#1
|
||||
|
||||
ประวัติพระพุทธบาทตะเมาะ
ประวัติวัดพระพุทธบาทตะเมาะ (คัดลอกจากหนังสือประวัติครูบาชัยยะวงศา ถ่ายทอดโดย สิริวฑฺฒโน ภิกขุ ) ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เล่าให้ฟังว่า วัดพระพุทธบาทตะเมาะ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาลเพราะเป็นสถานที่ ที่พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์แห่งกัปนี้ คือพระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคม พระพุทธเจ้ากัสสปะ และพระพุทธเจ้าสมณโคดม เคยเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ นอกจากนั้นยังมีพุทธสาวกอีกหลายองค์มาปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ภายในวัดยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เช่นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ แท่นหินที่พระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ประทับไสยาสน์ รอยพระบาทของพระสาวกซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ รอยพระบาทของพระฤๅษีที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ฯลฯ ที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะแห่งนี้ เคยเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระฤๅษี ๒ องค์ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ สถานที่นิพพานของท่านอยู่บนแท่นหินภายในวัด พระสรีระของท่านทั้งสองยังไม่ได้ประชุมเพลิง พระอินทร์ได้อัญเชิญพระสรีระขององค์หนึ่งไปไว้บนยอดเขาตะเมาะ ส่วนอีกองค์หนึ่งไว้ที่ยอดเขาดอยเกิ้งเพื่อรอพระศรีอริยะเมตไตรยมาประชุมเพลิงด้วยพระองค์เอง บารมีของท่านทั้งสองยังคุ้มครองสถานที่แห่งนี้ ให้ผู้มุ่งหวังปฏิบัติธรรมได้รับความสงบสุข(ชาวบ้านมักเห็นแสงไฟดวงกลมวิ่งไปมาระหว่างยอดเขาทั้งสองเสมอ) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หนุมานเชิญธง : 25-11-2009 เมื่อ 16:53 |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หนุมานเชิญธง ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ครูบาชัยยะวงศาได้พาคณะศิษย์ไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ซึ่งขณะนั้นมีพระชาวต่างชาติมาจำพรรษาอยู่ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ และจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗ รวมเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ๓๓ ปี คำว่า “ตะเมาะ” นั้น เป็นคำพูดที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เต่าหมอบ” เพราะที่วัดมีก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายเต่าหมอบอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพูดคำว่าเต่าหมอบ นานเข้าจึงเพี้ยนเป็น ตะเมาะ ครูบาชัยยะวงศาได้บูรณะสถานที่สำคัญหลายแห่งภายในวัด เช่น มณฑป ๙ ยอดครอบรอยพระพุทธบาทฯลฯ และครูบาชัยยะวงศาได้มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีก่อสร้างเป็นเวลา ๕ ปี สิ่งก่อสร้างที่เหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกอย่างก็คือ กำแพงซึ่งทำจากหินล้วน ไม่มีการใช้ปูนแต่อย่างใด กำแพงหินดังกล่าวเป็นแนวยาว ๒ ชั้น แต่ละชั้นยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร นอกจากแนวกำแพงหินแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ครูบาชัยยะวงศายังได้สร้างมณฑปไม้ไว้ด้วย มณฑปนี้เป็นรูปทรงล้านนา และทำจากไม้ทั้งหลัง ซึ่งปัจจุบันจะหาช่างทำได้ยาก เพราะมณฑปทั้งหลัง ใช้การเข้าลิ่มสลักด้วยไม้ทั้งสิ้น จะใช้น็อตเหล็กยึดเพียงไม่กี่ตัว ครูบาชัยยะวงศาเล่าให้ฟังว่า มณฑปนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าสำหรับท่าน เพราะต้องผจญกับอุปสรรคต่าง ๆ นานับประการ เนื่องจากเขตวัดพระพุทธบาทตะเมาะขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้นทางการจังหวัดเชียงใหม่เข้มงวดเรื่องป่าไม้มาก แม้จะนำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นการลำบาก
__________________
เมื่อนภาไร้เมฆบดบัง ทั่วทุกด้านสว่างไสว ลมพัดโชยเรื่อย ๆ ไกล ขุนเขาไร้เสียงจำเนียงนรรจ์ วันนี้น่ายินดี หยุดชีวีที่ผูกพัน ไร้ทุกข์โศกในทุกวัน ทิ้งขันธ์ ๕ ไม่พบเจอ ครูบาเจ้าชัยยะลังก๋าอรัญญาวาสีมหาเถร แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-11-2009 เมื่อ 17:22 |
