#21
|
||||
|
||||
การที่สติเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ทำให้สมาธิทรงตัวได้ง่ายที่สุด เพียงแต่ว่าพวกเรามักจะเถรตรง ครูบาอาจารย์บอกแค่ไหน ตำราบอกแค่ไหน เราก็ทำแค่นั้น พลิกแพลงกันไม่เป็น
ดังนั้น..พอกระผม/อาตมภาพบอกว่า ตีลังกาภาวนาได้ คนก็ไม่ค่อยจะเชื่อกัน สมัยวัยรุ่นกระผม/อาตมภาพเล่นหกสูง เอามือเดินแทนเท้า สามารถภาวนาได้จากการเดินเป็นกิโลเมตรเลย เพราะว่าในเรื่องของการภาวนา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอิริยาบถ หรือว่าท่าทาง แต่ขึ้นอยู่กับกำลังใจของเรา ว่าทรงตัวหรือไม่ ? เรื่องของการปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องของคนเถรตรง เชื่อถือครูบาอาจารย์ไปทุกอย่าง แต่ว่าให้ปรับเอาส่วนที่เหมาะสมกับเราที่สุด ทำแล้วสมาธิทรงตัวเร็วที่สุด นำมาใช้งานกับตัวเรา หลังจากที่สมาธิทรงตัวแล้ว ก็ยังต้องรักษาเอาไว้ให้เป็น ไม่เช่นนั้นแล้วท่านทั้งหลายทำไปเท่าไร ก็ไม่เกิดผลสักที แล้วยังมีหน้ามาคุยว่าปฏิบัติธรรมมานานแล้ว..! เรื่องของการปฏิบัตินานหรือปฏิบัติน้อยไม่ใช่สาระ สาระสำคัญคือ ทำแล้วกำลังใจ ลด ละ เลิก รัก โลภ โกรธ หลง ได้เท่าไรต่างหาก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-12-2022 เมื่อ 02:19 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#22
|
||||
|
||||
ก่อนปฏิบัติธรรมช่วงบ่าย วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันนี้พวกเราได้ปฏิบัติธรรมเต็มเวลาแค่ช่วงบ่ายช่วงเดียว พรุ่งนี้ช่วงเช้าอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็ปิดการปฏิบัติธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่าเวลาในการปฏิบัติธรรมของเรานั้นมีน้อยมาก พระพุทธเจ้าถึงได้กล่าวถึงพุทธบริษัททั้ง ๔ ก็คือ ฝ่ายนักบวช ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี ฝ่ายฆราวาส คืออุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี มีเวลามาก ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติได้เต็มที่ เมื่อปฏิบัติได้แล้ว ก็นำเอาวิธีการที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด มาบอกกล่าวให้แก่อุบาสกอุบาสิกา จะได้ปฏิบัติตามโดยไม่ยากลำบากนัก อุบาสกอุบาสิกา เป็นฝ่ายทำมาหากิน ก็สนับสนุนด้วยปัจจัย ๔ เพื่อที่ให้ภิกษุ ภิกษุณี สามารถที่จะทรงชีวิตอยู่ได้ จึงอยู่ในลักษณะของการพึ่งพากัน แบบ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" ในส่วนของการปฏิบัติธรรมยังต้องการความจริงจัง และสม่ำเสมอ ดังนั้น..ถ้าหากว่าใครอยากรู้ว่าชีวิตนี้เราปฏิบัติธรรมแล้ว มีโอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลหรือไม่ ? ดูแค่กำลังใจที่จดจ่ออยู่กับการปฏิบัติธรรมของเรา ก็สามารถให้คำตอบได้แล้ว เอาแค่ว่าถ้าเป็นการปฏิบัติธรรมตามเวลาอย่างตอนนี้ มีใครที่มาถึงก่อนเวลาบ้าง ? มีใครที่มาไม่เคยทันเวลาบ้าง ? แค่นี้เราก็รู้แล้วว่า โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลของเรามีไหม ? เพราะว่าบุคคลที่บารมีเข้มข้น ทำอะไรจะมีสติจดจ่อกับสิ่งนั้นอยู่เสมอ ก็จะไม่พลาดเวลาไปแบบนั้น เรื่องของการปฏิบัติธรรม จึงเป็นการวัดบารมีของเราที่ดีที่สุด เพียงแต่ว่าเรารู้วิธีวัดหรือไม่ ? หลายต่อหลายอย่างในการแสดงออก เราจะเห็นว่า คำพูดและการกระทำของเรา ไม่ได้ไปด้วยกัน อย่างเช่นบอกว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อพระนิพพาน แต่ว่าการปฏิบัติธรรมแค่ช่วงประมาณ ๒ ชั่วโมง เราเองก็มาไม่ทันเสียแล้ว แล้วลักษณะอย่างนี้ โอกาสที่เราจะได้มรรคได้ผล ก็เป็นไปโดยยาก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:45 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#23
|
||||
|
||||
โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรของเรา ส่วนใหญ่แล้วที่บวชเข้ามา ก็เพราะว่ามีหลวงปู่องค์นั้น มีหลวงพ่อองค์นี้ เป็น "ไอดอล" ของตนเองอยู่ อยากจะเป็นอย่างท่านบ้าง อยากทำได้อย่างท่านบ้าง ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วก็ "ได้แค่อยาก" เพราะว่าอยากแล้วไม่พยายามทำให้เต็มที่ เป็นแค่ความอยาก ที่ไม่ได้สอดคล้องกับการกระทำของเราเลย
ถ้าอยากดีต้องเร่งทำดีให้มาก ประมาณว่าวันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ก็อยากจะทำสัก ๒๕ ชั่วโมง ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง พยายามอู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้เหลือเวลาในการปฏิบัติธรรมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ถ้าลักษณะอย่างนี้ ชาตินี้ก็ไม่ต้องหวัง ชาติหน้าก็ยังไม่ต้องหวัง คงต้องรอกันอีกนานแสนนาน..! ดังนั้น..ไม่ใช่ว่าเราอยาก แล้วปล่อยให้ความอยากผ่านไปเฉย ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า บุคคลที่ปฏิบัติธรรมมีมากเหมือนขนวัว วัวทั้งตัวก็น่าจะมีขนเป็นแสนเส้น แต่บุคคลที่สามารถเข้าถึงมรรค ถึงผล มีจำนวนเท่ากับเขาวัว วัวทั้งตัวมีเขาแค่ ๒ ข้าง ต่อให้พิลึกพิลั่น พิสดารขนาดไหน ก็น่าจะมีไม่เกิน ๓ ข้าง แล้วคิดดูว่า ถ้าเรายังไม่เพียรพยายาม โอกาสของเราจะมีหรือไม่ ?
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:47 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#24
|
||||
|
||||
ตัวเราทุกวันนี้เหมือนกับคนติดคุก แล้วเป็นคุกที่ผู้คุมไม่กลัวว่าเราจะแหกคุกด้วย เพราะฉะนั้น..ใครจะมีวิธีการแหกคุกแบบไหน ผู้คุมไม่ใส่ใจทั้งนั้น ทำได้ทำไป แต่พวกเราแทนที่จะเร่งรีบขุด เร่งรีบเจาะเพื่อหาทางออกจากคุก เรากลับทำบ้างนอนบ้าง เหมือนอย่างกับกลัวตัวเองจะพ้นคุก แล้วแบบนี้จะมีโอกาสพ้นไหม ?
การปฏิบัติธรรมทุกระดับ ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเราขาดปัญญา โดยเฉพาะปัญญาในการปฏิบัติธรรม ประมาณว่าเถรตรงเกินไปบ้าง โง่จนสุนัขไม่รับประทานบ้าง ถ้าหากเรารู้จักพินิจพิจารณาเราจะเห็นว่า เอาแค่ประชากรบ้านเรา มีราว ๆ ๖๕ ล้านคน ผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ ๗ แสนกว่าคน บุคคลที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมจริง ๆ มีไม่ถึงล้านคน ต่อให้มีถึง ก็แปลว่าหกคนครึ่งจะมีคนเข้าวัดแค่หนึ่งคนเท่านั้น แล้วบุคคลที่เข้าวัด ก็ยังมีหลายประเภท ประเภทที่ ๑ วันก่อนเจอเยอะมาก คือ ไปเอาหวย ประเภทที่ ๒ ไปเพื่อให้ได้ชื่อว่าเคยไปวัดนี้มาแล้ว ประเภทที่ ๓ ไปเอาวัตถุมงคล ประเภทที่ ๔ ไปเพื่อเอาธรรมะ แล้วก็ยังมีประเภทที่ ๕ ไปเพราะเพื่อนชวน ไม่รู้เหมือนกันว่าไปทำไม ? เพื่อนชวน รักเพื่อน เลยไปกับเพื่อนด้วย..!?
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:48 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#25
|
||||
|
||||
เราจะเห็นว่าแม้แต่บุคคลที่เข้าวัด ก็ยังแบ่งออกเป็นหลายระดับกำลังใจ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่พวกเราทั้งหลายจะแย่งชิงโควต้าในการเข้ามรรค เข้าผลจึงมีสูงมาก เพราะว่าบุคคลที่เข้าวัดน่าจะมีถึง ๘๐ % ที่ไม่ได้ไปเพราะตั้งใจจะไปฟังธรรมหรือไปปฏิบัติธรรม แต่ไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ อย่างที่ว่ามา ส่วนบรรดา ๒๐ % ที่ไปฟังธรรมไปปฏิบัติธรรมนั้น ก็ยังมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กันไป อย่างเช่นว่า บนเอาไว้ ถึงเวลาต้องเข้าวัดแก้บน ไปนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๗ วัน ก็ยังดีนะ..ยังอุตส่าห์บนไว้ว่าจะเข้าวัด
อีกประเภทหนึ่ง ไปเพราะว่าได้ยินว่าหลวงปู่ หลวงพ่อ เจ้าอาวาสท่านเก่ง อยากจะปฏิบัติตามท่าน แต่คราวนี้ก็ต้องมาดูว่า กำลังใจในการปฏิบัติธรรมกับความต้องการของตนเอง ไปในแนวเดียวกันหรือเปล่า ? มีอีกประเภทหนึ่ง ไปวัด ถือศีล ปฏิบัติธรรม เป็นแฟชั่น สมมติว่าตอนนี้ดารานิยมเข้าวัด นางงามนิยมเข้าวัด เราก็เข้าบ้าง โดยที่ไม่ได้รู้ว่าเขาเข้าไปทำอะไรบ้าง เรารู้แต่ว่าเป็นแฟนชั่น อยากจะเข้าตามไปด้วย..ฟังแล้ว "น้ำตาจิไหล..!"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:50 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#26
|
||||
|
||||
ดังนั้น..ถ้าหากว่าอยู่ในจำนวน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วยังมีแต่คนประเภทนี้ไปอีก แล้วเราลองมาคิดดูว่า บุคคลที่เข้าวัดเพื่อมรรคเพื่อผล จะเหลือสักเท่าไร ? ก็เหลือแค่หยิบมือเดียว ที่บอกว่าบุคคลที่ปฏิบัติธรรมเปรียบเหมือนขนของวัวทั้งตัว บุคคลที่เข้าถึงธรรมเปรียบเหมือนเขาของวัวตัวนั้น ดูท่าว่ายังจะมากเกินไป หรือจะเปรียบกับ "ตัวเดียวอันเดียว" ของวัวตัวนั้นแทน !!?
ถ้าหากว่าใครก็ตาม มุ่งหวังการปฏิบัติธรรม ดูแค่กำลังใจเหล่านี้ เราก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากว่ามรรคผลมีโควต้าเหมือนกับการสอบบรรจุข้าราชการ ตำแหน่งว่างก็มีเพียบเลย แต่ว่าหาคนสอบไม่ได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคุณสมบัติไม่ถึง เนื่องจากว่าทำตัวเอ้อระเหยลอยชาย ไม่สมกับการที่เราตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น ในเมื่อโควต้าว่างขนาดนั้น ถ้าเราเพิ่มความตั้งใจเข้าไปสักหน่อย ก็น่าจะไม่พ้นมือเราไปได้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเคยขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก โดยเฉพาะในช่วง "วันโกน" ของโลกมนุษย์ ข้างบนเขามีการประกาศคุณงามความดีของบุคคล ที่ปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา ถ้าหากว่าวันไหนมีคนทำความดีมาก เหล่าเทวดา นางฟ้า ก็ดีอกดีใจว่า เราจะได้เพื่อนจำนวนมาก เพราะว่าเขาทั้งหลาย ย่อมมาเกิดในสุคติภพเช่นเดียวกับพวกเรา แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือ เทวดา นางฟ้า นั่งหงอยเหงาเศร้าซึม เพราะว่าคนไปเดินห้างมากกว่าไปเข้าวัดทำความดีกัน..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:52 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#27
|
||||
|
||||
