#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป แม่ชีตุ๊ (ดร.แม่ชีกุลภรณ์ แก้ววิลัย) ก็ต้องมีหน้าที่จับหมาใส่กรง ทุกวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะได้ไม่ไปรบกวนนักท่องเที่ยวที่ตลาดริมแควเมืองท่าขนุน ก็คือถ้าหากว่าจะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ก็ต้องทำแบบนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วการที่เอากรงไปขังหมาไว้ที่ตลาดริมแคว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบางคนจะอ่อนไหว ขนาดถ่ายรูปแล้วไปแจ้งความว่าทรมานสัตว์หรือเปล่า ? เพราะว่าเดี๋ยวนี้การทำร้ายสัตว์ การทรมานสัตว์ผิดกฎหมายไปแล้ว
สำหรับบรรดาพระอายุมากของวัดเรา อย่างหลวงตาอ่อง (พระอ่อง ทีฆายุโก) หรือหลวงตาอิ้ว (พระณัฐวัฒน์ จิรธมฺโม) ก็ระมัดระวังดูแลสุขภาพตนเองในระยะนี้ให้ดี เพราะว่าอากาศกระโดดขึ้นลงแรงมาก คนแก่หรือคนป่วย ถ้าหากว่ารับไม่ไหว ส่วนใหญ่ก็จะตายกันหน้านี้แหละ..! เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ อากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงรุนแรงขนาดนี้ พอภาวะโลกร้อนปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงของอากาศก็รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ถ้าเราดูตัวอย่างแค่ต้นไม้ในวัดท่าขนุนก็จะรู้ ปกติแล้วพวกต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง พวกนี้เป็นต้นไม้ตระกูลใกล้เคียงกัน ซึ่งจะออกลูกปีละครั้ง เพียงแต่ว่าไม่ได้ออกพร้อมกัน แต่เป็นการสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยเป็นธรรมชาติของไม้เหล่านี้ ซึ่งทำหน้าที่หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์ต่าง ๆ เพราะว่าเวลามีลูก พวกนก พวกสัตว์เล็ก ก็มากินลูกโพธิ์ลูกไทรเป็นปกติ เอาแค่ต้นที่อยู่หน้ากุฏิของกระผม/อาตมภาพก็พอ ต้นนั้นหลวงตาเสงี่ยม (พระครูกาญจนเสลาภรณ์ - เสงี่ยม ฐิตธมฺโม) ปลูกเอาไว้ตอนทำหน้าที่เจ้าอาวาส ผ่านมา ๔๐ กว่า ๕๐ ปี ใหญ่โตมหึมาเท่าที่เห็น ปรากฏว่าปีนี้ออกดอกออกลูกไปแล้ว ๔ - ๕ รอบ พออากาศเปลี่ยน ต้นไม้กระทบ ก็คิดว่าเปลี่ยนฤดูแล้ว ก็ทำให้พยายามที่จะปฏิบัติตัวให้ตรงกับฤดูกาล แต่ว่าสมัยนี้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงแรงมาก ต้นไม้ไม่รู้ว่าจะปรับตัวไปทันอีกเท่าไร เนื่องเพราะว่าการมีดอกมีลูกแต่ละครั้ง ก็ต้องใช้พลังงานและสารอาหารมากมายมหาศาล ถ้าหากว่าไม่ไหวขึ้นมา ก็อาจจะถึงขนาดล้มหายตายจากกันไปเลย..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-12-2023 เมื่อ 02:07 |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ดังนั้น..ถ้าหากว่ามีใครอยู่ใกล้ ก็ช่วยกันดูแลพระแก่พระป่วยของเราบ้าง ส่วนแม่ชีแก่ ๆ ก็ดูแลกันเอง หาแม่ชีสาว ๆ ไม่ได้ ใครเจ็บไข้ได้ป่วย ไปรักษาพยาบาล ขอให้ไปสถานพยาบาลของรัฐ สามารถเอาบิลมาเบิกกองทุนรักษาพยาบาลพรไปะภิกษุสามเณรของวัดเราได้ ถ้าไปโรงพยาบาลเอกชน กระผม/อาตมภาพจะพิจารณาดูก่อน ถ้าหากว่าไม่สมควรก็ไม่จ่ายให้ ไปจ่ายเองก็แล้วกัน อย่างที่ผ่านมา ซึ่งจ่ายไป ๘๗,๐๐๐ บาท นั่นตอนมหาหนึ่ง (พระมหานันทวัฒน์ อคฺคธมฺโม ป.ธ.๔) เส้นเลือดสมองตีบกะทันหัน โรงพยาบาลไหนใกล้ที่สุดก็ต้องที่นั่น ก็ไปส่งโรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์ โดนไปจนจุกสนิท ถ้าไม่มีกองทุนฯ ก็ยอมมรณภาพแต่โดยดีไปเถอะ..!