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หนุมานเชิญธง ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ในระหว่างที่ครูบาชัยยะวงศามาทำการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะอยู่นั้น ท่านต้องพักผ่อนจำวัดอยู่ที่ห้วยน้ำอุ่น(ปัจจุบันเป็นวัดห้วยน้ำอุ่น มีครูบาบุญยังเป็นเจ้าอาวาส) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ห่างจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ๕ กิโลเมตร กิจวัตรประจำวันของท่านคือ ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. สวดมนต์ทำวัตรจนถึง ๐๕.๐๐ น. แล้วเดินจากวัดห้วยน้ำอุ่นไปวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ฉันภัตตาหารที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ จากนั้นจึงนำคณะศรัทธาก่อสร้าง โดยท่านเป็นผู้ควบคุมเอง ในช่วงเที่ยงวันคณะศรัทธาจะพักรับประทานอาหาร ขณะนั้นครูบาชัยยะวงศาฉันมื้อเดียว จึงใช้เวลาที่คณะศรัทธาพักรับประทานอาหารนี้ ไปก่อหินถนนระหว่างวัดห้วยน้ำอุ่นกับวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ซึ่งคณะศรัทธาอีกคณะหนึ่ง ได้นำหินมากองเรียงไว้ เมื่อถึงเวลาช่วงบ่าย ครูบาชัยยะวงศาจะกลับมาควบคุมการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะต่อไป จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ไม่สามารถมองเห็นลายมือแล้ว จึงเดินทางกลับไปพักที่วัดห้วยน้ำอุ่น ระหว่างเดินทางกลับ ก็ช่วยกันยกหินที่คณะศรัทธาอีกคณะหนึ่งเรียงกองไว้ นำมาทำถนนระหว่างทางไปเรื่อย ๆ ท่านจะกลับวัดห้วยน้ำอุ่นประมาณ ๒๒.๐๐ – ๒๓.๐๐ น. ทุกวัน จากนั้นได้สรงน้ำ สวดมนต์ ไหว้พระ เจริญกรรมฐาน และจำวัดประมาณ ๒๔.๐๐ น. ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. ใช้เวลา ๓ เดือนจึงก่อสร้างแล้วเสร็จ นับเป็นความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง
__________________
เมื่อนภาไร้เมฆบดบัง ทั่วทุกด้านสว่างไสว ลมพัดโชยเรื่อย ๆ ไกล ขุนเขาไร้เสียงจำเนียงนรรจ์ วันนี้น่ายินดี หยุดชีวีที่ผูกพัน ไร้ทุกข์โศกในทุกวัน ทิ้งขันธ์ ๕ ไม่พบเจอ ครูบาเจ้าชัยยะลังก๋าอรัญญาวาสีมหาเถร แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หนุมานเชิญธง : 26-11-2009 เมื่อ 07:54 |
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หนุมานเชิญธง ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
เหตุที่ครูบาชัยยะวงศาไม่สามารถจำวัดและให้คณะศรัทธาพักที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้ เนื่องจากขณะนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของจังหวัดเชียงใหม่มีความเข้มงวด ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ศิษย์ของครูบาอภิชัยขาวปีเกิดมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของบ้านเมือง จนกระทั่งพระปันถูกจับสึกให้นุ่งห่มขาว (ครูบาขาวคำปัน) เป็นเหตุให้ครูบาอภิชัยขาวปี ต้องย้ายจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปอยู่วัดพระธาตุห้าดวง และ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเมื่อสร้างมณฑปเสร็จแล้ว ก็ทำการฉลองกันอย่างรีบเร่ง เมื่อฉลองเสร็จครูบาชัยยะวงศาก็ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีไปพำนักยังสถานที่อื่นเพื่อสร้างบารมีต่อไป ปัจจุบันมีพระมหานภดล สิริวฑฺฒโน เป็นเจ้าอาวาสที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้ ๒๗ ปี ตอนนี้ทางวัดมีโครงการที่จะจัดทำสำนักปฏิบัติธรรมนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอยู่ ๒ รูป จบประวัติพระพุทธบาทตะเมาะ
__________________
เมื่อนภาไร้เมฆบดบัง ทั่วทุกด้านสว่างไสว ลมพัดโชยเรื่อย ๆ ไกล ขุนเขาไร้เสียงจำเนียงนรรจ์ วันนี้น่ายินดี หยุดชีวีที่ผูกพัน ไร้ทุกข์โศกในทุกวัน ทิ้งขันธ์ ๕ ไม่พบเจอ ครูบาเจ้าชัยยะลังก๋าอรัญญาวาสีมหาเถร แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หนุมานเชิญธง : 26-11-2009 เมื่อ 09:13 |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หนุมานเชิญธง ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|