กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 05-08-2010, 12:00
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,474
ได้ให้อนุโมทนา: 151,107
ได้รับอนุโมทนา 4,404,002 ครั้ง ใน 34,063 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา พร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของเดือนสิงหาคมของเรา

สำหรับการปฏิบัติของเราทั้งหลายนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ สิ่งที่ร้อยรัดเราให้อยู่ในกองทุกข์นั้น มีตั้งแต่กิเลสหยาบ ๆ อย่างนิวรณ์ ๕ ประการ ไปจนถึงกิเลสระดับละเอียดอย่างสังโยชน์ ๑๐ เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าสภาพจิตของเรานั้น มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ ให้พิจารณาดูว่า ในขณะนี้ก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในวันนี้ก็ดี ในวันก่อน ๆ นั้นก็ดี สภาพจิตของเราเป็นทาสของนิวรณ์ ๕ หรือไม่ ?

คือ มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสระหว่างเพศหรือไม่ ? มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทผู้อื่นอยู่หรือไม่ ? มีความง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจปฏิบัติหรือไม่ ? มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่สงบหรือไม่ ? และท้ายสุดมีความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติบ้างหรือไม่ ?

ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่มี แสดงว่าสภาพจิตของเรานั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่ว่าก็ยังตกเป็นทาสของสังโยชน์ ซึ่งเป็นกิเลสในระดับที่ละเอียดขึ้นไปอีก ดังนั้น..ในวันนี้ เรามาดูหน้าตาของสังโยชน์ คือเครื่องร้อยรัดให้เราติดอยู่กับวัฏฏะนี้ ไม่ยอมให้เราพ้นไปได้นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ?

สังโยชน์มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน ข้อแรก สักกายทิฐิ มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ถือว่าเป็นสังโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เราจะรักไปกว่าตัวเราเอง

วิธีที่จะแก้ไขสังโยชน์ข้อนี้นั้น อันดับแรก เราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา เมื่อเกิดมามีร่างกายนี้แล้ว อย่างไรเสียก็ก้าวเข้าไปหาความตายอยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย ก็ต้องกำหนดเป้าหมายไว้ว่า "ตายแล้วจะไปไหน ?" ในเมื่อกำหนดแล้วว่าตายแล้วเราจะไปไหนได้ เราจะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อไปยังสถานที่นั้น

การที่เรากำหนดรู้ในลักษณะว่าเราจะต้องตายนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะสลัดตนเองให้หลุดพ้นจากสังโยชน์ใหญ่ คือ สักกายทิฐินี้ได้ แต่ว่าก็เป็นการหลุดพ้นในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการร้อยรัดอย่างอื่นในสักกายทิฐิ คือ เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนยังมีอยู่อีกมาก ทำให้เรายึดมั่นถือมั่น กลายเป็นมานะถือตัวถือตน กลายเป็นสังโยชน์ที่ละเอียดขึ้นไปอีก

ดังนั้น ในเบื้องต้นเมื่อเราปฏิบัติแล้ว อย่างน้อยต้องรู้อยู่ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ลมหายใจที่เราตามดูตามรู้อยู่นี้ เมื่อหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หรือหายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตายอีกเช่นกัน เมื่อรู้ว่าตนเองจะต้องตาย ก็ต้องขวนขวายปฏิบัติ เพื่อให้ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หรือให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารเข้าสู่พระนิพพานไปเลย

ดังนั้น เราระลึกถึงความตายก็คือ มรณานุสตินี้ จัดว่าเป็นเครื่องทำลายสังโยชน์ในตัวสักกายทิฐิในจุดแรกเริ่มได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 05-08-2010 เมื่อ 12:41
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 05-08-2010, 12:40
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,474
ได้ให้อนุโมทนา: 151,107
ได้รับอนุโมทนา 4,404,002 ครั้ง ใน 34,063 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

หลังจากนั้นก็มาดูสังโยชน์ตัวสองคือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติ ว่าจะเป็นไปอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนหรือไม่

ความจริงพวกเราทั้งหมดนั้น ในตัววิจิกิจฉาถือว่ามีน้อยมากแล้ว เพราะถ้ายังลังเลสงสัยอยู่ เราก็ไม่เข้ามาบวช ไม่เข้ามาปฏิบัติ ในเมื่อท่านที่เป็นนักบวชเข้ามาบวช ท่านที่เป็นนักปฏิบัติเข้ามาปฏิบัติ ก็แปลว่าความลังเลสงสัยนั้นมีน้อยแล้วจึงได้กล้าที่จะก้าวเข้ามา

ในข้อที่สามนั้นคือ สีลัพพตปรามาส คือ การรักษาศีลแบบไม่จริงจัง รักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ การที่เราจะแก้ไขได้ ก็คือต้องเพิ่มความจริงจังด้วยการเห็นคุณของศีล

อย่างที่มีคำกล่าวเอาไว้ในตอนท้ายของการสมาทานศีล สีเลน สุคตึ ยนฺติ ศีลเป็นปัจจัยให้เราไปสู่สุคติได้ สีเลน โภค สมฺปทา ศีลทำให้เราถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติทั้งปวง สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ศีลเป็นเครื่องช่วยให้เราก้าวเข้าสู่พระนิพพาน

ดังนั้น ในเบื้องแรกนั้นสำคัญตรงที่ว่าเราต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อจะได้อาศัยกำลังของศีลทำให้สมาธิของเราทรงตัวตั้งมั่น เมื่อสมาธิทรงตัวแล้วสามารถที่จะใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่สับสนวุ่นวาย

ในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะเห็นว่าสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั้น สังโยชน์สามข้อแรกเป็นสิ่งเราพึงจะทำลายให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะในส่วนของสักกายทิฐิ คือ เห็นร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ให้พยายามแยกแยะออกดู ว่าแท้จริงแล้วร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเลย

นอกจากส่วนประกอบของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อประกอบกันขึ้นมาเป็นหัว เป็นหู เป็นหน้า เป็นตา เรามาอาศัยอยู่ตามแรงบุญแรงกรรมที่ส่งมา เราก็ไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นของเรา

วิจิกิจฉาในส่วนของความลังเลสงสัยนั้น เราก็ทำความเคารพในพระรัตนตรัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้จะด้วยกาย วาจา หรือใจก็ตาม

ข้อต่อไปคือ สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลอย่างไม่จริงจัง ก็ให้เราทุ่มเทกับศีลอย่างจริงจัง ชนิดที่ว่าตัวตายดีกว่าศีลขาด ยินดีชนิดเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ตนเองสามารถทรงศีลอยู่ได้ตามปกติ

ถ้าท่านสามารถกระทำในสังโยชน์ทั้งสามข้อนี้ โดยการพยายามตัดละอย่างเต็มความสามารถของท่านแล้ว ความหวังที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าในระดับพระโสดาบันและพระสกทาคามี ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ตามหวังโดยง่าย
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-08-2010 เมื่อ 06:12
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 06-08-2010, 04:35
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,474
ได้ให้อนุโมทนา: 151,107
ได้รับอนุโมทนา 4,404,002 ครั้ง ใน 34,063 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เนื่องจากว่ากำลังของพระโสดาบันและพระสกทาคามีนั้น ในเบื้องต้นก็คือ มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่ว่ามีศีลบริสุทธิ์

ดังนั้น..จึงให้พวกเราทุกคนทบทวนเรื่องของศีลไว้เสมอ ว่าเราเผลอสติบกพร่องบ้างหรือไม่ ? เราเผลอสติลืมตัวลืมตายบ้างหรือไม่ ? ท้ายที่สุดเรายังเห็นร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราใช่หรือไม่ ?

ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังมีอยู่เป็นปกติ ก็พยายามขับไล่ออกไปจากใจของเรา อย่าพยายามให้มาอยู่ในใจของเราอีก ถ้าสามารถทำได้ดังนั้น โอกาสที่เราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็อยู่แค่เอื้อมมือถึง

สำหรับในส่วนของพระสกทาคามีนั้น เป็นเรื่องที่ยากกว่านิดหนึ่ง เนื่องจากว่าเป็นเรื่องควบคุมวาจาและใจอยู่ด้วย ปกติของพระโสดาบันในศีลห้านั้น เราแค่ไม่พูดจาโกหกมดเท็จก็ใช้ได้แล้ว

แต่ในส่วนของพระสกทาคามีนั้น นอกจากจะไม่โกหกแล้ว เรายังไม่พูดจาส่อเสียด ไม่พูดจายุยงให้คนอื่นแตกร้าวกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาที่เหลวไหลไร้ประโยชน์ เป็นต้น

ดังนั้น ในส่วนของพระสกทาคามีนั้น กำลังจะต้องสูงกว่า เพื่อที่จะได้ระงับยับยั้งกิเลสต่าง ๆ โดยเฉพาะสังโยชน์ที่วิ่งเข้ามาหาเรา จะไดระงับได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า แม้ว่าในระดับของพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันและพระสกิทาคามีก็ตาม ความสำคัญของสมาธิก็ยังร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มอยู่ เราสามารถสร้างสมาธิให้ยิ่งสูงเท่าไร โอกาสที่จะใช้กำลังในการตัดสังโยชน์ต่าง ๆ ก็มีมากเท่านั้น

เปรียบเหมือนบุคคลที่มีกำลังสูง สามารถทำงานอื่น ๆ ได้ไม่ยาก เพราะว่ากำลังเพียงพอ การที่จะเอากำลังใจนั้นมาตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน

ดังนั้น ในสังโยชน์ ๑๐ วันนี้จะกล่าวแค่สามข้อแรกเท่านั้น คือ สักกายทิฐิ ความยึดมั่นตัวเราว่าเราเป็นของเรา ซึ่งท่านต้องพยายามตัด พยายามละเสียให้ได้ ด้วยการพิจารณาให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย

ในส่วนของข้อที่สอง คือ วิจิกิจฉาซึ่งเรามีอยู่น้อยมากแล้วนั้น ก็พยายามทำความเคารพในพระรัตนตรัยให้แน่นแฟ้น ไม่ล่วงล้ำก้ำเกินด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ

ข้อสุดท้ายเป็นหัวใจของการเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้นก็คือ สีลัพพตปรามาส เราละเว้นจากการรักษาศีลไม่จริงไม่จัง มารักษาศีลด้วยความทุ่มเท ตั้งใจว่าถ้าหากจะต้องละเมิดศีลแล้วเรายอมตายเสียดีกว่า ถ้าสามารถตัดใจประพฤติอย่างนี้ได้ เราก็มีสิทธิ์ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันทันที

ลำดับต่อจากนี้ไป ก็ให้ทุกท่านดูลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาของตนเอง ถ้ายังมีลมหายใจให้กำหนดรู้ลมหายใจ ถ้ายังมีคำภาวนาให้กำหนดรู้ในคำภาวนา ถ้าลมหายใจเบาลง คำภาวนาค่อย ๆ หายไป ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง คำภาวนาหายไป พยายามรักษากำลังใจให้ทรงตัวอย่างนี้ไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-08-2010 เมื่อ 06:15
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:34



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว