#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า ก็คือให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..เอาความรู้สึกทั้งหมด ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..เอาความรู้สึกทั้งหมด ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ตามที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
การภาวนานั้นเป็นการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นแก่ใจของเรา คำภาวนาใดที่มีความคล่องตัวมาก่อน ทำให้ใจของเราสงบได้เร็ว ให้ใช้คำภาวนานั้น ไม่ว่าจะยาวจะสั้นอย่างไรก็ใช้ได้ จุดมุ่งหมายก็คือขอให้ใจเราสงบ ไม่ฟุ้งซ่านเท่านั้น วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติธรรมของต้นเดือนกรกฎาคม แต่เนื่องจากช่วงอาทิตย์ต้นเดือนจริง ๆ นั้น ทางวัดท่าขนุนจะมีการหล่อสมเด็จองค์ปฐม ขนาดหน้าตัก ๒๑ ศอก จึงต้องมาปฏิบัติกรรมฐานกันในช่วงปลายเดือนต่อต้นเดือนกรกฎาคมอย่างนี้ ในเรื่องของบุญกุศลใหญ่ในพระพุทธศาสนานั้น ประกอบไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ในส่วนของศีลนั้น ทุกท่านต้องสังวรระวัง อย่าให้ความเป็นกันเองกับศีลปรากฏขึ้นแก่เรา ถ้าความเป็นกันเองกับศีลปรากฏขึ้นแก่เรา ก็คือ เห็นว่าอย่างไรก็ได้ นั่นอันตรายใหญ่จะเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เพราะเราจะตั้งอยู่ในความประมาท ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นอานิสงส์ของการรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เมื่อเราไม่เห็นความสำคัญของศีล ต่อไปสภาพจิตที่หยาบ ก็จะมีการล่วงเกินต่อพระรัตนตรัยด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจได้โดยง่าย เมื่อเป็นดังนั้น ทุกท่านจึงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง ทบทวนรักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่เสมอ เมื่อเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ด้วยตนเองแล้ว ก็อย่ายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล เมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว ก็อย่าพลอยยินดีด้วย ดังนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการรักษาศีลที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อเรารักษาศีลได้ถูกต้องสมบูรณ์ อานิสงส์คือผลที่ตอบแทนจะคืนมา ก็คือ ตัวเราเป็นผู้สงบระงับด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2012 เมื่อ 16:53 |
สมาชิก 99 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
การสงบระงับด้วยใจนั้น ความจริงเป็นกำลังของสมาธิ แต่การที่เราระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็คือการที่เราสร้างสมาธิให้เกิดนั่นเอง เมื่อกาย วาจา ใจของเราเริ่มสงบระงับ ความสุข ความเยือกเย็น ก็จะปรากฏขึ้นแก่เรา เมื่อความสุขความเยือกเย็นปรากฏขึ้นแก่เรา สติสัมปชัญญะมีความสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็จะเกิดความว่องไวและแหลมคม ไม่ว่าเราจะขยับตัว จะคิด จะพูด จะทำอย่างไร จิตจะบอกแก่ตนเองทันทีว่าสิ่งที่เราทำนี้ศีลจะขาดหรือไม่
โดยเฉพาะในส่วนของวาจา ซึ่งจำนวนมากต่อมากด้วยกันของผู้ปฏิบัติ มักจะเผลอไผล รักษาได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง หลายคนใช้คำว่าเผลอพูดโกหกไป ซึ่งในลักษณะอย่างนั้นแสดงว่าสติสมาธิของเรานั้น ยังไม่ทรงตัวพอ จึงไม่สามารถที่จะควบคุมกาย วาจา ใจของเราให้เรียบร้อย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เมื่อเป็นดังนั้น หลายต่อหลายท่านที่ปฏิบัติในศีลมา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี เมื่อทำไปแล้วเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยาก แล้วเกิดความประมาทขึ้น ในเมื่อเกิดความประมาทขึ้น ทำตัวเป็นกันเองกับศีล โอกาสที่เราจะพลาดพลั้ง ล่วงศีลไปก็จะมีมาก จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลาย ควรจะทบทวนพิจารณาอยู่ทุกวัน เกี่ยวกับการปฏิบัติในศีลของเราว่า เบื้องต้นของไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา คือสิ่งที่พุทธมามกะจำเป็นจะต้องศึกษา ๓ อย่าง ได้แก่ ศีลสิกขา การศึกษาในศีล จิตสิกขา การศึกษาในสภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยองค์สมาธิภาวนา และปัญญาสิกขา ศึกษาในการใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเบื้องต้นคือศีลสิกขา เรายังไม่สามารถจะทำให้บริบูรณ์ได้ โอกาสที่จิตสิกขา และปัญญาสิกขาจะเกิดขึ้นครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การกำหนดจิตจดจ่อแน่วแน่ระมัดระวัง ไม่ให้ศีลบกพร่องนั่นแหละคือสมาธิ เมื่อศีลของเรายังบกพร่องอยู่ ก็แปลว่าสมาธิไม่ทรงตัว เมื่อสมาธิไม่ทรงตัว ปัญญาก็ไม่สามารถที่เกิดขึ้นและทำงานได้อย่างเต็มที่ ศีลจึงเป็นเบื้องต้นของความดีทั้งปวง เพราะว่าพื้นฐานใหญ่ของความดีทั้งหมดก็คือ ดีด้วยกาย ดีด้วยวาจา ดีด้วยใจนั้น มาจากศีลนั่นเอง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 05-07-2012 เมื่อ 10:21 |
