|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#361
|
|||
|
|||
ต่อมาเมื่อมีพระเณรติดตามขอรับคำแนะนำจากท่านมากขึ้นทุกที ความเห็นใจที่ท่านเองก็เคยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เช่นนี้มาก่อนจึงทำให้ยอมรับภาระในที่สุด
“...ผมไม่ได้เคยคิดว่าได้เป็นครูเป็นอาจารย์ใครทั้งนั้นแหละ เพราะนิสัยไม่มีทางนั้น มีแต่จะเอา ๆ เรื่องของเจ้าของโดยเฉพาะ ๆ เหมือนไม่เคยที่จะไปสนใจไปสอนผู้ใดเลย เวลาปฏิบัติก็มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างเดียว ทีนี้เวลาพอลืมหูลืมตาได้บ้าง มันก็ไม่สนใจที่จะสอนใคร เสียอยู่อย่างนี้.. สบายดีว่างั้น เพราะฉะนั้น เวลาหมู่เพื่อนรุมไปกับผม ผมจึงขโมยหนีเรื่อยนะซิ อยู่คนเดียวสบายดี ไม่มีอะไรมากวน สบายดี มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้มันมากต่อมาก รุมเข้า ๆ ก็เลยเป็นอย่างนี้ อย่างที่เห็นนี่ แต่ไม่ได้เป็นกับนิสัยของเจ้าของนะ ก็อยู่ไปอย่างนั้นแหละ เพราะเห็นหัวใจแต่ละดวงนี้มีคุณค่า คิดถึงเรื่องเราเวลาเลือกคลานเกิดขึ้นมาเจอพ่อเจอแม่อยู่แล้ว ครูอาจารย์เราได้วิ่งหาแทบล้มแทบตาย ไปที่ไหนก็ไม่เหมาะเจาะในหัวใจ มันก็ต้องผ่านไป ๆ จนกระทั่งไปถึงที่เหมาะเจาะแล้วถึงทุ่มกันลง หมู่เพื่อนแสวงหาครูบาอาจารย์ก็คงเป็นอย่างเดียวกันนี้ นี่แหละ...เอามาบวก มาลบ คูณ หาร กันดูแล้ว เราทนอยู่ด้วยเหตุนี้นะ... เราก็ทนเพื่อหมู่เพื่อน เพราะหัวใจอยู่กับหมู่เพื่อนเท่านั้น ด้วยความเมตตาสงสาร เพราะการดำเนินทางด้านจิตใจนี้ เราเห็นโทษมาพอแล้ว สำหรับเราเอง เราเห็นคุณค่าของครูบาอาจารย์ที่คอยแนะนำสั่งสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ จากนั้นก็เอาเรื่องเหล่านี้แหละ มาพิจารณาเทียบเคียงถึงเรื่องหมู่เพื่อนทั้งหลายจึงทนนะ นี่นะ.. ผมทนเอาเฉย ๆ ‘ถ้าเป็นตามนิสัยของผมแล้ว นิสัยหมายถึงความชอบใจนะ เราไม่ได้ชอบใจเกี่ยวกับหมู่เพื่อนมีมาก ๆ นี่นะ’ นิสัยของเราเป็นมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เรื่องความอยู่คนหนึ่งคนเดียวตั้งแต่ปฏิบัติเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น .. เรื่อยมาอย่างนั้นจนกระทั่งพ่อแม่ครูอาจารย์มรณภาพไปแล้ว หมู่เพื่อนมารุมเกาะเรานี่ซิ... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-11-2016 เมื่อ 20:13 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#362
|
|||
|
|||
กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก “... กายวิเวก ความสงัดแห่งกายในสถานที่อยู่อาศัย ที่ไปที่มาตามบริเวณที่อยู่นี้ นับว่าเป็นสัปปายะ ความสบายพอสมควร จิตวิเวก ท่านผู้มุ่งให้เป็นไปเพื่อความสงัดภายใน ตามขั้นแห่งความสงบของตน ก็มีประจำจิตของท่านผู้บำเพ็ญพอสมควร ส่วนผู้เริ่มฝึกหัดใหม่ ๆ ยังไม่ได้จิตวิเวกภายในใจ จงพยายามบำรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้มีกำลัง ความวิเวกภายในค่อยปรากฏขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่ได้รับความวิเวกภายในพอประมาณแล้ว จงพยายามส่งเสริมให้มีความละเอียดเข้าเป็นลำดับ พร้อมทั้งปัญญาความรอบคอบในความวิเวกของตน และผู้มีธรรมยิ่งกว่านั้น จงรีบเร่งตักตวงความเพียรด้วยปัญญาให้เพียงพอ จะปรากฏเป็นอุปธิวิเวก ความสงัดจากกิเลสโดยสิ้นเชิงประจักษ์ใจขึ้นมาก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-11-2016 เมื่อ 20:46 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#363
|
|||
|
|||
พบปราชญ์กลางป่าเขา ราวปี ๒๔๙๓ หลังเสร็จสิ้นงานประชุมเพลิงหลวงปู่มั่น ท่านได้ไปพักอยู่กับท่านพระอาจารย์หล้า ขันติธโร (วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี) ในเขาลึกราวครึ่งเดือน ที่พักเป็นป่าเขา อาศัยอยู่กับชาวไร่ บิณฑบาตพอเป็นไปวันหนึ่ง ๆ เดินจากที่พักออกมาหมู่บ้านกว่าจะพ้นจากป่าก็เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ๒๐ นาที ถึงหมู่บ้านก็ร่วม ๔ ชั่วโมง ครั้งนั้นท่านได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์หล้า เกิดความซาบซึ้งจับใจในธรรมของท่านมาก ดังนี้ "... ท่านอาจารย์หล้าเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูมิลำเนาเดิมอยู่เวียงจันทน์ ท่านไม่รู้หนังสือเนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน นับแต่อุปสมบทแล้วท่านอยู่ฝั่งไทย มีหมู่คณะและครูอาจารย์ทางฝ่ายปฏิบัติมาก ท่านอาจารย์หล้าเริ่มฉันหนเดียว และเที่ยวกรรมฐานอยู่ตามป่าตามเขากับท่านพระอาจารย์มั่นและท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เริ่มอุปสมบท ไม่เคยลดละข้อวัตรปฏิบัติและความเพียรทางใจตลอดมา ... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-12-2016 เมื่อ 20:36 |
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#364
|
|||
|
|||
ท่านอาจารย์หล้าอธิบายปัจจยาการ คืออวิชชาได้ดี ละเอียดลออมาก ยากจะมีผู้อธิบายได้อย่างท่าน เพราะปัจจยาการเป็นธรรมละเอียดสุขุมมาก ต้องเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติภาคจิตภาวนามาอย่างช่ำชอง จึงจะสามารถอธิบายได้โดยละเอียดถูกต้อง เนื่องจากปัจจยาการหรืออวิชชา เป็นกิเลสประเภทละเอียดมาก ต้องเป็นวิสัยของปัญญาวิปัสสนาขั้นละเอียดเท่า ๆ กัน จึงจะสามารถค้นพบและถอดถอนตัวปัจจยการคืออวิชชาจริงได้ และอธิบายได้อย่างถูกต้อง ...
