#1
|
||||
|
||||
วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๐
อบรมพระที่เกาะพระฤๅษี ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ วันนี้ใครที่อยู่ที่นี่ ให้ถูกุฏิไม้ข้างหลังหอฉันด้วยนะ พอใช้ผ้าเปียกถูแล้ว ต้องรีบเอาผ้าแห้งถูตาม พวกเราบิดผ้ากันไม่เป็น กลายเป็นว่าถ้าหากน้ำเปียกโชกอยู่อย่างนั้น กระดานจะด่าง ให้เตรียมเอาไว้เผื่อมีใครเข้ามาพัก สำหรับวันนี้ ผมต้องออกไปค้างที่วัดท่าขนุน ตอนแรกว่าจะไม่ไป แต่เขาจะเอาพระปัจเจกพุทธเจ้า ๓ นิ้วมาส่ง คราวนี้เขาจะมาส่งค่ำ ๆ ไม่อยู่ก็ไม่ได้ พระรูปใดคิดจะออกไปเลยบ้างไหม ? ถ้าหากว่าไม่ไปค้างก็ให้ไปกลับ ถ้าไปค้างก็ให้ขอสัตตาหะไปเลย เรื่องของการเป่ายันต์เกราะเพชร ถ้าหากว่าไม่ใช่ความประสงค์ของพระท่าน เราตั้งใจทำเอง หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่ามีผลไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีการเป่ายันต์เกราะเพชรในครั้งนี้ โดยเฉพาะตัวผมเองนี่ไม่เอาเลย เพราะว่าทำแล้วคนสนใจเป็นจำนวนมาก จะทำให้ปัญหาตามมาอีกเยอะ อย่างที่หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์* วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ท่านบอกว่า ถ้าอยากดังก็อย่าไปหวังความสงบ คนมาเขาไม่สนใจหรอกว่าคุณทำอะไรอยู่ เขาสนใจอยู่อย่างเดียวว่า มาแล้วต้องเจอ มาแล้วต้องได้อย่างที่เขาต้องการ หลวงปู่ดู่ วัดสะแก อยุธยา** เป็นครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพมากองค์หนึ่ง เชื่อไหมว่าผมขึ้นไปหาท่าน ท่านนอนฟุบอยู่หน้าประตู..! ผมถามว่า “หลวงปู่เป็นอย่างไรบ้างครับ ? ยังไหวหรือเปล่า ?” ท่านบอกว่า “ก็อย่างที่เห็นนี่แหละ สมัยหนุ่ม ๆ ผมอยากดัง ตอนนี้แก่แล้วมันดัง ก็ให้มันดังซะให้เข็ด..!” วันนั้น..รถทัวร์ไปถึงตีสอง เขาก็ไปทุบกุฏิเรียกหลวงปู่ออกมาตอนนั้น..! อีกองค์ก็หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ นครปฐม*** ผมไปถึงหกโมงเช้า เพราะผมรู้ว่าท่านจะออกมาฉันเช้าช่วงนั้น ผมจะไม่รบกวนเวลาอื่นของท่าน กะว่ากราบทำบุญเสร็จแล้วก็กลับ คุณเชื่อไหมว่า หกโมงเช้า ฟ้ายังไม่ทันจะสว่างดี มีรถจอดอยู่แล้วสองร้อยกว่าคัน..! สองร้อยกว่าคันทั้งรถเก๋ง ทั้งรถกระบะ แล้วท่านเองกำลังลงนะหน้าทอง คนต่อแถวกันยาวเป็นกิโลเลย รถสองร้อยคันคนตั้งเท่าไร ? ลงให้เขาเสร็จแล้วยังต้องไปเจิมรถทุกคัน ผมเอาพานดอกไม้ธูปเทียนกับปัจจัยไปถวาย ท่านพลิกดูก้นพาน แล้วถามว่า “ทองอยู่ไหน ?” กราบเรียนท่านว่า “ผมมาทำบุญครับ ไม่ได้มาใช้หลวงปู่..!” เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่าโดยความประสงค์ของผมเอง ผมไม่ทำงานพวกนี้หรอก แต่พระท่านบอกว่าเดือนสิงหา กันยานี้ สถานการณ์บ้านเมืองไม่ดีนัก ให้ทำเพื่อสงเคราะห์คนเขาหน่อย หมายเหตุ : *พระพุทธพจนวราภรณ์(จันทร์ กุสโล) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เลขที่ ๑๐๓ ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ **หลวงปู่ดู่ พรฺหมฺปญฺโญ วัดสะแก เลขที่ ๒๙ บ้านสะแก หมู่ที่ ๗ ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา *** พระอุดมประชานารถ(เปิ่น ฐิตคุโณ) วัดบางพระ เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 31-01-2012 เมื่อ 03:22 |
สมาชิก 94 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
แล้วลองคิดดูว่าช่วงสิงหา กันยา เป็นช่วงที่ฝนตกหนัก การเดินทางไปกลับก็ลำบาก ผมเองไม่ได้ห่วงโยมที่มาถึงวัดแล้วจะลำบาก แต่ห่วงตอนเดินทาง เขามางานของเราแล้วเกิดเป็นอะไรไป พูดง่าย ๆ คืออย่างไรเราก็ต้องรับผิดชอบ
แล้วการรับผิดชอบความปลอดภัยของคนหมู่มากนี่ ต้องถามคนที่ท่านรู้ ว่าเหนื่อยแค่ไหน ดังนั้น..ในการบวงสรวงการไหว้ครูทุกครั้ง สิ่งหนึ่งที่ผมต้องขอเป็นประจำเลยก็คือว่า ให้คนที่เขาเดินทางมาร่วมงานของเรา ไปกลับโดยสะดวกแล้วก็ปลอดภัย ท่านบอกตอนวันที่ ๑ กรกฎาคมว่าให้เป่ายันต์เกราะเพชร หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ก็มีข่าวมาว่า เขาจะลงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๑๘ เราทำงาน ๑๙ เขารับร่างรัฐธรรมนูญ เราคงพอจะมองเห็นภาพบ้างว่าท่านต้องการอะไร ดังนั้น..จึงเป็นงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากว่าใครทำในระดับนี้ได้ อยากจะให้สังเกตดูว่า แต่ละงานพอเลิกงานแล้ว ผมในฐานะหนังหน้าไฟ ต้องทำในสิ่งที่ท่านสั่ง คือหลวงปู่หลวงพ่อท่านสั่ง จะมีสภาพเป็นอย่างไร ? แต่ส่วนใหญ่พวกเราดูด้วยสายตาจะดูไม่ออก ตอนที่ผมแผ่หลา ผมก็ไปหลบอยู่ในห้อง พวกเราก็ไม่ได้เห็นกัน เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังมหาศาล เพราะว่าไม่ใช่แต่ญาติโยมที่เขามาร่วมงานเท่านั้น คนทั้งประเทศ ทั้งโลก ไม่ว่าอยู่มุมไหนก็ตาม หรือแม้กระทั่งจักรวาลอื่น โลกอื่น ๆ ถ้าเขามีความเคารพในพระรัตนตรัย ตั้งใจรับยันต์เกราะเพชร เราต้องสงเคราะห์เขาด้วย คุณลองนึกถึงว่า แบกคนคนหนึ่งก็แย่แล้ว แบกคนทั้งศาลาก็ยิ่งสาหัสเข้าไปอีก แต่นี่ต้องแบกทั้งประเทศ อยู่ตรงไหนก็ต้องทำให้เขา ต้องแบกไปทั้งโลกเพราะต่างประเทศเขาก็จะเอา ฉะนั้น..งานพวกนี้เป็นงานที่คนไปเห็นตอนประสบความสำเร็จ มีหลายท่านเห็นแล้วชอบใจ บอกว่าได้เงินเยอะดี..! ผมอยากให้เขามานั่งอย่างผมดูบ้าง โดยเฉพาะตอนรับสังฆทานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๗ โมงเช้ายัน ๓ ทุ่ม ลองดูซิ..วันละ ๑๔ ชั่วโมง จะนั่งไหวไหม ? เขาเห็นแต่ตอนผลงานสำเร็จลงมาแล้ว แต่ไม่ได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยในขณะที่กำลังทำผลงานนั้น เรื่องพวกนี้ขอให้เราทุกคนพึงสังวรระวังให้ดี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถ้าเข้ามาเมื่อไร เจตนาในการกระทำความดีของคนจำนวนมากเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แม้กระทั่งในวัดใหญ่มีชื่อเสียง แรก ๆ ทุกคนก็ไปโดยเจตนาดี แต่พอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้ามา เจตนาก็แปรไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-01-2012 เมื่อ 02:37 |
สมาชิก 82 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
บางท่านเป็นถึงขนาดอาจารย์ใหญ่สอนกรรมฐานด้วย แต่เป็นเพราะว่าไม่สามารถจะทนต่อโลกธรรมที่เข้ามาได้ เมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ มีความสุข ก็ฟุ้งซ่านไหลตามกิเลสไป จุดมุ่งหมายเดิม ๆ ที่ตั้งใจว่าเข้าวัดมาเพื่อทำอะไรก็ลืมไปหมด
เราจึงจำเป็นที่จะต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ มองตัวเองอยู่เสมอว่า เราบวชเข้ามาทำอะไร เจอความลำบากนิดหน่อยก็ถอดใจไม่สู้แล้ว แล้วจะเสียเวลาบวชเข้ามาทำไม ? ดูว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ตรงไหน ? ขณะนี้ใกล้ไกลจากเป้าหมายเท่าไร ? ดูว่าปัจจุบันนี้เรายืนอยู่ตรงจุดไหน ? เส้นทางที่เราจะมุ่งไป ยังตรงต่อจุดหมายอยู่หรือเปล่า ? ถ้าเราไม่เตือนตัวเอง ไม่ดูที่ตัวเอง มัวแต่จะรอให้คนอื่นบอก ก็จะไม่ได้อะไร เพราะว่าตราบใดที่เรายังพึ่งคนอื่นอยู่ ตราบนั้นเราเอาตัวรอดไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ* ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน โกหิ นาโถ ปะโรสิยา ใครอื่นจะเป็นที่พึ่งของเราได้ อัตตาหิ สุทันเตนะ ตนที่ได้รับการฝึกไว้ดีแล้วนั่นแหละ นาถัง ละภะติ ทุลละภัง จะเป็นที่พึ่งที่หาได้โดยยาก เพราะไม่ต้องอาศัยใคร สามารถที่จะยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง พระองค์ตรัสว่า อัตตะนา โจทะยัตตานัง** ให้กล่าวโทษโจทก์ตัวเองอยู่เสมอ ๆ หาความบกพร่องของตัวเองให้ได้ แล้วพยายามทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เรื่องพวกนี้บางท่านก็คิดว่า ผมก้าวมาอยู่จุดนี้แล้วนี่ ผมก็พูดได้ แต่ในช่วงที่ผมปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตายมีใครเห็นบ้าง ? แม้กระทั่งท่านแสง*** นอนอยู่ห้องเดียวกับผมแท้ ๆ ผมทำแบบเอาเป็นเอาตาย ท่านก็ว่าผมบ้า แล้ววันหนึ่งหลังจากบวชแล้ว ท่านก็บอกว่า “รู้อย่างนี้ผมทำอย่างหลวงพี่ซะตั้งแต่แรก ตอนนี้ผมก็สบายแล้ว..” หมายเหตุ : *พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ หน้าที่ ๒๐๘ **ขุ. ธ. ๒๕/๖๖ ***พระครูสังฆรักษ์แสงชัย กนฺตสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 31-01-2012 เมื่อ 03:24 |
สมาชิก 74 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
เหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า เรื่องของการทำความดี ก็เหมือนกับเราค่อย ๆ สะสมน้ำทีละหยด ทีละหยด นานไปก็ได้เต็มแก้ว เต็มขัน เต็มโอ่ง ก็จะมีอะไรอะไรให้คนอื่นได้เห็น แต่ในระหว่างที่เราสะสมอยู่ น้ำมาทีละเล็กทีละน้อย ยิ่งรอคอยก็เหมือนยิ่งช้า ทำให้เราดูเหมือนกับไม่ได้อะไร
ขอให้ทุกคนมองย้อนหลังไปว่า ก่อนที่เราจะเข้ามาปฏิบัตินั้นมีสภาพอย่างไร ? มีทาน มีศีล มีภาวนา สมบูรณ์ไหม ? แล้วปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ? ถ้ามองในลักษณะนี้ เราก็จะรู้ว่า ตอนนี้เราสะสมบุญกุศลของเราได้เท่าไรแล้ว ? แต่ถ้ามองออกไปข้างนอก ดูคนที่เขามีความสำเร็จให้เห็นแล้ว ผมเคยพูดหลายครั้งว่า เหมือนกับไปชมสมบัติมหาเศรษฐี ดูให้ตายก็ยังเป็นสมบัติของเขาอยู่นั่นแหละ ต้องรีบเร่งสร้างสมบัติของตัวเองให้ได้ ทำความดีต้องทำแบบเอาชีวิตเข้าแลก ถ้าหากว่าพวกท่านโดนอย่างผม ท่านอาจจะเลิกทำไปนานแล้ว ผมปฏิบัติภาวนาตั้งแต่เป็นนักเรียน เริ่มเรียนชั้นมัธยมก็ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ เพื่อน ๆ ตลอดจนกระทั่งครูทุกคนก็ว่าบ้า กลับมาบ้านพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ว่าบ้า เมื่อไปเรียนทหาร เพื่อนทุกคนเห็นก็ว่าบ้า ถ้าเป็นพวกคุณจะทนคำพูดของเขาได้ไหม ? จะสามารถทำหูทวนลมและมั่นใจในสิ่งที่เราทำได้ไหม ? ในเมื่อเรามั่นใจว่าสิ่งนี้ถูกแล้ว ทำไปต้องได้ผลดีแน่นอน แล้วเราจะไปหวั่นไหวกับคำพูดของคนอื่นทำไม ? ถ้าหากว่าเราหวั่นไหวคล้อยตาม แล้วก็จะเลิกทำความดีไปอย่างน่าเสียดาย คนเราตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส หรือยังไม่สามารถที่จะทำกิเลสให้เบาบางลงได้ ตราบนั้น กาย วาจา ใจ ก็ยังเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่นเขาอยู่ ไม่มากก็น้อย เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องรีบทำ กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีกว่านี้ อย่าถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ให้ถือพระธรรมวินัยและศีลธรรมเป็นใหญ่ สิ่งใดก็ตามที่ผิดธรรม ผิดวินัย ผิดศีล เราไม่เอาด้วย ถ้าหากว่าเรารักษาศีลด้วยชีวิต เราก็จะมีเกราะป้องกันตัวเอง อย่างไรเสียการปฏิบัติของเราก็ไม่พ้นออกไปจากแนวทางแน่นอน เพราะเรามีศีลเป็นกรอบอยู่ แต่ถ้าหากว่าเราทิ้งศีล ทิ้งการภาวนา กำลังที่จะสู้กิเลสก็ไม่มี กรอบที่จะป้องกันไม่ให้เราหลุดไปในทางที่ชั่วก็ไม่มี เราจะเอาตัวรอดไม่ได้ เวลาก็พอสมควรแล้ว ถ้าหากว่าท่านใดจะออกไปค้างที่วัดท่าขนุน ก็ให้บอกสัตตาหะตาม ๆ กันไป --------------------------------------
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 28-01-2012 เมื่อ 14:54 |
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|