#1
|
||||
|
||||
วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐
อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ เราน่าจะต้องเปลี่ยนบททำวัตรกันแล้ว สัมมา ธารัง ปะเวจฉันโต กาเล เทโว ปะวัสสะตุ* เราทำความดี เทวดาเขาจึงบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ความจริงบทนี้โบราณเขาใช้เป็นคาถาเรียกฝนอีกด้วย การที่ฝนตกเป็นเรื่องปรกติ ถ้าหากว่าเราไปหงุดหงิดและรำคาญใจเราก็จะผิดปรกติ นั่นตัวเราผิดเอง เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ ถึงวาระถึงเวลาเขาก็มา หน้าที่ของเราก็คือ รักษากำลังใจให้ดีที่สุด คราวนี้ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น ถ้าเราอยากมักจะไม่ได้ เลยมีคำถามว่า ถ้าไม่อยากแล้วจะทำไปทำไม ? ความอยากนั้นมีสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกเขาเรียกว่า ฉันทะ** ยินดีพอใจที่จะปฏิบัติในความดี อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกว่า ตัณหา*** เป็นความทะยานอยาก อยากมี อยากได้ อยากเป็น ด้วยอำนาจกิเลสชักนำ สองอย่างนี้จะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม อันหนึ่งกอบโกยเข้าหาตัวเองในด้านที่ไม่ดี อีกอันหนึ่งเป็นการโกยความดีเข้าใส่ตัว คราวนี้พวกเราทุกคนที่เริ่มปฏิบัติ มักจะอดไม่ได้หรอก อยากดีอย่างนั้น อยากดีอย่างนี้ อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ อย่างใน ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า**** บอกไว้ ปฏิบัติทั้งทีก็ต้องให้เป็นพระอรหันต์ทรงปฏิสัมภิทาญาณไปเลย หวังไม่มากหรอก เอาแค่นั้นก็พอ..! ถามว่า ความต้องการอย่างนั้นผิดไหม ? ไม่ผิด..แต่ถ้าถึงเวลาภาวนาแล้ว เราตัดความต้องการตรงนั้นไม่ได้ อันนี้จะผิด เพราะว่าภาวนาเมื่อไร เราก็อยากเมื่อนั้น ก็จะเป็นตัวอุทธัจจะ อุทธัจจะกุกกุจจะ ***** คำนี้เป็นสองศัพท์ซ้อนอยู่ด้วยกัน อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ คือ ความหงุดหงิดรำคาญใจ ฟุ้งซ่านอยากเป็นนั้นอยากเป็นนี่ ไม่ได้อย่างใจเข้าก็รำคาญ ในเมื่อจิตไม่สามารถตั้งมั่นได้ ไม่สามารถรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ กำลังก็ไม่พอใช้งาน เมื่อกำลังไม่พอใช้งาน สิ่งที่เราหวัง สิ่งที่เราต้องการ แม้ว่าฌานสมาบัติข้างต้นอย่างปฐมฌาน ทุติยฌาน เราก็ไม่สามารถที่จะทรงได้ เพราะจิตเราไม่นิ่ง ไม่ทรงตัวการปฏิบัติทุกระดับชั้น ต้องมีอุเบกขาอยู่ภายในการปฏิบัติของเรา ถ้าไม่มีตัวอุเบกขาก็ก้าวหน้าไม่ได้ ตัวเอกัคตารมณ์ในฌานทุกระดับคือตัวอุเบกขา เราต้องวางกำลังใจว่า เรามีหน้าที่ทำ มีหน้าที่ภาวนา เมื่อทำแล้ว ภาวนาแล้ว ผลจะเกิดอย่างไรเป็นเรื่องของมัน หมายเหตุ : * พระครูอรุณธรรมรังษี : มนต์พิธี : อักษรสมัย(๑๙๙๙) : กรุงเทพฯ : พ.ศ. ๒๕๔๒ : ปัตติทานะคาถา หน้าที่ ๘ ** ที.ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓ : อภิ.วิ. ๓๕/๕๐๕/๒๙๒ *** อัง.ฉกฺก. ๒๒/๓๗๗/๔๙๔ : อภิ.วิ. ๓๕/๙๓๓/๔๙๔ **** พระราชพรหมยาน(วีระ ถาวโร ป.ธ.๔) : ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า : วัดท่าซุง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ๖๑๐๐๐ ***** อัง.ปญฺจก. ๒๒/๕๑/๗๒ : อภิ.วิ. ๓๕/๙๘๓/๕๑๐
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 27-07-2010 เมื่อ 10:16 |
สมาชิก 73 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ผมเคยเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ เรามีหน้าที่ดูแลรักษา รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ป้องกันหนอนแมลง ก็ดูแลกันไป แต่เราไม่มีหน้าที่ไปบังคับให้ต้นไม้นั้นโต เพราะถ้าเราไปดึงยอดจะให้โตเร็ว ๆ ก็มีหวังถอนรากถอนโคนตายเสียก่อน
ดังนั้น..วิธีที่ดีที่สุดก็คือว่า เรามีหน้าที่ทำ ส่วนผลจะเกิดขึ้นเมื่อไรเป็นเรื่องของมัน ถ้าเราวางกำลังใจเป็นกลางอย่างนี้ได้ มีตัวอุเบกขาอย่างนี้ได้ สิ่งที่เราปฏิบัติอยู่จะได้ผลเร็ว แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เมื่อเกิดผลแล้ว เราจะรักษาผลไว้ได้อย่างไร ? การจะประคับประคองรักษาผลของการปฏิบัตินั้น สมัยที่ผมปฏิบัติใหม่ ๆ รู้สึกเหมือนกับเลี้ยงลูกแก้วบาง ๆ ไว้บนปลายเข็ม เผลอเมื่อไรก็หล่นแตกโป๊ะ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเอาไว้ว่า การจะรักษาความดีเอาไว้นั้น ๑. เหมือนกับจามรีรักษาขนของตัวเอง จามรีเป็นสัตว์จำพวกวัวชนิดหนึ่ง มีขนละเอียดแล้วก็นุ่มมาก ต้องบอกว่านุ่มยิ่งกว่าไหมอีก จามรีจะหวงขนตัวเอง ต่อให้กำลังหนีภัยอยู่ มีสัตว์หรือคนตามล่าอยู่ ถ้าขนถูกหนามเกี่ยวติด จามรีจะหยุดแกะขนของตัวเองก่อน มันรักขนของตัวเองขนาดนั้น แม้ว่าสัตว์ร้ายที่ตามมา อาจจะฆ่าจามรีถึงความตายมันก็ยอม แต่จามรีจะไม่ยอมเสียขนแม้แต่เส้นเดียว เราต้องประคับประคองรักษาความดีที่เราทำแล้ว ทรงตัวไว้ให้ได้แบบเดียวกับจามรีรักษาขนตัวเอง ๒. เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ นกต้อยตีวิดนั้น สมัยนี้เขานิยมเรียกว่านกกระแตแต้แว้ด นกชนิดนี้หวงไข่มาก นกต้อยตีวิดเวลานอนอยู่ในรังกลางคืน นกนี้จะหงายหลังนอน เอาหลังลง หันท้องขึ้น เท้าชี้ฟ้าไว้ โบราณบอกว่านกต้อยตีวิดกลัวว่าฟ้าจะถล่มลงมา ถ้าฟ้าถล่มลงมาจะทับไข่ของมันแตก ตัวมันเล็กนิดเดียว แต่ใจสู้ถึงขนาดว่าจะเอาเท้ายันฟ้าไว้ รักษาไข่ด้วยชีวิต ถ้าหากว่าฟ้าถล่มลงมา ก็ขอยันเอาไว้ก่อน จะได้ไม่ได้ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ท่านถึงได้เปรียบว่า ถ้าหากว่ารักษาความดี ต้องเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ ถ้าหากว่ามีศัตรูเข้ามาใกล้รัง นกต้อยตีวิดจะบินออกจากรังไปตกอยู่ใกล้ ๆ สมมุติว่าหมาก็แล้วกัน แล้วก็ทำเหมือนกับขาหักปีกหัก กระเสือกกระสนดิ้นรน สัตว์ร้ายหรือว่าคนที่เข้าใกล้รัง ก็จะเบนความสนใจไปที่ตัวนกที่ตะเกียกตะกายหนีไปเรื่อย แต่ความจริงก็คือ หนีห่างรังไปเรื่อย พอได้ระยะที่เห็นว่าปลอดภัย ศัตรูโดนหลอกจนหลงแล้ว ไม่มีทางย้อนกลับไปทางรังแล้ว มันก็จะบินหนีไปเลย การรักษาความดีประการที่สองของพวกเรา คือ ให้รักษาเช่นเดียวกับนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ของตน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 27-07-2010 เมื่อ 03:32 |
สมาชิก 77 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
๓. รักษาความดีเหมือนกับแม่ที่มีลูกน้อยอยู่คนเดียว ต้องประคับประคองบุตรของตัวเองสุดชีวิตจิตใจอย่างไร ให้เรารักษาความดีในลักษณะนั้น ในบทกรณียเมตตาสูตรที่ท่านว่า “มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข”****** เหมือนกับมารดารักษาบุตรของตัวที่มีอยู่คนเดียว ต้องทะนุถนอมระวังสุดชีวิตจิตใจขนาดไหน การรักษาความดีของเราก็ต้องรักษาให้ได้แบบนั้น
๔. การรักษาความดีให้รักษาเหมือนกับคนที่มีตาเหลืออยู่ข้างเดียว ในเมื่อตาข้างหนึ่งบอดไปแล้ว เหลืออยู่เพียงข้างเดียวเท่านั้น จะต้องระวังรักษายิ่งกว่าคนอื่นทั่ว ๆ ไป เพราะว่า ถ้าเสียตาอีกข้างหนึ่งไปเราจะไม่เหลืออะไรเลย ความรู้สึกในการที่เราจะรักษาประคับประคองความดีของเราเอาไว้ ให้รักษาในลักษณะนี้ เหมือนอย่างกับคนที่มีตาข้างเดียวประคับประคองรักษาดวงตาเอาไว้ ไม่ยอมให้เสียไปอีก ดังนั้นว่าในการรักษาความดีที่ว่ามา คือ เหมือนกับจามรีรักษาขนของตัวเอง เหมือนกับนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนกับแม่ที่มีลูกอ่อนอยู่คนเดียว ต้องประคับประคองรักษาเอาไว้สุดชีวิต เหมือนกับคนที่มีตาเหลืออยู่ข้างเดียว ต้องรักษาตาเอาไว้อย่างสุดชีวิตจิตใจ นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำได้แล้ว เรารักษาเอาไว้ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เหมือนกับว่างมของขึ้นมาได้ชิ้นหนึ่ง แล้วก็ปล่อยหลุดมือจมน้ำไปอีก ต้องไปตะเกียกตะกายควานหากันอีก ไม่ทราบว่าอีกนานเท่าไรถึงจะได้ วันนี้ที่อยากฝากเอาไว้คือว่า การปฏิบัติความดีนั้น เราต้องการแบบไหนให้เราทำแบบนั้น แต่เวลาที่เราทำ ให้ลืมความต้องการนั้นเสีย วางกำลังใจให้เป็นกลาง เรามีหน้าที่ภาวนา ผลจะเกิดหรือไม่เกิดเป็นเรื่องของมัน เมื่อเกิดผลแล้ว ให้ประคับประคองรักษาเอาไว้ให้สุดชีวิต เราทุกวันนี้ยังลำบากอยู่ ยังฟุ้งซ่านเดือดร้อนอยู่ เพราะเรารักษาอารมณ์ใจที่ดีไว้ไม่ได้ หมายเหตุ : ****** พระครูอรุณธรรมรังษี : มนต์พิธี : อักษรสมัย(๑๙๙๙) : กรุงเทพฯ : พ.ศ. ๒๕๔๒ : กะระณียะเมตตะสุตตัง หน้าที่ ๖๔