คราวนี้ในส่วนของพวกเรา งานระยะนี้ก็นับว่าเริ่มน้อยลง แต่ว่าตัวกระผม/อาตมภาพนั้นงานมากขึ้น ขนาดพรุ่งนี้มะรืนนี้ซึ่งเป็นวันซักซ้อมและวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังไม่มีโอกาสที่ไปร่วมงานเลย เพราะว่าติดภารกิจที่อื่น แล้วก็ยังมีหมอนัดอีกต่างหาก ความจริงแล้วเรื่องของการรับปริญญา กระผม/อาตมภาพควรที่จะไปร่วมด้วย เนื่องเพราะว่านอกจากลูกศิษย์แล้ว แม้แต่พระวัดท่าขนุนเราก็ยังเข้ารับปริญญา แต่หาเวลาปลีกตัวไม่ได้จริง ๆ อย่างพรุ่งนี้ก็ต้องไปบรรยายธรรมให้กับพระนวกะที่วัดสี่แยกเจริญพร พระชุดนี้บวชถวายพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วก็อยู่กันมาจนถึงวันที่กระผม/อาตมภาพจะไปบรรยาย หลังจากนั้นก็ต้องไปนั่งปรกในงานหล่อพระของวัดหนองขุยที่พนมทวน แล้วจะให้ปลีกตัวไปงานที่ มจร. ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าอยู่กันคนละทิศคนละทาง ส่วนในระยะนี้ ให้พวกเราระมัดระวังดูแลเรื่องพิพิธภัณฑ์วัดท่าขนุน โดยเฉพาะก่อนที่จะปิดศาลา เดินสำรวจสักรอบหนึ่ง แต่ไอ้การเดินสำรวจ ถ้าคนตั้งใจจะแอบจริง ๆ ก็หลบกันได้ เพียงแต่ว่าเราไปดูตามหน้าที่ ประตูหน้าต่างปิดดีหรือเปล่า ? ยังมีคนทำงานหลงอยู่หรือเปล่า ? ไม่ใช่แบบวันก่อน สัญญาณเตือนภัยดังสนั่นหวั่นไหว กระผม/อาตมภาพมาส่องไฟดู ช่างเดินเรียงลงมากัน ๖ คน..! ทั้ง ๆ ที่กำชับแล้วกำชับอีก ว่าก่อนจะปิดประตูให้ขึ้นไปเดินดูสักรอบหนึ่ง แล้วพวกเราก็ประมาท ถ้าหากว่าเป็นมิจฉาชีพซ่อนตัวอยู่ เพื่อที่จะลักขโมยหลวงพ่อทองคำองค์ใหญ่หรือองค์เล็ก เขาอาจจะศึกษาวิธีการตัดระบบสัญญาณเตือนภัยเอาไว้ ก็เป็นอันว่าเจริญแน่..! เพราะว่าขโมยแล้วเปิดประตูเล็กออกไปได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดประตูใหญ่ให้ผิดสังเกต
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-12-2023 เมื่อ 02:28 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้น เนื้อหาจำนวนหนึ่ง "ไม่ตรงปก" เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าทางด้านผู้ออกแบบและผู้รับเหมาขอปรับเปลี่ยนไปเรื่อย โดยเฉพาะในส่วนของนักรบโบราณ กระผม/อาตมภาพตั้งใจต้องการหุ่นนักรบโบราณชุดชาวบ้านบางระจัน ซึ่งจะมีนายจันทร์หนวดเขี้ยว ขี่ควายถือขวาน พร้อมกับชาวบ้านบางระจัน นายแท่น นายดอก นายแก้ว เหล่านั้นเป็นต้น แต่ปรากฏว่าทางผู้ออกแบบบอกว่าพื้นที่ไม่พอ ท้ายสุดก็เลยปรับลงมาเหลือหุ่นนักรบโบราณแค่สองนาย..!
แล้วอาวุธที่จัดเตรียมเอาไว้ ซึ่งผ่านการสะสมมาเกิน ๓๐ ปีก็ไม่สามารถที่จะใช้งานได้ อย่างดาบเทพศาสตราหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล เพราะทางช่างบอกว่า หุ่นนักรบทำด้วยไฟเบอร์ ไม่สามารถจะรับน้ำหนักดาบจริงได้ เพราะฉะนั้น..ไม่ว่าจะเป็นขวานเทพศาสตราของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ก็ดี ขวานเทพศาสตราของหลวงพ่อกวย วัดโฆสิตารามก็ตาม ไม่ได้ใช้งาน บรรดาดาบเทพศาสตราต่าง ๆ ทั้งของหลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเดิม ก็ไม่ได้ใช้งาน แม้กระทั่งหอกเทพศาสตรา หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล ที่ตั้งใจจะให้นักรบถือของจริง ก็ไม่ได้ใช้งาน กระผม/อาตมภาพจึงต้องเอาไปออกให้ร่วมบุญในเว็บวัดท่าขนุน เพื่อหาทุนมาจ่ายให้กับทางบริษัทรับเหมาแทน เป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะว่าของพวกนี้ บางทีเป็นสิบปีกว่าที่จะหาได้สักชิ้นหนึ่ง แต่ก็อย่างที่ทุกคนได้เห็น ก็คือคนรุ่นหลังน่าจะบุญมากกว่า ถึงเวลามาเจอก็คว้าติดมือไปเลย..! โดยเฉพาะของหลวงพ่อรุ่ง ท่านหลอมโลหะตามตำรามหาศาสตราคม ซึ่งมีกล่าวถึงไว้ในวรรณคดีขุนช้าง - ขุนแผน ที่ว่า "ฯลฯ...เอาเหล็กยอดเจดีย์มหาธาตุ ยอดปราสาททวารามาประสม เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร...ฯลฯ" เป็นต้น ของพวกนี้ไม่ใช่ว่าหาง่าย แต่ว่าครูบาอาจารย์สมัยก่อน พอเห็นก็มักจะเก็บสะสมไปเรื่อย เผื่อมีโอกาสที่จะได้สร้าง แล้วพอท่านมีโอกาสสร้างขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ก็จะรักและหวงแหนมาก แต่พอมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานก็เริ่มเสื่อมคลายไปตามลำดับ เพราะว่าไม่มีประสบการณ์ชัดเจนเหมือนอย่างกับรุ่นแรก เพราะฉะนั้น..ของพวกนี้ก็จะค่อย ๆ หลุดออกจากบ้าน หรือว่าครอบครัวไป โดยเฉพาะถ้าไปเจอประเภทลูกหลานช่างล้างช่างผลาญ ใช้เงินไม่คิด ถึงเวลาร้อนเงินขึ้นมา ก็เอาออกมาจำหน่าย ก็เลยทำให้ของพวกนี้หลุดออกจากบ้านมาสู่ท้องตลาด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-12-2023 เมื่อ 02:32 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
แล้วบางชิ้นก็ใหม่เอี่ยม เหมือนอย่างกับเพิ่งทำเลย อย่างที่กระผม/อาตมภาพเจอมาก็คือสายคาดเอวตะขาบไฟ หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ของอายุเป็นร้อยปี ใหม่เหมือนเพิ่งจะทำมาไม่กี่วัน..! พอสอบถามแล้ว ปรากฏว่าตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นลูก ใส่ถุงแดงบูชาอยู่บนหิ้ง ไม่เคยทำอะไรเลย ถ้าหากว่าใครเจอแบบนั้นก็ต้องบอกว่าบังเอิญอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นบุญของคุณที่ได้ของดีสวยสมบูรณ์แบบนั้นไป