ท่านอาจารย์หล้ามีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว ท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลก ๆ ได้ดี คือพวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น พวกนี้เคารพรักท่านมาก ท่านว่าท่านพักอยู่ที่ไหน มักมีพวกนี้ไปอารักขาอยู่เสมอ ท่านมีนิสัยมักน้อย.. สันโดษมากตลอดมา และไม่ชอบออกสังคม คือหมู่มาก ชอบอยู่แต่ป่าแต่เขากับพวกชาวป่าชาวเขาเป็นปกติตลอดมา ท่านมีคุณธรรมสูง น่าเคารพบูชามาก คุณธรรมทางสติปัญญารู้สึกว่า ท่านคล่องแคล่วมาก ... เวลาท่านจะจากขันธ์ไป ก็ทราบว่าไม่ให้ใครวุ่นวายกับท่านมาก เป็นกังวลไม่สบาย ขอตายอย่างเงียบ.. แบบกรรมฐานตาย จึงเป็นความตายที่เต็มภูมิของพระปฏิบัติ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 22-12-2016 เมื่อ 16:16 |
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#365
|
|||
|
|||
พระอุปัชฌาย์ไปธุดงค์ด้วย ในช่วงเวลานี้ ภาระปัญหาธรรม ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ยังแก้ไม่ตก การแก้ปัญหานี้ต้องปลีกตัวภาวนาอยู่เพียงลำพังเท่านั้น จึงจะสะดวกต่อการพิจารณา แต่เรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม การออกธุดงค์ครั้งนี้ กลับมีความจำเป็นต้องให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ พระอุปัชฌาย์ของท่าน ร่วมเดินทางไปด้วยตามความประสงค์ของท่านเจ้าคุณ การร่วมเดินทางคราวนี้เกือบทำให้ท่านเจ้าคุณต้องเข้าใจผิดไป ท่านเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ... พรรษา ๑๖ เราย้อนกลับมา เข้าไปในภูเขา ไปอยู่ทางถ้ำผาดัก (อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) นั่นก็ป่าเสือ ที่นั่นก็ดี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านไปด้วยวันนั้น ท่านว่าเราขอไปด้วย โอ๊ย.. แล้วกัน ก็เราจะไปหาทำความเพียร ท่านก็เป็นอุปัชฌาย์เราด้วย ก็ต้องได้เป็นกังวล.. ก็เป็นจริง ๆ ทีแรกเราพักอยู่ในบริเวณศาลาเล็ก ๆ ท่านไปเยี่ยมอาจารย์หล้า ... ท่านอาจารย์หล้า ท่านอยู่องค์เดียว ท่านลึก ๆ ไปอาศัยพวกทำไร่ทำสวน อยู่ลึก ๆ ท่านเจ้าคุณก็อยากไปเยี่ยมท่าน ชวนเราไปด้วย เราจะไปลำพัง เราต่างหากนี่นะ ตกลงเราก็ต้องไป ก็ท่านเป็นอุปัชฌาย์เราจะว่าไง ไปแล้วมันก็ไม่สบายอย่างว่า เพราะจิตมันหมุนตลอดเวลา อยู่กับใครไม่ได้ นี่ละ ถึงขั้นมันจะไป ฟังเอาซิ จิต.. ถึงขั้นมันจะผึง จะไปแล้ว อยู่กับใครไม่ได้ แม้แต่อยู่กับพระด้วยกัน อย่างท่านเจ้าคุณกับเพื่อนฝูงด้วยกันยังอยู่ไม่ได้ เสียเวลา เหมือนน้ำไหลบ่า เดี๋ยวคิดกับองค์นั้น พูดกับองค์นี้ไม่ได้ มันจ่อเหมือนนักมวยเข้าวงใน หมุนติ้ว ๆ อยู่งั้นตลอดเวลา เว้นแต่หลับ พอตื่นก็ปุ๊บแล้ว.. เอากันแล้วตลอด ไม่ได้คิดถึงดินฟ้าอากาศที่ไหน ๆ มีแต่หมุนอยู่ภายในตลอด การขบการฉันไม่สนใจ ไปลำพังเจ้าของ อยากฉันเมื่อไรก็ฉัน ไม่อยากฉันหมุนติ้วตลอดเลย นี่เป็นความเพียรในระยะนั้น เรียกว่าความเพียรอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ หมุนตลอด ถึงขั้นมันจะไป... นี่ละ ธรรมเมื่อมีกำลังแล้วเป็นอย่างนั้น ถึงขั้นนี่แล้วไม่อยู่ จิตหมุนติ้ว ๆ อยู่กับใครไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราถึงหลบถึงหลีกหนีอยู่องค์เดียว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 10-03-2017 เมื่อ 23:23 |
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#366
|
|||
|
|||
พอเผาศพพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแล้วก็หลีกหนี หลบหนีเรื่อยไม่ให้ใครทราบนะ ไปไม่บอกใครเลย จะออกไปทางไหนไม่บอก ไปอยู่นี้ประมาณ ๒ อาทิตย์บ้างอะไรบ้าง เดี๋ยวพระเณรก็ตาม หลบหนีอีกแล้ว ไปอีกแล้วอยู่อย่างนั้น ก็ไปจนตรอกท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์ไปด้วย..
ก็เราจะไปนู้นแต่ท่านขอไปด้วยน่ะซี เราขโมยหนีจากหมู่เพื่อนแล้วมาโดดเดี่ยวคนเดียว ทีนี้จะเอาให้สุดเหวี่ยง มาก็มากราบท่านด้วยความเคารพเพราะท่านเป็นอุปัชฌาย์ มาอุดรฯ จะเผ่นไปทางอื่นเลยก็ไม่เหมาะ ไปกราบท่านก็ถาม "จะไปเที่ยว เอ้อ.. ถ้าจะไปทางนู้น ข้าจะไปด้วย" กูตาย เรา โอ๊ย.. ยังไง ท่านก็ไปด้วย ไปด้วยท่านก็ไปแบบของท่านละซิ แบบของเราต่างหาก แบบของท่านต่างหาก ครั้นเวลาไปแล้วมันไม่สะดวก นี่คือว่าอยู่กับใครไม่ได้ ทนไปกับท่าน ... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-01-2017 เมื่อ 16:08 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#367
|
|||
|
|||
อยู่นั่นเราไม่สบาย เพราะจิตมันหมุนเป็นธรรมจักร จะอยู่กับใครได้ ก็เลยออกจากนั่นมา อยู่นั่นก็ห่างอยู่นะ ท่านก็ยังวิตกกับเราอยู่ อยู่ห่าง ๆ นั้นก็ดี เป็นอย่างนั้นนะ ว่าเข้าไปอยู่ป่าเสือ จากนั้นมาเราก็ไปเที่ยวดูที่นั่นที่นี่ ไปเห็นนู่นเหมาะ... ป่าลึก ๆ โน่น ให้ญาติโยมเขาไปทำแคร่ให้เรียบร้อย เราไปทำภาวนาของเราที่นั่น จะมาฉันร่วมก็ตอนเช้า จากนั้นแล้วเราก็จะไปโน้น เราคิดว่างั้น เพราะจิตมันหมุนเป็นธรรมจักรตลอดเวลา พรรษา ๑๖ เดือน ๔ ระหว่างนี้มั้ง เดือน ๔ ละ เดือนมีนา เมษา อยู่ทางโน้น อยู่ในป่า
ถ้าอยู่คนเดียวนี้พุ่ง ๆ ตลอด ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จิตไม่มีคำว่าเผลอ สติปัญญาขั้นนี้แล้วไม่มีเผลอ หมุนกันตลอดเลยเหมือนนักมวยเข้าวงใน จะไปดูเวล่ำเวลา นาฬิกานาทีตีโมงที่ไหน นักมวยเข้าวงใน ถ้าไปดูก็ตาย..เข้าใจไหม ? อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสกับธรรม.. ฟัดกันเข้าวงในเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จักเป็นจักตาย หมุนติ้ว ๆ ... อยู่กับท่านมันไม่สะดวก ท่านก็คุยธรรมะ แต่เป็นธรรมะธรรมดาพื้น ๆ นั่นซี ไม่ใช่ธรรมะที่เราหมุนติ้ว ๆ มันก็เข้ากันไม่ได้ อยู่ที่นี่ก็ไม่สบาย ตอนค่ำคืนก็ต้องมาหาท่าน ถ้าเราไปอยู่ไกล ๆ นู้นกลางคืนเราไม่มา เราจะมาแต่ตอนเช้า เราจึงไปอยู่ทางนู้น เราก็ทำให้เขาทำแคร่ให้เล็ก ๆ อยู่ลึก ๆ ไกลจากท่านไป เรียกว่าเหมาะว่างั้นเถอะ เราจะมาฉันจังหันร่วมจากนั้นแล้วไม่มา ถึงเวลาฉันจังหันเราถึงจะมา เราคิดอย่างนั้นเพราะงานของเราไม่ว่าง ให้เขาทำแคร่ให้เสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็มา แล้วท่านก็ไปที่นั่นนะ เวลาเรามาที่พักของเราแล้ว ท่านก็พาโยมไป "ไหน..? มหาบัวไปทำแคร่ที่ไหน ?" ว่างั้น ให้โยมเขาพาไปดู ตอนค่ำเราอยู่แคร่ เรายังไม่ไป ทำเสร็จวันนั้นแหละแต่ยังไม่ไป ตอนค่ำลาท่านแล้ววันหลังจึงจะไป คิดว่างั้นนะ พอเรากลับมาท่านก็ไปดู เรามาหาท่านตอนค่ำ ทีนี้ท่านเปิดเผยแล้วนะ "ตั้งแต่อยู่ที่นี่เราก็วิตกกับเธอ ไปอยู่ป่าลึก" ก็ไม่เห็นลึก เพราะตอนเช้าตอนเย็นเราก็มาเกี่ยวข้องกับท่านอยู่ที่นี่นะ มันไม่สะดวกในงานของเรา เพราะฉะนั้นจึงหลีกไปโน้น จะมาเฉพาะตอนเช้าเท่านั้น เราคิดว่างั้น เวลาทำเสร็จแล้วท่านก็ไปดูแล้วกลับมา ตอนค่ำเราก็ไปหาท่าน คิดว่าจะลาท่านไปวันพรุ่งนี้ ว่างั้นนะ ท่านว่า "เราก็ไปดูที่เธออยู่นะบัว ที่เดิมนี้มันก็เปลี่ยวพอแล้วบัว ยิ่งไปอยู่นั่น โอ๊ย.. เราวิตกนะบัว น่ากลัวนะบัว อย่าไปเถอะ" ว่าอีกแหละ อู๊ย.. เรายังไงกัน ท่านก็อยู่ตามสภาพของท่าน กับสภาพของเรามันต่างกัน "โอ๊ย อย่าไปเถอะบัว เราเป็นห่วงเธอ นั่นป่าจริง ๆ นะนั่น พวกสัตว์ พวกเสือ น่าเป็นห่วงนะบัว อย่าไปเถอะ" ท่านเปิดออกแล้วนะ ก็เราจะฝืนท่านยังไงได้...ใช่ไหมล่ะ ตกลงเลยไม่ได้ไป ไปทำร้านไว้เฉย ๆ อันนี้จิตมันหมุนอยู่ตลอด มันอยู่ไม่ได้ หลายครั้งนะ ลาท่านไปที่นั่นที่นี่ ท่านก็มีอุบายพูดอย่างนั้นตลอด เราก็ทนไม่ได้ เราก็ลาหลีกไปนั่นหลีกไปนี่ ก็จับละซิ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 13-01-2017 เมื่อ 18:53 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#368
|
|||
|
|||
พอครั้งที่สาม เราจะขอไปอยู่ในเขาลูกนี้ ชี้ไป เห็นภูเขา เขาว่ามีสถานที่ดีอยู่ พอลาครั้งที่สามท่านเปิดเลยนะ "เออ...บัวเอ๊ย เรามาอยู่กับเธอนี่ เธอเป็นกังวลกับเรา เธอไม่สะดวก เราไปแล้วเธอจะสะดวกสบายแหละ"
เราไม่รู้จะว่าอย่างไร ก็เรามันอยู่ไม่ได้ มันหมุนตลอด จากนั้นเราก็หาอุบายลาหนีออกไปเลย ท่านก็เลยว่า "เออ...มหาบัวอยู่กับเรานี่ไม่สะดวกสบาย เป็นอย่างไรนะ" ท่านพูดกับโยมท่านอาจารย์หล้านะ "มหาบัวมาอยู่กับเรา รู้สึกดิ้นทางนู้นทางนี้เรื่อย ท่านไม่รู้เรื่องของเรานะ อยู่กับเราไม่ค่อยสนิท มักจะไปที่นั่น มักจะไปที่นี่ เป็นยังไงนะ...มหาบัว" ท่านรู้สึกจะมีอะไรกับเรา แต่เรามันหนักในทางนี้ ไม่เป็นกังวล เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องโลก ๆ เรื่องของเราเป็นเรื่องธรรมล้วน ๆ หนีจากท่านเสียจนได้ พอเราหนีมาแล้วไม่กี่วัน ท่านก็หนีมา มาก็มาพูดอยู่ทางวัดโพธิสมภาร พูดให้พระกรรมฐานฟัง ท่านไม่พูดกับประชาชนแหละ ท่านไม่รู้เรื่องของเรา ทีแรกท่านคิดจะยกโทษเรานะ "มหาบัวอยู่กับเราไม่เป็นสุข เป็นอย่างไรไม่รู้นะ เดี๋ยวลาไปนั้น เดี๋ยวลาไปนี้ ลาอยู่อย่างนั้น เป็นอย่างไรอยู่กับเราอยู่ไม่ติด เหมือนจะรังเกียจเราอะไร จนกระทั่งเราให้ไปก็ไปเลย ไม่เป็นสุข มหาบัวเป็นอย่างไรนะ" พอดีไปคุยกับพระที่เคยคุยธรรมะกับเรา เป็นพระกรรมฐานที่เคยคุยธรรมะกับเรา ท่านเล่าเรื่องเป็นลักษณะที่ว่าไม่พอใจในเรา ว่าเราอยู่กับท่าน.. เราไม่พอใจ คงเป็นอย่างนั้น ... พระองค์นั้นก็เราเคยเล่าให้ฟัง แล้วนี่ท่านเลยเล่าให้ฟังทีนี้นะ "โอ๊ย.. ท่านไม่รังเกียจ ท่านเล่าเรื่องความเพียรให้ฟัง เวลานี้ท่านกำลังพิจารณาอย่างนั้น ๆ ธรรมะของท่านกำลังเร่ง ท่านอยู่กับใครไม่ได้ ท่านหลีกหนีมา ๆ มีแต่หลักอันเดียว ท่านหลบหลีกจากหมู่จากเพื่อนตลอด เพื่องานของท่านสะดวกสืบต่อเป็นลำดับลำดา ไม่ขาดวรรคขาดตอน ความเพียรของท่านเต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่ลาไปที่นั่นที่นี่คงจะเป็นเพราะการภาวนาของท่านเร่ง นี่ท่านมากับพระเดชพระคุณ ท่านอาจจะเป็นห่วงความเพียรของท่าน ท่านถึงไปที่นั่นที่นี่" "หือ ๆ ? ท่าน (เจ้าคุณธรรมเจดีย์) จ่อฟังนะ เรื่อยเข้าไปนะ จ่อเข้าไป พระองค์นั้นก็เลยเล่าเรื่องธรรมะของเรา ธรรมะประเภทนี้ท่านเลยเล่าให้ฟัง แล้ว ท่านไม่มีวันคืน ท่านอยู่กับใครไม่ได้ ท่านต้องหลีกไปอยู่องค์เดียวของท่านอย่างนั้น "หือ ๆ ?" จ่อเข้าเรื่อยนะทีนี้ เป็นอย่างนั้นแหละ "อ๋อ เพราะฉะนั้น เธอถึงอยู่กับเราไม่ติด ไปอยู่กับเรา... เธอไปทำที่อยู่ลึก ๆ เราก็เป็นห่วงอยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังโดดไปโน้นอีก ไปภูเขาลูกโน้นลูกนี้อีก อ๋อ.. อย่างนั้นเอง" ทีนี้ลงใจนะ อ๋อ ๆ เป็นอย่างนั้นเอง พระองค์นี้เราเคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านอยู่กับใครไม่ได้ ท่านหลีกหนีจากหมู่จากเพื่อนตลอดเวลา มานี้มากับพระเดชพระคุณท่านก็มา มาด้วยความจำเป็นท่านก็มา พระเลยเล่าให้ฟัง แต่ท่านก็อดคิดเรื่องงานของท่านไม่ได้ ต้องหลีกต้องเว้น "เออ.. อย่างนั้นหรือ ? เราไม่รู้ อ๋อ.. เป็นอย่างนั้นเอง" ทีนี้พอเรากลับมาคราวหลังนี่ ขอโทษเรานะ "เออ.. บัว ตอนเธอไปอยู่กับเรา เราได้คิดผิดกับเธอมามาก ว่าเธอรังเกียจเราอะไรต่อมิอะไร เราเข้าใจผิด นึกว่าเธอรังเกียจ เราอดคิดไม่ได้นะ อยู่กับเราไม่เป็นสุข เดี๋ยวลาไปนู่น เดี๋ยวลาไปนี่ ๆ ไม่รู้กี่ครั้ง ที่นี้พระมาเล่าให้ฟังแล้ว เราพอใจ ๆ เราขอโทษนะบัว ขอโทษเธอนะ" "หโอ๊ย.. จะเป็นไร" เราก็ว่าอย่างนั้น ทีนี้ท่านเห็นโทษของท่านนะ ที่ว่าเราอยู่ไม่ได้ อย่างนี้เพราะความเพียรเป็นอย่างนั้น ๆ ท่านเปิดออกมาเลย (ตอนนั้น) โน่นอยู่ในเขา ทางที่ว่าไปถ้ำผาดัก ลงจากนั้นแล้วก็มาอยู่ตีนเขา ลาท่านเจ้าคุณมา ท่านเอาไว้ไม่อยู่ว่าอย่างนั้นเถอะนะ จะอยู่ได้อย่างไร มันหมุนติ้ว ๆ ก็มาขัดหัวอกที่นั่น หายจาก (โรคเจ็บขัดในหัวอก) แล้วถึงได้มาสกลนคร แล้วขึ้นวัดดอยธรรมเจดีย์ (ต่อไป) ..." แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2017 เมื่อ 02:55 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#369
|
|||
|
|||
หลังจากที่ท่านได้ลาจากท่านเจ้าคุณไป ในระยะนั้นความต่อเนื่องทางความเพียรจึงมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวถึงปัญหาหนึ่งของบรรดาพระกรรมฐาน เกี่ยวกับการออกเที่ยวธุดงค์ในสมัยนั้น มักได้รับผลกระทบจากพระฝ่ายปกครอง แต่สำหรับท่านเองกลับไม่เคยพบปัญหาเช่นนี้เลย ดังนี้
"... ออกปฏิบัติกรรมฐานไปองค์เดียวตลอดเลย .. ตามธรรมดาแต่ก่อนพวกการปกครองไม่ได้แยกกัน ธรรมยุตกับมหานิกาย เจ้าคณะนั้นเจ้าคณะนี้เห็นกรรมฐานไปนี่ โหย.. ถูกไล่ถูกขนาบ พวกนี้อวดก้ามอย่างนั้นละ แต่กับเราไม่เคยถูกไล่นะ เราไปองค์เดียวอย่างนั้นละ หรือหลักธรรมวินัยก็เรียนมาเต็มที่ทุกอย่าง อะไรผิดถูกประการใดก็รู้ แต่เราไม่เคยถูกขับแหละ ส่วนมากพระกรรมฐานไปมักจะถูกขับถูกไล่ แต่เรานี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนไม่เคยมี สถานที่ว่าเก่ง ๆ เราไปก็ไม่เห็นมี คงเป็น "มหา" นี่ละ เป็นกำแพงทำให้ไม่กล้า ไม่เคยมี ไปอย่างนั้นตลอดองค์เดียว..." สำหรับพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง แม้จะเป็นพระในฝ่ายปกครอง แต่ท่านมีความเข้าใจชีวิตพระธุดงค์กรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง และยังให้การอุปถัมภ์คุ้มครองช่วยเหลือพระกรรมฐาน ให้ได้รับความสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรมจนตลอดชีวิตของท่านเลยทีเดียว องค์หลวงตากล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะท่านเจ้าคุณพระอุปัชฌาย์มีความเคารพบูชาและเกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อยแล้ว ดังนี้ " ... เจ้าคุณพระอุปัชฌาย์ของเรา ท่านเป็นธรรมทั้งแท่งเลยนะ เพราะท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านบอกว่า... "นี่...เณรจูม ดูมันหูกาง ๆ ลักษณะมันจะเป็นผู้ใหญ่ได้ เอาไปเรียนหนังสือเสีย ให้มันได้มาเป็นผู้ใหญ่ให้ความร่มเย็นแก่ผู้น้อย แล้วท่านอาจารย์มั่นก็ไปฝากที่วัดเทพศิรินทราวาส กว่าจะเป็นพระมหาจูม สอบเท่าไรก็ตก ตกเท่าไรก็สอบ จนเขาเรียกท่านว่า "มหาจูมหนังสือเน่า" พอได้มาเป็นเจ้าคณะมณฑลก็อยู่ให้ความร่มเย็นแก่หมู่คณะมาโดยตลอด เป็นอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นว่าไว้จริง ๆ ..." แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 10-02-2017 เมื่อ 11:40 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#370
|
|||
|
|||
ป่วยหนัก ... รักษาด้วยธรรมโอสถ คราวหนึ่งในระยะไล่เลี่ยกัน ท่านไปพักวิเวกทางบ้านกาหม-โพนทอง ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอบ้านผือ (จังหวัดอุดรธานี) กับอำเภอท่าบ่อ (จังหวัดหนองคาย) ต่อเขตต่อแดนกัน มีแม่น้ำทอนเป็นเขตแดน ชาวบ้านเล่าว่า ในครั้งนั้นท่านวิเวกมาพักวัดร้าง* ห่างป่าช้าประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร สมัยนั้นเป็นป่าดงดิบบริบูรณ์มาก มีสัตว์ป่าชุกชุมจนเป็นที่หลบหลีกของเหล่านักเลง ที่ขโมยปล้นจี้หนีอาญาแผ่นดิน เลยป่าช้าไปเล็กน้อยเป็นบ้านหนองกระด้ง หนองกระติ้ว ซึ่งท่านก็เคยแวะพักเช่นกัน เมื่อท่านมาพักภาวนาอยู่ในป่าแห่งนี้ ชาวบ้านหมู่บ้านกาหม-โพนทองจำนวนมากต่างพากันล้มป่วย ด้วยโรคเจ็บขัดในหัวอกดาดาษกันไปหมดเหมือนโรคอหิวาต์หรือฝีดาษ ถึงขนาดที่วันหนึ่ง ๆ เป็นกันตายกันวันละ ๓ - ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้าง บางวันก็มีถึง ๗ - ๘ คนบ้าง เขาก็ไปนิมนต์ท่านมาสวดกุสลาฯ มาติกาบังสุกุลให้คนตายเพราะแถวนั้นไม่มีพระ วันทั้งวันมีแต่กุสลาฯ มาติกาฯ อุทิศส่วนบุญให้คนตายไม่หยุดหย่อน เดี๋ยวมีคนนั้นตายแบกเข้ามาแล้ว สักพักเดี๋ยวแบกเข้ามาใหม่อีกแล้ว ท่านจึงไม่ได้หนีห่างจากป่าช้าเลย จนสุดท้ายโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนมากมายนี้ก็มาเป็นขึ้นกับตัวท่านเอง อาการของโรคเจ็บเหมือนกับเหล็กแหลนหลาวทิ่มแทงประสานกันเข้าไปในหัวอกในหัวใจ จะหายใจแรงก็ไม่ได้ ยิ่งถ้าหากว่าจามด้วยแล้วแทบจะสลบไปในตอนนั้นเลยทีเดียว เมื่ออาการเกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้ท่านทราบได้ทันทีว่า ถ้าขืนเป็นเช่นนี้แล้วไม่นานคงต้องตายอย่างแน่แท้ เพราะแม้แต่การหายใจก็จะไม่ได้ มันคับเข้าแน่นเข้าเรื่อย ๆ หายใจแรงแทบไม่ได้เลย เมื่ออาการเช่นนี้ปรากฏขึ้น ท่านจึงบอกชาวบ้านว่าเป็นโรคแบบเดียวกันนี้แล้ว ต้องขอหลบตัว ท่านเล่าว่า ระยะนั้นจิตของท่านละเอียดมากทีเดียว เรื่องร่างกายเป็นอันว่าปล่อยวางกันไปหมดแล้ว.. ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่นามธรรม ความคิดความปรุงที่ฟัดเหวี่ยงกันอยู่ตรงนั้น จิตก็รู้สึกละเอียดมาก ผ่องใสมาก กล้าหาญมาก ------------------------------------------------------------------------------------- * ปัจจุบันเป็นทุ่งนา มีเพียงต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์หรือร่องรอยไว้ ป่าช้าเดิมได้ขยับขยาย ปัจจุบันโล่งเตียนเป็นพื้นโดยการฝันน้ำจากฝายน้ำทอนที่ไหลสู่แม่น้ำโฮงและแม่น้ำโขงตามลำดับ บ้านกาหม (เดิมเรียกบ้านกาโฮม หรือกาหม-โพนทอง เพราะมีฝูงกามานอนเป็นจำนวนมากที่ดงแห่งนี้) อยู่ใกล้บ้านโพนทอง ห่างกันประมาณ ๘ กิโลเมตร เดิมทั้งสองหมู่บ้านอยู่ติดกัน แต่เกิดน้ำท่วมจึงย้ายหมู่บ้านห่างกันออกไป แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-02-2017 เมื่อ 13:46 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#371
|
|||
|
|||
จากนั้นท่านก็เก็บตัว พักที่ป่ากอไผ่ที่เชิงภูเขา เมื่อโรคเจ็บขัดหัวอกนี้ได้ปรากฏขึ้นก็ทำให้ท่านชักจะรวนเร จึงพิจารณาว่า
“ ... เออ ! คราวนี้เราจะไปตายเสียแล้วเหรอ ในเวลานี้เรายังไม่อยากไป เพราะในหัวใจถึงจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม แต่ก็รู้อยู่ว่าจิตนี้ยังไม่ได้เป็นอิสระ ยังมีอะไรอยู่ในจิต หากว่าตายไปในตอนนี้ ก็แน่ใจในภูมิของจิตภูมิของธรรมว่าจะต้องไปเกิดในที่นั้น ๆ ยังไงก็ต้องค้างอยู่ ยังไม่ถึงที่ เหล่านี้ทำให้วิตกวิจารณ์ว่า ‘ยังไม่อยากตาย’ เพราะจิตยังจะค้างอยู่ในชั้นใดชั้นหนึ่ง ในความรู้สึกยังมีอาลัยอาวรณ์อยู่แต่ใช่กับชีวิต เป็นความอาลัยอาวรณ์อยู่กับมรรคผลนิพพานที่คนต้องการจะได้...” แต่ด้วยเหตุที่โรคมันบีบบังคับตลอดเวลา ทำให้ท่านต้องหมุนกลับมาพิจารณาย้อนหลังว่า “ไม่อยากตายก็ต้องได้ตาย เมื่อถึงกาลมันแล้วห้ามไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นคติธรรมดา.. ยุ่งไปทำไม เรื่องทุกขเวทนานี้ก็เคยผ่าน เคยรบมาด้วยการนั่งหามรุ่งหามค่ำ นั่งตลอดรุ่ง แม้ทุกขเวทนามากแสนสาหัส ก็เคยได้ต่อสู้จนได้ความอัศจรรย์มาแล้ว โรคนี้ก็เป็นทุกขเวทนาหน้าเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน จึงถอยไปไม่ได้” มีชาวบ้านยกทั้งบ้านพากันไปเยี่ยมท่านเป็นร้อย ๆ ท่านก็ให้เขากลับหมด ไม่ให้ใครมายุ่งเลย จะเหลืออยู่ก็แต่ผู้เฒ่าคนหนึ่งเท่านั้น แกแอบซุ่มดูท่านอยู่ตลอดทั้งคืนด้วยความเป็นห่วงที่กอไผ่ในป่าใกล้ ๆ กันนั้นโดยไม่ให้ท่านรู้ตัว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-02-2017 เมื่อ 16:19 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#372
|
|||
|
|||
ท่านตั้งใจจะขึ้นเวทีต่อกรกับทุกขเวทนาของโรคในคืนนี้ ชนิดจะให้ถึงเหตุถึงผล ถึงพริกถึงขิง ถึงเป็นถึงตายเลยทีเดียว จากนั้นก็เข้าที่นั่งภาวนา โหมกำลังสติปัญญา.. หมุนเข้าพิจารณาทุกขเวทนาในจุดตรงกลางอกที่กำลังเจ็บเสียดแทงอยู่นี้ ท่านเล่าไว้ดังนี้
“ ... พิจารณาทุกขเวทนาในหัวอกนี้ว่าเป็นยังไง ? เกิดขึ้นจากอะไร ? เสียดแทงอะไร ? เวทนาเป็นหอกเป็นหลาวเมื่อไรกัน ? มันก็เป็นทุกข์ธรรมดานี่เอง ทุกข์นี้ก็เป็นสภาพอันหนึ่ง เป็นของจริง... ค้นกันไปมาไม่ถอย เป็นตายไม่สนใจ สนใจแต่จะให้รู้ความจริงในวันนี้เท่านั้น พิจารณาดังนี้ ทุกขเวทนามันมากเท่าไร มันแทงในหัวอก สติปัญญายิ่งหมุนติ้ว ๆ สู้ไม่ถอยจากหัวค่ำจนกระทั่งถึง ๖ ทุ่มกว่า พอเต็มที่เห็นประจักษ์ เวลาถอนนี้.. ถอนอย่างประจักษ์เช่นเดียวกับทุกขเวทนาจากการนั่งตลอดรุ่ง จิตรอบด้วยปัญญา ทุกขเวทนาแบบเดียวกัน ถอนออก ๆ กำหนดตามกัน ๆ ถอนออกจนโล่งหมดเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ โล่งหมดในหัวอกนี่ สุดท้ายก็เหมือนกับว่าร่างกายไม่มี ว่างไปหมดเลย พักดูความอัศจรรย์ของจิต เมื่อทุกขเวทนาดับไปหมดแล้ว มีแต่ความว่างของร่างกาย จากนั้นก็เป็นความว่างของจิต กายหายเงียบ เมื่อจิตมันพอตัวได้กำลังแล้วก็ยิบแย็บ ๆ ถอยออกมา ๆ จิตก็ยังว่าง ร่างกายแม้จะมีอยู่แต่ไม่มีเจ็บมีปวด ไม่มีเสียดมีแทงในหัวอกอย่างที่เคยเป็นมาเลย จึงแน่ใจว่าไม่ตายแล้วทีนี้ โรคนี้หายไม่ยากอะไรเลย แก้กันด้วยอริยสัจ พอหลังจากนั้นแล้วก็ลงเดินจงกรม เอาตะเกียงแก้วครอบเล็ก ๆ ภาคอีสานเขาเรียกตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ จุดไว้ข้างนอกมุ้งโน้น... ตั้งแต่ต่อสู้กันอยู่โน้นนะ จุดไว้แล้วก็เข้าที่ละ มองเห็นไฟอยู่นอกมุ้งโน้น ไม่ได้เอาเข้ามาในมุ้ง จากนั้นก็ลงเดินจงกรม โอ๋ย.. เดินก็ตัวปลิวไปเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-02-2017 เมื่อ 21:04 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#373
|
|||
|
|||
ท่านเดินจงกรมตลอดรุ่ง คืนนั้น ท่านจึงไม่ได้นอนเลย เมื่อแสงอาทิตย์สว่างพอรำไร ผู้เฒ่าที่แอบอยู่ข้างกอไผ่ก็ปุบปับออกมาด้วยความดีใจ ท่านเห็นผู้เฒ่าจึงทักว่า
“เอ้า โยมมาทำไมล่ะ ?” “โห ผมนอนอยู่นี้ ข้างกอไผ่นี่” แกว่า “เอ้า นอนทำไม ? ก็บอกให้ไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้” “โอ๊ย ผมไม่ไป ผมกลัวท่านจะตาย ผมคอยแอบอยู่นี้ ผมก็ไม่ได้นอนเหมือนกันทั้งคืน ไฟของท่านสว่างตลอดรุ่ง เห็นท่านมาเดินจงกรม ผมก็ดีใจบ้าง” การพิจารณาทุกขเวทนาจากการป่วยคราวนี้ ท่านเคยยกเอามาเป็นตัวอย่างสอนพระให้รู้หลักว่า “ ... ทุกขสัจนี้เป็นเหมือนหินลับปัญญานะ ถ้าเราพิจารณาแบบพระพุทธเจ้าสอน แบบอริยสัจเป็นของจริง ๆ เรื่องทุกขเวทนานี้เป็นหินลับปัญญาให้คมกล้า .. เวลาพิจารณาแล้วแก้ถอนกัน มันก็ถอนให้เห็นชัด ๆ นี่นะ .. มันแก้กันได้ด้วยอริยสัจ ปัญญาพิจารณากองทุกข์ แยกแยะกันกับร่างกายของเราออกให้เห็นอย่างชัดเจน ดังที่เราเคยปฏิบัติมาในสมัยที่นั่งหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้ผิดกันเลย แต่เรื่องสติปัญญาต้องขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เราจะไปเอาเรื่องเก่าเรื่องที่เคยเป็นมามาปฏิบัติไม่ได้... เรื่องแก้กิเลส แก้อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง แก้ทุกขเวทนานี้ มันต้องสด ๆ ร้อน ๆ ... อย่าให้เกิดขึ้นมาด้วยการคาดการหมาย มันถึงแก้สด ๆ ร้อน ๆ จริง ๆ ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-08-2017 เมื่อ 19:03 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#374
|
|||
|
|||
ผีปอบสาว หลังจากหายโรคเจ็บขัดในหัวอกด้วยธรรมโอสถแล้ว ท่านก็ไปที่วัดป่าสุทธาวาส ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องผูกพันไว้กับพระอุปัชฌาย์อีก ดังนี้ “... ท่าน (เจ้าคุณธรรมเจดีย์) ก็ไล่ไปสกลนคร เราก็จะไปสกลฯ อยู่แล้ว เราจะไปตามสบายของเรา ท่านผูกพันมากนะ ท่านให้ไปบวชหมอเจริญ วัฒนสุชาติ* ตอนนั้นเขาเรียนแพทย์ ให้ไปสวดกรรมวาจาให้เขา ท่านจะไปบวช แล้วให้เราไปสวดกรรมวาจา ให้รอท่านอยู่วัดสุทธาวาส ...” เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นช่วงเวลาที่ท่านกลับมาพักวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร อีกครั้งหนึ่งภายหลังงานประชุมเพลิงหลวงปู่มั่นเสร็จสิ้นลง เพื่อร่วมงานบวชตามประเพณีของคุณหมอเจริญ ในช่วงเวลานั้นมีหญิงสาวนางหนึ่ง ได้เข้ามาพูดคุยสนทนากับหมอเจริญ โดยท่านเองก็ได้ร่วมฟังเรื่องราวในครั้งนี้ด้วย ดังนี้ “... อย่างเขาว่าเป็นปอบเป็นผีก็เหมือนกัน คนนั้นเป็นปอบ คนนี้เป็นปอบ มันมีผีมาสิงอยู่ในคน.. เขาเรียกปอบ เอ๊.. ชื่อว่าอะไรนาหญิงคนนี้ หมอเจริญซักเอาเสียจนตาแห้ง นั่งดูหญิงคนนั้น หมอเจริญน่ะ เป็นนักเรียนแพทย์ปัจจุบัน อยากรู้ชัด ๆ เป็นยังไงแน่ แกก็เล่าให้ฟังจริง ๆ โห.. แกเล่าอย่างอาจหาญนี่ นั่นเหมือนกับอ้าปากด้วย ลืมตาไม่หลับด้วย อ้าปากด้วย คือแกพูดมันน่าฟัง ถ้าวันไหนมันหิว มันดิ้นอยู่ในนี้ เจ้าของจะรู้สึกรำคาญ ว่างั้น ปอบส่วนมากมันจะออกทางตา แพล็บ ๆ ทางตาแล้วก็ไปแล้ว ทางเจ้าของนี้ก็คอยร้อนใจละซิ กลัวว่ามันจะไปกินใครเข้า ถูกหมอ.. เขาเก่ง เขาไล่ติดตามผีมา ก็มาหาทางเรา ถ้าคนไล่ผีไม่เก่ง คนไล่ผีไม่รู้ มันก็กินคน พอมันกินอิ่มแล้วก็กลับมาหาคน กลับมาหาเจ้าของนั่นแหละ มาเข้าเจ้าของ เข้าทางหูบ้าง เข้าทางตาบ้าง.. แว้บเดียว ทีนี้ก็จะรู้สึกง่วงนอนทั้งวัน ถ้ามันได้ไปกินอิ่ม ๆ มาแล้วจะง่วง.. นอนทั้งวันเลย แต่ถ้ามันหิวแล้วเจ้าของก็จะรู้สึกกระวนกระวาย คือมันกวนอยู่ภายใน ครั้นถ้าออกไปกิน เขาก็ถูกเขาไล่ละซิว่า ‘อีนี้เป็นปอบ อีนั้นเป็นปอบ’ เขาไล่ตามมาก็มาโดนเอาเราเข้า เหตุที่จะเป็นปอบก็เพราะแกไปสักว่าน เขาเรียกว่านกระจาย สักอยู่บนหัวนี่.. ให้เขาสักว่านให้ที่กระหม่อม แล้วอยู่ยงคงกระพันด้วยนะ เมื่อสักว่านแล้ว แทงก็ไม่เข้า ฟันไม่เข้า ปืนยิงไม่ออก... นั่นละเหตุที่จะมาเป็นปอบก็เพราะว่านอันนี้ คือรักษาไม่ได้ แกว่ามีวิชาที่ขัดกันกับสิ่งนี้ เช่นกินของดิบอย่างนี้นะ ถ้าหากกินเนื้อดิบปลาดิบอย่างนี้เข้าไป มันจะขัดกับวิชานี้ ถ้าขัดแล้วก็ทำให้เป็นปอบได้ ถ้าไม่ขัดก็ไม่เป็นอะไร สิ่งที่ทำให้ขัดกันก็เช่น ไม่ให้กินเนื้อหรือไม่ให้กินปลาดิบ หรืออย่างลาบเลือด หรือเครือกล้วยก็ห้ามไม่ให้ไปลอด นี้ก็ไปลอดไม่ได้..มันผิด นี่ละที่แกเล่าให้ฟัง เราก็ฟังดูเหมือนกัน เอ๊.. พิลึก ที่วัดป่าสุทธาวาสนี่ละ เรากำลังจะไปวัดดอยธรรมเจดีย์กับหมอเจริญ หมอเจริญกำลังจะบวช ให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ไปบวช... แกบวชให้แม่ แม่ขอก็เลยบวชให้ ก็พอดีผู้หญิงคนนั้นแกมาคอยรถอยู่ที่หน้าวัด แต่ก่อนรถไม่ค่อยมีแหละ มาที่กุฏิ พวกนี้ก็นั่งอยู่นั้น แกมาก็เลยพูดกันไปพูดกันมา จึงได้รู้ว่าแกเป็นปอบ ‘ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่เหรอ’ เป็นอยู่แกว่างั้นนะ ‘ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ยังแก้ไม่ตก เพราะว่านเขาสักไว้กระหม่อมนี้ แล้วไปทำผิดเลยกลายเป็นปอบไป...’ … ถ้าหมอเขาเก่ง ๆ มันไปกินใครอย่างนี้ เขาไปขับผี พอจับมัดได้แล้ว เอาเชือกนะมัด เขาเรียกเชือกปะกำ เป็นเชือกวิชา เมื่อเขามัดผูกนี้ไว้แล้วมันก็ออกไม่ได้ จากนั้นเขาก็ซักถามซิ ‘เป็นใคร ? มาจากไหน ?’ เป็นนั้นชื่อว่าอย่างนั้น ๆ ‘แล้วใครเป็นเจ้าของ ?’ มันก็ชี้บอกเจ้าของ ‘ยายนี้แหละ’ คนยังสาว ๆ อยู่นะ ไม่ใช่ยายอะไรแหละ หมอเจริญนี้เชื่อเลย... โอ้โห.. ! วิชามันแปลกนะ เอาไปคิดแหละ พวกหมอแผนปัจจุบันนี่นะ สิ่งเหล่านี้เขาไม่เชื่อว่ามี ทีนี้หมอเจริญนี่แหละเชื่อ ไปเห็นแล้วไม่เชื่อได้ยังไง เพราะเขาพูดเป็นตุเป็นตะ พูดเป็นหลักความจริง หลักฐานพยานก็สักอยู่บนกระหม่อมเขา ก็บอกว่าสักอยู่ตรงนี้ นี่ละตัวมันพาเป็นเหตุ ก็มีหลักฐานพยานอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะไม่เชื่อได้ยังไง มันกินคนเขาก็บอกว่ามันไปกินคน...” ภายหลังเสร็จงานบวชคุณหมอเจริญแล้ว ท่านก็ออกเดินทางขึ้นภูเขาหลังวัดดอนธรรมเจดีย์ในทันที ............................................................ * คุณหมอเจริญ วัฒนสุชาติ ต่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-08-2017 เมื่อ 12:55 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#375
|
|||
|
|||
คืนแห่งความสำเร็จ น้ำซับน้ำซึม ด้วยสติปัญญา ในระยะนั้นองค์หลวงตากล่าวถึง.. ความเพียรในการบำเพ็ญจิตตภาวนาของท่านว่า เป็นไปเองโดยไม่ต้องได้บังคับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาวนามยปัญญา อันเป็นสติปัญญาที่หมุนตัวเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการบังคับบัญชาในเรื่องความพากความเพียรเลย กลับต้องได้รั้งเอาไว้ มิเช่นนั้นแล้วสติปัญญานี้จะทำงานจนเลยเถิด ด้วยเพราะเห็นโทษแห่งวัฏจักรอย่างถึงใจนั่นเอง ใจจึงมีกำลังมากที่จะถอนตัวออกจากทุกข์อย่างเต็มเหนี่ยว โดยไม่มีคำว่าตายเลย ท่านกล่าวว่า “... นี่สติปัญญาขั้นนี้ก้าวแล้ว ทีนี้เบิกกว้าง ๆ ออกเรื่อย ๆ เรื่องกิเลสตัณหา วัฏจักรวัฏวนหมุนภายในดวงใจนี้ เหมือนกับว่ามันหดย่อเข้ามา ๆ ทางเบิกกว้างที่จะหลุดพ้นจากทุกข์เบิกกว้างออก ๆ สติปัญญาหมุนตัวเป็นธรรมจักร นี่เรียกว่าธรรมทำงาน ธรรมมีกำลัง ย่อมหมุนตัวกลับเหมือนกันกับกิเลสที่มันมีกำลังหมุน หัวใจของสัตว์เป็นวัฏจักรไปตาม ๆ กันหมด ไม่ว่ากิริยาใดของกิเลสที่มันแสดงตัวออกมา มันทำงานเพื่อวัฏจักรของมันทั้งนั้น ๆ ทีนี้เมื่อสติปัญญาอันเป็นฝ่ายธรรมมีกำลังแล้วหมุนกลับ ทีนี้หมุนกลับโดยอัตโนมัติ เหมือนกิเลสมันหมุนอยู่ในหัวใจสัตว์โลกเป็นอัตโนมัติของตัวเองนั่นแล พอถึงขั้นสติปัญญาขั้นนี้แล้ว.. เป็นหมุนกลับ ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นสติปํญญาขั้นนี้จะฆ่ากิเลสตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ หมุนติ้ว ๆ กิเลสขั้นหยาบหมุนหนัก เรียกว่าปัญญาขั้นผาดโผนโจนทะยาน เหมือนว่าฟ้าดินถล่ม ปัญญาขั้นหยาบกับกิเลสขั้นหยาบ ๆ ฟัดกัน พอจากนั้นแล้วสติปัญญาก็ค่อยเบาไป ๆ เพราะกิเลสเบาลง ๆ สติปัญญาก็ค่อยเบาไปตาม ๆ กัน หมุนไปตาม ๆ กัน เป็นน้ำซับน้ำซึม ๆ กิเลสซึมซาบไปไหน ? สติปํญญาขั้นอัตโนมัติก้าวเข้าสู่มหาสติปัญญาแล้ว ซึมซาบไปตาม ๆ กันเลย เหมือนไฟได้เชื้อ เอ้า.. ละเอียดขนาดไหน.. ! สติปัญญานี้ก็ละเอียดตามกันไป ๆ โดยอัตโนมัติ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-08-2017 เมื่อ 17:03 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#376
|
|||
|
|||
ท่านกล่าวถึงความเข้าใจที่เคยคาดว่า จิตมีความละเอียดเท่าไรก็ยิ่งจะมีความสุขความสบาย งานการจะค่อยเบาบางไป ๆ นั้น มาถึงตอนนี้กลับเป็นตรงกันข้ามไปหมด ดังนี้
“... บางทีจนรำคาญเหมือนกันนะ เพราะมันหมุนไม่หยุดไม่ถอย ‘เอ๊.. นี่มันอะไรกัน ?’ แต่มันคิดได้ชั่วขณะเท่านั้นนะ แต่พอหยุดคิดปั๊บ มันพุ่งใส่งานนั้นเลย คือ ความคาดของเรานั้นกับความจริงนี้.. มันห่างกันคนละโลกเลย คือเราคาดไว้อย่างนี้นะว่า ‘จิตนี้ได้มีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไร ก็ยิ่งจะมีความผาสุกสบาย งานก็ยิ่งจะน้อยเข้าไป ๆ สบายเข้าไปเรื่อย ๆ ?’ นี่เราคาดเราคิดนะ แต่เวลาความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น เข้าสมาธินี้ก็เหมือนงานน้อยจริง ๆ พอพิจารณาปั๊บ ๆ ก็รวมสงบแล้ว อยู่สบายเป็นคนขี้เกียจ นอนตายอยู่ในสมาธินั้น ความจริงเจ้าของขี้เกียจต่างหาก ตอนนี้งานน้อยนี่ คือมันอาศัยความสงบ มันติดความสงบ พอออกทางด้านปัญญา พอได้เหตุได้ผลทางด้านปัญญาแล้ว ทีนี้มันเห็นผลแล้ว ทีนี้นะ มันเริ่มละ ทีนี่เริ่มหมุนเรื่อย ๆ พิจารณาเข้าไปเรื่อย.. เข้าใจเรื่อย.. แก้เรื่อย ถอดถอนกิเลสได้ด้วย ขาดเรื่อยไปเรื่อย ๆ เอาละ ทีนี่นะ ทีนี้ก็เป็นธรรมจักรหมุนตัวเป็นเกลียว เอาละทีนี้ต้องได้รั้งเอาไว้แล้ว ทีนี้บทเวลามันเพลีย.. ถึงร่างกายก็เพลียด้วย ไม่ได้เพลียแต่ตรงนี้นะ ในร่างกายทุกส่วนก็รู้สึกเพลีย เพราะจิตทำงาน ปัญญาพิจารณาค้นคว้า.. เขาเรียกว่าทำงาน ก็รำพึง ‘เอ๊.. เราคิดไว้ว่า เมื่อจิตมีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไร ยิ่งจะมีความสุขมาก ๆ ทำไมเดี๋ยวนี้ถึงเป็นอย่างนี้ ? มันสุขมากยังไง ? มันวุ่นกับงานตลอดจนแทบจะเป็นจะตาย ถ้าว่างงานมันก็ยิ่งมากเข้าไปโดยลำดับ’ มันไม่เหมือนกันตั้งแต่ก่อนที่เราคาดไว้ว่า จิตละเอียดเข้าไปเท่าไร.. งานยิ่งจะน้อยลงไป ๆ และจะมีความสุขยิ่งสบาย ๆ แล้วหมดไปเลย สิ้นไปเลย นี้เป็นความคาดหมายต่างหาก.. ไม่ใช่ความจริง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-08-2017 เมื่อ 16:30 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#377
|
|||
|
|||
เวลาความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น พอถึงขั้นปัญญานี้แล้ว โอ้โห.. มันกว้างขวางยิ่งกว่าอะไร ! มันหมุนติ้ว ๆ ครอบโลกธาตุในส่วนร่างกายหยาบอันนี้แหละ.. ตัวมันดิ้นมากเหมือนกับน้ำไหลโจนลงมาจากภูเขา เหมือนกับน้ำตกนะ เช่น แม่สาที่เชียงใหม่ มันเหมือนอย่างนั้น ปัญญาขั้นพิจารณาร่างกายมันรุนแรงมากเหมือนกับน้ำตกนั่นแหละ
ทีนี้พอร่างกายนี้หมดแล้ว มันเข้าไปส่วนอาการของขันธ์ ๔ นี้คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นน้ำซับน้ำซึมที่นี่ ไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน คือตลอดเวลาหากไม่แบบน้ำตก เพราะอันนี้มันส่วนละเอียดแล้ว มันก็หมุนอยู่เหมือนกันเป็นแต่เพียงว่าหมุนแบบนี้ คือหมุนเบา ๆ หากหมุนไม่หยุด ตอนพิจารณาร่างกายนี้เหมือนกับน้ำตกไหลโจนมาจากภูเขา เสียงซ่า ๆ ดังถึงไหนโน้นน่ะถ้าเราจะเทียบ พออันนี้หมดปัญหาไปแล้ว เหลือแต่นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีนี้มันก็ไหลรินอยู่นั่น มันพิจารณาไม่หยุดไม่ถอยนี่นะ เอ๊.. นี่มันจะสิ้นสุดเมื่อไร ก็เราคิดคาดไว้ตั้งแต่ต้นว่า จิตมีความละเอียดลออเท่าไรก็ยิ่งจะมีความสุขความสบาย งานการก็จะค่อยเบาไป ๆ ทำไมมันกลับตรงข้ามไปเสียหมด แล้วเมื่อไรจะได้สะดวกสบายสักทีว่างี้ พอหยุดกันแล้วปั๊บมันก็ทำงานแล้ว คือเรารั้งมันไว้มันคิดเท่านั้น พอปล่อยปั๊บมันก็โดดปุ๊บใส่งานที่กำลังทำยังไม่เสร็จ คือยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงอันไหนแล้ว มันจะต้องตายด้วยกัน พูดง่าย ๆ เรื่องจะแพ้นี้มันไม่ยอม นอกจากตายกับให้รู้ให้ผ่านไปได้เท่านั้น จนกระทั่งมันหมดกำลังของมันที่จะไปอีกแล้ว มันก็ระงับไปเอง สติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่นั้นก็ระงับไปเอง.. เป็นหลักธรรมชาติเหมือนกัน เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-09-2017 เมื่อ 16:25 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#378
|
|||
|
|||
เกี่ยวกับการพิจารณาด้านปัญญา เมื่อผ่านแต่ละขั้นมาถึงอวิชชาซึ่งเป็นสังโยชน์ข้อสุดท้ายของพระอนาคามีก่อนที่จะบรรลุขั้นสูงสุดนั้น ขอยกพระธรรมเทศนาของท่านมาแสดงโดยย่อดังนี้
“... ทีนี้การปฏิบัติเมื่อผ่านขั้นร่างกายนี้ไปหมดแล้ว สุภะก็ไม่ปรากฏ อสุภะอสุภังไม่มีความที่ว่าน่ากล้าน่ากลัวในเรื่องร่างกายก็หมดไป ทีนี้พอเกิดขึ้นมาก็กลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมา เกิดกับดับพร้อม ๆ เรื่องอสุภะอสุภังผ่านไปเลย ๆ สุดท้ายร่างกายก็ไม่มี โลกนี้กลายเป็นโลกว่างไปหมด จากการพิจารณาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก ถือร่างกายเป็นพื้นฐานแห่งการพิจารณา เมื่อพิจารณาอันนี้ชำนิชำนาญเรียบร้อยแล้ว มันก็ไม่มีเขามีเรา ไม่มีหญิงมีชาย มีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งเขาทั้งเราเสมอกันหมด แล้วจะไปข้องแวะกับอะไร มันก็เดินไปตามสายกลาง ไม่ข้องแวะกับอะไร จากนั้นก็เข้าสู่นามธรรม พิจารณาร่างกายจนกระทั่งหมด คำว่าหมดนี้เป็นอย่างไร ? ร่างกายนี้ที่เรายังแยกอสุภะอสุภังอยู่ในขั้นนี้ พอผ่านจากนี้แล้ว อสุภะอสุภังจะไม่มี เกิดขึ้นมาพับดับไปพร้อม ๆ เราจะพิจารณาว่าเป็นของสวยงามไม่สวยงามไม่ทัน เพราะอารมณ์ของจิตอันนี้เกิดรวดเร็ว เกิดกับดับพร้อม ๆ ทีนี้เรื่องอสุภะอสุภัง.. ความสวยงามไม่สวยงามผ่านไป ไม่มีเข้าถึงจิต แล้วกลายเป็นจิตอวกาศไปเลยที่นี่ มองดูอะไรมันก็เป็นอวกาศเหมือนฟ้าแลบ เราจะแยกเป็นของสวยของงามไม่สวยไม่งามไม่ทัน ขั้นของจิตที่พิจารณาไปแล้วเป็นอย่างนี้ นักปฏิบัติจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ผู้พิจารณาอย่างเชื่องช้า.. ธรรมดาจะเห็นอย่างละเอียดลออในทางเดินแห่งกรรมฐานเพื่อความพ้นทุกข์ จะเห็นได้อย่างละเอียดลออ จิตขั้นนี้พิจารณาอย่างนี้ ขั้นนั้นพิจารณาอย่างนั้นเรื่อยไป จนกระทั่งถึงจิตไม่มีรูปมีนามแล้ว.. ร่างกายของสัตว์ของบุคคลเป็นอวกาศไปหมด ว่างไปหมด แล้วเราจะพิจารณาอะไรว่าเป็นสุภะอสุภะ ว่าสวยว่างาม ไม่สวยไม่งาม พอตั้งพับก็ดับไปพร้อม ๆ เอาอะไรมางาม อะไรไม่งาม มันดับไปพร้อม นี่ขั้นของจิตแห่งการพิจารณากรรมฐาน พอจากนี้แล้วก็มีตั้งแต่เหมือนแสงหิ่งห้อย เหมือนฟ้าแลบแพล็บ ๆ ๆ เกิดดับ ๆ ๆ จากนั้นก็หมุนเข้าไปหาจิตเพราะออกจากจิต เวลาจิตยังหยาบอาการเหล่านี้ก็ออกมา ส่วนหยาบ ๆ ว่าเป็นของสวยของงาม ไม่สวยไม่งาม จากนั้นก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อจากนั้นมีแต่เกิดดับ ๆ มันแสดงออกที่จิต.. ดับที่จิต ตามเข้าไปหาจิตนั้นละ..การพิจารณา พอถึงขั้นที่จิตกับอวิชชาอยู่ด้วยกัน เมื่อมีอวิชชานั้นจิตก็หลงจิต หลงตัวเองและหลงสิ่งอื่น ไม่หลงส่วนหยาบ ก็หลงส่วนละเอียด ปล่อยส่วนหยาบ... ส่วนละเอียดยังมันก็พิจารณาตามเข้าไป ตามเข้าไปจนหมด.. ไม่มีอะไรเป็นกิเลส มาม้วนเสื่อกันที่จิต แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-09-2017 เมื่อ 16:52 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#379
|
|||
|
|||
อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาคืออะไร ? เวลาพิจารณาเข้าไปแล้ว อวิชชาก็คือนางงามจักรวาล พอเข้าไปถึงจิตดวงนั้นแล้ว จะสง่างามผ่องใสมากทีเดียว น่าอัศจรรย์ นี่เรียกว่านางงามจักรวาล หลอกสติปัญญาที่ยังไม่สามารถจะแก้ตกได้เป็นอย่างดี ทีนี้เวลาพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า หลายครั้งหลายหน สิ่งเหล่านี้ก็พังลงไป อวิชชาปัจจยา สังขารา ที่ว่าเป็นนางงามของจิต ทำให้โลกหลงก็พังไปด้วยกัน ทีนี้ก็ไม่มีอะไรงามในโลกนี้ มันก็ว่างไปหมด ภายนอกก็ว่าง
‘รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สัมพันธ์เต็มในโลกนี้.. ว่างจากจิตหมด แม้ที่สุดอารมณ์ภายในจิตที่ทำความผูกพันแก่ตัวเอง เพราะความคิดความปรุงก็ว่างไปหมด วางไปหมด’ ทีนี้บริสุทธิ์ที่ตรงไหนล่ะ เมื่อมันปล่อยไปหมดแล้ว ก็เหลือแต่จิตล้วน ๆ ท่านให้ชื่อว่าจิตบริสุทธิ์ ดังท่านสำเร็จพระอรหันต์นั่น คือปล่อยหมดแล้วสิ่งอันนี้ ว่างหมด ปล่อย วางด้วย.. ว่างด้วย ปล่อยไปหมด แม้ส่วนภายนอกว่าง จิตยังไม่ว่าง พิจารณาเข้ามาหาจิตจนกระทั่งจิตก็ว่าง อะไรก็ว่าง ว่างเสมอกันหมด ทั้งภายนอกภายในตลอดทั่วถึง นั่นละคือจิตที่บริสุทธิ์ ถ้าว่างข้างนอกยังไม่ว่างตัวเองก็ยังไม่บริสุทธิ์ เช่นเดียวกับเราไปอยู่ในห้อง ห้องนี้มันว่าง มันโล่งมันว่าง ห้องนี้ว่าง ใครไปดู ๆ ก็ว่าห้องนี้ว่าง ๆ ยิ่งให้เจ้าของที่เข้าไปยืนอยู่กลางห้องไปพูดว่าห้องนี้เป็นอย่างไร ห้องนี้ว่าง ๆ ถ้าผู้ละเอียดยิ่งกว่านั้นเข้าไปเป็นอย่างไร มันจะว่างอย่างไร เจ้าของไปยืนขวางห้องอยู่นั้นน่ะ ถ้าอยากให้ห้องมันว่างก็ให้ออกมา พอเจ้าของโดดออกมาจากห้อง ห้องก็ว่างเต็มที่ คิดอย่างอื่นอย่างใดก็ปล่อยมา ๆ แต่ติดตัวเองก็เรียกว่าไปยืนขวางห้อง พอถอนตัวเองออกมา ตัวเองก็ถอน ตัวก็รู้ตัวเอง รู้ภายนอก รู้ภายใน ทั้งจิตใจก็รู้เท่าทันไปหมด เรียกว่าว่างหมด ในห้องนั้นไม่มีอะไรอยู่ ในจิตนี้ไม่มีอะไรอยู่ ตัวเขาตัวเรา.. เป็นอัตตานุทิฏฐิ อะไรเหล่านี้ไม่มี ว่างหมด นี่ละที่ท่านสอนพระโมฆราช ทีนี้ใครก็ตามเมื่อปฏิบัติตามโอวาทที่สอนพระโมฆราชนั้น ผู้นั้นก็เป็นพระโมฆราชขึ้นมาในทันทีทันใด สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ก็คือพระโมฆราชอรหันต์เหมือนกันหมด.. เพราะเป็นผู้ว่างเปล่าแล้วจากสิ่งทั้งหลาย ไม่มีอะไรเข้ามาแผ้วพานได้เลย นั่นละ สุญญโต โลกัง พญามัจจุราชจะตามไม่ทัน มองไม่เห็น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-09-2017 เมื่อ 17:39 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#380
|
|||
|
|||
เสียงบรรลือโลกธาตุ ชาติสิ้นแล้ว ท่านเดินทางออกจากวัดป่าสุทธาวาสในตัวเมืองสกลนครแล้ว ก็ย้อนกลับสู่วัดดอยธรรมเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พักอยู่กุฏิกระต๊อบหลังเล็ก ๆ อยู่บนยอดเขา เป็นกุฏิต่างจากครั้งก่อนที่เคยเกิดปัญหาธรรมผุดขึ้นในใจ ระยะนั้นเป็นพรรษาที่ ๑๖ ในชีวิตการบวชของท่าน และเป็นปีที่ ๙ แห่งการออกปฏิบัติกรรมฐานบนเขาลูกนี้ของคืนเดือนดับ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ด้วยความอดทนพากเพียรพยายาม ติดต่อสืบเนื่องตลอดมานับแต่เริ่มออกปฏิบัติอย่างเต็มเหนี่ยวรวมเวลาถึง ๙ ปีเต็ม คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่านก็สามารถตัดสินกันลงได้ในเวลา ๕ ทุ่มตรง ดังนี้ “... ก็พิจารณาจิตอันเดียว ไม่ได้กว้างขวางอะไร เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหยาบมันรู้หมด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วโลกธาตุมันรู้หมด เข้าใจหมด และปล่อยวางหมดแล้ว มันไม่สนใจพิจารณาแม้แต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังไม่ยอมสนใจพิจารณาเลย มันสนใจอยู่เฉพาะความรู้ที่เด่นดวงกับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไปพิจารณามา แต่ก็พึงทราบว่าจุดที่ว่านี้มันยังเป็นสมมุติ มันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหนก็สง่าผ่าเผยอยู่ในวงสมมุติ จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหน ก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงสมมุติ เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้น อวิชชานั้นแลคือตัวสมมุติ จุดแห่งความเด่นดวงนั้นก็แสดงอาการลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตามขั้นแห่งความละเอียดของจิตให้เราเห็นจนได้ บางทีก็มีลักษณะเศร้าหมองบ้าง ผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ตามขั้นละเอียดของจิตภูมินี้ ให้ปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นแล สติปัญญาขั้นนี้เป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน แทนที่มันจะจ่อกระบอกปืนคือสติปัญญาเข้ามาที่นี่ มันไม่จ่อ มันส่งไปที่อวิชชา หลอกไปโน้นจนได้ อวิชชานี้แหลมคมมาก ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่า อวิชชาซึ่งเป็นจุดสุดท้ายว่า ความโลภมันก็หยาบ ๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย แต่โลกยังพอใจกันโลภ คิดดูซิ ความโกรธก็หยาบ ๆ โลกยังพอใจโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธอะไร เป็นของหยาบ ๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกัน อันนี้ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเลยมาหมด ปล่อยมาได้หมด แต่ทำไมมันยังมาติดความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนี้ ทีนี้เมื่อมันมีอยู่ภายในนี้ มันจะแสดงความอับเฉาขึ้นมานิด ๆ แสดงความทุกข์ขึ้นมานิด ๆ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ไม่คงเส้นคงวาให้จับได้ ด้วยสติปัญญาที่จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ลดละความพยายาม.. อยากรู้อยากเห็นความเป็นต่าง ๆ ของจิตดวงนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องรู้กันจนได้ ว่าจิตดวงนี้ไม่เป็นที่แน่ใจ ตายใจได้ จึงเกิดความรำพึงขึ้นมาว่า ‘จิตดวงเดียวนี้ ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง เดี๋ยวเป็นความผ่องใส เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป ทำไมจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้ว จึงยังแสดงอาการต่าง ๆ อยู่ได้’ พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า ‘ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ’ เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือเอาไว้ หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือน สติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้น ผ่านไปครู่เดียว.. จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใด ๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลาง ๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิตอันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจได้กระเทือน และขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็นวิสุทธิจิตขึ้นมาแทนที่ ในขณะเดียวกันกับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลก แตกกระจายหายซากลงไปด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกร ขณะที่ฟ้าดินถล่ม โลกธาตุหวั่นไหว (โลกธาตุภายใน) แสดงมหัศจรรย์บั้นสุดท้ายปลายแดนระหว่างสมมุติกับวิมุตติ ตัดสินความบนศาลสถิตยุติธรรม โดยวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผู้ตัดสินคู่ความ โดยฝ่ายมัชฌิมาปฏิปทา มรรค อริยสัจเป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง ฝ่ายสมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อกแบบหามลงเปล ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว เจ้าตัวเกิดความอัศจรรย์ล้นโลกอุทานออกมาว่า ‘โอ้โห ๆ ... อัศจรรย์หนอ ๆ แต่ก่อนธรรมนี้อยู่ที่ไหน ๆ มาบัดนี้ ธรรมแท้.. ธรรมอัศจรรย์เกินคาดเกินโลก มาเป็นอยู่ที่จิตและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตได้อย่างไร.. ! และแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหน ? มาบัดนี้ องค์สรณะที่แสนอัศจรรย์มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตดวงนี้ได้อย่างไร.. ? โอ้โห ! ธรรมแท้ พุทธะแท้ สังฆะแท้.. เป็นอย่างนี้ละหรือ !?’ …” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2017 เมื่อ 12:44 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 13 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 13 คน ) | |
|
|