กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะ เรื่องราวในอดีต และสรรพวิชา > เรื่องธรรมะ และการปฏิบัติ

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 15-11-2009, 09:56
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,311 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default ชีวิตของ พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล)

น้องหญิงส่งเมล์บทความนี้มาให้ ดูเนื้อหาแล้วลงตัวกับคำสอนหลวงพ่อดีนักแล จึงนำมาลงต่อให้อ่านกันครับ แต่อาจไม่ค่อยมีเวลาตรวจแก้เท่าที่ควร รบกวนท่านผู้มีใจงามทั้งหลายช่วยด้วยเถิด ให้มีส่วนในธรรมทานนี้ร่วมกัน

ซึ่งหมายความว่า หากท่านใดมีเวลาเมตตาตรวจให้ ก็ขอความกรุณาแก้ไขให้ด้วยเลยครับ

..............................................................

คมชัดลึก : ชีวิตของ พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล)
เริ่มต้นจากพระเครื่องแล้วหันเหชีวิตมาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง



ท่านเล่าว่า "เมื่อก่อนทำสตูดิโออยู่แถวเอกมัย เช่าตึกแถวทำ ปรากฏว่า เจ้าของเขาเป็นลูกศิษย์แม่ชีเพียงเดือน ท่านอยู่เชียงใหม่"

"วันหนึ่งเขาก็พาแม่ชีมาทำแผ่นพับ เราก็บริการทำให้ วันนั้นท่านแม่ชีเห็นอาตมาแขวนพระปากน้ำรุ่นหนึ่ง ท่านก็ขอดูพระหน่อยสิ เราก็หยิบให้ท่านดู ท่านบอกว่า ปากน้ำนะคะ รุ่นแรกนะคะ รักษาให้ดี"

"เราก็เอ๊ะ รู้ได้อย่างไร พระเราเป็นก้อนแป้งเลย รู้ได้อย่างไรว่าเป็นของแท้รุ่นหนึ่ง เราก็ถาม แม่ชีสัมผัสได้หรือ แม่ชีบอกว่าพอสัมผัสได้ค่ะ เราก็บอกว่ามีเยอะเลย ของพ่อเต็มถาดเลย ขออนุญาตนะ คราวหน้ามาขอเอาไปให้ตรวจ"

"ผ่านไปไม่นาน ท่านแม่ชีเพียงเดือนมากรุงเทพฯ ท่านก็โทรศัพท์มาหาอีกว่าจะมา เราก็ซิ่งมอเตอร์ไซค์มาเลย มาถึงก็รีบเอาพระวางไว้บนโต๊ะ ๓๐๐ กว่าองค์ให้ท่านตรวจให้ ท่านก็เมตตาตรวจให้ องค์นี้หลวงพ่อเงียบ องค์นี้มีติ๊ด ๆ องค์นี้พลังเยอะค่ะ"

"เราก็เริ่มแยกเห็นว่าพระที่หนีบมากับหนังสือพระเครื่องไม่มีพลัง เป็นพระเงียบ พวกมีพลังติ๊ด ๆ คือพระเครื่องที่จัดพิธีใหญ่ พระที่มาเข้าพิธีไม่ใช่พระที่ได้ดีอะไรหนักหนา อาศัยจำนวนพระเข้าว่า ส่วนที่เป็นพระเครื่องมีพลังเยอะ ส่วนใหญ่เป็นพระจากสายปฏิบัติ สายพระป่า ที่ลูกศิษย์ทำไปให้หลวงพ่ออธิษฐาน ซึ่งจะไม่ทำรูปท่านเอง แต่จะเป็นรูปครูบาอาจารย์ของท่านและรูปพระพุทธเจ้า"

หลังจากดูพระวันนั้น พระภาสกรเล่าต่อว่า "แม่ชีท่านก็หายเงียบไปเลยไม่โทรมา วันหนึ่งท่านก็โทรมาบอกว่าจะมาอีก เราบอกว่า หลวงแม่ ยังมีพระอีกเต็มเลยช่วยตรวจหน่อยสิ ท่านบอกว่าไม่เอาแล้วค่ะ ยังไงก็ไม่เอา คราวที่แล้วกลับไปคางบวม ไข้ขึ้นหยอดน้ำข้าวต้ม ท่านบอกว่าไม่เอาแล้ว เราก็ต่อรอง งั้นเอาไปทีละน้อย ๆ ได้ไหมครับ ต่อรองกับท่าน จากนั้นก็ค่อย ๆ เอาพระทีละน้อย ๆ ไปให้ท่านตรวจ"

"ระหว่างที่เอาพระไปให้ท่านตรวจ ก็มีลูกศิษย์ลูกหามาฟังธรรม โดยมารยาทก็ต้องนั่งฟังก่อน เราไม่ได้สนใจเรื่องฟังธรรมก่อน สนใจเรื่องพระเครื่องนั่นแหละ แต่ฟังไปฟังมาเอ๊ะเข้าท่า ฟังไปฟังมาเริ่มมีเหตุมีผล ในที่สุดศรัทธาเพิ่มขึ้นพระเครื่องเป็นเรื่องรอง เริ่มสนุกกับการฟังธรรม ถึงขนาดขี่มอเตอร์ไซค์จากกรุงเทพฯ ไปฟังธรรมท่านที่จันทบุรี ท่านไปสอนพระอยู่ที่นั่น ก็ไปฟังธรรมกับท่าน สนุก ตื่นเต้นมาก ๆ"

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้ นิรันดร์ ภาวิไล ก้าวมาสู่หนทางธรรมในวัย ๓๕ ปี

"ทุกอย่างที่เราสงสัยได้คำตอบ จนวันหนึ่งใจมันก็ เอ๊ะ คนอะไร เรามีคำถาม ๑๐๐ ข้อตอบเราได้หมด ๑๐๐ ข้อ มีอยู่สองอย่างคือ

ถ้าไม่จริง ก็จริงทั้งหมด ท่านจะโกหกเราเพื่อประโยชน์อะไร ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรที่จะโกหกเรา ก็เกิดศรัทธาเพิ่มขึ้น ตามไปฟังธรรมอุตลุด แม่ชีท่านอายุเท่าโยมแม่อาตมา (อุไรวรรณ ภาวิไล) เกิดปีฉลู อาตมาก็ปีฉลู ตอนโยมแม่อายุ ๒๔ ปี หลวงพี่จึงเกิดมาที่ออสเตรเลีย ตอนนี้หลวงพี่อายุ ๔๘ ปี แม่ชีก็อายุ ๗๒ พอดี"

"แม่ชีเพียงเดือนต้องถือว่าท่านเป็นต้นสาย ท่านปฏิบัติตรงไปตรงมา ท่านพูดอันหนึ่งที่เป็นตัวหลักจริง ๆ ว่า
คุณภาสกร อยากปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ารวดเร็ว ให้เขียนบารมี ๑๐ สังโยชน์ ๑๐ พร้อมกับคำแปลติดไว้ที่ข้างฝา แล้วตรวจมันทุกวัน

อาตมาไม่เชื่อ ธรรมะมีตั้งเยอะแยะ ให้ใช้สองอย่างนี้เท่านั้นหรือ มันไม่ง่ายเกินไปหรือ ปรากฏว่าได้ผลจริง ๆ การจะได้ผลจริง ๆ ก็คือต้องปฏิบัติ และนี่คือแก่นของพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ มายาวนานมาก และบารมี ๑๐ นี่เองที่แก้สมการพลิกมาเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้"

"วันหนึ่งท่านแม่ชีมาบอกว่า คุณภาสกร ต่อไปนี้ไม่ต้องมาถามอะไรแม่ชีอีก อ้าวทำไมล่ะกำลังสนุก ทำไมมาห้ามถาม ถ้าคุณภาสกรรู้มากไปกว่านี้จะอยู่ที่เดิมไม่ได้ ท่านเตือน ๓ ครั้ง เราไม่เชื่อ กำลังสนุกมาก ที่ผ่านมาเรายิ่งรู้เรายิ่งเบิกบาน ท่านบอกว่าเตือนแล้วนะ ๓ ครั้ง จะไม่เตือนอีกแล้วก็จริง"

"ถามว่าที่ผ่านมาเราเจอใคร เรากำลังเจอโคตรเพชรลอยมาอยู่ข้างหน้า โคตรเพชรซึ่งแม้แต่พระพุทธเจ้าทรงสละราชสมบัติ สละความสุขในโลกทุกอย่างที่โลกยกย่องแล้วไปเอาโคตรเพชรนี้มา