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-07-2010 เมื่อ 16:27 |
สมาชิก 69 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ดังนั้น..วิธีที่จะรักษาอารมณ์ใจที่ดีเอาไว้ได้ ก็ต้องประคับประคองเอาไว้เหมือนอย่างจามรีรักษาขน เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนแม่รักษาลูกคนเดียว เหมือนคนเหลือตาข้างเดียว ต้องรักษาดวงตาข้างที่เหลืออยู่ ถ้าเราทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับความดีได้ขนาดนี้ ก็หมายความว่าเราจะเอาดีได้ เราจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้
ผมเองในการปฏิบัติระยะแรก ก็เหมือนกับเราทุกคน คือ กำลังใจตกแล้วตกอีก พังแล้วพังอีก วันหนึ่งหลาย ๆ รอบ พอทำ ๆ มาแล้วพัง ทำ ๆ มาแล้วพัง ก็เสียดาย เมื่อเสียดายมาก ก็ต้องมาคิดหาวิธีว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะรักษาความดีเอาไว้ได้ และเป็นเพราะอะไรถึงพัง ในเมื่อหาสาเหตุได้ว่าพังเพราะอะไร ก็ระมัดระวังอย่าให้เหตุนั้นเกิด ในเมื่อรู้ว่าจะต้องประคับประคองเอาไว้ ก็พยายามระมัดระวังให้สุดชีวิตที่จะรักษาเอาไว้ แต่ก็อดที่จะพังอีกไม่ได้ ระยะแรก ๆ ผมสู้ไม่ได้เลย พังตลอด แต่พอตั้งใจทำ ก็เริ่มสู้ได้บ้าง พอทำต่อไปก็อยู่ลักษณะที่ว่า ได้กับเสียก้ำกึ่งกัน ตอนนั้นจะเป็นตอนที่สนุกที่สุดในชีวิตของเรา เพราะต้องคอยลุ้นว่า แต้มต่อไปใครจะเป็นคนได้ และหลังจากนั้นเราก็จะได้มากกว่าเสีย ถ้ามาถึงตอนนี้ คุณสามารถจะยืนหยัดด้วยตัวเองได้แล้ว และท้ายสุดเป้าหมายที่ทั้งคุณทั้งผมต้องการก็คือ เราจะไม่ยอมเสียอีก นี่จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทุกคนจะต้องสังวรระวังและทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว สิ่งที่เราทำมาแล้วก็ทิ้งไป ทำมาแล้วก็ทิ้งไป เราก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ถ้าหากว่าเราเสียชีวิตไปก่อน เราก็ขาดทุน จึงขอให้ทุกคนตั้งใจไว้ให้ดี ผมขอยืนยันว่า ถ้าทุกคนตั้งใจทำจริง ผลดีจริง ๆ เกิดกับเราแน่
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-07-2010 เมื่อ 11:58 |
สมาชิก 70 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าผลเกิดอย่างไร ให้มองย้อนหลังไปว่า ก่อนหน้านี้แม้กระทั่งศีล ๕ เราก็มีไม่ครบ มาตอนนี้ศีล ๕ ครบ ศีล ๘ ครบ นักบวชอย่างเราก็ต้องประคับประคองศีล ๒๒๗ ไว้
จากชีวิตฆราวาส ก็เปลี่ยนเข้ามาเป็นชีวิตของนักบวช ที่ถือว่าเป็นชีวิตของผู้เจริญ คือเป็นผู้ที่ตั้งใจจะสร้างความเจริญให้แก่ตนเอง เพื่อที่จะได้เลื่อนภพเลื่อนภูมิให้สูงยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งท้ายสุด ก็หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เรามีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไปมองเอาเป้าหมายสุดท้าย ก็จะคิดว่าเราไม่มีความก้าวหน้า ดังนั้น ถ้าหากว่าอยากจะดูความก้าวหน้า ให้ดูย้อนหลัง แต่ถ้าหากว่าอยากจะทำให้มากกว่านี้ ต้องมองไปเป้าหมายไกล ๆ ข้างหน้าและตะกายไปให้สุดชีวิตเท่าที่เราทำได้ ถ้าหากว่าเราทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ สิ่งที่เราหวังเอาไว้ก็จะไม่เกินความปรารถนาของเรา ถาม : หลวงพ่อครับ หลวงพ่อให้หลักการไว้เสมอเลยว่า หลังจากการนั่งสมาธิแล้วให้รักษากำลังใจ คือพอจะเข้าใจในหลักการครับ แต่ว่าทำไม่เป็น วิธีที่จะรักษากำลังใจหรือว่าประคองกำลังใจนั้นจะต้องทำอย่างไรครับ ? ตอบ : เอาเป็นว่า ตอนที่เรานั่งอยู่ สมาธิทรงตัวแค่ไหน ใจเรานิ่งแค่ไหน ตอนคุณขยับลุกขึ้น อย่าให้หลุดออกจากตรงนั้น เอาสติ สมาธิ ปัญญา ความรู้สึกทั้งหมดของคุณประคองไว้ตรงนั้น ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน ต้องนิ่งให้ได้เหมือนกับตอนนั่งกรรมฐาน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-07-2010 เมื่อ 05:57 |
สมาชิก 64 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
ถาม : ถ้าหากว่าเราได้อ่านหนังสือ เช่นหนังสือพวกนิยายอะไรอย่างนี้ เราจะวางอารมณ์ใจอย่างไร ? หรือว่าจะทำสมาธิอย่างไรดีครับ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าภาวนาไปพร้อมกับอ่านไปด้วยได้ก็จะดี แต่ว่าถ้าทำอย่างนั้นได้ เนื้อหาที่เราอ่านจะไม่มีส่วนในการจรรโลงอารมณ์ เราจะหมดรสชาติ ไม่อยากจะอ่านอีก หรือไม่อีกอย่างหนึ่งคือว่า ตอนอ่านคิดตามเนื้อหาไปด้วย เลิกอ่านก็กองเอาไว้ตรงนั้นแหละ อย่าเก็บเอามา เรื่องของหนังสือทุกอย่าง ถ้าเราสามารถใช้การอ่านทุกตัวอักษรเป็นคำภาวนาของเราได้ ก็เท่ากับเรากำลังฝึกกรรมฐานอยู่นั่นเอง ถาม : ที่หลวงพ่อบอกว่าให้หยุดคิด ถ้าการหยุดคิด กับการที่ความคิดเกิดขึ้นมา เราเห็นอยู่ แต่เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับมัน เป็นตัวเดียวกันไหมครับ ? ตอบ : คนละอย่างกัน คำว่าหยุดคิดของผมนั้น หมายความว่า เรารู้ทันทีว่า สิ่งที่เราคิดจะเป็นคุณเป็นโทษอย่างไร ในเมื่อเห็นแล้วว่า เหตุที่เราสร้างนี้จะก่อให้เกิดผลอย่างไร เราหยุดสร้างเหตุ ผลนั้นก็จะไม่เกิด ที่คุณว่ามานั้น เป็นการสร้างเหตุ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ยึดติดในเหตุตรงนั้น จะว่าไปแล้ว ผลตอนสุดท้ายเหมือนกันตรงที่ว่า กิเลสไม่สามารถทำอันตรายให้กับเราได้ แต่ว่าตราบใดที่เราสร้างยังเหตุ ตราบนั้นเรายังคงประมาทอยู่ เพราะอาจจะทำให้เราเดือดร้อนเมื่อไรก็ได้ --------------------------------------
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-07-2010 เมื่อ 06:00 |
สมาชิก 70 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|