กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 29-12-2009, 09:57
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,746 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

นั่งสบาย ๆ วางลำตัวตรง ๆ แต่ไม่ต้องเกร็ง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออกให้ไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาที่เราถนัด เคยภาวนายาวสั้นอย่างไร ถ้าถนัดให้ใช้อย่างนั้น ความรู้สึกทั้งหมดถ้าหลุดจากลมหายใจเข้าออก แปลว่าความฟุ้งซ่านจะเข้ามาถึง ต้องรีบดึงกลับเข้ามาอยู่กับลมหายใจอีกครั้ง

แรก ๆ อาจต้องระบายลมหายใจออกยาว ๆ เพื่อไล่ลมหยาบออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นแล้วก็กำหนดลมตามปกติ ไม่ต้องไปบังคับ จะแรงจะเบา จะยาวจะสั้น อยู่ที่สภาพร่างกายของเราต้องการ เราแค่เอาความรู้สึกไหลตามเข้าไป ไหลตามออกมา กำหนดรู้ว่าตอนนี้ลมผ่านตรงจุดไหน แรงเบาแค่ไหน พร้อมกับคำภาวนาของเราก็พอ

จากนั้นกำหนดกำลังใจของเรา แผ่เมตตาออกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ว่าเราเป็นผู้ไม่เป็นศัตรูกับใคร ยินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราตั้งใจทำอยู่ โดยเฉพาะความดีในศีล สมาธิ และปัญญา ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายได้โมทนาและมีส่วนในส่วนกุศลนี้ทั้งหลายด้วยเถิด แผ่ความรู้สึกของเราออกไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ารู้สึกไม่ชัดเจนก็ให้ดึงให้หดแคบเข้ามา แล้วให้กำหนดแผ่ออกไปใหม่ ซ้อมทำอย่างนี้บ่อย ๆ เพื่อความคล่องตัว ถ้าใครทำได้คล่องตัว วงสมาธิหรือทิพจักขุญาณ ก็จะกว้างไกล สามารถกำหนดรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนแม้ระยะไกล ๆ ก็ตาม

วันนี้เราจะมาซ้อมในเรื่องของกำลังใจว่า เราแบ่งความรู้สึกเกาะพระ เกาะการภาวนา พร้อมกับการทำงานไปด้วยนั้น เขาแบ่งกันอย่างไร ? ให้กำหนดภาพพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดที่พอดี ๆ กำลังสบาย กำหนดได้ง่ายของเรา เอาไว้อยู่บนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระก็สว่าง หายใจออกภาพพระก็สว่าง หายใจเข้าภาพพระไหลตามลมเข้าไปในท้อง หายใจออกภาพพระไหลขึ้นไปอยู่บนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระใหญ่ขึ้นครอบเราลงมาทั้งตัว หายใจออกภาพพระเล็กลงเลื่อนไปอยู่บนศีรษะ

หายใจเข้าภาพพระเล็กลงไปอยู่ในท้อง หายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะ แล้วกำหนดให้เลื่อนมาอยู่ในกะโหลกของเรา หันหน้าไปด้านเดียวกับเรา เป็นพระพุทธรูปแก้วใส ๆ กำหนดได้สบาย ๆ ขนาดหน้าตักเท่าไรอยู่ที่เราพอใจ ชัดเจนหรือไม่ชัดเจนไม่เป็นไร ให้รู้ว่ามีอยู่ก็ใช้ได้แล้ว
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-12-2009 เมื่อ 12:47
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 29-12-2009, 10:27
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,746 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

จากนั้น..กำหนดให้ภาพพระองค์นี้แน่วนิ่งอยู่ตรงนั้น แต่ว่าแยกพระอีกองค์หนึ่งที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้วออกมา เอาไว้ในอกของเรา หายใจเข้าภาพพระในศีรษะก็สว่าง...ภาพพระในอกก็สว่าง หายใจออกภาพในอกสว่าง...ภาพพระบนศีรษะก็สว่าง เมื่อหายใจเข้าภาพพระบนศีรษะสว่างแล้วให้ชัดเจนอยู่อย่างนั้น ผ่านอกของเราไป ภาพพระในอกก็ให้ชัดเจนอย่างบนศีรษะ แรก ๆ เรากำหนดได้แค่จุดเดียวที่ชัด อีกจุดหนึ่งไม่ชัดเท่าก็ไม่เป็นไร ขอให้เรารู้ว่าตอนนี้เรามีภาพพระอยู่สององค์ อยู่ในศีรษะองค์หนึ่งอยู่ในอกองค์หนึ่ง