สมาชิก 86 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
กายของเราถ้าประกอบด้วยกายสุจริต ก็คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย จะเห็นว่ากวาดเอาศีล ๕ ไป ๔ ข้อแล้ว ในส่วนของวจีสุจริตนั้น ก็คือไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ จะเห็นได้ว่าในส่วนของศีล ๕ นั้น เติมเต็มไปอีก ๑ ข้อ ครบถ้วน ๕ ข้อพอดี ก็ไปเพิ่มในส่วนของกรรมบถ ๑๐ คือไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์
ในส่วนของมโนสุจริต คือความดีทางใจนั้น ประกอบไปด้วย ความเป็นสัมมาทิฐิ คือเห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมานั้นถูกต้อง สมควรที่เราจะเร่งปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดผลดีแก่ตนเอง เป็นบุคคลที่ไม่โกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทใคร อาจจะโกรธได้ แต่โกรธแล้วต้องไม่ผูกโกรธ หมายความว่าโกรธแล้วต้องลืมได้ และเป็นบุคคลที่ไม่โลภอยากได้ของคนอื่นจนเกินพอดี ถ้าหากว่าอยากได้สิ่งใด ให้หามาให้ถูกต้องตามศีลตามธรรม เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้ก็แปลว่า ในการที่เราจะรักษากาย วาจา ใจของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ประกอบไปด้วยศีลอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว ถ้าหากว่ากาย วาจา ใจของเราประกอบไปด้วยศีลอย่างสมบูรณ์ สภาพจิตของเราก็จะทรงตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย บุคคลที่สภาพจิตทรงตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิ จะภาวนาหรือพิจารณาอะไรก็มีความคล่องตัว มีความรู้แจ้งเห็นจริง ปลอดโปร่งไปหมด ศีลจึงเป็นเบื้องต้นของความดีตามที่ว่ามานี้ จึงสมควรที่พวกเราทุกคนจะทบทวน ระมัดระวังเอาไว้ทุกวัน ถ้าหากพบว่าศีลของเราบกพร่อง ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือว่าขาดลง ก็ให้ตั้งใจว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วหลังจากนั้นก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังรักษาต่อไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-07-2012 เมื่อ 15:05 |
สมาชิก 67 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ถ้าเราสามารถทำดังนี้ได้ ความดีพื้นฐานอย่างแรกในไตรสิกขาก็อยู่ในมือของเรา เราก็แค่เพิ่มความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจเข้าไป และใช้ปัญญามองให้เห็นว่า ไม่ว่าตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี ล้วนแล้วแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า ถ้าหากว่าตายแล้วต้องมาเกิดอีก ก็จะพบแต่ความทุกข์ไม่รู้จบ ดังนั้น..ถ้าตายลงไปเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานที่เดียว
เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้แล้ว ให้ทุกคนทำกำลังใจของตน จดจ่ออยู่กับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าอยู่กับพระนิพพานพร้อมกับภาวนา โดยดูลมหายใจเข้าออกควบกับคำภาวนาที่เคยใช้จนชินเอาไว้ เพื่อรักษาสภาพจิตที่เกาะพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ให้มั่นคง ซักซ้อมทำอย่างนี้อยู่ทุกวัน ๆ ความดีของท่านจะมีมากขึ้น การปฏิบัติของท่านจะก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ โดยอาศัยศีลนี้แหละเป็นบันได นำพวกเราทั้งหมดไปสู่พระนิพพาน ลำดับต่อไปให้ทุกคนตั้งใจภาวนาและพิจารณาไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันศุกร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ (ถอดจากเสียงเป็นตัวอักษรโดยเถรีและทาริกา)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 17-07-2012 เมื่อ 09:43 |
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
สามารถรับชมได้ที่
http://www.sapanboon.com/vdo/demo.ph...ame=2555-06-29 ป.ล. - สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้ - ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด ! |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|