โคตรเพชรนี้คืออะไร คือพระนิพพาน แล้วเรามีโอกาสที่จะหยิบไหม ๕๐-๕๐ ไม่รู้ว่าจะหยิบได้ไหม แต่ในมือเราถือพลอยหุงอยู่ ถ้าไม่วางพลอยหุง หยิบโคตรเพชรไม่ได้ เอาอย่างไรดี ในโลกนี้จะมีสักกี่คนที่โคตรเพชรมาลอยอยู่ข้างหน้า"

"คิดไปคิดมา ลงทุนไปก็เยอะแยะ ลงทุนทำกิจการของตัวเอง เราทำธุรกิจ เสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลา ไอ้นี่ เสี่ยงก็ไม่มาก ต้องเอาชีวิตลงทุน แต่ถ้าได้ มันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ ก็เอาวะ สู้"

ท่านเลยตัดสินใจลุย วันนั้นแม่ชีบอกท่านว่าจะขึ้นมาเชียงใหม่ นั่งรถทัวร์มา ท่านภาสกรเมื่อยังเป็นฆราวาสอยู่ ก็บอกว่าขอไปด้วย

"อาตมาก็กระโดดขึ้นรถตามมา พอถึงกำแพงเพชร เขาจอดรถรับประทานข้าวกลางคืน ท่านแม่ชีนั่งอยู่ในรถ เราเดินไปหาท่านแล้วบอกว่า ผมอยากรอด ผมตัดสินใจแล้ว แม่ชีบอกว่า คุณมั่นใจหรือ ถ้าอย่างนั้นไปเชียงใหม่ ไปเจออาจารย์อีกท่านหนึ่งให้ท่านช่วยเสริมกำลัง ก็ไปเจอครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน ระยะแรกเรียกว่าเป็นระยะชมบุญชาวบ้านเขาก่อน ก่อนที่จะเสริมบุญของตัวเองจนกระทั่งพึ่งพาตนเองได้"

จากนั้นชื่อของนิรันดร์ ภาวิไล นักฟิสิกส์ และช่างภาพโฆษณาที่มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง ลูกชายของ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล นักดาราศาสตร์ของเมืองไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๙ ก็ได้หันหน้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์และไม่หวนกลับมาสู่ทางโลกอีกในฉายา พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน พร้อมมีวงเล็บข้างท้ายว่า (ภาวิไล)

เหตุที่ท่านภาสกรวงเล็บนามสกุลข้างท้ายว่า "ภาวิไล" นั้น ท่านบอกว่าไม่ใช่เพื่อโด่งดังแต่เพื่อเอาบุญให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง ให้เขาได้มีส่วนบุญจากการที่เราเอาเลือดเนื้อเชื้อไขเขามาทำความดี

"เพราะสิ่งที่พ่อสอนคือ สอนให้เคารพเหตุผล อันนี้สำคัญมาก ทำให้อำนาจการตัดสินใจเรามีกำลัง ตอนเด็ก ๆ วันหนึ่งพ่อก็เรียกลูก ๆ มาช่วยกันหน่อย ไปยกเอาเหล้ามาหน่อย พ่อให้เอาเหล้าจากตู้โชว์ออกมาหมดเลย แล้วไปเทลงส้วม

พ่อทำไมเทลงส้วมหมดล่ะ พ่อเลิกกินแล้ว ทำไมไม่เอาไปให้คนอื่นล่ะ ของดี ๆ ทั้งนั้น พ่อบอกว่า ในเมื่อเราเห็นว่าเป็นของไม่ดี เราจะเอาของไม่ดีไปให้คนอื่นทำไม ตั้งแต่วันนั้นมา เราไม่เคยเห็นพ่อกลับไปแตะต้องอีกเลย

เราเห็นการตัดและการตัดสินใจของพ่ออย่างเฉียบขาด มันประทับใจอยู่ข้างใน ถึงเวลาที่เราตัดสินใจเดินหน้า เราไม่ลังเล มั่นใจว่าเดินหน้าคือเดินหน้า ลุยเป็นลุย ส่วนโยมแม่น่ารัก เป็นคนใจดี คนละด้านกับโยมพ่อ คือ โยมแม่ไม่ค่อยมีเหตุผล แต่ทั้งคู่ก็เป็นคู่รักที่สวีทหวานแหววจนถึงทุกวันนี้"

ถ้าหากย้อนประวัติของท่านตั้งแต่ในวัยเยาว์ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ท่านจึงเลือกที่จะเดินบนหนทางนี้ เพราะทุกครั้งที่อาจารย์ระวีไปสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกขพลาราม ก็จะพาท่านไปด้วย แล้วท่านก็วิ่งเล่นขะมุกขะมอมตามพระพยอม กัลยาโณ บรรยายธรรมอยู่ในโรงมหรสพทางวิญญาณ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

วันนี้ในวัย ๔๘ ปี ๑๔ พรรษา ท่านเป็นผู้อำนวยการ "ธรรมสถาน" มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำพรรษาอยู่ที่วัดฝายหิน ถนนสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สอนเรื่องกรรม วิบาก และปฏิจจสมุปบาทให้ทุกท่านที่สนใจค้นหาความจริงของชีวิต

ชีวิตนักบวชของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะในปัญญาของพระพุทธเจ้า แม้จุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านมาบวชคือ "พระเครื่อง" แต่ท่านก็สามารถมองพระเครื่องทะลุจนเห็นพระธรรมได้ ท่านเรียกการต่อสู้กับตัวเองว่าเหมือนการขึ้นชกชิงแชมป์โลก ต้องอาศัยวิปัสสนาชกมวย (คือชกกับกิเลสของตัวเอง) ด้วยการฝนสติ สมาธิ และปัญญาให้คมกริบ เพื่อเอาชนะกิเลสมารทั้งปวงที่ทำให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารไม่จบสิ้น

ท่านบอกว่า "ชีวิตคือความท้าทาย และโลกใบนี้เป็นเหมือนเวทีให้เราทดลองใช้ชีวิต แต่ว่าเราทดลองอะไรเราต้องรับผิดชอบด้วย เพราะฉะนั้นอย่าประมาท"



ทางลัด ทางรอดสังโยชน์ ๑๐ และบารมี ๑๐

สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่าง

๑.สักกายทิฐิ เห็นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา (คำว่าร่างกายนี้หมายถึง ขันธ์ ๕)
๒.วิจิกิจฉา ความลังเลสังสัย ในคุณพระรัตนตรัย
๓.สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง
๔.กามฉันทะ มีจิตมั่วสุมหมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์
๕.พยาบาท มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
๖.รูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในรูปฌาน
๗.อรูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในอรูปฌาน คิดว่าเป็นคุณพิเศษที่ทำให้พ้นจากวัฏฏะ
๘.มานะ มีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี
๙.อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล
๑๐.อวิชชา มีความคิดเห็นว่า โลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพ


บารมี แปลว่า กำลังใจเต็ม บารมี ๑๐ ทัศ มีดังนี้

๑.ทานบารมี จิตพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ - การให้ เป็นการตัดความโลภ
๒.ศีลบารมี จิตพร้อมในการปฏิบัติศีล - ศีล เป็นการตัดความโกรธ และความหลง
๓.เนกขัมมบารมี จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะ แปลว่า การถือบวช เนกขัมมะ เป็นการตัดอารมณ์ของกามคุณ
๔.ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารให้พินาศไป -ปัญญา ตัดความโง่
๕.วิริยบารมี จิตมีความเพียรทุกขณะ - วิริยะ ตัดความขี้เกียจ
๖.ขันติบารมี มีความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ - ขันติ ตัดความไม่รู้จักอดทน
๗.สัจจะบารมี สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลาว่าเราจะจริงทุกอย่าง ในด้านของการทำความดี - สัจจะ ตัดความไม่จริงใจ มีอารมณ์ใจกลับกลอก
๘.อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ - อธิษฐาน ตั้งจิตไว้ให้สมบูรณ์
๙.เมตตาบารมี สร้างความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น -เมตตา สร้างความเยือกเย็นของใจ
๑๐.อุเบกขาบารมี ช่วยจนถึงที่สุดแล้วจึงวางเฉย - วางเฉยไว้ในเรื่องของกายเรา มันเป็นเช่นนั้นเอง

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 16-11-2009 เมื่อ 13:28
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 148 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:41



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว