายไม่ควรซ่องเสพเสวนาด้วย ประกอบด้วยอะไรบ้าง โย จายัง กาเมสุ ก็คือการเกี่ยวข้องกับกาม กามะสุขัลลิกานุโยโค ที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ท่านบอกว่า หีโน เป็นของต่ำ คัมโม เป็นของผู้ครองเรือน โปถุชชะนิโก เป็นของบุคคลผู้หนาด้วยกิเลส อะนะริโย หาความเจริญไม่ได้ อะนัตถะสัญหิโตติ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โย จายัง อัตตกิลมถานุโยโค และการประกอบการทรมานตนที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ทุกโข ประกอบไปด้วยความทุกข์ อะนะริโย หาความเจริญไม่ได้ อะนัตถะสัญหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ ขอให้ภิกษุทั้งหลายได้ละจากส่วนสุดทั้งสองอย่างนี้ และมาปฏิบัติใน มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อภิสัมพุทธา หนทางสายกลางซึ่งทำให้ตถาคตบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-07-2021 เมื่อ 15:55 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ญาติโยมทั้งหลายในสมัยนั้นผู้คนนิยมการทรมานตน เชื่อว่าจะทำให้เป็นที่พอใจของพระผู้เป็นเจ้า แล้วรับไปอยู่กับพระองค์ท่าน องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานตนอยู่ถึง ๖ ปีเต็ม ๆ ทำยิ่งกว่าผู้หนึ่งผู้ใดเคยทำเอาไว้ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ องค์สมเด็จพระสรรเพชญมุนีจึงได้มาพิจารณาว่า "น่าจะผิดทางเสียแล้ว" จึงกลับมาเสวยพระกระยาหารเสียใหม่
พอร่างกายมีกำลังแล้วก็นั่งลงพิจารณาธรรม จนกระทั่งสามารถพบเห็นทางสายกลาง สามารถพบเห็นอริยสัจทั้ง ๔ พระองค์ท่านจึงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ทางสายกลางนั้นเป็นไฉน ? อย่างเช่นว่าในระยะนี้เชื้อไวรัสโควิด ๑๙ แพร่ระบาด ท่านทั้งหลายก็พยายามเสาะหาสิ่งต่าง ๆ ที่จะมาป้องกัน มารักษาตนเอง เขาบอกว่ากระชายดี ท่านทั้งหลายก็ตะเกียกตะกายไปหา จนกระชายขึ้นราคาไปหลายเท่า เขาบอกว่าฟ้าทะลายโจรดี ท่านทั้งหลายก็เสาะหาฟ้าทะลายโจรจนขาดตลาด เขาบอกว่าขิงก็ได้ หัวหอมก็ได้ พริกไทยก็ได้ ท่านทั้งหลายก็ทำเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ขาดจากครัวเรือนไปเลย..! สิ่งที่ท่านทั้งหลายได้ทำนี้เรียกว่า "เกินพอดี" เพราะว่าในเรื่องของกระชายนั้น เห็นหลายท่านทำแล้วอาตมภาพก็ใจหาย ก็คือปั่นแล้วกินสด ๆ เป็นแก้วใหญ่ ๆ ท่านทั้งหลายรู้หรือไม่ว่ากระชายมีอานุภาพอย่างไรบ้าง ? ประการแรก..มีความเป็นกรด ถ้าใครเป็นโรคกระเพาะอยู่ กินลงไปแบบนั้นก็ได้ปวดท้องดิ้นกันไปเลย..! ประการที่สอง..กระชายเป็นยาธาตุร้อน กินลงไปแล้วจะร้อนอยู่ข้างใน ก็จะทำให้เสียงแหบเสียงแห้ง ไฟราคะกำเริบ..! และที่แน่ ๆ โบราณท่านไม่ได้ให้กินกระชายสด เราจะเห็นว่าโบราณกินกระชายโดยการทำเป็นอาหารบ้าง ต้มเป็นยาบ้าง ในเมื่อเราไปกินสดโดยที่ไม่รู้ว่ากระชายสดนั้นมีความเป็นพิษมากกว่า ท่านทั้งหลายถ้าหากว่าไม่ตาย สภาพร่างกายก็คงจะชำรุดทรุดโทรมไปมาก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-07-2021 เมื่อ 15:53 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ส่วนฟ้าทะลายโจรนั้นเป็นยาเย็น โบราณใช้ในการลดไข้ โดยเฉพาะไข้กาฬต่าง ๆ ในเมื่อเขาบอกว่าฟ้าทะลายโจรดี ท่านทั้งหลายก็ตั้งหน้าตั้งตากินเข้าไป พอร่างกายเย็นเกิน คราวนี้โรคภัยไข้เจ็บยิ่งเกิดง่าย ร้อนเกินไปยังรักษาง่าย ก็คือเอายาเย็นเข้าไปรักษา แต่เย็นเกินไปนี่หมอจีนยอมแพ้ทุกคน เพราะว่ารักษายากที่สุด เนื่องจากความเย็นนั้นต้องสะสมไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แล้วถึงจะก่อให้เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา กว่าจะแก้ก็สายเกินไปเสียแล้ว..!
อีกหลายท่านก็กินทั้งกระชายและฟ้าทะลายโจร ชนิดตะบี้ตะบันกินแทนข้าวไปเลย..! ท่านรู้หรือไม่ว่าตัวหนึ่งเป็นยาร้อน อีกตัวหนึ่งเป็นยาเย็น ? เมื่อถึงเวลาเข้าไปอยู่ในร่างกายของเราก็ไปหักล้างกันเอง เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกกระจาย..! หญ้าแพรกคือร่างกายของเรา กลายเป็นว่าสิ่งที่ท่านทำเกินทางสายกลางไปเมื่อไร ก็ก่อให้เกิดโทษ ร่างกายของเราแข็งแรงอยู่ดี ๆ ก็เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะฤทธิ์ยาเข้าไปหักล้างกันอยู่ข้างใน ดังนั้น..ธรรมะขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เหมาะสมทุกยุคทุกสมัย ท่านว่าต้องพอดี ถึงก่อให้เกิดประโยชน์ เกินหรือขาดมักจะเป็นโทษเสมอ แม้กระทั่งข้าวปลาอาหารที่เรากินอยู่ทุกวัน ถ้ากินล้นกินเกินเมื่อไรก็ก่อให้เกิดโทษทันที ก็คือถ้าหากว่าไม่อ้วน น้ำหนักมาก ก็ก่อให้เกิดโรคภัยอื่น ๆ อย่างเช่นว่า เบาหวานบ้าง ความดันบ้าง เป็นต้น ดังนั้น..องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็สรุปว่าหลักธรรมของพระองค์ท่านนั้น ทุกผู้คนสามารถปฏิบัติให้สำเร็จได้ ถ้าหากว่าประกอบด้วยมัชฌิมาปฏิปทาคือหนทางสายกลาง ซึ่งขยายความออกมาว่า ทางสายกลางนี้คือ มรรคมีองค์ ๘
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-07-2021 เมื่อ 01:14 |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
มรรคหรือว่าหนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่เป็นสายกลาง ๘ อย่าง ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ? ก็คือ สัมมาทิฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง อย่างเช่นเห็นว่าร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ โลกนี้มีแต่ความทุกข์
สัมมาสังกัปปะ มีความดำริหรือความคิดที่ถูกต้อง อย่างเช่นคิดจะออกจากกองทุกข์ คิดจะเว้นจากราคะ เป็นต้น ลำดับต่อไปก็คือ สัมมาวาจา เป็นผู้ที่มีวาจาถูกต้อง ก็คือพูดดี พูดไพเราะ พูดในสิ่งที่ก่อประโยชน์ เว้นจากการโกหก เว้นจากการส่อเสียด เว้นจากคำพูดหยาบ และเว้นจากการเพ้อเจ้อเหลวไหล สัมมากัมมันตะ มีการกระทำที่ถูกต้อง คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง ก็คือประกอบการอาชีพใด ๆ ก็ตาม เราก็ไม่เลี่ยงภาษี ไม่จำหน่ายในสิ่งที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่จำหน่ายในสิ่งที่ขัดต่อความเป็นพุทธมามกะ ก็คือ ไม่ขายสุรา ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายอาวุธ ไม่ขายมนุษย์ ไม่ขายสัตว์ที่มีชีวิต เป็นต้น สัมมาวายามะ คือมีความเพียรที่ถูกต้อง ได้แก่ เพียรละความชั่ว เพียรระมัดระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจ เพียรสร้างสมความดี และเพียรพยายามให้ความดีนั้นเจริญมากขึ้นไปทุกวัน สัมมาสติ มีสติตั้งไว้ถูกต้อง ซึ่งอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นการตั้งไว้ในมหาสติทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อาตมภาพสรุปง่าย ๆ ว่า มีสติอยู่กับปัจจุบัน อย่าให้นิวรณ์ ๕ อย่างกินใจของเราได้ ก็จัดเป็นสัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือการที่สามารถทรงอัปปนาสมาธิ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งทรงไว้ได้ จัดเป็นสัมมาสมาธิ เหตุที่ต้องทรงให้ได้อย่างน้อยฌานที่ ๑ เพราะว่า จะได้มีกำลังเพียงพอในการช่วยปัญญาตัดกิเลส ถ้าหากว่ากำลังยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปัญญาตัดกิเลส ไม่ถือว่าเป็นสัมมาสมาธิ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-07-2021 เมื่อ 15:53 |
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
ในมรรค ๘ นั้น โบราณาจารย์ท่านย่อลงมาเหลือเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิและปัญญา แต่ความจริงถ้าว่าตามลำดับ ก็ต้องเป็น ปัญญา ศีล และสมาธิ เพราะว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ ความคิดที่ถูกต้องนั้น เกิดจากปัญญา
สัมมาวาจา คำพูดที่ถูกต้อง สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้อง สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง เป็นศีล สัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูกต้อง สัมมาสติ การตั้งสติไว้ถูกต้อง และสัมมาสมาธิ การดำรงสมาธิให้ตั้งมั่นได้ถูกต้อง จัดเป็นส่วนของสมาธิ ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ก็แปลว่าท่านปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้เมื่อ ๒,๕๖๔ ปีล่วงมาแล้ว การที่ท่านทั้งหลายได้มายังวัดท่าขนุนแห่งนี้ เพื่อทำบุญในวันอาสาฬหบูชา ทายกก็นำท่านทั้งหลายสมาทานศีล โดยเฉพาะศีลอุโบสถ ซึ่งทุกท่านสามารถรักษาได้สมบูรณ์บริบูรณ์ เพราะตั้งแต่สมาทานมาจนป่านนี้ เราไม่ได้ทำให้ศีลขาดแม้แต่สิกขาบทเดียว เมื่อพ้นจากวันหนึ่งคืนหนึ่งไปแล้ว ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะรักษาศีล ๕ ต่อไปได้ ถ้าอย่างนี้ก็แปลว่า เราปฏิบัติในไตรสิกขาข้อแรกคือศีล โดยสมบูรณ์แล้ว ในระหว่างที่ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา สภาพจิตของเราต้องดำรงความเป็นสมาธิ ไม่เช่นนั้นแล้วกำลังใจก็จะแวบไปคิดในเรื่องอื่น ซึ่งทำให้เราไม่สามารถที่จะฟังธรรมได้เข้าใจต่อเนื่อง ก็แปลว่าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติในสมาธิของไตรสิกขา โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ตั้งใจมาบวชเนกขัมมะเพื่อปฏิบัติธรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๙ พรรษา ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติสมาธิตั้งแต่เช้ามืด ก็คือตี ๔ มาแล้ว และถ้าหากช่วงว่างในแต่ละวัน เรายังต้องเดินจงกรมและภาวนาด้วย ก็แปลว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติในส่วนของสมาธิสิกขามากกว่าญาติโยมทั่วไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-07-2021 เมื่อ 01:18 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
การที่เราถึงพร้อมด้วยสมาธิสิกขา แปลว่าเราปฏิบัติอยู่ในมรรค ๘ ตรงทางแน่นอน ก็เหลือแต่ปัญญาสิกขา คือการใช้ปัญญาพินิจพิจารณาให้เห็นความจริงว่า ร่างกายนี้ก็ดี โลกนี้ก็ดี ประกอบไปด้วยความทุกข์ยากนานัปการ มีแต่โรคภัยที่ก่อให้เกิดความน่ากลัวและอาจจะถึงแก่สิ้นชีวิตลงไปได้
ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีก การเกิดมาอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยสงคราม เต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ เต็มไปด้วยโรคภัยเช่นนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน ให้วางกำลังใจสุดท้ายอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า ท่านปฏิบัติในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งกระจายออกเป็นมรรค ๘ ได้โดยถูกต้องสมบูรณ์ ท่านทั้งหลายก็ดำเนินอยู่ในทางสายกลางที่ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ก็คือไม่ใช่สุคติ คือหนทางแห่งการไปในภพภูมิที่ดี ไม่ใช่ทุคติ คือหนทางแห่งการไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี แต่เป็นหนทางแห่งพระนิพพาน คือ การเข้าถึงความดับทุกข์ทั้งปวง อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนามาในอาสาฬหปูชากถา ก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนทั้งหมดเป็นที่สุด ได้โปรดอภิบาลรักษาให้ญาติโยมทุกท่าน อยู่รอดปลอดภัยทุกประการ แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใด ที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมวินัย ก็ขอให้ความประสงค์ของท่านทั้งหลาย จงสำเร็จ สัมฤทธิ์ผล สมดังมโนรถปรารถนาทุกประการ รับประทานวิสัชชนามาในอาสาฬหปูชากถาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-05-2022 เมื่อ 17:14 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|