#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕
ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่ถนัดและสบายของตัวเอง ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าหากว่าเผลอไปคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงความรู้สึกของเรากลับมาที่ลมหายใจใหม่ทันที จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เราถนัดแต่เดิมมา
การปฏิบัติภาวนานั้นอย่าเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย ยกเว้นว่ากองกรรมฐานเดิมได้ผลเต็มที่แล้วจึงค่อยเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นความเคยชินจะทำให้สภาพจิตวิ่งไปหากองกรรมฐานเดิมอยู่เสมอ เมื่อเราเปลี่ยนก็จะเกิดความฟุ้งซ่าน แย่งกันไปแย่งกันมาระหว่างของเก่ากับของใหม่ ทำให้ก้าวหน้าได้ยาก วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของต้นเดือนมีนาคมนี้ วันนี้มีเด็กนักเรียนประมาณ ๒๐๐ คนจากโรงเรียนวัดใหม่ยายนุ้ยมาฟังคำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับตน ที่น่าชื่นใจก็คือ เด็กทุกคนนั่งสมาธิเป็นทั้งนั้น เรื่องนี้ทำให้เราที่เป็นผู้ใหญ่ต้องพิจารณาตัวเองว่า เราสู้เด็กได้หรือไม่ ? เราเป็นผู้ใหญ่มากด้วยวัยวุฒิ คืออายุ มากด้วยคุณวุฒิ คือความรู้ความสามารถ แต่ถ้าหากว่าในเรื่องของการปฏิบัติ เราสู้เด็กไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าอายอย่างยิ่ง เราจะไปบอกว่าเด็ก ๆ เขามีโอกาส เขาอยู่โรงเรียนวัด เขาได้เริ่มต้นในสิ่งที่ดีก่อน เรื่องนี้ขอบอกว่าไม่จริง เพราะว่าทุกคนจะต้องมีปุพเพกตปุญญตา คือผลบุญที่เราเคยสร้างสมไว้แต่ปางก่อนมา เราถึงจะมีความยินดี อยากจะปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีปุพเพกตปุญญตานี้แล้ว เราก็จะไม่คิดที่จะปฏิบัติธรรม ในเมื่อเราทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่ มีอายุมากกว่า มีชั่วโมงบินมากกว่าในการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าหากว่าความดีที่เราได้ยังสู้เด็กไม่ได้ เราก็ต้องมาพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด การที่เราปฏิบัติแล้วจิตสงบสู้เด็กไม่ได้ ก็เพราะว่าจิตของผู้ใหญ่นั้น ถูกย้อมไปด้วย ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ พอกพูนมากขึ้นตามอายุของเรา ยิ่งเรารับรู้เรื่องทั้งหลายมากขึ้นเท่าไร ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็พอกพูนมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นเราจึงเสียท่าเด็ก ๆ ที่สภาพจิตยังไม่ได้โดน ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ พอกพูนมากเหมือนกับของเรา สามารถที่จะปฏิบัติแล้วเข้าถึงความผ่องใสของใจได้มากกว่า เมื่อเป็นดังนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องมา ลด ละ เลิก รากเหง้าของอกุศลกรรมเหล่านี้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-03-2012 เมื่อ 17:17 |
สมาชิก 106 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
การที่เราจะลดราคะ ตามคำแนะนำของอรรถกถาจารย์ว่า ให้ใช้กายคตาสติ มรณานุสติ และอสุภกรรมฐาน
กายคตาสติจะทำให้เราเห็นจริงในสภาพร่างกายนี้ ว่าไม่มีอะไรที่สวยงามอย่างแท้จริง สิ่งที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น เป็นเพียงผิวหนังหลอกตาอยู่ชั้นเดียว เมื่อเปิดหนังเข้าไปข้างในก็เต็มไปด้วยเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ตลอดจนอวัยวะภายในใหญ่น้อยที่น่าเกลียดทั้งปวง มรณานุสติ เพื่อให้เราไม่หลงลืมว่าตัวเราจะต้องตายอย่างแน่นอน การที่เราหลงมัวเมาในร่างกายของตนเอง และร่างกายของคนอื่นนั้น เมื่อตายแล้ว เราก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์อีกนับชาติไม่ได้ ส่วนอสุภกรรมฐาน จะได้เห็นว่าร่างกายของเรานั้น มีแต่ความเน่าเปื่อย สกปรกโสโครกเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าร่างกายของเราหาความดีไม่ได้เช่นนั้น ร่างกายของคนอื่นหรือสัตว์อื่นก็หาความดีไม่ได้เช่นกัน ถ้าหากว่าใครปฏิบัติในกองกรรมฐานเหล่านี้ ก็จะสามารถค่อย ๆ ลด ละ และเลิก ในส่วนของราคะไปได้ในที่สุด ในส่วนของโลภะนั้นท่านให้แก้ด้วยจาคานุสติ และทานบารมี จาคานุสติคือระลึกอยู่เสมอว่า บุคคลใดเดือดร้อนต้องการสิ่งใด ถ้าไม่เกินวิสัย เรายินดีที่จะให้การสงเคราะห์เขา เมื่อคิดจะทำก็มีความปลื้มใจว่า โอหนอ..เราจะมีโอกาสได้ทำความดีในการให้ทาน ระหว่างที่ทำก็มีความปลื้มใจว่า โอหนอ..เรามีโอกาสได้ทำความดีด้วยการให้ทาน เมื่อทำไปแล้ว ก็เกิดความปลื้มใจว่า โอหนอ...เราได้ทำความดีด้วยการให้ทานแล้ว ในส่วนของทานบารมีนี้ จะทำให้เราเป็นบุคคลที่มีโภคทรัพย์มากในอนาคตต่อ ๆ ไป แต่ถ้าหากว่าเราไม่นิยมการเกิดแล้วไซร้ จะเป็นตัวตัดความโลภที่ดีที่สุด เพราะจิตใจมีการสละออกเป็นปกติ ก็ไม่คิดที่จะกอบโกยมาเป็นของตนเอง จึงเป็นกรรมฐานคู่ศึกที่แก้กันกับตัวโลภะที่ได้ผลที่สุด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 13-03-2012 เมื่อ 07:18 |
สมาชิก 94 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ส่วนตัวโทสะนั้น ท่านว่าให้เจริญพรหมวิหาร ๔ หรือวรรณกสิณ ๔ คือกสิณสีกองใดกองหนึ่ง ในสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว ตามแต่จะหาวัตถุที่เป็นองค์กสิณได้
การที่เราเจริญเมตตาพรหมวิหาร จิตใจจะประกอบด้วยความเยือกเย็น ทำให้ศีลทรงตัวเป็นปกติ ต่อให้มีโทสะกำเริบ ก็จะอยู่ในกรอบของศีล ไม่ละเมิดศีลโดยการไปฆ่าใครหรือไปทำร้ายใคร ไม่โกรธแค้นแล้วไปลักขโมยเขา เพื่อให้เกิดความพินาศล่มจมแก่เขา ไม่โกรธแล้วไปฉกชิงเอาสิ่งที่เขารัก ของที่เขารักมา เพื่อที่จะเหยียบย่ำน้ำใจของบุคคลอื่น ไม่โกรธแล้วไปหลอกลวงเพื่อให้เขาเกิดความชอกช้ำเสียใจ หรือว่าต้องสูญเสียทรัพย์สินจนถึงขั้นล้มละลายไป ไม่โกรธจึงพยายามดูแลตน รักษาตน และคนรอบข้างของตน ไม่ไปดื่มสุราเมรัยที่จะทำให้ครอบครัวของตนเองต้องลำบากเดือดร้อน ในเมื่อเรามีเมตตาบารมีเป็นปกติ เราก็รักษาศีลได้เป็นปกติ เมื่อรักษาศีลได้เป็นปกติ ย่อมที่จะสามารถ ลด ละ เลิกในโทสะ อันเป็นอกุศลมูลใหญ่ได้ ลำดับสุดท้ายก็คือโมหะ ความหลงผิด เห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ความจริงถ้าหากว่าเราใช้ปัญญาเพิ่มเติมในกองกรรมฐานต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา ก็จะเห็นอยู่แล้วว่า สรรพสิ่งทั้งหลายโดยเฉพาะร่างกายนี้ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด ร่างกายนี้ไม่ใช่แท่งทึบ ประกอบไปด้วยอวัยวะภายในภายนอกเป็นเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ มีหนังห่อหุ้มอยู่ มีเนื้อหุ้มห่ออยู่ ประกอบไปด้วยเส้นเอ็น ไขมัน เลือด น้ำเหลือง คอยหล่อเลี้ยงไว้ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่ออยู่ในกายของเราก็ยังไม่เป็นไร พอหลั่งไหลข้างนอกก็เกิดความรังเกียจอย่างยิ่ง ในเมื่อเรายังรังเกียจร่างกายนี้ เราก็ไม่ควรจะไปยึดถือมั่นหมายในร่างกายของตนเองและของผู้อื่นด้วย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-03-2012 เมื่อ 03:18 |
สมาชิก 75 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ถ้าหากว่าเราใช้กองกรรมฐานที่เป็นกรรมฐานคู่ศึกต่อ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ แค่เพิ่มปัญญาไปตอนท้ายเท่านั้นเราก็จะเห็นว่า สภาพร่างกายนี้หาความดีไม่ได้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายเป็นเราเขาได้เลย
เมื่อเห็นชัดเจนดังนี้ เราก็จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หมดความอยากที่จะเกิดมามีร่างกายนี้ หมดความอยากที่จะเกิดมาในโลกนี้ เราก็ยกจิตเกาะพระนิพพานไว้เป็นปกติ หรือเกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นปกติ กำหนดใจคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ใดนอกจากพระนิพพาน เรากำหนดนึกถึงพระองค์ท่านก็คือเราอยู่กับพระองค์ท่าน เราอยู่กับพระองค์ท่านก็คือเราอยู่บนพระนิพพาน เมื่อใจสุดท้ายเกาะพระนิพพานแล้ว ก็ให้ทุกคนพิจารณาดูลมหายใจของตน ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ก็กำหนดรู้ลมหายใจควบกับภาพพระ หรือภาพพระนิพพานของเรา ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ก็ใช้คำภาวนาควบไป ถ้าไม่มีลมหายใจไม่มีคำภาวนา ก็เอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระหรือพระนิพพานของเรา จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันศุกร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-03-2012 เมื่อ 09:32 |
สมาชิก 70 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
สามารถรับชมได้ที่
http://www.sapanboon.com/vdo/demo.ph...ame=2555-03-02 ป.ล. - สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้ - ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด ! แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-04-2012 เมื่อ 02:58 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|