#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
เมื่อทุกคนนั่งในท่าสบายของเราแล้ว อย่าลืมหายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง ระบายลมหยาบออกให้หมด แล้วกำหนดความรู้สึกตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาหรือไม่ใช้คำภาวนา ตามรู้ลมอย่างเดียวก็ได้ เรื่องของการปฏิบัตินั้น ลมหายใจเข้าออกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกครั้งก็จะย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้พวกเราได้ตระหนักว่า ถ้าสติและสมาธิของเรา หลุดจากลมหายใจเข้าออกไปเมื่อใด รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ก็แทรกสิงเข้ามากินใจของเราได้ง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตามดู ตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเราให้ได้
โดยเฉพาะถ้าหากสามารถรู้ลมหายใจเข้าออกในลักษณะเป็นปัจจุบันอยู่ได้ ความทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการคิดฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะฟุ้งไปในอดีตหรือฟุ้งไปในอนาคตก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความทุกข์ให้แก่เรานั้น ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ จะโดนอำนาจของอานาปานสติกรรมฐาน กดลงให้ดับก่อนลงไปชั่วคราว ถ้าหากเราสร้างสติและสมาธิให้เข้มแข็งได้จากการตามดูลมหายใจเข้าออกแล้ว การที่จะเอากำลังนั้นไปใช้ในการพิจารณาตัดกิเลสก็จะเป็นไปได้โดยง่าย แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกเรามักจะพิจารณากันไม่เป็น หรือถึงจะพิจารณาบ้างก็ทำแบบไม่ละเอียด เราต้องพิจารณาจริง ๆ ให้เห็นว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา มันเสริมสร้างมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นสมบัติของโลก ให้เราได้อาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วท้ายสุดก็ต้องคืนให้แก่โลกไปตามเดิม แรก ๆ ของการพิจารณา สภาพจิตยังไม่เคยชินก็จะทำได้ไม่มาก ทำได้ไม่ละเอียด แต่ถ้าหากว่าเราซ้อมบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็จะพิจารณาได้ละเอียดขึ้น ถ้าหากเราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตลอดเวลาที่เราอาศัยอยู่ มันก็ก่อแต่ความทุกข์ให้ ถ้าเห็นชัดอย่างนี้ จิตก็จะค่อย ๆ ปลดออกมาจากการยึดเกาะในร่างกายนี้ จิตยิ่งยึดเกาะร่างกายน้อยลงเท่าไร ความผ่องใสของจิตก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น สติ สมาธิและปัญญา ก็จะทรงตัวมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จำเป็นต้องรักษาสติ ให้เกาะยึดมั่นอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา เมื่อภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ถ้าหากเราไม่หาวิปัสสนาญาณให้คิด จิตใจก็จะเอากำลังจากการภาวนานั้นไปฟุ้งซ่าน และดึงกลับได้ยาก เพราะมันเข้มแข็ง มันแข็งแรง มันใช้กำลังจากการภาวนาของเราเอาไปฟุ้งซ่านแทน จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ทุกครั้งที่ภาวนา เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวดีแล้ว ให้ค่อย ๆ คลายออกมา เพื่อพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ได้แก่ดูทุกข์ให้เห็น หาสาเหตุของทุกข์ให้เจอ เมื่อเราไม่สร้างเหตุ ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ หรือว่าพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ คือลักษณะธรรมดา ที่เป็นไปโดยธรรมชาติทั้งสามอย่าง ของร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ว่ามีความอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ขณะดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ คือทุกขัง ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพัง คืนสมบัติให้แก่โลกไปตามเดิม เรียกว่าอนัตตา หรือจะพิจารณาตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง เริ่มตั้งแต่ดูการเกิดดับไล่ไปเรื่อย จนกระทั่งท้ายสุดก็ไปถึงสังขารุเปกขาญาณ คือ สามารถที่จะวางเฉยในร่างกายของเราได้ ถ้าหากว่าทุกท่านทำอย่างนั้นได้ เห็นธรรมดาของร่างกาย การก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็ไม่ยาก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-11-2009 เมื่อ 15:15 |
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
การปฏิบัติทั้งหมดนั้น สำคัญตรงที่ทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่แล้วพวกเราทำกันอย่างไม่ต่อเนื่อง ไม่จริงจัง จึงทำให้กำลังของเราไม่เพียงพอที่จะก้าวล่วงอำนาจกิเลสได้ ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว อารมณ์ใจทรงตัวเท่าไหร่ สามารถประคับประคองให้อารมณ์นั้นอยู่กับเราได้ เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ยิ่งดี ถ้าทำได้อย่างนี้ จิตใจจะมีสภาพผ่องใสมาก จะมีปัญญาเห็นช่องทาง ว่าจะระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้ความชั่วเข้ามาอย่างไร และจะสร้างความดีขึ้นมา ตลอดจนรักษาเอาไว้ได้อย่างไร ดังนั้น..การทำให้จริงจังและต่อเนื่อง จึงเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับปัจจุบัน
หลายต่อหลายท่าน บางทีก็มาบ่นว่าปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว ยังไม่เห็นอะไรเลย ยังไม่ได้ผลบ้างเลย สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดมาจากการที่เราทำแล้วทิ้ง ไม่มีการรักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่อง ไม่มีความพยายามอย่างแท้จริงในการปฏิบัติ กลัวลำบาก กลัวเหนื่อย ถ้าหากว่าเรายังกลัวลำบาก กลัวเหนื่อยอยู่ โอกาสที่จะเอาดีก็ยาก ดังนั้นนอกจากว่าเราจะปฏิบัติกรรมฐานแล้ว เรายังต้องรักษาอารมณ์นั้นให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และท้ายที่สุด อย่าลืมพิจารณาให้เห็นจริง ว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี สภาพร่างกายของคนอื่นก็ดี มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความเป็นทุกข์เป็นปกติ และท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่สามารถยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ถ้าเรากำหนดรู้เห็นอย่างชัดเจน จิตใจก็จะปลดออกจากการยึดเกาะในร่างกายนี้ ปลดจากการยึดเกาะในโลกนี้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะก้าวล่วงความทุกข์ทั้งหลาย เข้าสู่พระนิพพานได้ ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น ให้พวกเราพยายามทบทวนดูว่า ศีล ๕ หรือศีล ๘ ตลอดจนศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ตามสภาพของเรานั้น มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่บกพร่องบ้าง ถ้าพบเห็นข้อบกพร่องเมื่อไร เป็นฆราวาสให้ตั้งใจใหม่ทันที ว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ถ้าหากว่าเป็นพระ ก็ให้แสดงคืนอาบัติ แล้วตั้งใจปฏิบัติรักษาต่อไป ถ้าเป็นสามเณรก็ให้ขอศีลใหม่ แล้วตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ต่อไป ในเรื่องของศีลนั้น เป็นพื้นฐานของความดีทั้งปวง เป็นบันไดให้ก้าวล่วงไปสู่พระนิพพาน นักปฏิบัติถ้าหากว่าไม่รักษาศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ยากยิ่ง เพราะศีลเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดสมาธิ ทั้งศีลและสมาธิจะเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ก็จะไปควบคุมเรื่องของศีลและสมาธิให้ทรงตัวอีกทีหนึ่ง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-11-2009 เมื่อ 15:18 |
สมาชิก 75 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
นอกจากจะทบทวนในเรื่องของศีลแล้ว ยังต้องคอยดูเสมอว่า ในขณะปฏิบัตินั้น นิวรณ์กินใจของเราได้หรือไม่ ? ถ้าหากว่ายังมีความต้องการในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศก็ดี ยังมีความโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาทก็ดี ยังมีความง่วงเหงาหาวนอนในการปฏิบัติก็ดี มีความฟุ้งซ่าน หงุดหงิดรำคาญใจก็ดี ท้ายที่สุด ลังเลไม่มั่นใจในผลการปฏิบัติก็ดี ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้สิงใจของเราอยู่ แสดงว่าเรามีกำลังใจที่ปราศจากคุณภาพ ปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีท่วมทับจิตใจอยู่ ให้รีบขับไล่ออกไป กลับมาอยู่กับองค์ภาวนา กลับมาอยู่กับภาพพระของเรา ถ้าอารมณ์ใจทรงตัว นิวรณ์ทั้งหลายก็จะไม่สามารถกินใจเราได้
สภาพจิตของเรานั้น มีทั้งต้องการความสงบ และต้องการการพิจารณา ถ้าภาวนาแล้วมันสงบ ไม่อยากคลายออกมา เราก็กำหนดรู้ไปว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าภาวนาไปแล้วไปถึงจุดตัน ไม่สามารถที่จะไปให้สูงกว่านั้นได้ เมื่อจิตคลายออกมา ถ้าไม่เร่งหาเรื่องของวิปัสสนาญาณให้พิจารณา มันก็จะฟุ้งซ่านไปในเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ดังนั้นการปฏิบัติไม่ใช่ปฏิบัติเฉย ๆ อย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาในเรื่องของศีล ในเรื่องของนิวรณ์ ตลอดจนพิจารณาในเรื่องของวิปัสสนาไปด้วย การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้าไปได้ ลำดับต่อไปนี้ ให้พวกเรากำหนดดู กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้ามีคำภาวนาอยู่ ให้ใช้คำภาวนาควบคู่ไปด้วย ถ้าไม่มีคำภาวนา ให้กำหนดไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก เอาใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจของเราอย่างเดียว จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-11-2009 เมื่อ 15:20 |
สมาชิก 74 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|