|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#161
|
|||
|
|||
ความจริงจังของหลวงปู่มั่นในเรื่องนี้ องค์หลวงตาซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้เคยเห็นหลวงปู่มั่นเรียกพระมาดุด่าสั่งสอนอย่างเข้มข้นด้วยตาตัวเอง ท่านจึงจำไม่ลืมตลอดมา สำหรับวิธีการเดินจงกรมตามแบบอริยประเพณีนี้ หลวงปู่มั่นสอนไว้เช่นกันว่า
“การเดินจงกรมกลับไปกลับมาไม่ช้านัก ไม่เร็วนัก พองามตางามมรรยาท ตามเยี่ยงอย่างประเพณีของพระผู้ทำความเพียร ท่าเดินในครั้งพุทธกาลเรียกว่าเดินจงกรมภาวนา เปลี่ยนจากวิธีนั่งสมาธิภาวนามาเป็นเดินจงกรมภาวนา เปลี่ยนจากเดินมายืน เรียกว่ายืนภาวนา เปลี่ยนจากยืนมาเป็นท่านอน เรียกว่าท่าสีหไสยาสน์ภาวนา เพราะฝังใจว่าจะภาวนาด้วยอิริยาบถนอนหรือสีหไสยาสน์ การทำความเพียรในท่าใดก็ตาม แต่ความหมายมั่นปั้นมือก็เพื่อชำระกิเลสตัวเดียวกัน ด้วยเครื่องมือชนิดเดียวกัน มิได้เปลี่ยนเครื่องมือ.. คือธรรม ที่เคยใช้ประจำหน้าที่และนิสัยเดิม ก่อนเดินจงกรม พึงกำหนดหนทางที่ตนจะพึงเดินว่าสั้นหรือยาวเพียงไรก่อน ว่าเราจะเดินจากที่นี่ไปถึงที่นั่น หรือถึงที่โน้น หรือตกแต่งทางจงกรมไว้ก่อน เดินอย่างเรียบร้อย สั้นหรือยาวตามต้องการ” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2015 เมื่อ 19:49 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#162
|
|||
|
|||
หลวงปู่มั่น บิณฑบาตซ้อนสังฆาฏิ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต* ซึ่งอยู่ร่วมจำพรรษากับหลวงปู่มั่นในช่วงวัดป่าบ้านหนองผือ บันทึกข้อปฏิบัติของหลวงปู่มั่นขณะเตรียมและออกบิณฑบาต ดังนี้ “...การกลับจากบิณฑบาต เมื่อองค์ท่าน (หลวงปู่มั่น) เดินไปถึงบันไดศาลา ก็มีผู้หนึ่งคอยรับ ถอดรองเท้าเอาเก็บไว้ที่ควร ระวังมิให้น้ำถูกเพราะเป็นรองเท้าหนัง องค์หนึ่งถือกระบวยล้างเท้าด้วยมือขวา มือซ้ายถูตามแข้งและฝ่าเท้า ทั้งใต้ฝ่าเท้าและหลังเท้า เทถู เทถูโดยเร็ว และไม่ให้กระทบกระเทือนด้วย และไม่แสดงมารยาทอันไม่ตั้งใจแลบออกมาให้ปรากฏด้วย และมีผู้คอยเช็ดเท้าอีก ต้องเช็ดเร็ว ๆ แต่เร็วมีสติ ไม่ให้กระทบกระเทือนเกินไป ไม่ให้เบาเกินไป องค์ท่านขึ้นไปถึงศาลาฉัน ไม่ได้นั่งลงกราบ เพราะศาลาฉันโต้ง ๆ ไม่มีพระพุทธรูป (ศาลามีพระพุทธรูปลงอุโบสถต่างหาก) แล้วก็ซ้อนสังฆาฏิถวายองค์ท่าน เว้นไว้แต่ท่าทางฝนจะตก ขณะนี้ต้องซ้อนช่วยกันสององค์ องค์หนึ่งม้วนลูกบวบ.. ช่วยสองสามรอบแล้วปิดรังดุมคอถวาย องค์หนึ่งปิดรังดุมใต้ถวาย การเข้าบ้านซ้อนสังฆาฏิกลัดรังดุมใต้และบนนี้ องค์ท่านถือเคร่งมาก ตลอดถึงการนุ่งสบงที่มีขัณฑ์เข้าไปธุระบ้าน เช่น บิณฑบาตและสวดมนต์ องค์ท่านกล่าวว่า ‘การห่มผ้านุ่งผ้า พระลังกาชอบเอาอนุวาตเข้าข้างใน เพราะกันผืนเดิมไม่ให้ซุยผุ ก่อนอนุวาด.. จะเอาอนุวาดเข้าข้างในหรือออกนอกก็ไม่ผิดวินัย จะผินเบื้องบนเบื้องล่างสลับกันไปก็ไม่ผิดพระวินัย เพราะที่ระแข้งจะได้ทนหรือสึกหรอทันกัน’... ยุควัดป่าบ้านหนองผือ เป็นยุคสุดท้ายแห่งหลวงปู่มั่นและเก็บลูกศิษย์.. ก็เก็บไว้มากกว่ายุคใด ๆ ในสำนัก สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ก็ทุ่มเท ทอดสะพานให้ไม่ปิดบัง ไม่ว่าแต่เท่านี้ ผ้าสังฆาฏิและจีวรขององค์ท่าน ท่านใส่รังดุมทั้งดุมคอและดุมล่างทั้งสองทาง วันหนึ่งห่มผืนทางหนึ่งขึ้น..สลับกันเป็นวัน ๆ ลูกศิษย์ผู้ไปซ้อนไปห่มให้ต้องมีสติจำไว้จึงห่มถวายให้ถูกเป็นวัน ๆ จึงถูกกับธรรมประสงค์ขององค์ท่าน... * ต่อมาท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดภูจ้อก้อ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2013 เมื่อ 09:36 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#163
|
|||
|
|||
เรื่องบิณฑบาต พอหกโมงเช้าธรรมเนียมบ้านหนองผือ เขาก็ตีขอ (เกราะ) ไม้ตะเคียนเป็นสัญญาณ ดังไกลเป็นสามบทติด ๆ กัน หมายความว่าพอเตรียมตัวใส่บาตรแล้ว (พวกเราชาวบ้าน) แต่พอพระผ่านละแวกบ้าน เขาก็ตีขออีกสามบท เขารวมกันเป็นกลุ่มยืนเรียงรายกันเป็นทิวแถว แต่ละกลุ่มเขามีผ้าขาวปูม้ายาว ๆ ไว้เรียบ ๆ ส่วนม้านั่งของหลวงปู่มั่น เขาทำพิเศษต่างหาก.. สูงกว่ากัน พอยืนรับบิณฑบาตแล้วก็นั่งให้พรเขาพร้อมกัน ไปกลุ่มอื่นอีกก็เหมือนกัน มีสามกลุ่มแล้วก็กลับวัด
หลวงปู่มั่นค่อยกลับตามหลังกับพระผู้ติดตามองค์หนึ่ง ตามหลังกลับมาด้วย มีโยมผู้ชายรับบาตร พระผู้ใหญ่มาวัด.. วันละสี่ห้าหกคนไม่ขาด ฝ่ายพระผู้น้อยที่กำลังถือนิสัยและเณรก็ดี รีบกลับให้ถึงวัดก่อน เพื่อจะได้ทันข้อวัตรของครูบาอาจารย์ เป็นต้นว่า ล้างเท้า เช็ดเท้า รับผ้าสังฆาฏิและจีวร หรือเตรียมแต่งบาตรแต่งพก เป็นต้น แต่ในฤดูพรรษา พระเณรทั้งหลายเข้าเขตวัดแล้วไม่รับอาหารอีก จะได้จัดแจงแต่งถวายแต่เฉพาะหลวงปู่ มีบดอาหารใส่ครกบ้าง ซอยผัก บดในครกให้ละเอียดบ้าง เพราะองค์ท่านจะเคี้ยวไม่ละเอียดเพราะไม่มีฟัน ใช้ฟันเทียมแทน แล้วก็จัดข้าวใส่บาตร องค์ท่านมีข้าวเจ้าปนบ้าง ส่วนกับนั้นจัดใส่ภาชนะถวายวางไว้ใกล้ แล้วองค์ท่านเอาใส่เอง องค์ท่านฉันรวมในบาตรทั้งหวานและคาวด้วย ไม่ซดช้อนด้วย โอวัลตินนั้นเอาใส่แก้วไม่ใหญ่โต ขนาดกลาง ใส่พอดีพอครึ่งแก้วตั้งไว้มีฝาครอบ พอฉันอาหารอิ่ม องค์ท่านก็ฉันประมาณสามสี่กลืน ไม่หมดแก้วสักวัน แต่ก่อนจะลงมือฉันก็ให้พรเป็นพิธีพร้อมกัน.. ธรรมฯ บ้าง สัพพะพุทธาฯ บ้าง ถ้าวันข้าวประดับดินและวันสารท.. ก็สวดพาหุงฯ บ้าง การให้พร (โดยที่) ไม่ประนมมือ (หรือ) ทั้งสวดพาหุงฯ ทั้งใส่บาตรขณะเดียวกัน (นั้น) องค์ท่านไม่พาทำเลย เพราะถือว่าไม่เป็นการเคารพธรรม ใส่บาตรเรียบร้อยก่อนจึงสวด ถ้าไม่สวดก็ให้พรธรรมดา และก่อนจะลงมือฉัน องค์ท่านก็ทอดสายตาลงพิจารณาอาหารในบาตรอยู่สักครู่ พอควรแล้วจึงลงมือฉัน และ (ถ้า) พระเณรยังไม่เสร็จ ยังจัดแจงของเจ้าตัวแต่ละรายยังไม่เสร็จตราบใด องค์ท่านก็ยังไม่ลงมือฉันก่อน เมื่อลงมือฉันแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ องค์ท่านก็ไม่กล่าวไม่พูดอันใดขึ้น ถ้าจำเป็นจริง ๆ กลืนคำข้าวแล้วจึงพูด แต่น้อยที่สุด เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก มีสติอยู่กับความเคลื่อนไหวของกาย ในการจะหยิบ จะวาง จะเหยียดแขน คู้แขน แลซ้าย แลขวา...” สำหรับองค์หลวงตาเองก็มั่นคงในข้อบิณฑบาต.. ซ้อนผ้าสังฆาฏิโดยเคร่งครัดเสมอมา แม้เหงื่อจะออกจนจนเปียกโชกก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค “ไปบิณฑบาตกลับมา ผ้าอังสะเปียกหมดเลย คือเปียกเหงื่อ ไปบิณฑบาตกลับมา ที่เราพูดอย่างนี้คือเราเคยเป็นแล้ว กำลังหนุ่มน้อยนี้ โอ๋ย...เหงื่อ..กลับมานี่จีวรเปียกหมดเลย สังฆาฏิซ้อนกันเปียกเป็นอันดับสาม อันดับหนึ่งจริง ๆ คืออังสะ เหมือนซัก อันดับสองจีวร คล้ายซัก อันดับสามสังฆาฏิ ส่วนสบงไม่ต้องพูด เปียกหมดเลย กำลังหนุ่มน้อยเหงื่อออกง่ายมาก” ================================
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2013 เมื่อ 09:36 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#164
|
|||
|
|||
มั่นคงธุดงค์วัตร ในระยะที่อยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านจะสอนให้เราเป็นคนกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ปฏิบัติให้มาก หรือให้เป็นคนกินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย การไปการมาง่าย หมายถึงไม่ทำตนเป็นผู้ยศหนักศักดิ์ใหญ่ เป็นประเภทกรรมฐานขุนนาง หรู ๆ หรา ๆ แต่วัตถุสิ่งของภายนอก แต่จิตใจหาคุณความดีมิได้เลย อันนี้ท่านไม่สรรเสริญ ท่านชื่นชมบุคคลประเภทอ่อนน้อมถ่อมตน ทำตัวประดุจผ้าขี้ริ้ว แต่ภายในใจนั้นหรูหรางดงามด้วยธรรม จะเรียกว่าเศรษฐีธรรมก็ไม่ผิด ท่านเล่าถึงอุปนิสัยในการบำเพ็ญภาวนาของท่านว่า “...มาอยู่บ้านหนองผืออย่างนี้ ผมจะเดินจงกรมให้หมู่เพื่อนเห็นไม่ได้ โน่น...ต้องเวลาสงัด สี่ทุ่มห้าทุ่มล่วงไปแล้ว หมู่เพื่อนเงียบหมดแล้วถึงจะลงเดินจงกรม กลางวันก็เข้าไปอยู่ในป่าโน้น ถ้าวันไหนออกมาแต่วันเช่นห้าโมงเย็น .. ออกมาอย่างนี้ก็เข้านั่งสมาธิเสียในกุฏิ จนกระทั่งหมู่เพื่อนเงียบไปหมดแล้วถึงจะลงทางจงกรม เป็นนิสัยอย่างนั้นมาดั้งเดิม ไม่ให้ใครเห็นการประกอบความเพียรของเรา ว่ามากน้อยขนาดไหน แต่ธรรมดา.. ใครก็รู้ ทางจงกรมจนเป็นหลุมเป็นเหวไป ใครจะไม่รู้ เดินจงกรมกี่ชั่วโมงมันถึงจะเป็นขนาดนั้น อยู่ในป่าก็ดี อยู่ในวัดก็ดี มองดูก็รู้ แต่หากนิสัยเป็นอย่างนั้น ทางภาษาอีสานเขาเรียกว่า คนนิสัยหลักความ คือการลัก ๆ ลอบ ๆ ทำสมาธิภาวนาอยู่คนเดียว เราไม่สนิทใจที่จะทำความเพียรให้ใครต่อใครเห็นอย่างโจ่งแจ้ง...” การถือธุดงค์ ๑๓ เป็นเครื่องชำระกิเลสของพระ ที่ทุกองค์ต่างตั้งใจสมาทานกันทั้งวัด ท่านเองก็สมาทานอย่างจริงจังเช่นเดิม แต่ต่อมาไม่นาน.. หมู่เพื่อนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ท่านจึงถือเอาสิ่งนี้เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์สำคัญปลุกใจตนเอง ดังนี้ “...เวลาเข้าพรรษาก็ต่างองค์ต่างสมาทานธุดงค์กันทั้งวัด ครั้นสมาทานแล้วไม่กี่วันมันก็ล้มไป ๆ นี่ก็ส่อแสดงให้เห็นความจริงจังหรือความล้มเหลวของหมู่คณะ เมื่อได้เห็นอาการของหมู่คณะเพื่อนเป็นเช่นนั้น ทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจไปหลายแง่หลายทาง เกี่ยวกับหมู่คณะ จิตใจยิ่งฟิต ปลุกใจตัวเองให้แข็งขัน และย้อนมาถามตัวเองบ้างว่า ‘ไง..เราจะไม่ล้มไม่เหลวไปละหรือ ? เมื่อเหตุการณ์รอบข้างเป็นไปอย่างนี้’ ก็ได้รับคำตอบอย่างมั่นใจว่า ‘จะเอาอะไรมาให้ล้มให้เหลวล่ะ ก็ตัวใครตัวมัน’ ประกอบกับนิสัยเราเป็นอย่างนี้มาดั้งเดิมอยู่แล้ว ทำอะไรต้องจริงทั้งนั้น ทำเล่นไม่เป็น เราจะล้มไม่ได้ นอกจากตายเสียเท่านั้น ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงของหมู่เพื่อน จึงเป็นราวกะว่าแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ให้เราฟังอย่างถึงใจ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-02-2013 เมื่อ 16:48 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#165
|
|||
|
|||
ฉันในบาตร ไม่ใช้ช้อน ไม่ฉันนม ข้อปฏิบัติเรื่องการขบฉันของท่านในครั้งนั้น จะระมัดระวังมิให้เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา การขบฉันให้เป็นไปตามความหิวของธาตุของขันธ์ พอเยียวยาประทังชีวิตไปวันหนึ่ง ดังที่บทธรรมว่าด้วย ปฏิสังขา โยนิโสฯ ท่านแสดงไว้เท่านั้น ดังนี้ “... การฉันในบาตรนี่.. เป็นกิจสำคัญอยู่มาก ไม่มีภาชนะใดที่เหมาะสมยิ่งกว่าบาตรสำหรับใส่อาหาร จะเป็นถ้วยชามนามกรอะไรก็แล้วแต่เถอะ เป็นภาชนะทองคำมาก็ไม่เหมาะสมยิ่งกว่าบาตร มีบาตรใบเดียวเท่านั้น มีอะไรก็รวมลงที่นั่น พระพุทธเจ้าก็ทรงดำเนินเป็นตัวอย่างอันแนบแน่นมาก่อนแล้ว บางคนคิดว่า อาหารที่รวมลงไปแล้วจะทำให้ท้องเสียดังที่ส่วนมากว่ากัน ซึ่งเคยได้ยินมาแล้ว ท้องมีกี่พุงมีกี่ไส้ มีกี่ภาชนะสำหรับใส่อาหารแยกประเภทต่าง ๆ นี้หวาน นี้คาว นี้แกงเผ็ด ความจริงในขณะที่อาหารรวมในบาตรก็เป็นเทศนาอย่างดี ก่อนฉันก็พิจารณา ในขณะที่ฉันก็กำหนดพิจารณาปัจจะเวกขณะฯโดยความแตกต่างแห่งอาหาร ย่อมได้อุบายแปลก ๆ ขึ้นมาจากอาหารผสมนั้น เพราะไม่ได้ฉันเพื่อความรื่นเริงบันเทิง ไม่ได้ฉันเพื่อความสวยงาม เพื่อความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เพื่อความคึกคะนองอะไร ฉันพอยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อได้ประพฤติพรหมจรรย์ ชำระกิเลสาสวะ ซึ่งเป็นตัวพิษรกรุงรัง ฝังจมลึกอยู่ภายในใจนี้ ให้เตียนโล่งออกจากใจ ด้วยพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งอาศัยธุดงควัตรเหล่านี้เป็นเครื่องมือต่างหาก พระเราเมื่อฉันมาก ๆ ทำให้ธาตุขันธ์มีกำลังมากขึ้น แต่จิตใจลืมเนื้อลืมตัว ขี้เกียจภาวนา ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไรเลย มีแต่อาหารพอกพูนธาตุขันธ์สกนธ์กาย ไม่ได้พอกพูนจิตใจด้วยอรรถด้วยธรรม ใจหากเคยมีธรรมมาบ้าง ก็นับวันเหี่ยวแห้งแฟบลงไป ถ้ายังไม่มีธรรม เช่น สมาธิธรรม เป็นต้น ก็ยิ่งไปใหญ่ ไม่มีจุดหมายเอาเลย ธุดงค์จึงต้องห้ามความโลเลในอาหาร เพื่อให้ใจมีทางเดินโดยอรรถโดยธรรม กิเลสจะได้ไม่ต้องพอกพูนมากมาย กายจะได้เบา ใจจะได้สงบเบาในเวลาประกอบความเพียร และสงบได้ง่ายกว่าเวลาที่พุ่งกำลัง บรรจุอาหารเสียเต็มปรี่...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-02-2013 เมื่อ 01:18 |
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#166
|
|||
|
|||
นอกจากนี้ หลวงปู่มั่นยังให้อุบายธรรมเกี่ยวกับการขบฉันของพระเณรไว้อย่างถึงใจดังนี้
“...ท่านอาจารย์มั่นฉันข้าวในบาตรแล้วก็ฉันด้วยช้อน ธรรมท่านผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมา โอ้โห...เหมือนน้ำไหลไฟสว่างไปเลย ผุดขึ้นมา ๆ เหมือนกับว่าสอนเรา ผึง ๆ ขึ้นมา เหมือนกับว่าสอนเรา ผึง ๆ ขึ้นมาเลย ท่านว่าอย่างนั้น ‘ฉันก็ฉันเพื่อเห็นภัย ยืน เดิน นั่ง นอน เพื่อเห็นภัย และในขณะเดียวกัน เพื่อคุณธรรมทั้งหลาย ทำไมเวลามาฉันจึงเห็นแก่ลิ้น แก่ปากอย่างนี้ นี่หรือผู้เห็นภัยเป็นอย่างนี้หรือ..!!’ เด็ดเผ็ดร้อนมากเหมือนกัน อุบายที่ผุดขึ้นมาในเวลานั้น ‘นี่..ไม่ใช่ผู้เห็นภัยนะ ผู้ที่นอนจมอยู่ในวัฏสงสารหาเวลาพ้นไปไม่ได้แบบนี้น่ะ’ พอเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตมันก็สลดทันที...” ด้วยอุบายธรรมของหลวงปู่มั่นเช่นนี้ องค์หลวงตาจึงเข้มงวดกับการขบฉันของตัวเองเป็นพิเศษ มิปล่อยให้ความอยากมาครอบงำจิตใจได้ และหลวงปู่มั่นก็จับได้ถึงความตั้งใจจริงของท่านมาโดยตลอดเช่นกัน ดังนี้ “ท่านไม่ได้บอกว่าเราตั้งใจก็ตาม แต่กิริยาที่แสดงออกมานั้น เป็นการบอกอยู่ชัด ๆ ว่าท่านทราบทุกอย่างว่าเราทำอย่างไร เช่น เราไม่ฉันนมอย่างนี้ เวลาเขาเอานมมาถวายให้ ผสมเผสิมอะไรใส่มัน เทนมลงไปแล้วก็แจกพระ ผมไม่เคยฉัน แม้แต่ผมเรียนหนังสือ ผมยังไม่ฉันนม เพราะธาตุของผมมันผิด นอนเฉย ๆ นี่.. ไม่ต้องฝันละนะ เพราะกำลังมันเต็มที่ของมันอยู่แล้ว แต่ว่าจะเป็นราคะจริงก็ไม่ใช่นะ ราคะจริตมันต้องเพลิดต้องเพลินไปข้างนอกนู่น หาเรื่องกามกิเลส แต่มันไม่ไป ธาตุขันธ์มันเต็มที่ของมัน บางทีมันก็แสดง.. ไม่ได้ฉันนมก็ตาม มันจะปวดที่ตรงตานกเอี้ยง มันจะปวด เจ้าของรู้ตัวนอนได้ระมัดระวัง นาน ๆ มาทดลอง ฉันนมนี้มันก็เห็นอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องตัดขาดเลย เวลาปฏิบัติยิ่งเป็นเรื่องเฉียบขาดด้วยแล้ว ผมไม่แตะเลย นี่ท่านก็เห็นเหตุ ที่ท่านจะเห็นก็เวลาชงนมอะไร เอานมใส่นี้ ท่านว่า ‘แบ่งให้ท่านมหาก่อนนะ ท่านมหาไม่ฉันนมนะ แบ่งให้ท่านมหาก่อนนะ’ นี่คือประกาศสอนพระเณรทั้งหลายนั่นเอง พูดง่าย ๆ .. ดูซิอุบายของท่าน ไม่เพียงแต่พูดกับเรา ยังเอาเราเป็นเหตุอีกด้วย” แม้หลวงปู่มั่นจะทราบดีถึงความตั้งใจจริงของท่าน ไม่ว่าจะเรื่องการถือธุดงค์ฉันในบาตร หรือการไม่ใช้ช้อนฉันอาหาร ว่าท่านรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ไม่อ่อนแอ แต่บางครั้ง หลวงปู่มั่นก็หาอุบายขนาบส่วนรวม โดยยกเอาท่านมาเป็นเหตุเหมือนกัน ดังนี้ “...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านก็รู้ว่า เราไปธุดงค์ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่เต็มฐาน ไปทรมานอยู่ตามป่าตามเขาลูกไหน ๆ ท่านก็รู้แล้ว ท่านทำไมพูดขึ้นมาว่า ‘ท่านมหา! ไปนานนัก ไปหลายวันแล้ว มัวไปซดซ้ายซดขวาอยู่ที่ไหน ไม่เห็นมา’ ทั้ง ๆ ที่ท่านก็รู้ว่าเราตั้งใจขนาดไหน เราไม่เคยแตะช้อนเลย ..ท่านก็รู้ แต่ทำไมท่านพูดอย่างนั้น ก็คือท่านสอนหมู่สอนคณะในวงนั้นนั่นเอง เวลาเรากลับมา พระก็เล่าให้เราฟัง ท่านว่า ‘พระกรรมฐานฉันช้อน ดูแล้วมันขวางตา ขวางใจ สะดุดใจทันที เหมือนพระเจ้าชู้ ขุนนาง การฉันเพื่อความเห็นภัย จะหาอะไรมาเป็นความสะดวกสบาย มาโก้เก๋อย่างนั้น มันขัดกันกับความเห็นภัยในการฉัน’...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-02-2013 เมื่อ 19:19 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#167
|
|||
|
|||
เป็นไข้มาลาเรีย สภาพธรรมชาติของวัดป่าบ้านหนองผือโดยมากเป็นป่าดงพงลึก มีสัตว์ป่าเข้ามาหลบภัยในวัดมากมายหลายชนิด ท่านเล่าไว้ ดังนี้ “...พระกรรมฐานที่มุ่งอรรถมุ่งธรรมจริง ๆ เขาอยู่ตามป่าตามเขา.. จะรู้จักอัธยาศัยของสัตว์ได้ดี สัตว์พวกไหนมันก็มา เขาแอบมาอยู่ข้าง ๆ เขาจะมาจุ้นจ้าน เขาก็ไม่มานะ คือเขาหลบภัย ยกตัวอย่างเช่นหนองผือนี่.. เห็นได้ชัดเจนมากทีเดียว พระอยู่ที่ไหน มันก็แอบ ๆ อยู่กับพระนั่นแหละ จะให้ออกมาจุ้นจ้าน.. ไม่มา ชอบอยู่ข้าง ๆ เพราะมันเป็นดงนี่ องค์นี้อยู่ตรงนั้น องค์นั้นอยู่ตรงนั้น อย่างนี้นะ อยู่ว่าง ๆ ในดงนี่ เขาอยู่ได้ทั่วไป ก็เหมือนกับว่ามีผู้รักษาทั่วไป หนองผือนี่มากที่สุด บรรดาสัตว์ ที่เราเคยไปเที่ยวที่ไหน ๆ ในวัดหนองผือ เพราะแต่ก่อนมันเป็นดงทั้งหมด ที่เราเห็นนั่น ไปถึงบ้านนาในมีแต่ดงติดต่อกันไปเลย สัตว์อยู่ได้ทั่วไป แต่อยู่ที่อื่นเขาไม่ปลอดภัย เขาจึงไม่อยากอยู่ แอบเข้ามา ๆ ถึงขนาดไม่กลัวคนก็มี หมูทอก หมูโทนสูง เราอยากจะว่าตั้งเกือบร่วมเมตรนะ มันสูงเป็นเมตร มันตัวใหญ่ ใหญ่จริง ๆ เขาเรียกหมูโทน หมูทอก ตัวใหญ่ ได้พากันไปยืนดูเขาอยู่ ต้นกะบกต้นนั้นยังอยู่นะ ต้นที่เราชี้มือให้หมู่เพื่อนไปดู ไอ้หมูป่าพอตกบ่าย ๔ โมงเย็น ๕ โมงเย็น เขาก็มา เขาจะมากินลูกกะบก เขามากินเฉยเหมือนสัตว์บ้านนะ เราก็ไปยืนดูอยู่ นั่นดูสิเห็นไหม เขากลัวไหม เขาเฉย เขาเดินเหมือนควายเรา เที่ยวหากินต้วมเตี้ยม ๆ เฉย กินอิ่มแล้วเขาก็ออกไป เราก็ยืนดูเขาอยู่นั้น เขาไม่สนใจนะ.. อย่างนั้นนะ อีเก้งก็มี มันแอบ ๆ มา เขาไม่กลัว เขาปลอดภัย ความหมาย ‘ว่างั้น’...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-02-2013 เมื่อ 17:27 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#168
|
|||
|
|||
นอกจากสัตว์ป่าแล้ว ยังมีไข้ป่าชุกชุมมากอีกด้วย จนหลวงปู่มั่นต้องสั่งให้พระเณรที่ไปกราบเยี่ยมให้รีบออกถ้าจวนเข้าหน้าฝน ถ้าเป็นหน้าแล้งก็อยู่ได้นานขึ้น แม้หลวงปู่มั่นเองเข้ามาวัดป่าบ้านหนองผือแรก ๆ เพียงไม่กี่วันก็เริ่มป่วยเป็นไข้มาเลเรียแบบจับสั่นชนิดเปลี่ยนหนาวเป็นร้อน และเปลี่ยนร้อนเป็นหนาวแล้ว ซึ่งเป็นการทรมานอย่างยิ่งอยู่แรมเดือน ไข้ชนิดนี้หากเป็นแล้วไม่หายง่ายตั้งแรมปีก็ไม่หาย บางทีหายไป ๑๕ วันหรือเดือนหนึ่งแล้ว จนนึกว่าหายสนิทก็กลับมาเป็นเข้าอีก หากผู้ใดป่วยเป็นไข้มาเลเรียต้องใช้ความอดทนมาก เพราะยาแก้ไข้ไม่มีใช้กันเลยในวัด เพราะยาหายากไม่เหมือนสมัยทุกวันนี้
ไข้ประเภทนี้ ชอบเป็นกับคนที่เคยอยู่บ้านทุ่งแล้วย้ายไปอยู่ในป่าตามไร่นา แม้คนที่เคยอยู่ป่าเป็นประจำมาแล้วก็ยังเป็นได้ แต่ไม่ค่อยรุนแรงเหมือนคนมาจากทางทุ่ง และชอบเป็นกับพระธุดงคกรรมฐานที่ชอบเที่ยวซอกแซกไปตามป่าเขาโดยมาก สำหรับตัวท่านเอง เมื่อมาอยู่ที่บ้านหนองผือแรกนี้ก็เป็นไข้มาเลเรียด้วยเช่นกัน เป็นตลอดพรรษาถึงหน้าแล้งก็ยังไม่ยอมหายสนิทได้เลย มีคนถามว่าท่านเคยเป็นไข้มาเลเรียไหม ท่านตอบทันทีว่า โธ่ !..เป็นมาไม่รู้เป็นกี่ครั้ง ผมบนศีรษะโกนให้โล้นแล้ว ไม่แล้ว.. มันยังร่วงอีก ไข้มาเลเรียนี้มันร้อน ปากนี่เปื่อยหมด ช่วงที่เป็นไข้มาเลเรียอยู่นั้น มีอยู่วันหนึ่งในตอนกลางวันปรากฏว่าไข้เริ่มหนักแต่เช้า ท่านจึงไม่ไปบิณฑบาตและไม่ฉันจังหันด้วย ในวันนั้น ท่านพยายามต่อสู้กับทุกขเวทนาด้วยการพิจารณา พอถึงเวลาบ่าย ๓ โมง ไข้จึงสร่างปรากฏว่ากำลังเรี่ยวแรงอ่อนเพลียมาก จึงเพ่งจิตให้อยู่กับจุดใดจุดหนึ่งของทุกขเวทนาที่กำลังกำเริบหนัก โดยไม่คิดทดสอบแยกแยะเวทนาด้วยปัญญาแต่อย่างใด ในจังหวะเวลานั้น เป็นเวลาที่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาธรรมบางประการ จึงเห็นท่านกำลังปฏิบัติอยู่เช่นนั้นพอดิบพอดี พอบ่าย ๔ โมง ท่านเข้าไปหาหลวงปู่มั่น จึงถูกตั้งปัญหาถามขึ้นในทันทีว่า ทำไมจึงพิจารณาอย่างนั้นเล่า ? การเพ่งจิตจ้องอยู่ .. ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะ กาย เวทนา จิต ให้รู้เรื่องของกันและกัน ท่านจะทราบความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตได้อย่างไร ? แบบท่านเพ่งจ้องอยู่นั้นมันเป็นแบบฤๅษี แบบหมากัดกัน ไม่ใช่แบบพระผู้ต้องการทราบความจริงในธรรมทั้งหลาย มีเวทนา เป็นต้น ต่อไปอย่าทำอย่างนั้น มันผิดทางที่จะให้รู้ให้เห็นความจริงทั้งหลาย ที่มีอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต ตอนกลางวันผมได้พิจารณาดูท่านแล้ว ว่าไม่ใช้สติปัญญา คลี่คลายดูกาย ดูเวทนา ดูจิตบ้างเลย พอเป็นทางให้สงบและถอดถอนทุกขเวทนาในเวลานั้น เพื่อไข้จะได้สงบลง นี่คือ ความสามารถออกรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้โดยตลอดของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น พระอรหันต์ยุคปัจจุบัน |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#169
|
|||
|
|||
สมาธิ กับ ความสงบ “...คำว่าความสงบกับสมาธินั้นไม่ได้เหมือนกัน เมื่อพูดตามภาคปฏิบัติแล้ว ความสงบนั้นคือจิตสงบลงไป หรือว่ารวมลงไปหนหนึ่งแล้วถอนขึ้นมา ๆ เรียกว่าสงบเป็นครั้งคราว ในเวลาจิตที่รวมลงไปถอนขึ้นมานี้เรียกว่าความสงบ ทีนี้เวลามันสงบลงไปถอนขึ้นมาหลายครั้งหลายหน มันสร้างฐานแห่งความมั่นคงภายในตัวของมัน ขณะที่สงบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นจิตที่แน่นหนามั่นคงขึ้นมา จากความสงบที่สั่งสมกำลังแห่งความแน่นหนามั่นคงมาเป็นลำดับนั้น ติดต่อกันมาเรื่อย ๆ เลยกลายเป็นสมาธิขึ้นมา แน่นหนามั่นคง นี่..เรียกว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว เวลาสงบแล้วถอนขึ้นมา ๆ นั้นเรียกว่า จิตสงบหรือว่าจิตรวม พอถึงขั้นจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตจะถอนขึ้นมา ไม่ถอนขึ้นมาก็ตาม ฐานของจิตคือความสงบนั้นแน่นปึ๋ง ๆ ตลอดเวลา นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เห็นประจักษ์ในหัวใจอย่างนี้ อ๋อ.. สมาธิกับความสงบนี้ต่างกัน นี่เรียกว่าสมาธิ เพื่อให้ถูกต้อง ดำเนินด้วยความราบรื่น พอจิตเป็นสมาธิมีความสงบมันอิ่มอารมณ์ ไม่เสียดายในความคิดความปรุงไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรสต่าง ๆ พอใจอยู่กับความสงบใจของตนนั้น เรียกว่าจิตมีสมาธิ จิตอิ่มอารมณ์ คือไม่อยากคิดกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ อาศัยความสงบเย็นใจ ความแน่นหนามั่นคงของสมาธินั้นเป็นเรือนอยู่ของใจ จิตขั้นนี้เวลามันสงบมีกำลังมาก ๆ แล้วมันจะรำคาญในการคิดการปรุงต่าง ๆ ซึ่งแต่ก่อนมันหิวโหยมาก ไม่ได้คิดได้ปรุงอยู่ไม่ได้ ดีดดิ้นอยากคิดอยากปรุง พอจิตมีความสงบเป็นจิตแน่นหนามั่นคง เรียกว่าเป็นสมาธิเต็มที่แล้วนั้นไม่อยากคิด ความคิดเป็นการรบกวนตัวเอง จิตที่อยู่แน่ว มีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ภายในตัวนั้น ถือว่าเป็นความสะดวกสบายไม่มีอะไรมากวนใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสมาธิจึงมักคิดในสมาธิ หรือติดในสมาธิ เพราะสมาธินี้ก็เป็นอารมณ์กล่อมใจได้ดี เมื่อยังไม่ถึงขั้นปัญญา.. ที่จะมีผลมากกว่านี้แล้วจะติดได้...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-03-2013 เมื่อ 18:15 |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#170
|
|||
|
|||
สมาธิ กับ จิตรวม “...คำว่าจิตรวมกับสมาธินี้ต่างกันนะ รวมหลายครั้งหลายหนเข้าไปค่อยสร้างกำลังขึ้นมา จนกลายเป็นสมาธิได้ในตัว นั่น.. จิตเป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ จะคิดจะปรุงแต่งเรื่องอะไรก็ตาม จิตนี้มีฐานอันมั่นคงของตัวเอง เป็นความสงบแน่วแน่อยู่ภายในตัวเอง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตที่รวมคือ เวลาที่จิตสงบเข้าไป รวมเข้าไป ปราศจากความคิดความปรุงทั้งหลาย เรียกว่าจิตสงบหรือจิตรวม ถอนออกมาแล้วมันก็มีความคิดความปรุงตามธรรมดาของมัน บางทีอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นได้ เพราะความคิดกวนใจ เราพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จิตของเราจะมีความสง่างามขึ้นมา ความสงบของใจ ความสบายใจจะขึ้นพร้อมกัน จากนั้นก็เป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์เป็นขั้นของใจ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-03-2013 เมื่อ 15:46 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#171
|
|||
|
|||
สมาธิ กับ สมถะ “...พอบังคับจิตของเราไว้ จิตไม่มีทางที่จะออกข้างนอก ส่วนข้างในไม่ให้ออกไม่ให้เข้ามา มีแต่อันนี้แหละจะออกไป แล้วจิตจะสงบ พอจิตสงบ สงบด้วยอารมณ์ของธรรมบังคับไว้ กิเลสเป็นธรรมชาติที่ฟุ้ง ธรรมะเป็นธรรมชาติที่ดับ หรือน้ำดับไฟ.. กิเลสเป็นไฟ ธรรมะเป็นน้ำ ดับไฟแล้วจิตจะสงบเข้าไป ๆ พอสงบหลายครั้งหลายหน จิตรวมครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้งเข้าไปนี้ มันจะไปสั่งสมกำลังขึ้นมา เมื่อรวมหลายครั้งแล้วจะเป็นจิตแน่นหนามั่นคง จนกลายเป็นสมาธิ สมาธิกับสมถะนี้ต่างกันนะ สมถะคือความสงบด้วยจิตรวมหลายครั้งหลายหน แล้วสั่งสมผลขึ้นมาจนกลายเป็นจิตใจมั่นคง และจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธินี้แน่นหนามั่นคง ไม่หิวไม่โหยกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่อยากคิด อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นต่าง ๆ นี้ มีแต่ความอยากของจิต ความหิวโหยของจิต ทีนี้พอจิตอิ่มอารมณ์ด้วยธรรมแล้ว จิตไม่อยากคิดอยากปรุง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-03-2013 เมื่อ 02:17 |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#172
|
|||
|
|||
จิตเป็นสมาธิอยู่คนเดียวเหมาะที่สุด “...คำว่าสมาธิคือ จิตตั้งมั่นอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว แน่นหนามั่นคง แม้เราจะคิดปรุงแต่งเรื่องใดได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตคือความแน่นหนามั่นคง จะไม่ละตนเอง จะมีความแน่นหนามั่นคงอยู่ภายในใจ.. นี้เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ ในภาคปฏิบัติ จิตสงบเป็นอย่างหนึ่ง คือสงบด้วยจิตรวมลงหลายครั้งหลายหน แต่ละหน ๆ เรียกว่าจิตสงบ ๆ เมื่อรวมลงไปทีไรก็ส่งผล.. หนุนให้จิตมีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้น ๆ จนกลายเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ทีนี้เรื่องอารมณ์นั้นอิ่ม อยากจะคิด จะปรุงอะไร ตั้งแต่ก่อนซึ่งเหมือนอกจะแตก ไม่ได้คิด ได้ปรุงเหมือนว่าอกจะแตก อยู่ไม่ได้ก็ตาม พอจิตเข้าสู่ความสงบเรื่อยเข้าสู่สมาธิแล้ว ความคิดปรุงทั้งหลายเหล่านี้จะไม่มี จิตอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิด อยากปรุง อยากรู้ อยากเห็น อยากได้ยินได้ฟังสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เคยดีดดิ้นมาแต่ก่อน เพราะความสงบเป็นพื้นฐานให้เป็นที่อยู่ของจิตแล้ว.. จิตก็สงบเย็น นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธินี้อยู่คนเดียวแล้วเหมาะที่สุด อยู่ที่ไหน ? ต้นไม้ ภูเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา จะเป็นอารมณ์อันเดียวของผู้มีจิตเป็นสมาธิ เพลินอยู่กับความเป็นสมาธิ อารมณ์อันเดียวคือมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเข้ามาเจือปน คือสังขารไม่ปรุงเอาเรื่องราวเข้ามาผสมใจ ใจก็เป็นอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-04-2013 เมื่อ 15:00 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#173
|
|||
|
|||
มิจฉาสมาธิ : สัมมาสมาธิ “...ได้พิจารณาแล้วเต็มกำลัง นับแต่ได้เริ่มปฏิบัติมาจนถึงวันนี้ ไม่เคยเห็นธรรมบทใดหมวดใดที่ยิ่งไปกว่าสติปัญญา ซึ่งจะสามารถรื้อฟื้นสิ่งลี้ลับอยู่ภายนอกก็ดีภายในก็ดี ให้ประจักษ์แจ้งขึ้นมาภายในใจ ดังนั้น จึงได้นำธรรมทั้งสองประเภทนี้ มาแสดงแก่บรรดาท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ถ้าเป็นไม้ก็แก่นหรือรากแก้วของต้นไม้ เป็นธรรมก็รากเหง้า หรือเครื่องมือที่สำคัญสำหรับแก้กิเลสาสวะ นับตั้งแต่หยาบถึงละเอียดยิ่งให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ถ้าได้ขาดสติไปเสีย เพียงจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งได้ขาดปัญญาไปเสียด้วยแล้ว แม้สมาธิก็จะกลายเป็นมิจฉาสมาธิไปได้ เพราะคำว่าสมาธินั้นเป็นคำกลาง ๆ ยังไม่แน่ว่าเป็นสมาธิประเภทใด ถ้าขาดปัญญาเป็นพี่เลี้ยง ต้องกลายเป็นสมาธิที่ผิดจากหลักธรรมไปได้โดยไม่รู้สึกตัว คำว่า มิจฉาสมาธิ นั้นมีหลายระดับ ชั้นหยาบที่ปรากฏแก่โลกอย่างชัดเจนก็มี ชั้นกลาง และชั้นละเอียดก็มี ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะมิจฉาสมาธิในวงปฏิบัติ ซึ่งปรากฏขึ้นกับตนเองโดยไม่รู้สึกตัว เช่น เข้าสมาธิจิตรวมลงแล้วพักอยู่ได้นานบ้าง ไม่นานบ้าง จนถอนขึ้นมา ในเวลาจิตถอนขึ้นมาแล้วยังมีความติดพันในสมาธิ ไม่สนใจทางปัญญาเลย โดยถือว่าสมาธิจะกลายเป็นมรรค ผล นิพพานขึ้นมาบ้าง ยังติดใจในสมาธิอยากให้รวมอยู่นาน ๆ หรือตลอดกาลบ้าง จิตรวมลงถึงที่พักแล้วถอนขึ้นมาเล็กน้อย และออกรู้สิ่งต่าง ๆ ตามแต่จะมาสัมผัส แล้วเพลินติดในนิมิตนั้น ๆ บ้าง บางทีจิตลอยออกจากตัวเที่ยวไปสวรรค์ ชั้นพรหม นรก อเวจี เมืองผี เมืองเปรตต่าง ๆ จะถูกหรือผิดไม่คำนึง แล้วก็เพลินในความเห็น และความเป็นของตน จนถือว่าเป็นมรรคผลที่น่าอัศจรรย์ของตน และของพระศาสนาด้วย ทั้งนี้แม้จะมีท่านที่มีความรู้ความสามารถในทางนี้.. มาตักเตือนก็ไม่ยอมฟังเสียเลย เหล่านี้เรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก ส่วนสัมมาสมาธิเล่าเป็นอย่างไร ? และจะปฏิบัติวิธีใดจึงจะเป็นไปเพื่อความถูกต้อง ข้อนี้มีผิดแปลกกันอยู่บ้างคือ เมื่อนั่งทำสมาธิจิตรวมลงพักอยู่ จะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม และจะพักอยู่ได้นานหรือไม่นาน ข้อนี้ขึ้นอยู่กับสมาธิประเภทนั้น ๆ ซึ่งมีกำลังมากน้อยต่างกัน จงให้พักอยู่ได้ตามขั้นของสมาธินั้น ๆ โดยไม่ต้องบังคับให้ถอนขึ้นมา ปล่อยให้พักอยู่ตามความต้องการแล้วถอนขึ้นมาเอง แต่เมื่อจิตถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว จงพยายามฝึกค้นด้วยปัญญา จะเป็นปัญญาที่ควรแก่สมาธิขั้นไหนก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองดูตามธาตุขันธ์ จะเป็นธาตุขันธ์ภายนอกหรือภายในไม่เป็นปัญหา ขอแต่พิจารณาเพื่อรู้เหตุผลเพื่อแก้ไขหรือถอดถอนตนเองเท่านั้น... ชื่อว่าถูกต้อง จงใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งภายในทั้งภายนอก หรือจะเป็นส่วนภายในโดยเฉพาะ หรือจะเป็นส่วนภายนอกโดยเฉพาะ พิจารณาลงในไตรลักษณ์ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ได้จนชำนาญและแยบคาย จนรู้ช่องทางเอาตัวรอดไปได้โดยลำดับ เมื่อพิจารณาจนรู้สึกอ่อนเพลีย จิตอยากจะเข้าพักในเรือนคือสมาธิ ก็ปล่อยให้พักได้ตามความต้องการ จะพักนานหรือไม่นานไม่เป็นปัญหา จงพักอยู่จนกว่าจิตจะถอนขึ้นมาเอง เมื่อจิตถอนขึ้นมาแล้ว จงพิจารณาสภาวธรรม.. มีกายเป็นต้นตามเคย นี่เรียกว่าสัมมาสมาธิ และพึงทราบว่าสมาธิเป็นเพียงที่พักชั่วคราวเท่านั้น จิตมีกำลังแล้วถอนขึ้นควรแก่การพิจารณาต้องพิจารณา ทำอย่างนี้โดยสม่ำเสมอ สมาธิจะเป็นไปเพื่อความราบรื่น ปัญญาจะเป็นไปเพื่อความฉลาดเสมอไป จะเป็นไปเพื่อความสม่ำเสมอทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา เพราะสมาธิเป็นคุณในทางหนึ่ง ปัญญาเป็นคุณในทางหนึ่ง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-04-2013 เมื่อ 19:35 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#174
|
|||
|
|||
การฉันในวัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือในครั้งนั้น ปรารภถึงการเตรียมการฉันในตอนหนึ่งของหนังสือชีวประวัติ ดังนี้ “...ย้อนมาปรารภในการเตรียมจะฉันหรือฉันอยู่ก็ดี ธรรมดานอกพรรษา ต้องมีการแจกอาหารในศาลาโรงฉัน จิปาถะขลุกขลุ่ย พระองค์ใดเป็นห่วงบาตรตนเองในยามเตรียมจัดแจงกัน ไม่ประเปรียว หูหลักตาไวช่วยแจก เกรงแต่หมู่ไม่ให้ นั่งเฝ้าบาตร องค์นั้นแหละ.. ต้องถูกเทศน์อย่างหนักในขณะนั้นด้วย ถ้าองค์ไหนยอมเสียสละในใจ ว่าถ้าหมู่ไม่พอเอาใส่ให้เรา เราก็ไม่ต้องฉัน เราจะพอใจช่วยแจกช่วยทำกิจอันเกี่ยวกับพระอาจารย์ และหมู่เพื่อนให้เรียบร้อย เสร็จแล้วจึงมานั่งเฝ้าบาตรตน ผู้ใดปฏิบัติอย่างนั้นเป็นมงคลในสำนัก แม้ถึงคราวพลาด ถูกเทศน์ในเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ถูกแรงนัก เพราะอำนาจความกว้างขวางในสำนัก เป็นเครื่องดึงดูดทำให้เรื่องอื่นผ่อนคลายไปในตัว และก็เป็นที่สะดวกของครูบาอาจารย์ และหมู่เพื่อนด้วย แม้ปัจจัยสี่ จีวร เสนาสนะ เภสัช เจ้าตัวก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนจะสงเคราะห์ตน โดยตนไม่ต้องพิถีพิถัน ภิกษุสามเณรใดปฏิบัติแบบนี้ในสำนัก เป็นธรรมวินัยอันลึกซึ้ง ด้วยเป็นที่เกรงขามของหมู่เพื่อนในตอนนี้อีก จะกล่าวถึงในเวลากำลังแจกอาหารอีก สภาพศาลาฉันในวัดป่าบ้านหนองผือ สมัยนั้นเป็นศาลามุงหญ้าคาและปูฟาก กว้างประมาณสี่เมตร ยาวประมาณห้าเมตร ใช้กระโถน กระบอกไม้ไผ่บ้าน เวลากำลังแจกอาหารต้องนอนกระโถนไว้เรียบ ๆ ก่อน แจกอาหารแล้วจึงตั้งกระโถนขึ้นได้ เพราะฟากขลุกขลัก เดินไปมากระโถนจะล้ม ในขณะกำลังฉัน.. เงียบสงัดมาก ไม่มีองค์ใดจะเคี้ยวฉันอันใดให้มีเสียงกร๊อบ ๆ แกร๊บ ๆ เลย เช่น ถั่ว มะเขือแดง ที่ได้ฉันเป็นบางยุคบางสมัย เมื่อเฉือนเป็นชิ้น ๆ แล้วก็ตาม เมื่อมือหยิบส่งเข้าประตูปากแล้วก็ต้องสำนึกว่า เมื่อเราเคี้ยวพรวดลงทีเดียวจะมีเสียงกร๊อบหรือไม่ ถ้าเห็นว่าจะไม่มีเสียงกร๊อบแล้ว เราจึงเคี้ยวพรวดลงทีเดียว ถ้าเห็นว่าจะมีเสียงกร๊อบก็ค่อยเน้นลงให้บุบก่อนจึงเคี้ยวต่อไป ข้อนี้พระอาจารย์มหาบัวบอก ข้าพเจ้าจึงได้รู้วิธีปฏิบัติ พระวินัยก็บอกไว้ไม่ให้ฉันดังจั๊บ ๆ หรือซูด ๆ แต่ดังกร๊อบมันก็ผิดเหมือนกัน เพราะมันคงเหมือนหมาเคี้ยวกระดูก หรือเสือกัดกระดูก... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-05-2013 เมื่อ 02:15 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#175
|
|||
|
|||
ตอนฉันอาหารเสร็จ พระอาจารย์ใหญ่ไปส้วมถ่าย ส้วมนั้นเป็นส้วมแบบโบราณ.. ขุดหลุมลึกประมาณสามเมตร ถวายเฉพาะองค์ท่าน กว้างเมตรเจ็ดสิบห้าเซ็นต์ฯ ส้วมแบบโบราณมีรางปัสสาวะ ครั้นองค์ท่านเข้าไปถ่าย ถอดรองเท้าเรียงคู่ไว้เรียบ ๆ ไม่ผินหน้าผินหลัง เปิดประตูแบบมีสติไม่ตึงตัง ปัสสาวะลงในรางปัสสาวะแล้วเทน้ำลงล้าง ถ่ายเสร็จแล้วชำระด้วยใบตองกล้วยแห้งที่พันไว้เป็นกลม ๆ ยาวคืบกว่าที่ลูกศิษย์จัดทำไว้ เพราะองค์ท่านเป็นโรคริดสีดวงทวาร ในยุคนั้นไม่มีกระดาษชำระ
กระดาษที่มีหนังสือชาติใด ๆ ก็ตาม องค์ท่านไม่เหยียบ ไม่เอาลงในกระโถน ไม่เอาเช็ดทวารหนักทวารเบา องค์ท่านเคยอธิบายบ่อย ๆ ว่า หนังสือชาติใดก็ตาม สามารถจารึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น จึงควรเคารพยำเกรง เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว องค์ท่านปัดกวาดเรียบค่อยเปิดประตูเบา ๆ ออกมาโดยสภาพไม่ตึงตัง น่าเลื่อมใสถึงใจมาก ... ถ่ายเสร็จเรียบร้อยทุกประการก็กลับพักกุฏิขององค์ท่าน ทำกิจธุระด้านภาวนาเฉพาะองค์ท่าน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-05-2013 เมื่อ 09:49 |
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#176
|
|||
|
|||
ข้อปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่น อาจารย์นักปราชญ์ ลูกศิษย์ก็บัณฑิต หลวงปู่หล้ากล่าวถึงข้อวัตรโดยรวมและข้อปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่นในครั้งนั้น ดังนี้ “...ครั้นถึงเวลาบ่ายหนึ่งโมงกว่า ๆ องค์ท่านก็ลงจากกุฏิเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง บ่ายประมาณสี่โมงเย็นก็กวาดลานวัดพร้อมกัน ไม่มีองค์ใดจะใช้กลเม็ดหลีกเลี่ยงได้ เว้นแต่ป่วยไข้ไม่สบาย หรือได้เฝ้าพยาบาลภิกษุไข้อยู่เท่านั้น กวาดลานวัดแล้วก็รีบหาบน้ำฉันน้ำใช้ไว้เต็มตุ่มไห ประมาณวันละสี่สิบปีบเป็นเกณฑ์ วันซักผ้าและวันมีอาคันตุกะมาพักมากก็ตักมากกว่า รีบหาบเรียบร้อยแล้ว ก็รีบไปสรงถวายหลวงปู่มั่น เสร็จแล้วกลับไปสรงกุฏิใครกุฏิมัน ไม่ได้รวมกันไปสรงที่บ่อ แต่บ่อน้ำก็ไม่ไกลอยู่ในวัด ริมวัด น้ำในบ่อก็ไม่ขาดแห้งเลยสักที เป็นน้ำจืดสนิทดีพร้อมทั้งใสสะอาดเยือกเย็นด้วย มีรางไม้กว้าง ๆ เทใส่รางมีผ้ากรอง พระอาจารย์มหาบัวได้ดูแลเป็นหัวหน้า แต่มิได้ให้องค์ท่านตักและหาบ เพียงเป็นนายหมวดนายหมู่ดูแล ในตอนที่ว่าน้ำ ๆ ฟืน ๆ ก็เหมือนกัน...”*** หลวงปู่หล้ากล่าวถึงวิธีปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่นที่ละเอียดลออเหมาะสม มักได้รับคำแนะนำจากองค์หลวงตา (หลวงปู่มหา) อยู่เนือง ๆ ดังนี้ “...เมื่อองค์ท่านวิการในธาตุขันธ์ผิดปกติ ได้ถ่ายตอนกลางคืนลงที่หลุมใต้ถุน ให้รีบเก็บด้วยมือ โดยเอามือกอบใส่บุ้งกี๋ที่เอาใบตองรองแล้วเอาขี้เถ้ารองอีก กอบอุจจาระจากหลุมมาใส่บุ้งกี๋นั้น ส่วนหลุมนั้นเอาขี้เถ้ารองหนา ๆ ไว้ แล้วมีฝาปิดไว้ตอนกลางวัน ค่ำมืดแล้วรีบไปเปิดไว้... เช้ามืดรีบไปตรวจดูแบบเงียบ ๆ เมื่อเห็นรอยถ่ายก็รีบเก็บ รีบล้างมือด้วยขี้เถ้าและน้ำมันก๊าด ตัดเล็บมือไว้ให้เรียบ ข้อที่เอามือกอบออก หลวงปู่มหาบอก แต่ว่าไม่ได้บอกต่อหน้าหลวงปู่มั่น บอกว่า ‘ครูบาอาจารย์ชั้นนี้แล้ว ไม่ควรเอาจอบเสียมนะ ควรเอามือกอบเอา’ ดังนี้ ย่อมเป็นมงคลล้ำค่าของข้าพเจ้า... *** แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2013 เมื่อ 18:32 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#177
|
|||
|
|||
เมื่อคราวซักหรือย้อมถวายองค์ท่าน เราก็ต้องอยู่กองย้อม กองซัก กองตาก กองพับไว้ กองตัด (คือ) หลวงปู่มหา กองเย็บ (คือ) ท่านอาจารย์วัน กองถวายยาแก้โรค (คือ) ท่านอาจารย์วัน (และ) อาจารย์ทองคำ ปูที่นอนและเอาบาตรไว้ (คือ) อาจารย์วัน (และ) อาจารย์ทองคำ
หลวงปู่ให้อุบาย ข้าพเจ้าปูที่นอนต่อหน้าพระอาจารย์วันว่า ‘ท่านหล้าปูที่นอนกับเขาไม่เป็น เอาแต่ของหยาบ ๆ หนัก ๆ’ พูดเย็น ๆ เบา ๆ แต่ข้าพเจ้าก็เก็บไว้เฉพาะส่วนตัว ในสมัยนั้นถ้าหากว่าเล่าให้อาจารย์มหาฟัง ท่านอาจารย์มหาก็จะต้องให้ปูจริง ๆ มีอยู่ข้อหนึ่งที่อดไม่ได้ ได้เล่าถวายท่านอาจารย์มหาฟัง คือมีพระองค์หนึ่งปูที่นอนถวายหลวงปู่มั่น ทั้งปูทั้งเหยียบไปมาเต็มเท้า บริขารขององค์ท่านบางชนิด เช่น กระป๋อง ยาสูบ ก็ข้ามไปข้ามมา ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็เล่าถวายท่านอาจารย์มหา ท่านอาจารย์ก็หาอุบายสังเกตก็พบจริง จึงพูดขึ้นว่า “หมู่ทำแบบไม่มีสูงมีต่ำแบบนี้ ผมไม่เหมาะหัวใจ ปล่อยให้คนที่เขาเคารพกว่านี้มาทำจะเป็นมงคล ทำขวางหมู่เฉย ๆ” ดังนี้ แต่นั้นมาพระองค์นั้นก็เข็ดหลาบ การทำข้อวัตรถวายหลวงปู่ประจำวัน คือไม่ให้หลวงปู่หาอุบายคอยลูกศิษย์ มีแต่ลูกศิษย์คอยเท่านั้น ตอนนั้นพระอาจารย์มหาได้เทศน์หมู่ในยุคหนองผือลับหลังหลวงปู่ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เสมอ ๆ แม้ตัวของผู้เขียนอยู่นี้ก็ดี ถ้าไม่มีหลวงปู่มหาควบคุมในยุคนั้น ก็มักจะตีความหมายไม่ออกหลายเรื่องอยู่ เพราะบางเรื่องลึกลับจนมองไม่ออก เมื่อองค์ท่านมีโอกาสลับหลังมาอธิบายให้ฟัง ก็เท่ากับของคว่ำอยู่แล้วหงายขึ้น สำหรับองค์ท่าน (หลวงปู่มหา) ในสมัยนั้นต้องมีภาระหนักใจกว่าองค์อื่น แต่ด้วยความศรัทธาและพอใจก็เลยกลายเป็นเบาลง (เหตุผลของท่านก็คือ) ก. ด้านธรรมะส่วนตัว เพราะเราหลายพรรษา ทั้งชื่อใหญ่เป็นมหาด้วย ข. ด้านเกี่ยวกับหลวงปู่ เพราะเราเคารพและรักท่านมาก ๆ ค. ด้านบริหารหมู่ เพื่อแบ่งเบาหลวงปู่ ง. ด้านญาติโยม เพื่อให้รู้จักความหมายของหลวงปู่.. จิปาถะสารพัดทุก ๆ ด้าน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2013 เมื่อ 18:30 |
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#178
|
|||
|
|||
ท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังบ่อย ๆ ในยุคนั้น เพราะเข้าใกล้พระอาจารย์ใหญ่ขนาดไหน ก็เข้าใกล้หลวงปู่มหาขนาดนั้น องค์ท่านฉลาดมาก บอก (ผู้เขียน) ไว้ว่า
‘ถ้าวันไหนจะไม่ทันหลวงปู่มั่นในข้อวัตรขององค์ท่าน อย่ามาล้างกระโถนผม อย่ามาเอาบาตรผมลงไปศาลา จงรีบให้ทันข้อวัตรขององค์หลวงปู่ก็แล้วกัน เพราะองค์ท่านจะวิจารณ์ว่ามาเป็นคณาจารย์แข่งกัน เพราะข้อวัตรขององค์ท่านมีมาก’ แต่องค์ท่านฉลาดรีบออกห้องก่อนหลวงปู่มั่นตอนเช้า เรามีเวลาไปล้างกระโถนไม้ไผ่ถวายให้ และได้เอาบาตรลงมาไว้ศาลาถวาย ส่วนบาตรตนเองเอาลงไปก่อน (ตั้ง) แต่ยังไม่ได้อรุณ ต้องคล่องว่องไวจึงได้ วิชาเกียจคร้าน วิชาหลับกลางวัน วิชาเกรงจะไม่ได้ฉันของดี ๆ และมาก ๆ และเกรงจะไม่ได้ใช้บริขารดี ๆ ก็ไม่มีในสมัยนั้น...” หลวงปู่หล้ากล่าวถึงการประชุมกันที่กุฏิหลวงปู่มั่นในตอนเย็น ดังนี้ “...หนึ่งทุ่มประชุมกันที่กุฏิหลวงปู่มั่น ผู้ที่ไปทำแต่ข้อวัตรครูบาอาจารย์ และส่วนรวมบริบูรณ์ก็ตาม (แต่ถ้า) ถามเรื่องภาวนาไม่ได้ความก็ถูกเทศน์หนักอีก ผู้เขียนปีแรกถูกเทศน์หนักสามครั้ง แต่คนละเรื่องมิใช่เรื่องเก่า ปีที่สอง ที่สาม ที่สี่.. เงียบไม่มีเลยก็ว่าได้ แต่ธรรมเนียมนักปฏิบัติย่อมถือกันว่า ถ้าเทศน์องค์ใดเป็นต้นเหตุก็ให้ถือว่าเทศน์หมดวัด ถ้าไม่น้อมลงอย่างนั้นแล้ว มานะความถือตัวจะกำเริบโดยไม่รู้ตัว แม้เมื่อถูกชมก็เหมือนกัน ถือว่าชมหมดทั้งวัด ... น้อมอย่างนี้ คือถ้าใครทำอย่างนี้ก็จะต้องถูกติเตียนอย่างนี้ไม่เลือกหน้า ถ้าใครถูกอย่างนี้ก็ต้องถูกชมอย่างนี้ เรียกว่าน้อมลงมาใส่ตนนี้ (คือ) ที่หลวงปู่มหาเคยอธิบายในยุคนั้น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-05-2013 เมื่อ 19:54 |
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#179
|
|||
|
|||
พระตายไปพรหมโลก ระยะที่หลวงปู่มั่นพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านเล่าว่ามีพระตายในวัด ๒ องค์ ตายบ้านนาในอีก ๑ องค์ ดังนี้ ...องค์แรกอายุราวกลางคน ท่านองค์นี้ (พระอาจารย์เนียม ๑๘ พรรษา) บวชเพื่อปฏิบัติโดยเฉพาะ และปฏิบัติอยู่กับท่านแบบเข้า ๆ ออก ๆ เรื่อยมาแต่สมัยท่านอยู่เชียงใหม่ และติดตามท่านจากเชียงใหม่มาอุดรฯ สกลนคร แล้วมามรณภาพที่วัดหนองผือ (แรม ๗ ค่ำ พฤษภาคม ๒๔๘๙) ทางด้านจิตตภาวนา ท่านดีมากทางสมาธิ ส่วนทางปัญญากำลังเร่งรัดโดยมีท่านเป็นผู้คอยให้นัยเสมอมา ท่านมีนิสัยเคร่งครัดเด็ดเดี่ยวมาก เทศน์ก็เก่งและจับใจเพราะมากทั้งที่ไม่ได้หนังสือสักตัว เทศน์มีปฏิภาณไหวพริบปัญญาฉลาด สามารถยกข้อเปรียบเทียบมาสาธกให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ๆ แต่น่าเสียดายที่ท่านป่วยเป็นวัณโรค กระเสาะกระแสะมานาน ท่านถึงกาลมรณะที่วัดหนองผือ ตอนเช้าเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้า ด้วยท่าทางอันสงบสมเป็นนักปฏิบัติทางจิตมานานจริง ๆ เห็นอาการท่านในขณะจวนตัวและสิ้นลมแล้ว เกิดความเชื่อเลื่อมใสในท่าน และในอุบายวิธีของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาเท่าที่ควรก่อนจะมาถึงวาระสุดท้าย ซึ่งเป็นขณะที่ต้องช่วยตัวเองโดยเฉพาะ ... ขณะท่านองค์นั้นจะสิ้นลม พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นและพระสงฆ์ซึ่งกำลังจะออกบิณฑบาต ได้พากันแวะเข้าไปปลงธรรมสังเวชที่กำลังแสดงอยู่อย่างเต็มตา พอท่านสิ้นลมแล้วชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นขณะที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นกำลังยืนรำพึงอยู่อย่างสงบ ท่านได้พูดออกมาด้วยท่าทางเคร่งขรึมว่า.. ไม่น่าวิตกกับเธอหรอก เธอขึ้นไปอุบัติที่อาภัสสราพรหมโลกชั้น ๖ เรียบร้อยแล้ว นับว่าหมดปัญหาไปสำหรับท่านในครั้งนี้ แต่เสียดายอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าท่านมีชีวิตเร่งยึดเวลา เร่งปฏิบัติให้มากยิ่งกว่านี้บ้างก็มีหวังได้ขึ้นพรหมโลก ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วเตลิดถึงที่สุดเลย ไม่ต้องกลับมาวกเวียนในวัฏฏวนนี้อีก... หลวงปู่หล้าบันทึกเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่า พระอาจารย์เนียมเป็นคนบ้านโคกนามน จังหวัดสกลนครนั้นเอง ไม่ใช่อื่นไกลเลย และหลวงปู่มั่นปรารภเปิดเผยต่อพระเณรในยุคนั้น ขณะนั้นว่า ท่านเนียมเป็นพระโสดาบันแล้วไปเกิดชั้นหก อาภัสสรา... |
สมาชิก 25 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#180
|
|||
|
|||
พระสาวก... ครั้งพุทธกาล พระวังคีสะเคาะกะโหลกพระอรหันต์ “...พระวังคีสะ ท่านเก่งมากในการที่ดูจิต ผู้ที่ตายแล้วไปเกิดในภพใดแดนใดตั้งแต่ท่านเป็นฆราวาส ใครตายก็ตาม จะว่าท่านเก่งทางไสยศาสตร์นั่นแหละ เวลาใครตายเขานำเอากะโหลกศีรษะมาให้เคาะ ป๊อก ๆ ๆ กำหนดดูทราบว่าอันนั้นไปเกิดที่นั่น ๆ เช่น ไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็บอก ไปเกิดในสวรรค์ก็บอก ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นเปรตเป็นผีอะไร ท่านบอกหมด ไม่มีอัดมีอั้น บอกได้ทั้งนั้น ขอให้ได้เคาะกะโหลกศีรษะของผู้ตายนั้นก็แล้วกัน พอท่านวังคีสะได้ทราบจากเพื่อนฝูงเล่าให้ฟังว่า พระพุทธเจ้ายังเก่งกว่านี้อีกหลายเท่า ท่านอยากได้ความรู้เพิ่มเติม จึงไปยังสำนักพระพุทธเจ้า เพื่อขอเรียนวิชาแขนงนี้เพิ่มเติมอีก พอไปถึง พระพุทธเจ้าท่านก็เอาศีรษะพระอรหันต์มาให้เคาะ ‘เอ้า... ลองดูซิ ไปเกิดที่ไหน ?’ เคาะแล้วฟัง เงียบ เคาะแล้วฟัง เงียบ คิดแล้วเงียบ กำหนดแล้วเงียบ ไม่ปรากฏว่าเจ้าของกะโหลกศีรษะนี้ไปเกิดที่ไหน..! ท่านจนตรอก.. ! ท่านพูดสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ไม่ทราบที่เกิด’ นี่ยกเรื่องจิตที่ไม่เกิดขึ้นมา กะโหลกศีรษะของท่านผู้บริสุทธิ์แล้ว เคาะเท่าไรก็ไม่รู้ว่าไปเกิดที่ไหน ทั้ง ๆ ที่พระวังคีสะแต่ก่อนเก่งมาก แต่จิตที่บริสุทธิ์แล้วหาที่เกิดไม่ได้ ... จะขุดจะค้นจะพิจารณาเท่าไร หรือพลิกแผ่นดินค้นหาวิญญาณท่านก็ไม่เจอ มันสุดวิสัยของ “สมมุติ” แล้วจะเจออย่างไร..! มันเลยวิสัยของคนที่มีกิเลสจะไปทราบอำนาจจิตของพระอรหันต์ท่านได้...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-05-2013 เมื่อ 18:14 |
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 8 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 8 คน ) | |
|
|