แต่ว่าหุ่นนักรบ ถ้าหากว่าส่วนไหนสามารถที่จะนำวัตถุมงคลของจริงไปประกอบได้ กระผม/อาตมภาพก็จะพยายาม เพื่อที่อย่างน้อยก็จะได้เห็นว่าในสมัยก่อนนั้น เขามีอะไรติดตัวกันบ้าง ส่วนใหญ่แล้วคนสมัยก่อนใช้เครื่องรางของขลังมากกว่าพระเครื่อง เพราะถือคติว่าพระต้องอยู่วัด ในเมื่อพระต้องอยู่วัด ถึงเวลารับพระเครื่องจากครูบาอาจารย์มา พอใช้งานเสร็จก็เอาไปคืนไว้ที่วัด บางท่านก็เอาไปกองรวมกันไว้ข้างพระเจดีย์..! ต้องบอกว่าคนโบราณกำลังใจละเอียดกว่าเรา เพราะเกรงว่าจะเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย แล้วการที่พระเครื่อง ซึ่งเป็นรูปพระพุทธเจ้าบ้าง รูปพระสาวก อย่างพระปิดตาหรือว่าพระสีวลีบ้าง ถ้าเอามาอยู่ที่บ้าน ตนเองก็ไม่แน่ใจว่าสมควรหรือเปล่า ? ใช้เสร็จงานนั้นก็เอาไปคืนวัด ถ้าเป็นสมัยนี้ ใครจะเอาพระสมเด็จวัดระฆังมาคืนที่วัดท่าขนุน กระผม/อาตมภาพก็จะตั้งพานรอรับเลย..! แต่คราวนี้กำลังใจของคนรุ่นหลังไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นว่าเกิดสิ่งที่เขาเรียกว่า "พุทธพาณิชย์" ขึ้นมา ก็คือพอมีมูลค่าให้จำหน่ายให้ซื้อขายกัน จากที่ไม่นิยมเอาพระเครื่องไว้ที่บ้าน ก็กลายเป็นขนเข้าบ้านกันเป็นปกติ เครื่องรางของขลังที่เขาใช้ติดบ้าน เพื่อรักษาตัวเองและครอบครัว จึงกลายเป็นส่วนประกอบไป ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็คือวัตถุมงคลหลักที่แต่ละบ้านจำเป็นต้องมีไว้เลย เนื่องเพราะว่าสมัยก่อน ในเรื่องของการรักษาพยาบาลก็ดี ในเรื่องของภูตผีปีศาจ หรือว่าสิ่งลี้ลับมารบกวนก็ตาม จะมีเป็นปกติ ตัวพ่อบ้าน หรือหัวหน้าครอบครัว ซึ่งโดนสภาพสังคมบังคับว่าต้องบวช พอบวชเข้าไปแล้ว ต้องเรียนต้องศึกษา อย่างน้อยทำอะไรไม่ได้ เสกกล้วยให้เมียกินแล้วคลอดง่ายก็ยังดี ทำน้ำมนต์ธรณีสารถอนคุณถอนของก็ยังดี สมัยนี้ค่านิยมลดน้อยถอยลง พวกเราศึกษาเอาไว้เป็นความรู้ประดับตัว ถ้าซักซ้อมจนกระทั่งมีความคล่องตัวแล้ว เกิดฉุกเฉินอะไรก็จะได้ใช้งาน แต่ว่าจะให้ต้องใช้ในชีวิตประจำวันตามปกติแบบโบราณก็คงจะยากแล้ว สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-12-2023 เมื่อ 02:36 |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|