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าสมมติว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว มีบุคคลคอยดูแลคอยส่งเสริม ช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองเลย เหมือนอย่างกับว่านักกีฬามีน้อย แต่พี่เลี้ยง หรือว่าโค้ชมีมาก ก็อาจจะหนึ่งคนเจอพี่เลี้ยงหรือโค้ชช่วยกันหนุนช่วยกันดันสัก ๕ คน ๑๐ คน..! ไม่ใช่ประเภทนักกีฬา ๑๐ - ๒๐ คนต่อพี่เลี้ยง ๑ คน หรือโค้ช ๑ คน ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ โอกาสที่เราปฏิบัติธรรมแล้วทรงความดีได้ก็จะมีสูงมาก เพราะว่าคนเอาใจช่วย คอยลุ้น มีมากเป็นพิเศษ
บางทีเรื่องที่พูดนี้ก็ฟังดูเพ้อเจ้อนิดหน่อย แต่เขาเรียกว่าเพ้อแบบมีหลักการ เพราะว่าเคยเห็นมาด้วยตนเอง ว่าแต่ละท่าน แต่ละคน กว่าจะหลุดลงมาได้ ก็ต้องไปขอเทวดาท่านโน้น ขอนางฟ้าท่านนี้ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้ในระหว่างที่อยู่โลกมนุษย์ จะได้ไม่หลงทางจนกลับไม่ถูก บางคนจะเห็นว่าบางทีเราก็อยากทำชั่วนะ แต่ทำไมหวาดระแวงไปหมด เหมือนกับมีคนคอยจ้องอยู่ แล้วในที่สุดก็ทำไม่ได้ ทำไม่ลง แต่ก็อีกจำนวนมาก ที่หน้าด้านทำกันได้ อยากจ้องก็จ้องไป..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:54 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#28
|
||||
|
||||
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราเอามาใช้ในทางที่ถูก เราก็จะมีกองหนุนที่ช่วยเหลือเราได้มากเป็นพิเศษ แต่ว่าเราต้องไม่ลืมอุทิศส่วนกุศลให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นด้วย อย่างที่พวกเราอุทิศว่า "ขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า" ก็คือท่านทั้งหลายเหล่านี้ที่ว่ามานี่เอง
คราวนี้ในส่วนที่ว่ามาทั้งหมด ก็เพื่อให้พวกเราลองดูกำลังใจของเราเอง ว่าจัดอยู่ในประเภทไหน ? ประเภทมานั่งรอเวลาปฏิบัติธรรม หรือว่าประเภทค่อย ๆ มา หรือว่าประเภทรอให้ปฏิบัติไปแล้วครึ่งหนึ่ง ค่อยโผล่มา หรือว่าเป็นประเภทมาเอาวินาทีสุดท้าย..กลัวตกขบวน..! หรือไม่ก็ประเภทอ้างว่ามีงาน ไม่มาเสียเลย แล้วเราก็สามารถที่จะวัดได้ว่า ตัวเราเองนั้นสมควรหรือไม่สมควรอย่างไร ต่อการบรรลุมรรคบรรลุผล ? ต่อการปฏิบัติธรรมแล้วจะสำเร็จสมปรารถนาหรือไม่ ? ก็ฝากเอาไว้เป็นข้อคิด และแนวทางในการสังเกตของตนเอง และคนอื่น แต่ทางที่ดีที่สุด ให้ดูเฉพาะตนเองก็พอ ถ้าดูคนอื่นเมื่อไร ก็เกิดกิเลสเมื่อนั้น..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-12-2022 เมื่อ 02:55 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#29
|
||||
|
||||
ก่อนทำวัตรเย็น วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ งานบิณฑบาตถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ณ ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิพรุ่งนี้ เขาต้องการพระ ๘๙ รูป ตามพระชนมายุของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วก็มักจะขอวัดท่าขนุน ๔๐ รูป..! ที่เหลือให้ทั้งอำเภอก็ไปเฉลี่ยกัน เรื่องของจำนวนพระในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็เหลือแต่เจ้าอาวาส หรือไม่ก็เจ้าอาวาสกับสามเณร ๑ - ๒ รูป สมัยก่อนที่อาตมภาพจะมาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ เวลาชาวบ้านนิมนต์พระ ๙ รูป ต้องไปยืมวัดข้างเคียงอีก ๒ วัด ก็คือพระจะมีครบ ๙ รูปก็ยังยาก เรื่องนี้บางคนบอกว่า "พระอาจารย์เล็กบารมีดี มีบริวารเยอะ" กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่าไม่ใช่ หากแต่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของเราเอง คือทำอย่างไรให้ญาติโยมเขาเห็นว่า "พระวัดนี้ควรที่จะใส่บาตร" เพราะว่าจากที่บวชมา ๓๗ ปี ขึ้นปีที่ ๓๘ เคยมีประสบการณ์ชัดเจนมาก ก็คือเห็นว่าเวลาพระวัดหนึ่งเดินผ่านหน้า โยมอุ้มขันข้าวหันหลังให้..! พออาตมภาพเดินไปถึงค่อยหันกลับมาใส่ นี่ถ้าหากว่าเป็นอาตมาภาพเจอแบบนั้นเข้า ก็นั่งร้องไห้ตรงนั้นเลย..! เหตุเพราะว่าวัดนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระต่างด้าว ซึ่งกิริยาอาการต่าง ๆ ไม่ค่อยเรียบร้อยในสายตาของพวกเรา ถ้าหากว่าถามว่าท่านผิดศีล ผิดธรรมอะไรไหม ? เรื่องนั้นเราไม่รู้รายละเอียด แต่ว่าจริยาความประพฤตินั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ผิดพระวินัย เพียงแต่ว่าไม่ค่อยเรียบร้อยเท่านั้น แสดงว่าข้อเรียกร้องของโยมมีเยอะมาก ก็คือถ้าไม่ถูกตา ก็พลอยไม่ถูกใจ พอไม่ถูกใจ ก็ไม่ใส่บาตรให้กิน..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-12-2022 เมื่อ 02:22 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#30
|
||||
|
||||
พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ถึงได้บอกว่า "เราเป็นพระเป็นเณร ต้องระวังอยู่ตลอดเวลา อยู่คนเดียวต้องทำตัวเหมือนกับอยู่หลายคน ระมัดระวัง กาย วาจา ใจ ให้ดี อยู่หลายคนต้องทำตัวเหมือนกับอยู่คนเดียวได้" ก็คือถึงจะอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ก็ต้องอยู่กับความสงบภายในของเราได้
ท่านบอกว่าเพราะว่า "พระเณรจะอยู่ในสายตาของชาวบ้านตลอดเวลา" พลาดเมื่อไรก็เยินเมื่อนั้น เราทำดีเป็นร้อยครั้ง..เขาจะชมสักครั้งก็ยาก แต่ถ้าเราพลาดครั้งเดียว..จะโดนด่าไปหลายปี..! เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่พระเณรเราต้องพึงสังวรให้จงหนัก ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ แล้วก็ไม่ใช่ว่ามีพระเณรอยู่ด้วยมาก เพราะว่าพระอาจารย์เล็กบารมีดี..ไม่ใช่ เพียงแต่ว่ากระผม/อาตมภาพได้รับคำสรรเสริญว่า "ดุกว่าหมาอีก" ในเมื่อโยมเขาเห็นว่าเอาลูกเขาอยู่ ก็เลยส่งลูกมาบวชด้วย จึงมีพระเณรค่อนข้างจะมาก แม้ว่าจะออกพรรษาแล้ว ก็ยังมีถึง ๔๐ กว่ารูป ต้องบอกว่า สำคัญตรงเจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์ ว่าจะเข้มงวดกับพระเณรตัวเองเท่าไร หลายรายก็กลัวว่า ถ้าเข้มงวดแล้ว พระเณรจะไม่อยู่ด้วย กระผม/อาตมภาพออกระเบียบวัดครั้งแรกที่เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อพระเทพเมธากร เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ในขณะนั้น พอเห็นเข้าก็บอกว่า "อาจารย์เล็ก เดี๋ยวก็ได้อยู่คนเดียว..!" ก็คือในระเบียบวัด ๒๕ ข้อนั้น ระบุเอาไว้เลยว่า ถ้าพลาดเมื่อไรโดนไล่ออกเลย แต่ปรากฏว่าท่านทำนายผิด พอเจอ "หมูไม่กลัวน้ำร้อน" ญาติโยมกลับชอบ ส่งลูกมาบวชกันเยอะขึ้น..! พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. ปกิณกธรรมช่วงบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม วันพ่อแห่งชาติ ณ วัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ - วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทะเล)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-12-2022 เมื่อ 02:25 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|