หายใจเข้าภาพพระในศีรษะก็สว่าง..พระในอกก็สว่าง ลมหายใจไปสุดที่ท้อง หายใจออกพระในอกก็สว่าง...พระบนศีรษะก็สว่าง พยายามกำหนดความชัดเจนของพระในศีรษะและในอกให้สว่างเท่ากัน ให้ชัดเท่ากัน แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะกำหนดได้ชัดเฉพาะที่ พอมาชัดในอก บนศีรษะก็ไม่ชัด พอในศีรษะของเราชัด ในอกก็ไม่ชัด ไม่เป็นไร ถ้าซ้อมบ่อย ๆ จะมีความคล่องตัวเอง

แล้วกำหนดภาพพระอีกองค์หนึ่งอยู่ในท้อง ขนาดเดียวกัน..เท่ากัน เหมือนกันกับภาพพระในอกและบนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระในศีรษะก็สว่าง...ในอกก็สว่าง..ในท้องก็สว่าง หายใจออกภาพพระในท้องสว่าง...ภาพพระในอกก็สว่าง..ภาพพระบนศีรษะก็สว่าง พยายามกำหนดภาพให้ชัดเจนแจ่มใสพร้อม ๆ กันทั้งสามที่ แม้ว่าเราจะได้ชัดหนึ่งแห่งก็ตาม แต่กำหนดให้ได้ว่าเรามีพระอยู่สามองค์

หายใจเข้าภาพพระบนศีรษะ..ในอก..ในท้องก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระในท้อง...ในอก...บนศีรษะสว่างขึ้น ถ้าสมาธิยังไม่เข้มแข็งพอ เราจะกำหนดได้ชัดเจนแค่จุดใดจุดหนึ่ง อีกสองจุดจะไม่ชัด หรือกำหนดได้ชัดสองจุด จุดที่สามไม่ชัด ไม่เป็นไร ให้ซักซ้อมอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าสามารถแบ่งความรู้สึกหลาย ๆ จุดอย่างนี้ให้ชัดเจนเสมอกันได้ ต่อไปเราก็กำหนดภาพพระ กำหนดภาพพระนิพพานไปพร้อมกับการทำงานของเราได้ โดยที่ความรู้สึกจะชัดเจนเหมือน ๆ กันทุกอย่าง

หายใจเข้าภาพพระองค์ที่หนึ่ง...องค์ที่สอง...องค์ที่สามสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระองค์ที่สาม...ที่สอง...ที่หนึ่งสว่างขึ้น จากนั้นรวบรวมพระในท้องมารวมในอก มารวมในศีรษะเป็นองค์เดียว คราวนี้เราจะเห็นว่าความชัดเจนมีมากขึ้น เมื่อเหลืออยู่แค่จุดเดียว เลื่อนภาพพระขึ้นไปอยู่บนศีรษะ ให้ไปสว่างไสวอยู่อย่างนั้น แล้วกำหนดภาพพระองค์หนึ่งที่เท่ากัน เหมือนกันทุกประการ ไปอยู่ตรงหน้าเราในระดับสายตา ระยะพอดี ๆ อย่างเช่น ช่วงระยะหนึ่งช่วงแขนที่เอื้อมถึง ภาพพระบนศีรษะเราก็สว่าง ภาพพระตรงหน้าเราก็สว่าง หายใจเข้า..ภาพพระทั้งสององค์ก็สว่าง หายใจออก..ภาพพระสององค์ก็สว่าง

แล้วกำหนดภาพพระองค์ที่สามไว้ด้านหลัง ในระยะเดียวกันกับองค์ข้างหน้า หายใจเข้าภาพพระตรงกลาง...ตรงหน้า..ตรงหลังก็สว่าง หายใจออกภาพพระตรงกลาง..ข้างหน้า...ข้างหลังก็สว่าง เอาให้ชัดเจนองค์เดียวก็ได้ แต่ให้รู้สึกว่าอีกสององค์มีอยู่ อย่าลืมว่านี่เป็นการนึกเห็นไม่ใช่สายตาเห็น ความรู้สึกยึดเกาะได้ชัดเจนแจ่มใสเท่าไร ก็ยินดีแค่นั้น อย่าคิดอยากให้ชัดเจนมาก เพราะเราจะเผลอใช้สายตา หายใจเข้าภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-12-2009 เมื่อ 12:52
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 29-12-2009, 17:28
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,746 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

แล้วกำหนดภาพพระองค์ที่สี่ไว้ด้านขวามือของเรา ระดับเดียวกับใบหู อยู่ในระยะที่สามารถกำหนดได้สบาย ๆ ประมาณช่วงแขนเอื้อมถึง องค์ที่หนึ่งอยู่บนศีรษะ องค์ที่สองอยู่ข้างหน้า องค์ที่สามอยู่ข้างหลัง องค์ที่สี่อยู่ขวามือ หายใจเข้าท่านก็สว่างขึ้นพร้อมกัน หายใจออกท่านก็สว่างขึ้นพร้อมกัน

แล้วกำหนดองค์ที่ห้าไว้ซ้ายมือ ระดับเดียวกับองค์ที่สี่ เป็นพระแบบเดียวกัน สว่างไสวเท่าเทียมกัน ตอนนี้เรามีพระอยู่ห้าองค์ องค์ที่หนึ่งอยู่บนศีรษะ องค์ที่สองอยู่ข้างหน้า องค์ที่สามอยู่ข้างหลัง องค์ที่สี่อยู่ข้างขวา องค์ที่ห้าอยู่ข้างซ้าย

หายใจเข้ากำหนดให้ภาพพระองค์ที่หนึ่งบนศีรษะสว่างขึ้น อีกสามองค์อาจจะสลัวลงไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร ตอนนี้เราเอาแค่องค์ที่หนึ่งก่อน พอหายใจออกให้ภาพพระองค์ที่สองตรงหน้าสว่างขึ้น องค์อื่นไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร หายใจเข้าให้ภาพพระองค์ที่สามด้านหลังสว่างขึ้น หายใจออกให้ภาพพระองค์ที่สี่ด้านขวาสว่างขึ้น หายใจเข้าให้ภาพพระองค์ที่ห้าด้านซ้ายสว่างขึ้น หายใจออกให้ภาพพระองค์ที่หนึ่งบนศรีษะสว่างขึ้น กำหนดความรู้สึกเลื่อนสลับไปสลับมาอย่างนี้ โดยเอาองค์ที่หนึ่งเป็นหลัก

กำหนดองค์ที่หนึ่งให้ชัดเจน เมื่อหายใจเข้าองค์ที่หนึ่งชัดเจน....หายใจออกองค์ที่สองชัดเจน หายใจเข้าองค์ที่หนึ่งชัดเจน....หายใจออกองค์ที่สามชัดเจน หายใจเข้าองค์ที่หนึ่งชัดเจน..หายใจออกองค์ที่สี่ชัดเจน หายใจเข้าองค์ที่หนึ่งชัดเจน...หายใจออกองค์ที่ห้าชัดเจน ที่เราต้องทำอย่างนี้เพื่อแบ่งกำลังใจอย่างน้อยออกเป็นสองส่วน ถึงเวลาที่กำหนดจิตทำงานอื่น ๆ ไปพร้อมกับการกำหนดภาพพระได้ ท่านใดสมาธิเข้มแข็งมาก สามารถให้กำหนดพร้อมกันทั้งห้าองค์ได้ก็กำหนดไปเลย

สิ่งที่สำคัญก็คือทั้งห้าองค์ต้องสว่างสม่ำเสมอกัน ใหญ่สม่ำเสมอกัน ใครได้สี่องค์ก็ยินดีแค่สี่องค์ ใครได้สามองค์ก็ยินดีแค่สามองค์ ใครได้สององค์ก็ยินดีแค่สององค์ ถ้าท่านใดได้องค์เดียวขอให้รู้ว่าความคล่องตัวมีน้อยมาก พยายามให้ได้อย่างน้อยสองจุดพร้อม ๆ กัน กำหนดรู้ได้ชัดเจนเท่า ๆ กัน เพื่อที่ถึงเวลาการแบ่งความรู้สึก จะได้คล่องตัวแบบที่เราทำกันตอนนี้

ให้นึกถึงลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีลมอยู่ ให้นึกถึงลมหายใจ ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ให้นึกถึงคำภาวนา ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก ไม่มีคำภาวนา ให้กำหนดแต่ภาพพระอย่างเดียว ให้ได้อย่างน้อยสององค์ชัดเจนสว่างไสว ทำไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 18-02-2010 เมื่อ 19:36
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:08



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว