#201
|
|||
|
|||
ยอดคน เหนือคน เหนือตน ยอดคนนั้นต้องสามารถจะกำหนดจิตบังคับให้สงบ เกิดสติปัญญาได้ในท่ามกลางความวุ่นวาย เมื่ออยู่ในความมืดต้องเค้นหาความสว่างออกมาให้ได้ ไม่ให้จิตตกอยู่กับความมืด บนเส้นทางที่เรียบง่ายใครเดินก็ได้ อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น เดินขึ้นเขาวงพระจันทร์มันไม่เรียบง่ายคนจึงไม่ค่อยเดินกัน บนเส้นทางชีวิตนั้นมันไม่เรียบง่ายอย่างที่คิด แต่เต็มไปด้วยสภาพปัญหาอุปสรรคตลอดการดำรงชีวิต หากเข้าใจนำอุปสรรคให้มาเป็นอุปกรณ์ในการต่อสู้ ย่อมจะนำความสำเร็จมาสู่ชีวิต ชีวิตก็จะไม่สับสนวุ่นวาย ต้องเข้มแข็งต่อสู้ตลอด อยู่ที่ใครมีสติปัญญามากกว่ากัน คนอ่อนแอก็ต้องเป็นผู้แพ้ คนอดทนย่อมเป็นผู้ชนะ ใครจะสร้างความสงบท่ามกลางความสับสนได้มากกว่ากัน เป็นคำตัดสินขั้นสุดท้ายของชีวิต สงบท่ามกลางความวุ่นวายย่อมมองเห็นปัญญา เห็นปัญหาในความยุ่งยากย่อมมองเห็นธรรม เห็นธรรมคือความสงบ เห็นความสงบคือเห็นแก่นธรรม เห็นแก่นธรรมคือเห็นชีวิต เห็นชีวิตคือเห็นธรรมชาติ เห็นความสงบหนึ่งเดียวคือเห็นพระนิพพาน เห็นพระนิพพานคือเห็นกิเลสที่ไม่มากำเริบในดวงจิต ค้นพบอิสรภาพ คือ สันติสุขอันเป็นอมตะของชีวิต อย่างนี้จึงเรียกว่า ยอดคน คนเหนือคน คนเหนือตนอย่างแท้จริง ดีมิใช่ให้ใครมาชมเชย จิตมันดีเอง ชั่วมิใช่ใครต้องตำหนิ จิตมันชั่วเอง คำชมคำตำหนิล้วนเป็นมายา ใครดื่มกินจะหลงใหลเมาหมกกับอารมณ์ จะเสียความเป็นคนยอดคน คนเหนือคน เหนือตน จงมีสติแล้วจะรู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน มาทำไม จะไปไหน ไปอย่างไร ไปเมื่อไหร่ ไปดี ไปไม่ดี ไปอยู่ในภูมิใด “ทำดีไปมนุษย์ภูมิ เทวภูมิ พรหมภูมิ พุทธภูมิ ทำชั่วไปภูมิเดรัจฉาน ภูมิเปรต ภูมิอสุรกาย ภูมิสัตว์นรก นี่คือกฎเหล็กของกรรม” หลักการไปดี อย่าให้จิตพลัดพรากจากสัมมาสติไปสู่มิจฉาสติ ให้สัมมาสติเจริญในจิตอยู่ตลอดเวลา ให้สงบอยู่ในเบื้องต้น ท่ามกลางและในที่สุด อยู่คงที่ในสัมมาสติ เท่านี้ก็ผ่านพ้นวิกฤตอันเลวร้ายในชีวิต รู้ที่ไป ไปสุข ไปทุกข์ ทำตนเป็นยอดคน ไม่ต้องนั่งอ้อนวอนใคร ไม่ต้องขอให้ใครช่วย ไม่ต้องให้โหราจารย์ผู้เขียนโหราศาสตร์มานั่งทำนายทายทัก ไม่ต้องสะเดาะเคราะห์ เพียงเจริญกรรมฐานอบรมจิต สร้างสัมมาสมาธิให้สถิตอยู่กับจิต จิตมันจะทำลายมิจฉาทิฐิ ให้ออกจากจิตด้วยอำนาจขององค์กรรมฐาน เท่านี้ก็เพียงพอ “จงคิดเอา เราจะเป็นคนยอดคน หรือจะเป็นคนเดนคน” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 16-01-2011 เมื่อ 02:33 |
สมาชิก 85 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#202
|
|||
|
|||
ร่วมเดินทาง คำว่าร่วมเดินทางนั้นหมายถึง การร่วมเดินทางตามกระแสกรรมของพระพุทธองค์ ที่ทรงสั่งสอนเพื่อชวนเวไนยสัตว์ให้ผ่านพ้นทุกข์ *พ้นจากการร้อยรัดเกาะกินจากกิเลส ที่ฉุดกระชากเหล่าสัตว์โลกที่หลงโลกีย์ จนถอนตัวไม่พ้นจากพันธนาการ* พระพุทธองค์ทรงชี้ทางปัญญา ให้ส่องสว่างรู้เห็นกฎเกณฑ์ เห็นหนทางแห่งความสงบสุข ตราบใดที่เรามีพระพุทธะอยู่ในจิต ตราบนั้นเรามีพระพุทธองค์อยู่ข้าง ๆ กายเรา แม้จะนั่งอยู่กับพระองค์ท่าน แต่ในจิตไร้พุทธะ ก็ห่างจากพระองค์ท่าน แม้จะอยู่ไกลจากพระองค์ท่าน หากในจิตมีพุทธะ ก็อยู่ใกล้พระองค์ท่าน ในจิตละจากพุทธะ ไร้ธรรม ไร้พระองค์ท่าน พระองค์ท่านจะอยู่ใกล้เรา จิตเราต้องอยู่กับสัมมาทิฏฐิ จิตคิดในกุศลก็ใกล้ชิดพระองค์ หากในจิตมีอกุศล ก็ไกลพระองค์ท่าน กลับไปอยู่ใกล้นรก เพราะจิตมีมิจฉาทิฏฐิ จิตคิดในสัมมาทิฏฐิ พูดในสัมมาทิฏฐิ ทำในสัมมาทิฏฐิ สติอยู่ในสัมมาทิฏฐิ สัมปชัญญะ อยู่ในสัมมาทิฏฐิเรียกว่ามีสัมมาสมาธิ มีจิตเป็นกุศลเป็นที่ตั้งเพียงอารมณ์เดียวเรียกว่า ได้เดินร่วมทางกับพระพุทธองค์ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-01-2011 เมื่อ 12:10 |
สมาชิก 71 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#203
|
|||
|
|||
จิตสงบอยู่กับอารมณ์นั้นทุกเวลา ไม่หวั่นไหว มีความหนักแน่น มีความมั่นคง มีการสถิต มีการรักษา มีการเฝ้าดูแล มีความระมัดระวัง มีการเฝ้าตาม หมั่นเตือนจิตของตนเอง เฝ้าอบรม สั่งสอน บอกกล่าว อยู่เป็นเนืองนิตย์ ทำซ้ำ ๆ จนเชื่อง จิตจะสิ้นสงสัย จะอยู่กับพระพุทธะ พระพุทธองค์จะอยู่คู่จิตเรา ความสันติสุขจะบังเกิดในตัวเรา ไม่ไปอยู่กับผู้อื่น ไม่ไปอยู่กับใคร ๆ ทั้งสิ้น พุทธะจะอยู่เฉพาะในที่สะอาดเท่านั้น อยู่กับสัตบุรุษคือ อยู่กับคนดีมีปัญญา
สัตบุรุษเป็นผู้ยึดถือธรรมอยู่ ๗ ประการ ๑. เป็นผู้รู้เหตุ ๒. เป็นผู้รู้ผล ๓. เป็นผู้รู้จักตน ๔. เป็นผู้รู้จักบุคคล ๕. เป็นผู้รู้กาลเทศะ ๖. เป็นผู้รู้จักชุมชน ๗. เป็นผู้รู้จักประมาณ ถ้าหากสัตบุรุษนั้นมีธรรมแห่งความสำเร็จได้แก่ อิทธิบาท ๔ ย่อมส่งผลแห่งการบรรลุถึงความเป็นพุทธะ เมื่อมีฉันทะหนึ่ง วิริยะหนึ่ง มีจิตตะหนึ่ง มีวิมังสาหนึ่ง จิตย่อมตระหนักในเหตุผล ดับอวิชชา (โมหะ) ความไม่รู้ให้หมดสิ้นไป โลภะ โทสะ ก็จะดับสูญ จิตเป็นอิสระ มีเสรีภาพ อยู่บนเงื่อนไขของความสงบ เป็นยอดคน เหนือคน เหนือตนไม่เป็นเดนคน (ให้ดูข้อเขียนยอดคน เหนือคน เหนือตน) นำหลักมาพิจารณาปฏิบัติคอยเตือนตน แล้วจะบังเกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิต เราจะเข้าใจว่า น่าเสียดาย เราโง่เสียนาน หลับอยู่แสนนาน บัดนี้เราตื่นแล้ว เรายังโชคดีที่ยังไม่สาย เราพ้นกรรมได้แล้วเพราะเราตื่นขึ้นมาอยู่กับพระพุทธองค์ อยู่ในกระแสธรรมที่พระองค์ทรงสอน ทรงบอก ทรงชี้แนะ ทรงจำแนก ทรงชี้นำ ทรงชี้ทาง ทรงกระทำให้ดู ทรงเสียสละ ทรงชี้คุณทรงชี้โทษ *ทรงเมตตาชี้แสงสว่างแห่งปัญญา* ทรงแก้ปริศนาให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ พบสุขนิรันดร์ นับเป็นคุณแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์เป็นผู้เปิดโลกนี้ให้สว่างไสว ส่องแสงสว่างเข้าในจิต กระแสธรรมคือกระแสจิต กระแสจิตคือกระแสความคิด (อารมณ์) กระแสความคิดคือกระแสชีวิต กระแสชีวิตคือกระแสกรรม กระแสกรรมคือกระแสวิบาก วิบากคือกระแสผลของการกระทำกรรมดี กรรมชั่ว ล้วนเรียกกรรมทั้งสิ้น *เป็นวงจรของวัฏฏะการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกไปสู่ภพตามกฎของดีชั่ว* มีชาติการเกิดรองรับเสวยผลภายหน้า ชาติหน้าต้องการไปดีต้องทำแต่ชาตินี้ ต้องลงมือกระทำทันที กระทำเดี๋ยวนี้ วินาทีนี้ กระทำด้วยตนเอง พึ่งใครไม่ได้ ผู้อื่นเพียงชี้ทาง หากเราไม่เดินตามก็คงไม่ถึงที่ตั้งเจตนาไว้ อย่ามัวรอเวลา อย่ามัวรอผู้ใด อย่ามัวคอยใคร อย่ามัวลังเล อย่ามัวสงสัยไม่แน่ใจ ลงมือกระทำเลย กระทำทันทีที่คิดได้ อย่ารอช้า อย่ามัวร่ำไร อย่ามัวเงื้อง่าราคาแพง เวลามันสั้น เหลือไม่มาก วันนี้ได้ทำ พรุ่งนี้ไม่แน่ คิดได้ให้ลงมือทำเรียกว่า เวลาที่มารให้โอกาส รีบฉกฉวย รีบรับโอกาส อยู่ที่จิตเพียงตัวเดียว จิตเป็นนาย กายเป็นข้า จิตเอากายเอา จิตไม่เอากายไม่เอา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-01-2011 เมื่อ 16:19 |
สมาชิก 74 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#204
|
|||
|
|||
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดเพราะเหตุ เมื่อมันจะดับก็เพราะเหตุมันดับไปก่อน”
อะไรจะเกิดก็เกิดเพราะเหตุทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและในที่สุด บังเกิดผลจะดับเพราะดับที่ต้นเหตุ ทั้งเหตุเบื้องต้น ท่ามกลางและในที่สุด จะเห็นว่าสังขาร การปรุงแต่งทางอารมณ์เกิดเพราะอวิชชา สังขารจะดับก็ต้องดับอวิชชา วิญญาณเกิดเพราะมีสังขารเกิดจะต้องดับที่สังขาร นามรูปเกิดเพราะมีวิญญาณ นามรูปจะดับต้องดับที่วิญญาณ อายตนะเกิดเพราะมีนามรูปเกิดจะต้องดับที่นามรูป ผัสสะเกิดเพราะมีอายตนะเกิดจะดับต้องดับที่อายตนะ เวทนาเกิดเพราะมีผัสสะเกิดจะต้องดับที่ผัสสะ ตัณหาเกิดเพราะมีเวทนาเกิดจะต้องดับที่เวทนา อุปาทานเกิดเพราะมีตัณหาเกิดจะต้องดับที่ตัณหา ภพเกิดเพราะมีอุปาทานเกิดจะต้องดับที่อุปาทาน ชาติเกิดเพราะมีภพเกิดจะต้องดับที่ภพ และชราโรคามรณาเศร้าโศกเสียใจเกิดเพราะมีชาติเกิดจะต้องดับที่ชาติ อย่างนี้เรียกว่าแก้ที่ต้นเหตุ อวิชชาดับเสียตัวเดียวทั้งกระบวนการก็จะดับหมดสิ้น เรียกว่าสิ้นอาสวะกิเลส จิตจะสงบอยู่ได้ทุกสถานการณ์ จะท่ามกลางความเงียบ ท่ามกลางความวุ่นวาย ท่ามกลางความติฉินนินทา จิตจะสงบเป็นเช่นนั้น ไม่หนีไปไหน เหตุเกิดปัจจัยทั้ง ๑๒ ขั้น ให้ดับตามขั้นตอนตรงนั้น จิตจะไม่ห่างพระพุทธะอย่างแน่แท้ ดังนี้ ๑. อวิชชา ความไม่รู้ในเหตุผลในอริยสัจ ๔ ๒. สังขาร การปรุงแต่งทางอารมณ์ ๓. วิญญาณ ความรู้สึกทั้งมวล ร้อน หนาว ฯลฯ ๔. นามรูป สิ่งที่ปรากฏ ๕. อายตนะ เครื่องสัมผัสรับรู้ ๖. ผัสสะ เครื่องกระทบรับรู้ ๗. เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ ๘. ตัณหา ความทะยานอยากในกามคุณ ๕ ๙. อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ๑๐. ภพ สถานที่ไปปฏิสนธิวิญญาณ ๑๑. ชาติ การเกิด ๑๒. ชราโรคามรณา การเปลี่ยนแปลงคือ ทุกข์ กระบวนการทั้ง ๑๒ ขั้นตอนจะเกี่ยวพันเป็นวงจรลูกโซ่ *สิ่งหนึ่งเกิดอีกสิ่งหนึ่งก็เกิดตามเป็นปัจจัยต่อกัน สิ่งหนึ่งดับอีกสิ่งหนึ่งย่อมดับตามเป็นอยู่อย่างนี้* เป็นเช่นนี้ มีอยู่อย่างนี้ เดินไปอย่างนี้ไม่สิ้นสุด ทุกข์ก็เกิดเพราะเหตุนี้ สุขก็เกิดเพราะเหตุนี้ ทุกข์ดับเพราะสุขเกิด ทุกข์เกิดเพราะสุขดับ เพราะเหตุนี้จึงต้องเรียนรู้กระบวนการของจิตเพื่อแก้ปัญหาชีวิต แสวงหา ค้นหาหนทางที่ต้องการอย่างตรงไปตรงมา จะพ้นทุกข์ จะเกิดทุกข์อยู่ที่กฎอย่างนี้ ตามคำสอนของพระพุทธองค์ทรงสอนอย่างนี้เรียกว่า “ปฏิจสมุปบาท” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-01-2011 เมื่อ 01:06 |
สมาชิก 71 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#205
|
|||
|
|||
ในจิตของคนเรามีจริตอยู่ ๖ ประการที่เป็นอนุสัยให้เกิดกรรมดี กรรมชั่วในตัวเรา
๑. โลภจริต ๒. โทสจริต ๓. โมหะจริต ๔. พุทธจริต ๕. ศรัทธาจริต ๖. วิตกจริต หากในข้อ ๑-๓ และข้อ ๖ เข้าครอบงำจิต ผู้นั้นจะเกิดความรุ่มร้อนเป็นบ่อเกิดแห่งความเดือดร้อน ทำให้ชีวิตยุ่งยาก ดิ้นรน ต่อสู้ทุกข์ทรมาน ไม่สงบ ไม่เพียงพอ ไม่สมหวัง ไม่หยุดหย่อน จิตกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาพัก จะว้าวุ่น วุ่นวาย คุ้มดีคุ้มร้าย อยู่ไม่สุข ถูกใจก็ดี ไม่ถูกใจก็ร้าย เมื่อไหร่ถูกจริตทั้งสี่เข้าครอบงำก็ต้องบอกว่า มืดหนอ ทุกข์ของสัตว์โลกหนอ น่าเศร้าหนอ นอน นั่ง ยืน โอดครวญ ร้องโหยหวน ตะโกนอยู่ในจิต จิตนี้จิตเราแท้ ๆ ต้องเจ็บปวดแทบตาย หาทางแก้ไขไม่ได้ ต้องทน ๆ อยู่อย่างนั้นไม่สิ้นสุดเพราะจริตทั้งสี่ครอบอยู่ มันหนัก ยกไม่ขึ้น เอาไม่ออก ถอนไม่ได้ อำนาจกิเลสทำให้จิตใจมันอ่อนแอ อยู่ก็ต้องทน ตายก็ไม่ตายแล้วจะเกิดมาทำไม ไม่อยากเกิดก็ต้องเกิด *ฟ้าต้องมีกฎของฟ้า ดินก็ต้องมีกฎของดิน น้ำก็มีกฎของน้ำ ไฟก็มีกฎของไฟ* กรรมมีกฎของกรรมเป็นอยู่อย่างนี้ เราโง่หรือกรรมฉลาด ! สำหรับข้อ ๔ -๕ หากมาเจริญในจิตจะทำให้เกิดความสงบสบาย เป็นสุข จิตเข้มแข็งมีพลัง สามารถต่อสู้อุปสรรค คิดค้นหาวิธีการเอาชนะความทุกข์ ศึกษาปฏิบัติทดลองตามคำสอนของพระพุทธองค์ สร้างสติปัญญาให้เข้มแข็ง รู้เหตุหาผล แก้ไขไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง ไม่ยอมแพ้ ไม่เบื่อหน่าย ไม่ย่นย่อ ไม่รันทดในชีวิต ไม่ผิดหวัง ทั้งนี้เพราะจิตมีฉันทะอยู่ในพระพุทโธ เป็นผู้รู้ทันจริต ตื่นจากจริต ดวงจิตเบิกบานบันเทิงธรรม จิตถอยจากกามคุณ ๕ จิตไม่รับรู้อกุศล รับรู้ในกุศลจิตมีความสดชื่นสบาย รู้ดีชั่ว รู้คุณโทษ รู้ควรไม่ควร รู้ปัจจัยแห่งทุกข์ รู้ปัจจัยแห่งสุข รู้วิธีดับทุกข์ รู้วิธีสร้างสุข รู้วิธีรักษาปกติสุขในจิต รู้แยกแยะ รู้จำแนก รู้รักษาดำรงสถิตสิ่งที่สร้างสุข รู้ทำลายสิ่งสร้างทุกข์ จิตเจริญธรรมฉันทะ ธรรมวิริยะ ธรรมสติ ธรรมสมาธิ ธรรมสัมปชัญญะ (ปัญญา) ที่เรียกว่า เจริญพละ ๕ อยู่ตลอดจิตมีสุข จิตจึงสงบ จิตคลายความกำหนัดจากกามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกาย |
สมาชิก 71 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#206
|
|||
|
|||
ธาตุตัวรู้ ๑๘ ธาตุ ชีวิตมีองค์ประกอบเรียกว่าขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีแบ่งเป็นรูปและนามเพื่อเป็นองค์ความรู้ ให้รู้จักจิตของตนเอง ทั้งบังคับกำกับจิตให้เป็นไปตามที่ต้องการ อันมีผลต่อการดำรงชีวิตให้เป็นคนยอดคน เหนือคน เหนือตน จึงต้องศึกษาเข้าใจเรียนรู้กระบวนการทำงานของจิตให้เข้าใจ รูป คือ กาย มีองค์ประกอบอยู่ ๖ ประการ มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ นาม คือ จิต มีองค์ประกอบอยู่ ๔ ประการ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งรูปและนามเป็นองค์ให้เกิดตัวรู้ มาเป็นธาตุตัวรู้อยู่ ๑๘ ประการ มีรูป ๒ คือ รูปใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) รูปนอก (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์) มีนาม ๑ คือ จิต จึงเป็นวิถีแห่งการสร้างธรรมทัศน์ ให้มีดวงตามองเห็นความสงบ มองเห็นแก่นธรรม เห็นแก่นธรรมคือเห็นแก่นของชีวิต สงบเป็นหนึ่งเดียวคือสงบในพระนิพพาน มีสุขอันเป็นอมตะ ใครไปได้พบ ใครหยุดอยู่ ได้แต่อยากไป ไม่รู้จะไปทางไหน? ไปอย่างไร? คำสอนของพระพุทธองค์จะชี้ทางให้ไป ทางอื่นไม่มี ไม่พ้นทุกข์ ไม่พบสุข อย่าติดอยู่กับวังวนแห่งความทุกข์ ทำเหมือนลูกโคไม่มีแม่ ทำอะไรไม่ได้ ไปไหนก็ไม่เป็น นอนอยู่กับที่ จมอยู่ตรงนั้น นอนอยู่ตรงนั้น ยืนอยู่ตรงนั้น กินอยู่ตรงนั้น ไม่มุ่งมั่นต่อสู้เอาตัวรอด ยืนร้องตะโกนหาแต่แม่โค เราอย่าทำอย่างนั้น เราเป็นผู้ประเสริฐ ผู้เจริญด้วยปัญญา เราเป็นผู้โชคดีมีพระบรมครูชี้นำทาง ให้จิตมีพระพุทโธเอาไว้ อย่าอยู่กับพุดโธ่โลกีย์ อย่าตกอยู่ในอำนาจของอวิชชา ทุกข์จะไหลมาทุกขั้นตอน ดับมันเสีย อย่าเสียดาย อย่าอาลัย อย่าอาวรณ์ อย่าลุ่มหลง อย่างมงายกับมัน อย่าให้มันมารวบรัด อย่ามอบฉันทะให้กับกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ต้องฝืน ต้องกล้า ต้องตัดสินใจ ต้องเด็ดเดี่ยว ต้องเสียสละทั้งเวลาทั้งจิตใจทั้งร่างกาย ศึกษาค้นหา ค้นให้พบ ค้นให้สุด อย่าซึมกระทืออยู่ โอกาสมีอยู่ จิตตัวเดียว เอาไม่เอาเท่านั้น พูดไปพูดมาไม่พ้นจิต แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-01-2011 เมื่อ 19:00 |
สมาชิก 71 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#207
|
|||
|
|||
เราต้องการพบสุขออกจากทุกข์ ต้องรู้วิธีออกความต้องการทางกาย ทางจิต อุปมาต้องการไฟ มีไม้สองอันที่ยังไม่แห้งชุ่มไปด้วยยางยังสดอยู่ จะเอาไม้สองอันมาถูเข้าด้วยกันไฟก็ไม่ยอมติด แม้มีไม้สองอันอันหนึ่งแห้งสนิทไม่มียาง อีกอันหนึ่งยังชุ่มด้วยยางสดอยู่ นำไม้ทั้งสองมาถูเข้าหากันจะถูอย่างไรก็ไม่ได้ไฟ เหนื่อยเปล่า หากมีไม้สองอันไม้ทั้งสองแห้งสนิท นำไม้ทั้งสองมาถูเข้าหากันไม่นานไฟก็จะติด แต่ก็ต้องรู้วิธีจะถู ถูอย่างไรไฟถึงจะติดเช่นกัน
จะค้นหาความสุข ความสงบ ถ้ากายยังมีกาม จิตยังมีกาม จะทำอย่างไรก็จะหาความสงบสุขไม่พบ หากกายไม่มีกาม แต่จิตมีกามก็เช่นกัน จะพ้นไปได้ก็ต่อเมื่อกายและจิตไม่มีกามแล้วเท่านั้น ความสุขที่อยู่ในกามเป็นความสุขที่รุ่มร้อน เป็นสุขสงบชั่วครั้งชั่วคราว ไม่จีรังยั่งยืน ไม่คงทน ไม่สามารถรักษาเอาไว้ ไม่คงอยู่ เกิดขึ้นได้ คงอยู่ได้ ก็ดับไปได้ในที่สุดเป็นเช่นนี้ตลอด เราจะกล้าหาญออกจากกามได้มากน้อยเพียงใด ออกได้หมดก็มีความสุข (สุขปลอดจากกามสุข) ออกได้บ้างพอมีสุข ออกไม่ได้มีแต่สาระของทุกข์ตลอดชีวิต การระงับ ดับ รู้ การเบื่อหน่ายเท่านั้นจึงจะรอดพ้น โลกมันเป็นอย่างนี้ ผู้ชนะโลกคือ ผู้ชนะใจ *เลือกทางเดินด้วยตนเอง จงสร้างความกล้าในการออกจากทุกข์ อย่ามัวแต่ร้องตะโกน ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ นั่นลูกโคมันร้อง ต้องไม่ใช่ตัวเรา อย่าอ่อนแอ อ่อนหัด อ่อนฝึก อ่อนซ้อม อ่อนคิด อ่อนทำ อ่อนใจ มีแต่เรียกหา ร้องหา ดิ้นรน รอหา ทำอย่างนี้เหมือนคนเป็นอัมพาต ไม่มีใครช่วยได้ ใจเป็นอัมพาตเสียแล้วจะหวังอะไรในชีวิตนี้ ไม่มีให้หวังเพราะโง่เขลาเสียแล้ว จะมีอะไรให้หวัง เป็นความหวังที่ไม่มีอะไรให้หวัง น่าเสียดายที่มีกายบรรจุไว้ซึ่งความเขลาเบาปัญญา หลับไม่ลืมหูลืมตา จมอยู่กับความเหม็นเน่าคือ ทุกข์ *วันแล้ววันเล่าไม่จากไป จากไปก็กลับมาใหม่ ไม่จบสิ้น โลกจึงเดือดร้อนด้วยอำนาจของกาม สัตว์โลกรบราฆ่าฟัน แย่งชิงประโยชน์ที่ไม่ได้เอามาและไม่สามารถเอาไป สร้างวิบากกรรมอย่างต่อเนื่อง เส้นทางเดินมีสองสายคือ ความสุขกับความทุกข์ |
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#208
|
|||
|
|||
ส่วนใหญ่เดินทางทุกข์มันเดินง่าย ทั้งตอบสนองกามโลกีย์ มันรื่นรมย์ สนุกเพลิดเพลิน รื่นเริงใจ มันกระหายอยู่ตลอดเวลา ไม่ละ ไม่วาง เรียกหา ค้นหา แสวงหา ต่อสู้เพื่อหา* เพื่อสนองความต้องการ หากขัดแย้งก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา ไม่รู้ถูกผิด รู้แต่ต้องการ ไม่สงบ ไม่หาสาเหตุ ไม่หาผล ไม่เกรง ไม่กลัว ไม่ย่นย่อให้ ไม่ยินยอม ไม่สมยอม ไม่ยี่หระ ไม่ละอาย ไม่เกรงกลัว ไม่ยำเกรง ไม่รู้เห็น ไม่พรั่นพรึงต่อสิ่งใด คิดอย่างเดียว คิดทิศทางเดียว คิดมุมเดียว คิดอย่างอื่นไม่เป็น คิดเอา คิดได้ ติดโลภ ติดเสน่หา คิดพึงพอใจอย่างนั้น ไม่รู้จบสิ้น
จิตมันพรั่งพรูความคิดอย่างนี้ มันเค้นความคิดด้วยอำนาจความทะยานอยาก พร้อมความต้องการการตอบสนองอย่างแรงกล้า จะต้องให้ได้มา ไม่เช่นนั้นจะทุกข์ระทม รันทด หดหู่ เศร้าหมอง กระวนกระวาย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เมื่อได้มาแล้ว ก็อยากได้อย่างอื่นร่ำไป ตลอดเส้นทางการดำรงชีวิต มีแต่ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความฉุนเฉียว วุ่นวาย ไม่ยอม เอาชนะอย่างเดียว ชนะในโลกีย์ ส่วนเส้นทางความสุขนั้นเดินยาก มันขัดกับความต้องการ ในทางพ้นจากโลกียวิสัย ต้องให้ต่อสู้ ต่อต้าน ต้องป้องกัน สกัดกั้น ฝึกให้เอาชนะอำนาจของกิเลสตัณหาที่เข้ามาครองในจิต จะต้องสู้จนชนะอย่างถาวร ไม่ให้มันมีอำนาจ ทั้งนี้ต้องเข้าใจ กิเลสมันอาศัยอยู่ในเรือนจิตของเรามาเป็นเวลานาน จนเป็นเจ้าของเรือน จะให้มันออกจากเรือนที่มันรัก มันอาศัยอยู่ มันจะร้องโหยหา มันจะดิ้นรน กระวนกระวาย ต่อสู้ ขอร้อง ขออยู่อาศัย ขอผ่อนปรน ขอชะลอ ขอเวลา ขออ้อนวอน ขออยู่ต่อ ขอครอบครอง ขอทวงสิทธิ์ ขออุทธรณ์ ขอร้องทุกข์ หากไม่ให้มันอยู่ มันจะรวมพรรคพวกเข้ามาข่มขู่ บังคับ ข่มเหง ตะคอก อาฆาตมาดร้าย สร้างความวุ่นวาย ร้องเรียนอยู่ตลอด พวกนี้ไม่มีกลัวสิ่งใด นอกจากสติสัมปชัญญะ มันกลัวมาก มีอำนาจเหนือพวกมัน มันจะหนีหลบซ่อน *อาวุธนี้มันสู้ไม่ได้*หากแต่อย่าเผลอให้มันเข้ามาประจบ จนสติสัมปชัญญะตกเป็นเหยื่อของพวกมัน มันจะมาเป็นใหญ่ทันที ฉุดชีวิตให้เดินตามกระแสของมัน การสร้างความสงบจึงต้องสร้างสติ ต้องเจริญกรรมฐานให้เป็นมหาสติมั่นคง เจริญอยู่ในจิต จะนั่ง จะเดิน จะยืน จะนอน ให้จิตติดตามลมหายใจอยู่เสมอ อย่าได้ขาด อย่าเผลอ อย่าละเลย อย่าหลง มหาสติจึงจะบังเกิดอย่างต่อเนื่อง กิเลสจึงแทรกไม่ได้ เข้ามาก็รู้ ออกไปก็รู้ อยู่ใกล้ ไกลย่อมรู้ ระวังอยู่ตลอดเช่นนี้ เมื่อกิเลสเข้ามาไม่ได้นาน ๆ กิเลสมันก็เบื่อ ไม่เข้ามา มันจะทิ้งเรือนจิต แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2011 เมื่อ 11:42 |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#209
|
|||
|
|||
ทั้งนี้เมื่อกิเลสจากไปแล้ว กุศลธรรมเข้ามาเกื้อกูลแทน เข้ามาสงเคราะห์ เข้ามาให้เกิดความสุข เกื้อกูลแก่ตัวเรา ทำให้เป็นผู้ไปดี รู้แจ้ง เป็นผู้เบิกบาน สามารถจำแนกธรรมออกได้อย่างฉลาด ไม่เป็นผู้อยู่ด้วยความลุ่มหลง มองเห็นกลางคืนเป็นกลางคืน กลางวันเป็นกลางวัน ไม่ใช่เห็นกลางคืนแท้ ๆ เป็นกลางวัน กลางวันแท้ ๆ เห็นเป็นกลางคืน อยู่อย่างขาดเหตุผล มองไม่เห็นความเป็นจริง ดูไม่รู้ มีความหลงผิด คิดมิชอบ สัจธรรมความจริงขั้นสูงสุดกลับมืดมัว ความไม่จริงกลับเจริญอยู่ในจิต *เมื่อเป็นเช่นนี้จะมองเห็นกลางวันเป็นกลางคืน จึงสมควรมองให้ถูกต้อง อย่าทำจิตใจคับแคบอันเป็นที่มาแห่งธุลี
จงทำจิตให้สว่างเหมือนสังข์ที่ขัดสะอาดดีแล้ว จงศึกษาจิตของเราเอง อย่าศึกษาจิตของผู้อื่น มันไม่ได้ให้ประโยชน์กับจิตของเรา สมควรศึกษาเพื่อเป็นไปในทางสงบ ระงับเพื่อความดับเย็นสนิท เพื่อความรู้ครบถ้วน มีความฉลาดในเรื่องโลกนี้ มีความฉลาดในเรื่องอื่น เป็นผู้ฉลาดต่อวัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของมาร ฉลาดต่อวัฏฏะที่เป็นที่อยู่มฤตยู ฉลาดต่อวัฏฏะที่ไม่เป็นที่อยู่ของมารและมฤตยู อันเป็นวัฏฏะภายในจิตใจทั้งสิ้น จงสร้างจิตอย่าให้เป็นที่อยู่ของมาร เป็นที่อยู่ของมฤตยูอันไม่เป็นไปในทางเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในความสุข เพื่อจิตจะได้เข้าถึงถิ่นอันเกษม ปิดประตูไม่ให้กระแสแห่งทุกข์มฤตยูคือ กิเลสตัณหา เมื่อกิเลสตัณหาถูกกำจัดเสียแล้ว ทำให้มันหมดพิษลง จิตย่อมพบความปราโมทย์ อิ่มเอิบ เปรมปรีดิ์ เสมือนดอกบัวสีเขียว บัวหลวง บัวขาวย่อมเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ เมื่อโผล่พ้นน้ำตั้งอยู่น้ำไม่เปียกติดดอกบัวนั้นฉันใดก็ฉันนั้น แม้เราเกิดมาในโลก เจริญในโลก อยู่ในโลก แต่โลกไม่อาจฉาบความแปดเปื้อนให้เป็นสนิมอยู่ภายในจิต ไม่สามารถทำให้จิตดวงนี้เศร้าหมอง เมื่อจิตดวงนั้นดำรงอยู่ด้วยพุทธะจิตจะเป็นชินะ (ผู้ชนะ) |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#210
|
|||
|
|||
บุรพกรรมของการได้มาซึ่งมหาปุริสลักษณะ ตามกฎแห่งกรรมทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงกฎแห่งกรรมที่ได้มาซึ่งลักษณะของมหาปุริสลักษณะ อันเป็นลักษณะของมหาบุรุษผู้มีบุญญาธิการคือ ลักษณะของคนดี มีปัญญา ไม่ใช่ได้มาเองโดยไม่สร้าง แต่ได้มาด้วยผลของกรรม การกระทำกุศลกรรมในการเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ย่อมได้คุณลักษณะ ดังนี้ ๑. เป็นผู้บากบั่นในกุศล ถือมั่นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การบริจาคทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถศีล การปฏิบัติบิดา มารดา การปฏิบัติสมณะ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล *ได้กระทำ ได้สร้างสมพอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้ชนะศัตรูทั้งหลาย เป็นที่เคารพรักของผู้พบเห็น มีผิวพรรณสง่างาม สิ่งไม่ดีไม่มาเบียดเบียน ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีเกียรติ มีคนนับหน้าถือตา ได้รับคำยกย่องสรรเสริญไม่ขาด ๒. เป็นผู้ได้สร้างกุศลถวายทาน มีเครื่องบริจาคแก่สมณพราหมณ์ ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลทำให้มีบริวารมาก บริวารรักใคร่ สมณพราหมณ์มีเมตตา กรุณา ไม่ทุกข์ยากในการดำรงชีวิต มีทรัพย์พอกพูน ๓. เป็นผู้เว้นต่อการทำปาณาติบาต ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีความละอาย มีความเอ็นดู เกื้อกูล มีความกรุณาต่อเพื่อนสัตว์ที่เวียนว่าย ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลเป็นผู้ที่มีชีวิตยืนยาว ศัตรูไม่อาจมาทำลายชีวิตได้ ได้รับความเมตตา กรุณา เกรงกลัวจากหมู่สัตว์นั้น ๆ มีร่างกายสมบูรณ์ มีอาการครบ ๓๒ ประการ ไม่พิกลพิการทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ต้องหวาดผวา เกรงภัยทั้งหลาย มีคนคอยคุ้มครองป้องกัน เป็นที่รักและเกรงใจแก่บริวาร ไม่เกิดอุบัติภัยให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย ๔. เป็นผู้ให้ทานของขบเคี้ยวที่ควรบริโภค ที่ควรลิ้มรส ที่ควรจิบที่ควรดื่มที่มีรสอันประณีต ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลเป็นผู้ไม่มีความอดอยาก มีผู้นำอาหารรสดีมาให้ ได้รับแต่อาหารที่มีคุณค่า เป็นผู้ได้รับการเอาใจใส่จากบุตรหลานตลอดการมีชีวิตที่ท่องเที่ยวอยู่ ๕. สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุสี่ อันได้แก่ มอบสิ่งของให้ ให้วาจาที่ไพเราะ การประพฤติให้ประโยชน์กับผู้อื่น และการให้ความทัดเทียมเสมอกัน ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้ได้รับสังคหวัตถุสี่เช่นกัน ได้รับสิ่งของที่ถูกใจ ได้รับการยกย่องด้วยวาจาอันไพเราะ ได้รับการยกเสมอผู้มีบารมี มีบุคคลคอยช่วยเหลือในกิจทั้งมวล ได้รับการสนับสนุนให้มีอำนาจราชศักดิ์ ทำอะไรก็มีชื่อเสียง ไปที่ใดก็มีแต่คนเคารพรักยกย่อง ทั้งเป็นที่รักของสมณพราหมณ์ หมู่เทวดา พวกอสูร คนธรรพ์ คอยช่วยเหลือคุ้มครองป้องกัน ไม่มีคนคิดร้ายทำลาย ๖. เป็นผู้ได้กล่าวธรรม สอนธรรม แนะนำธรรม บอกกล่าวธรรมกับผู้อื่นเป็นเนืองนิตย์ ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญาอันประณีต มีปัญญาธรรมอันบริสุทธิ์ รู้เห็นธรรมในการดำรงชีวิต มีความสงบในการครองตน เป็นที่ยกย่องแก่ชนทั้งมวลว่า เป็นผู้เลิศในภูมิปัญญา ได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์ อมนุษย์ พูดอันใดมีคนเชื่อฟัง ศรัทธาในคำพูด ได้รับแต่ถ้อยคำเสนาะหู มีภูมิรู้ทันคน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างหมดจด เป็นผู้ก้าวสู่กระแสธรรม นำชีวิตสงบด้วยหลักธรรม บ้านเรือนอยู่อย่างสงบ เป็นผู้นำทางธรรมแก่กลุ่ม แก่คน แก่ชุมชน แก่ญาติมิตร แก่บุตรหลาน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2011 เมื่อ 16:50 |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#211
|
|||
|
|||
๗. เป็นผู้สอนศิลปวิทยาข้อประพฤติเพื่อให้คนทั้งหลายรู้สึกตัว ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ละพ้นความเศร้าหมอง ได้พอกพูน ได้มุ่งมั่นอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้รู้ ผู้ช่ำชองในศิลปวิทยาต่าง ๆ รู้เข้าใจศาสตร์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำในความจำได้หมายรู้ รู้อย่างลึกซึ้ง รู้ถึงแก่นแห่งวิทยาการ รู้ละเอียด รู้หลัก รู้มูลฐาน รู้ใช้ รู้ส่ง รู้เสริม รู้กว้าง รู้แนบสนิท เป็นผู้เรืองปัญญา รู้ค่า รู้ประโยชน์ รู้คุณ รู้โทษ
๘. เป็นผู้ได้เข้าหา ได้สอบถามหลักธรรมจากสมณพราหมณ์ สอบถามหาเหตุผล อะไรคือเหตุ อะไรคือผล อะไรคือกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ อะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรเหมาะ อะไรไม่เหมาะ อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรคงอยู่ อะไรไม่คงอยู่ กรรมมีผลหรือกรรมไม่มีผล ได้พอกพูน ได้มุ่งมั่นอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้มีปัญญาใหญ่ ปัญญาแน่น ปัญญาคม ปัญญาแล่นเร็ว ปัญญาแหลม ปัญญาฉับไว ปัญญากว้าง ปัญญาไกล ปัญญาประณีต ปัญญาคมลึก ปัญญาละมุน ปัญญารู้แจ้งแทงตลอด มีปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครองตน รักษาตน ป้องกันตน มีปัญญาส่งให้พ้นทุกข์ ประสบสุข มีปัญญาสร้างประโยชน์ ดำรงประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ไม่คิดตกอยู่ในกาม คิดออกจากกาม มีจิตใจสว่างด้วยปัญญาบริสุทธิ์ มองเห็นคุณ มองเห็นโทษของกาม ๙. เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่พยาบาท ไม่แสดงอาการโกรธ ไม่แสดงความร้ายกาจ ไม่แสดงความเสียใจ ทั้งบำเพ็ญบารมีทานด้วยผ้าอันประณีตนานาชนิด ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้ได้รับความเมตตา กรุณาจากคนทั้งหลาย ไม่ถูกลบหลู่ ไม่เป็นศัตรูต่อกัน มีความเคารพรักต่อกัน มีความเป็นมิตร มีความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ไม่มีความขุ่นแค้นต่อกัน ไม่กลั่นแกล้งต่อกัน ไม่มุ่งร้าย ไม่คิดร้าย ไม่พยาบาทโกรธเคืองเกลียดต่อกัน มีความสามัคคีปรองดอง กลมเกลียว รักใคร่ มีความหวังดี เจตนาดี มีความเข้าใจต่อกัน ไม่รบราฆ่าฟัน ทำลายให้เกิดทุกข์ ๑๐. เป็นผู้สมานญาติมิตร สหายชาวเกลอ (ผู้ที่รักกันมาก ตายแทนกันได้) ที่เหินห่างแยกกันได้มาสมานไมตรี มารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่กับน้อง น้องกับพี่ ทั้งชายและหญิงให้สามัคคีรักใคร่กัน ได้พอกพูน ได้อยู่กระทำกับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้มีบุตรที่กล้าหาญ ชาญฉลาด มีความเคารพรักเชื่อฟังบิดามารดา เป็นผู้มีบริวารมาก มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน มีความปรองดอง ผู้อื่นย่ำยีไม่ได้ มีความปลอดภัยอยู่ตลอด ไม่พบความผิดหวัง ครอบครัวไม่แตกแยก เป็นผู้ได้รับความเคารพ เป็นผู้มีกิริยาสง่างาม เป็นผู้มีความคิดอันละเอียดอ่อน มีน้ำเสียงไพเราะมีอำนาจ ผู้ใหญ่ให้ความรักศรัทธา มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาพสมบูรณ์ มีความสามารถในการประสาน จูงใจคนให้เชื่อถือ มีตบะเดชะบารมี เป็นคนไม่หลงลืม มีสติมั่นคง แม้มีอายุมากก็มีคนคอยเอาใจใส่รับใช้ คอยส่งเสริม เป็นผู้มีโชค มีผู้นำโชคมาให้ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป มีผู้ขอเป็นมิตร ตกทุกข์ได้ยากก็มีคนช่วย ๑๑. เป็นผู้คอยสังเกตชั้นเชิงมหาชน เป็นผู้รู้อย่างสม่ำเสมอ รู้ได้เอง รู้จักลักษณะของบุรุษ ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลเป็นผู้มีทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ (การฟัง) จาคะ (การให้) ๑๒. เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือก็ตาม ฝ่าเท้าก็ตาม ด้วยท่อนไม้ก็ตาม ด้วยก้อนหินก็ตาม ด้วยศาสตราก็ตาม ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรค มีโรคาน้อย มีความร้อนแห่งกายเป็นวิบากอันสม่ำเสมอ ไม่เย็น ไม่ร้อนเกินไป มีความพอเหมาะ พอแก่ความเพียร ไม่บังเกิดโรคร้ายแรง เมื่อมีโรคมาเบียดเบียนก็จะมีคนมาช่วย มีหมอมารักษา มียาดีถูกกับโรค เป็นผู้มีวรรณะ สุขะ พละ สมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง ทำกิจได้คงทน หูตาสว่าง ไม่มืดบอด ไม่หนวก ความจำมั่นคงตามอายุขัยไม่หลงลืม ไม่แก่ก่อนวัย ถึงมีอายุมากมองเหมือนอายุน้อย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-01-2011 เมื่อ 14:50 |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#212
|
|||
|
|||
๑๓. เป็นผู้ไม่ถลึงตา ไม่ค้อนควัก ไม่จับจ้องด้านหลัง เป็นผู้แช่มชื่น มองดูตรง ๆ มองดูผู้อื่นด้วยสายตาแห่งความรัก มีใบหน้ายิ้มแย้ม ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นที่รักต้องตาของชนหมู่มาก เป็นที่รักใคร่ของพุทธบริษัท ๔ มีพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร คนธรรพ์ ทั้งเป็นผู้ได้รับการยอมรับจากชนทุกหมู่ เป็นผู้ไม่มีศัตรูคู่อาฆาต ไม่ถูกลบหลู่จากชนทั้งมวล ไม่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ไปที่ไหนได้รับการต้อนรับด้วยไมตรี ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ไม่พบคนพาล ได้พบบัณฑิต นักปราชญ์ คนดีมีปัญญา
๑๔. ได้เป็นหัวหน้าชุมชนเป็นอันมาก เป็นประธานชุมชนเป็นอันมาก ทั้งประพฤติอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ได้ทำทาน รักษาศีล ประพฤติเกื้อกูลบิดามารดา สมณพราหมณ์ นอบน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้มหาชนเลื่อมใส ศรัทธา ยกย่อง ประพฤติตาม มีมหาชนมาใกล้ชิด เกื้อหนุนให้เป็นใหญ่ เป็นผู้นำ มีผู้เชื่อฟังเมื่อกล่าวสิ่งใดมีผู้ให้ความร่วมมือ ร่วมแรง ส่งเสริมเอาอย่าง มีอำนาจน่าเกรงขาม น่าเกรงกลัว สดับฟังด้วยเหตุผล ร่วมแรงร่วมใจเกิดความสามัคคี มหาชนอยู่ในโอวาท ยินยอมพร้อมใจช่วยเหลือ ปฏิบัติประพฤติอยู่ในธรรม สรรเสริญความดี ไม่ก่อเหตุกวนใจ ๑๕. เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด ไม่ยุแหย่ให้แตกแยกเพื่อทำลายชนบางพวก เป็นผู้สมานความแตกร้าว ส่งเสริมให้มีความพร้อมเพรียง เป็นผู้ยินดีให้ความพร้อมเพรียง เพลิดเพลินในความพร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาทำให้พร้อมเพรียงกัน ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้มีพวกพ้องเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่กระจาย ไม่ถูกทำลายให้เสียโอกาส ไม่ถูกติฉินนินทาลับหลัง ไม่มีผู้ใดทำลายได้ มีผู้ชอบมาคบค้าสมาคม รับฟัง รับทำ รวมกลุ่มอย่างพร้อมเพรียงมั่นคง ไม่พูดให้แตกแยกกันในหมู่คณะ ไม่ทำลายซึ่งกันและกัน มีความเคารพกฎเกณฑ์ เชื่อฟังผู้นำ เคารพผู้นำ เลื่อมใสผู้นำ ทำแต่สิ่งที่ดีเพื่อหมู่คณะ ไม่ยินดีในสิ่งที่ผิด ๑๖. เป็นผู้ละเว้นการกล่าวคำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ กล่าวคำเป็นสุขแก่หู อันเป็นที่ตั้งแห่งความรักซึมซาบใจ ได้พอกพูน ได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้มีวาจาพูดแล้วมีผู้อื่นเชื่อฟัง เลื่อมใส มีน้ำเสียงไพเราะชักนำมหาชนได้ น้อมนำใจได้ มีความน่าเชื่อถือ มีอำนาจจะเจรจาอะไรก็สำเร็จ มีผู้เอื้อเฟื้อคล้อยตาม มีผู้กล่าวคำชมให้สุขใจ มีผู้รักเคารพนับหน้าถือตา ได้ยินแต่คำเสนาะหู ได้ฟังนักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้ยินธรรมอันประณีต มีสำเนียงไพเราะขับกล่อม ได้รับแต่คำชม คำสรรเสริญ คำยกย่อง ๑๗. เป็นผู้เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้กล่าวคำอันควรแก่กาลเวลา เป็นผู้กล่าวคำจริง เป็นผู้กล่าวธรรม กล่าววินัย กล่าวมีฐานที่ตั้ง ได้พอกพูนได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้ไม่เป็นผู้มีศัตรูทั้งภายในและภายนอก ใครคิดปองร้าย ทำร้ายไม่ได้ ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ย่อมพ่ายแพ้ ไม่สมหวังทั้งมีความยำเกรง มีความขยาด มีความท้อ มีความกลัว มีความไม่สะดวก มีอุปสรรคเมื่อคิดทำ มีความเบื่อหน่ายท้อแท้ มีจิตใจห่อเหี่ยว ไม่มีแรงกายแรงใจจะต่อสู้ มีความหนาวสั่นพรั่นพรึง ไม่มีแก่จิตจะต่อสู้ คิดแต่ยอมแพ้อย่างเดียว มีความคิดสับสนตลอด ๑๘. เป็นผู้ละมิจฉาชีพ เลี้ยงชีพโดยชอบ เว้นการฉ้อโกง ไม่ทำของปลอม เว้นการตัด การมัดผูก การฆ่า การร่วมทำร้าย การปล้น การกรรโชก การแย่งชิง การย่องเบา ได้พอกพูนได้กระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ เป็นอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้มีบริวารที่สะอาด ไม่ถูกล่อลวง ไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกปล้น ไม่ถูกฉ้อโกง ไม่ถูกอิทธิพลบังคับให้เสียทรัพย์ ทำมาค้าขึ้น ทำอาชีพเจริญรุ่งเรือง มีผู้มาให้การสนับสนุน มีผู้ป้องกันไม่ถูกหุ้นส่วนฉ้อโกง* แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 02-02-2011 เมื่อ 08:29 |
สมาชิก 53 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#213
|
|||
|
|||
*ผลของวิบากกรรมทั้ง ๑๘ ประการ อันเป็นกุศลกรรมที่ส่งผลจากอดีตมาถึงปัจจุบันไปสู่อนาคต ทำเช่นนี้เป็นเช่นนี้ ผลทำอกุศลกรรมย่อมมีผลในทางตรงกันข้าม เพียงใส่คำว่า “ไม่” เข้าไปข้างหน้าทุกวรรคเท่านั้น เราจะให้กุศลกรรมสัมฤทธิ์ผลเราต้องกระทำตาม ๑๘ ประการ เราจะให้อกุศลสัมฤทธิ์ผลใส่ คำว่า “ไม่” ไว้หน้าทั้ง ๑๘ ประการ ต้องเลือกเอา ทั้ง ๑๘ ประการนี้จะเป็นเครื่องบอกสถานภาพอดีต ปัจจุบัน อนาคตของชะตากรรมทุกคน จะประเมินได้ว่าควรทำอะไรในกุศลกรรมทั้ง ๑๘ ประการ หรือไม่ควรทำอะไรทั้ง ๑๘ ประการ แล้วจงทำนายชะตากรรมของตนในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต ในวัฏฏะการเวียนว่ายตายเกิด ไปอยู่ไหน อยู่อย่างไร อยู่ภูมิใด อยู่ภพใด อยู่สุขหรืออยู่ทุกข์ อยู่กับใคร ใครจะเชื่อหรือไม่สุดแท้แต่กรรม ต้องการกรรมใดทุกข์หรือสุข ได้พอกพูนได้กระทำอยู่ในกรรมนั้นเสมอ ๆ สมปรารถนาแน่นอน ดังจะเห็นว่า
การบังเกิดพระพุทธเจ้า ไม่บังเกิดพระพุทธเจ้า เป็นเพราะกรรม *
การได้พบพระพุทธเจ้า ไม่ได้พบพระพุทธเจ้า เป็นเพราะกรรม การได้นับถือพระพุทธเจ้า ไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้า เป็นเพราะกรรม การได้ปฏิบัติบรรลุธรรมวิเศษ ไม่บรรลุธรรมวิเศษ เป็นเพราะกรรม การร่ำรวย ยากจน เป็นเพราะกรรม การมีโชค ไม่มีโชค เป็นเพราะกรรม การมีสุขภาพดี ไม่ดี เป็นเพราะกรรม การมีคนรัก คนชัง เป็นเพราะกรรม การมีบริวาร ไม่มีบริวาร เป็นเพราะกรรม การมีชีวิตที่ยืนยาว ไม่ยืนยาว เป็นเพราะกรรม การมีศัตรู ไม่มีศัตรู เป็นเพราะกรรม การมีผู้เคารพยกย่อง ไม่มีผู้เคารพยกย่อง เป็นเพราะกรรม การมีโภชนาหารสมบูรณ์ ไม่มีโภชนาหารสมบูรณ์ เป็นเพราะกรรม การมีผู้มาสงเคราะห์ ไม่มีผู้มาสงเคราะห์ เป็นเพราะกรรม การเกิดมาเป็นผู้ประเสริฐกว่าผู้อื่น ไม่ประเสริฐกว่าผู้อื่น เป็นเพราะกรรม การเป็นคนเฉลียวฉลาด ไม่เฉลียวฉลาด เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้นำผู้อื่น ไม่ได้เป็นผู้นำผู้อื่น เป็นเพราะกรรม การมีสำเนียงเสียงมีอำนาจ ไม่มีสำเนียงเสียงมีอำนาจ เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้มีเครื่องแต่งกายอันประณีต เป็นผู้มีเครื่องแต่งกายทราม เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์ เป็นผู้ไม่มีอำนาจราชศักดิ์ เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้ที่มีผู้ศรัทธา ไม่มีผู้ศรัทธา เป็นเพราะกรรม การเป็นที่รักของคนหมู่มาก ไม่เป็นที่รักของชนหมู่มาก เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้มีบริวาร ไม่มีบริวาร เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้มีอาการครบ ๓๒ ประการ ไม่มีอาการครบ ๓๒ ประการ เป็นเพราะกรรม การเป็นบัณฑิต เป็นโจร เป็นเพราะกรรม การมีอายุยืนยาว มีอายุสั้น เป็นเพราะกรรม การสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นเพราะกรรม การมีคนแซ่ซ้อง ไม่มีคนแซ่ซ้อง เป็นเพราะกรรม การไม่มีคนนินทา มีคนนินทา เป็นเพราะกรรม การไม่มีคนเกลียด คนชัง คนรังเกียจเดียดฉันท์ การมีคนเกลียด คนชัง คนรังเกียจเดียดฉันท์ เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้มีอำนาจเหนือคนทั้งหลาย การไม่มีอำนาจ เป็นเพราะกรรม การมีครอบครัวสมบูรณ์ การมีครอบครัวแตกแยก เป็นเพราะกรรม การมีบุญวาสนา ไม่มีบุญวาสนา เป็นเพราะกรรม การเป็นคนดี เป็นคนต่ำทราม เป็นเพราะกรรม การได้เกิดในตระกูลที่สูง เกิดในตระกูลที่ต่ำ เป็นเพราะกรรม การอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข การอยู่อย่างตกทุกข์ได้ยาก เป็นเพราะกรรม การประสบความสำเร็จในชีวิต การไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นเพราะกรรม การได้รับการเชิดชู ไม่ได้รับการเชิดชู เป็นเพราะกรรม การล้มละลายในชีวิต ไม่ล้มละลายในชีวิต เป็นเพราะกรรม การเป็นผู้มีวรรณะ สุขะ พละ ธนสมบัติ การไม่มีวรรณะ สุขะ พละ ธนสมบัติ เป็นเพราะกรรม การถูกหลอกลวง ถูกปล้น ถูกทำร้าย ถูกฉ้อโกง การไม่ถูกหลอกลวง ไม่ถูกปล้น ไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกฉ้อโกง เป็นเพราะกรรม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 02-02-2011 เมื่อ 08:29 |
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#214
|
|||
|
|||
*กรรมนั้นมีผลวิบากเที่ยงแท้ อย่าประมาท อย่าท้าทาย ถ้าจะท้าทายก็สมควรท้าทายในเรื่องการประกอบกรรมดี อย่าท้าทายในการประกอบกรรมชั่ว ผลมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้ไม่รู้ย่อมกล้า ผู้รู้ย่อมขยาด เกรงกลัว กล้าในส่วนที่สมควรกล้า ควรกล้าในสิ่งที่สมควรกล้า อย่าทะนงตนโดยเด็ดขาด
กรรมดีใน ๑๘ ข้อ มีสาระที่ยังขาดอยู่มากมาย เป็นเครื่องมือวัดตัวเราได้สร้างอะไร ไม่ได้สร้างอะไรที่ยังขาดอยู่ สร้างอะไรในทางตรงกันข้ามที่จะทำลายฐานของชีวิตที่สงบร่มเย็น หากกระทำอยู่ก็หยุดเสีย หันกลับมาคิดใหม่ กระทำกรรมดีทดแทนเพื่อลดความรุนแรง เมื่อเกิดขึ้นเราต้องเป็นผู้รับผลมาเป็นวิบาก ทุกข์เราทุกข์ เจ็บเราเจ็บ ปวดเราปวด ผิดหวังเราก็ผิดหวัง ถ้าดีเราดี สุขเราสุข ไม่มีใครมารับร่วมกับเราแน่แท้ มีอยู่มากมายให้เราได้เห็นเพียงแต่เรามองผ่าน การดำรงชีวิตดีไม่ดีแยกกันด้วยผลของกรรมทั้งสิ้น บางคนอยู่อย่างน่าเวทนา บางคนอยู่อย่างน่าอิจฉา บางคนอยู่อย่างน่าเวทนากลับมาอยู่อย่างน่าอิจฉาของคนอื่น บางคนอยู่อย่างน่าเวทนาก็อยู่อย่างน่าเวทนา บางคนอยู่อย่างเวทนาก็อยู่อย่างน่าเวทนายิ่งขึ้นจนจบชีวิต บางคนอยู่อย่างน่าอิจฉาก็อยู่อย่างน่าอิจฉายิ่งขึ้นไปอีกจนจบชีวิต ก็ด้วยล้วนเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำมาในอดีตชาติ ในปัจจุบันชาติ อนาคตย่อมยังตอบไม่ได้ จะไปไหน ไปอย่างไร ไปทำอะไร ไปสุข ไปทุกข์ ไปได้อะไร ได้มนุษยภูมิ ได้เทวภูมิ ได้พรหมภูมิ ได้พุทธภูมิ หรือได้เดรัจฉานภูมิ ได้ไปสเปโตภูมิ ได้อสุรกายภูมิ อย่าให้อวิชชาเข้ามาปิดกั้นจนเกิดความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่ยี่หระ ไม่เหลียวแล ไม่ตกลง ไม่ปลงใจ ไม่รับรู้ ไม่เห็นทั้งสิ้น อยู่ไปทำไป เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น อยู่ด้วยสามัญสติไม่สร้างมหาสติ * แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 02-02-2011 เมื่อ 12:04 |
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#215
|
|||
|
|||
*ต้องกำหนดรู้ มีศรัทธาความดี ใครมาชักจูงไม่ได้ ต้องมีการสำรวมระวังใจอยู่ตลอด อย่าให้สัญญากามเข้ามาแทรกแซง อย่าให้สัญญาวิตกเข้ามาแทรกแซง อย่าเป็นคนที่มีธุลีในดวงตามากจนมองไม่เห็นกรรม มันจะสาย มันจะแก้ไขไม่ทัน แก้ไม่ได้ แก้ไม่หมด แก้ไม่ถูก แก้ไขผิด ๆ แยกไม่ออก ใจไม่แยกสเปโตภูมิ (ภูมิของเปรต) มันอันตราย เราอย่าเหมือนชนทั้งหลายที่มืดบอดด้วยอวิชชากัน จงตื่นจากอวิชชาที่ทำให้มืดมัว ไม่สว่างทำให้เลือนลางบดบัง จงทำลายแล้วเปิดทางให้วิชชาเข้ามาทำหน้าที่แทน*
ด้วยการกระทำเช่นนี้จึงได้มาซึ่งคุณลักษณะ ยอดคน เหนือคน เหนือตน แล้วเราล่ะ จะเป็นยอดคนเถื่อนอย่างนั้นหรือ คิดให้ดี คิดให้รอบคอบ คิดให้ละเอียด อย่าคิดอย่างมีมิจฉาทิฏฐิ ให้คิดอย่างมีสัมมาทิฏฐิ ใช้ปัญญาคิด อย่าใช้อารมณ์คิดจะผิดพลาดตลอดชีวิต ทิฏฐิจะเกาะกินใจเราจนกลายเป็นอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยวาง ดีชั่วไม่รู้ หากยึดมั่นอยู่ในความดีก็ปลอดภัย หากยึดมั่นถือมั่นในความชั่วก็อันตรายต่อภูมิ ต่อตน ต่อชาติของเราเอง อุทธรณ์ร้องทุกข์กับใครก็ไม่ได้ ไม่มีทนายให้จ้างว่าความ กรรมเป็นทนายเป็นผู้พิพากษาเอง มีความเด็ดขาด เที่ยงตรง เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ลดหย่อนผ่อนปรน เมื่อเราพอกพูนมุ่งมั่นและกระทำอยู่กับกรรมนั้น ๆ ไม่ถอย ไม่ถอนตัว ถ้ากรรมดีก็อย่าถอย อย่าถอนตัวให้พอกพูน ให้กระทำอยู่กับกรรมดีนั้น ๆ อย่างเอาจริงเอาจัง อย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าในทางตรงกันข้าม ให้เราถอนตัวทันทีทันใด ทันเวลา ทันเหตุการณ์ เรื่องยังไม่ยุ่ง อย่าให้ยุ่งเหมือนเส้นไหม เมื่อยุ่งแล้วแก้ยาก มันยุ่งเพราะกรรมได้กระทำต่อชีวิตเรา จะบอกอย่างไรหนอ? ถึงจะเข้าใจ ถึงจะปฏิบัติเพื่อให้รางวัลชีวิต แสวงหาสันติให้เจอ อยู่กับสันติ กินอยู่กับสันติ เดิน นั่ง ยืน นอนอยู่กับสันติ เท่านี้ก็น่าจะพึงพอใจในระดับหนึ่ง ในระดับพื้น ๆ เท่านี้ก็มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่น หาสันตินอกกายนั้นไม่มี หาสันติในกาย ในจิตของเรานี่แหละ ไม่ต้องไปไกล ไม่ต้องเดินทาง เพียงละมานะ ละจริตที่เห็นผิด ๆ มีความเห็นชอบ เห็นถูก เห็นตรงเท่านั้น เราก็จะพบ พบแล้วรู้จัก เข้าใจ จิตมันจึงรับได้ มองเห็นคุณค่าได้ จึงต้องหาสันติในจิตมานึกคิดให้มากขึ้น มองเห็นคุณค่าของสันติ จิตนั้นมีสัญญารู้อยู่ บางครั้งเหมือนสงบอยู่แต่จิตมันป่วย ทุกข์มันแล่นเข้ามาอันเป็นสัญญาทุกข์ เข้ามาเสียดแทง ทิ่มตำ ทำลาย กระทบ กระทุ้งให้กระวนกระวาย เข้ามาทำลายสัญญาสุข ความสงบก็สลายไป จิตจึงติดอยู่กับกามไม่สามารถทำกามนั้นให้สงบลงได้ ให้ดับลงได้ มันเกิดภพเกิดชาติภายในจิตด้วยอำนาจของสัญญากาม ด้วยสัญญาสมมติบัญญัติ จิตจึงอาพาธ (ป่วย) อยู่กับสัญญากามฉันทะ มีความพึงพอใจทะยานอยากอยู่กับความปรารถนาในกามนั้น ๆ อยู่ตลอด ไม่ดับสูญ เกิดนิวรณ์ในกามทั้งห้าประการ เราจึงต้องจับมารนึกคิด ตรึกตรอง ให้มองเห็นโทษ เห็นภัย เห็นความร้ายกาจ เห็นความยุ่งยาก เห็นความสับสนวุ่นวายของชีวิต จนจิตรู้เข้าสู่กระแสนั้นแล้วถอยออกมาเพราะมองเห็นโทษ เห็นความร้ายแรงที่มาทำลายความสงบ ทำลายความสันติในชีวิต จิตจึงจะหยุดอาพาธ (ป่วย) เวลารูปกายมันป่วยเรายังต้องรักษา แสวงหาโอสถให้ถูกกับโรค ค้นหาสมมติฐานที่มาของโรคให้ร่างกายต้องเสื่อมสูญคุณภาพที่ดี เมื่อค้นพบก็จ่ายยา ทำการทดลองอย่างเอาจริงเอาจังกับการสกัดสารเคมีมาบำบัดทำลายโรคนั้น ๆ ต้องเสียเวลา เสียเงินสร้างเครื่องมือ คิดค้น เอาชนะโรคร้ายทั้งมวล เป็นความพยายามทุก ๆ อย่าง เพื่อรักษารูปกายให้มั่นคง คงทนอยู่ จิตก็เช่นเดียวกัน มันอาพาธ (ป่วย) เพราะเหตุอันใดจึงต้องทำการศึกษาค้นหา จะดับอาการเหล่านั้นได้อย่างไร มีอะไร วิธีการอย่างไร จะต้องจ่ายยา (หัวข้อธรรม) ให้ตรงกับอาการป่วยของจิตเช่นกัน |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#216
|
|||
|
|||
ก้อนอสุภธาตุ *รูปกายมันเป็นของวิเศษ เป็นของน่ารื่นรมย์ มีความสวยงามน่ารักน่าใคร่ ชวนหลงใหลอยู่กับรูปนั้น ๆ เป็นเครื่องมืออันสำคัญต่อความสำเร็จ ต่อความผิดหวัง ต่อความสมบูรณ์ ต่อความดี ต่อความชั่ว ต่อการสร้างสรรค์ ต่อการทำลาย ต่อภูมิ ต่อภพ ต่อชาติ ต้องอาศัยรูปนี้เป็นเครื่องมือให้เกิด มีการกระทำ ทั้งสร้าง ทั้งทำลายตัวเราและผู้อื่น ทุกคนจะหลงใหลในรูปที่สวย มีความงามสมส่วน ทั้งผิวพรรณที่หมดจด สีผิวที่ละเอียด ทุกคนจะไม่พึงพอใจในรูปกายที่บกพร่อง ตรงกันข้ามเสมอทุกคนรักในรูปกายของตนต่างก็ปรนเปรอด้วยอาหาร ด้วยเครื่องประทินโฉม ด้วยเครื่องประดับ ด้วยเสื้อผ้าอย่างสุดเหวี่ยง เพราะหลงใหลมันและเร่งเร้าอารมณ์ให้คนอื่นหลงใหล ทำให้ต่างคนต่างหลงอยู่ในรูปกายของตนเอง ให้ผู้อื่นลุ่มหลง จนไม่เสียดายในทรัพย์สินที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก ต่างก็ทุ่มเทจิตใจลงไปในก้อนอสุภะก้อนนี้ (สิ่งสกปรก เน่าเหม็น) โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ถูกกามมาบดบังมืดมิด คิดไม่ออก บอกไม่ฟัง ทั้ง ๆ ที่รูปกายนี้เราให้ความสนใจศึกษาน้อยเหลือเกิน เรายกให้เป็นเรื่องไม่จริงจังอะไร อยู่ไปใช้มันไป ทำกิจที่ต้องการไปไม่ว่างเว้นในแต่ละวัน เมื่อไม่เจ็บป่วยก็ใช้อย่างเดียว พร้อมบำเรออาหารตอบแทนให้มันอยู่รับใช้เรา ทั้งรักและหวงแหนมัน จิตมันคิดเช่นนั้น คิดอย่างนั้น คิดอยู่อย่างนั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2011 เมื่อ 20:33 |
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#217
|
|||
|
|||
ความจริงแล้ว ถ้าเราสนใจศึกษารูปกายนี้แล้วจะพบว่า ในกายเรามีแต่สิ่งสกปรก มีผิวหนังห่อหุ้มความเหม็นเน่าเอาไว้ทั้งภายในและภายนอก รูปนั้นประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ กระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มีน้ำหล่อเลี้ยงร่างกาย มีอากาศเข้าไปเผาผลาญอาหารให้เกิดความร้อน ที่เรียกว่า ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ทำให้ร่างกายดำรงอยู่และมีวิญญาณธาตุ (ธาตุตัวรู้สึก) *
ร่างกายจะเจริญด้วยอาหาร จากเด็กไปสู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาว เข้าสู่วัยชรา ซึ่งรูปกายนั้นเต็มไปด้วยสิ่งหมักหมมเน่าเหม็น ภายนอกก็เน่าเหม็นด้วยเหงื่อไคลในที่อับเหม็นเน่า ภายในเต็มไปด้วยความสกปรกทั้งน้ำเหลือง น้ำหนอง อาหารที่เน่าบูด ทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์ตัวเล็กตัวใหญ่ หลายร้อยหลายพันชนิดเกาะกินของเน่าเหม็นภายในร่างกาย จนเกิดโรคร้ายทำลายรูปกายให้เสื่อมสูญ มันทำลายอย่างต่อเนื่องสุดท้ายก็แตกดับ เราจะยังหลงอยู่หรือ ทำไมไม่ละวาง จิตเราติดยึดในสิ่งเน่าเหม็น เสียทรัพย์ไม่น้อยในการให้ความสำคัญต่อก้อนอสุภะที่ไม่น่ารื่นรมย์ มันอยู่กับเรา รับใช้เราอยู่ชั่วระยะอันสั้น ใช้รองรับอารมณ์ดีใจ เสียใจ โกรธ เกลียด รักชอบ สุข ทุกข์ อาฆาต พยาบาท อิจฉา ริษยา แก่งแย่ง ประทุษร้ายต่อกัน ทำความสำเร็จ ทำความผิดหวัง สับสนเวียนว่ายอยู่อย่างนี้ กระทำกรรมดี กระทำกรรมชั่ว เราจะใช้รูปกายนี้ไปในทางใดเมื่อมีเวลาที่มันรับใช้เราอยู่ ? จะให้รับใช้กรรมชั่วสร้างความทุกข์ทรมาน หรือจะให้รับใช้เราแสวงหา ศึกษาค้นหาทางแห่งความสงบ ความสุข ลองทบทวน คิดดู นึกคิดให้ลึกซึ้ง เมื่อเราเจ็บป่วยย่อมบอกเหตุแห่งการละจากไปของรูปกายนี้ ก่อนจากเราจะให้เขาทำอะไรอยู่ที่จิตเราคนเดียว จะเอาไว้เพื่อแสดงทุกข์อย่างนั้น หรือเอาไว้เพื่อแสดงผลของความสุข ต้องชั่งใจของเรา อะไรคือประโยชน์ อะไรคือโทษ ตัดสินใจเอาเอง จะใช้ร่างกายเพื่อให้จิตวิ่งเข้าหากามก็จะเดือดร้อนทุกข์ยากตลอด จะใช้เพื่อให้จิตวิ่งออกจากกามก็จะพบกับความสุข เราเดินได้ตามสิทธิในร่างกายของเรา ดูเหมือนจะยากในการจะทำความเข้าใจ ทำให้จิตยอมรับ มันขวางกระแสโลก อย่าทำตัวเป็นปลาตายลอยตามน้ำ ปลาเป็นต้องว่ายทวนน้ำ เมื่อจะค้นหาความสุขต้องสวนกระแสโลก มันจะเหนื่อย ต้องสู้กับกระแสความต้องการของจิต เพื่อให้ได้ตามความปรารถนา เมื่อถูกขัดขวางมันจะต่อสู้ดิ้นรน ทุรนทุรายเรียกร้อง (กระแสโลกีย์) คนเราเมื่อได้เกิดมามีตัวตน มีวิญญาณ เกิดมาแล้วรับทุกข์ทรมาน เกิดมาผจญกับความยุ่งยาก เกิดมารับความเศร้าหมอง เกิดมาอยู่กับความขัดแย้ง เกิดมาอยู่กับความวุ่นวาย เกิดมาอยู่กับการต่อสู้หาความสุขไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตได้มีโอกาสแต่ไม่รับโอกาส ไม่ให้โอกาสกับตน จิตไม่รับ จิตไม่ยอม ดูแล้วมันช่างโหดร้ายอำมหิตกับตนเองเหลือเกิน ที่เราสามารถออกจากความยุ่งยากในชีวิตได้ แต่ไม่ยอมออก น่าเศร้าเสียจริงที่เป็นเช่นนั้น ชีวิตต้องตกอยู่ในสภาพต้องเสื่อมสูญจากความสุขอันพึงมีพึงบังเกิดในชีวิต ขอจงเมตตากรุณาต่อตนเอง อย่าอำมหิตทำร้ายตนเอง จงมีหิริโอตตัปปะ อย่าใช้ก้อนอสุภะนี้ไปในทางที่ผิด ๆ นำแต่เรื่องเดือดร้อนมาให้ตลอดเวลาจนตาย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-02-2011 เมื่อ 15:25 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#218
|
|||
|
|||
อัศจรรย์โลกใบนี้...จบแล้วนะคะ ขออนุญาตกราบท่านพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ และท่านลุงจิตตพงศ์ ติถีสุขสวัสดิ์ หากหนูได้ทำการละเมิด กระทำการอันมิควรอันใดลงไปด้วยกาย วาใจและใจ โดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจก็ตาม หนูขอกราบเท้าขอขมาด้วยกาย วาจาและใจนะคะ และขอกราบเท้าในความกรุณาและเมตตาของทั้ง ๒ ท่านและเพื่อน ๆ ที่ติดตามอ่านและช่วยกันท้วงติงเพื่อให้ธรรมทานชุดนี้ได้ออกมาอย่างถูกต้อง กราบขอบพระคุณค่ะ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-02-2011 เมื่อ 15:26 |
สมาชิก 68 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|