กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 10-07-2014, 14:40
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,495
ได้ให้อนุโมทนา: 151,165
ได้รับอนุโมทนา 4,405,516 ครั้ง ใน 34,084 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติ คือความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ที่เราถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อครู่นี้ได้กล่าวถึงการที่พระฉันนะท่านว่ายากสอนยาก จนพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ต้องสั่งให้คณะสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ ต้องเรียกว่าเพื่อดัดนิสัย และยังโชคดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู พระองค์ท่านรู้จริงว่า ถ้าสั่งลงโทษอย่างนั้นแล้ว พระฉันนะจะได้สำนึก แล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม จนบรรลุอรหัตผล

ที่กล่าวในเรื่องนี้ก็เพราะว่า จะให้พวกเราทุกคนได้สำรวจตัวเองดูว่า ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น เราได้หลุดพ้นจากสังโยชน์ หรือว่าโดนสังโยชน์ร้อยรัดอยู่ จนไม่สามารถที่จะหลุดรอดไปไหนได้ สังโยชน์ที่เราจะพึงพิจารณาอยู่เสมอ ๆ เอาแค่ ๓ ข้อใหญ่ ๆ ก็คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส

สมัยที่ยังอยู่ที่วัดท่าซุง พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงสั่งให้พระทุกรูป เขียนสังโยชน์ ๑๐ ติดไว้ที่หัวเตียง พิจารณาอยู่ทุกวัน ว่าเรายังมีสังโยชน์ตัวไหนที่ร้อยรัดเราอยู่ เมื่อทบทวนทุกวัน รู้จุดบกพร่องของตนเอง จะได้แก้ไขได้ คราวนี้สังโยชน์ ๑๐ อาจจะมากเกินกำลังของญาติโยมทั้งหลาย จึงขอกล่าวแค่สังโยชน์ ๓ เท่านั้น

สักกายทิฏฐินั้นเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เราถือตัวถือตน และถ้าหากว่าถือตัวมาก ๆ ก็จะมีการแบกมานะ ซึ่งเป็นสังโยชน์ใหญ่เพิ่มเข้าไปอีกตัวหนึ่งด้วย ความถือตัวถือตนในที่นี้ก็คือว่า เราดีกว่าเขา แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแค่ว่า เราดีกว่าเขา การถือว่าเราเสมอเขา เราดีเท่าเขา ก็เป็นสังโยชน์เครื่องร้อยรัดเช่นกัน ในขณะเดียวกัน เราด้อยกว่าเขา เราสู้เขาไม่ได้ ก็เป็นสังโยชน์เช่นกัน เนื่องจากว่าเป็นการยึดถือ โดยเอาตัวตนของตนเป็นศูนย์กลางเหมือน ๆ กัน

เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกท่านก็ต้องพินิจพิจารณาดูว่า ตั้งแต่เราปฏิบัติธรรมมา เราสามารถละพยศ ลดมานะลงไปได้เท่าไร
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-07-2014 เมื่อ 14:45
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 13-07-2014, 12:31
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,495
ได้ให้อนุโมทนา: 151,165
ได้รับอนุโมทนา 4,405,516 ครั้ง ใน 34,084 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

การปฏิบัติธรรมนั้น เราไม่ต้องเสียเวลาไปชักชวนให้ใครมาปฏิบัติ ไม่ต้องไปเปลืองแรง ไม่ต้องไปเปลืองน้ำลายใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเราปฏิบัติแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกาย ทางวาจา หรือทางใจก็ตาม ถ้าปรากฏผลที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้ชัด เหมือนกับเป็นคนใหม่ บุคคลรอบข้างจะเกิดความสนใจ แล้วสอบถามเองว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อนั้นเราค่อยบอกเขา ว่าเกิดจากการปฏิบัติธรรม ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เราบอกจะขลัง จะศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าตัวเราทำจนเกิดผลแก่ตัวเองแล้ว

ดังนั้น..ในเรื่องของสักกายทิฏฐิจึงเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง ที่เราจำต้องพิจารณาตัดละอยู่เสมอ ๆ ให้เราเกิดความรู้สึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์อื่น ล้วนแล้วสักแต่เป็นรูปเป็นนาม เป็นจิตที่มาอาศัยอยู่ในร่างกายนี้เท่านั้น ซึ่งร่างกายนั้นก็ประกอบจากธาตุ ๔ เหมือน ๆ กัน คือเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ยืมสมบัติของโลกมาใช้งานเพียงชั่วคราวเช่นเดียวกัน

ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่า ไม่มีใครเสมอกัน ทุกคนล้วนแต่กำลังเป็นไปตามกรรม บุคคลที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ก็คงอยู่ในกระแสของกรรมดี ทวนกระแสขึ้นสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ บุคคลที่กระทำความชั่ว มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ก็ตกอยู่ในกระแสกรรมสีดำ ไหลลงภพภูมิที่ต่ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะข้ามกระแสทั้ง ๒ สายนี้ได้ จึงมีโอกาสที่จะหลุดพ้น ถ้าตราบใดที่ยังข้ามกระแสเหล่านี้ไม่ได้ ก็ต้องเกาะกระแสแห่งความดีเอาไว้เสมอ

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องพิจารณาดูว่า ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวตนเราเขาอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่กำลังเป็นไปตามกรรม แม้กระทั่งตัวเราก็กำลังเป็นไปตามกรรม แล้วจะมีอะไรดีกว่า จะมีอะไรเลวกว่า จะมีอะไรเสมอกัน มีแต่ต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นเช่นเดียวกัน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-07-2014 เมื่อ 12:42
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 14-07-2014, 11:53
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,495
ได้ให้อนุโมทนา: 151,165
ได้รับอนุโมทนา 4,405,516 ครั้ง ใน 34,084 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

สำหรับวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น พวกเราทุกคนมีน้อยมากแล้ว ถ้าเรายังลังเลในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็จะไม่มาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นกำไรใหญ่ ส่วนในเรื่องของสีลัพพตปรามาส คือการรักษาศีลไม่จริงไม่จัง รักษาแบบลูบ ๆ คลำ ๆ บางคนก็รักษาศีลแบบทำเป็นเล่น อย่างเช่นว่า รักษาศีล ๘ เฉพาะเวลาที่ไม่ได้กินข้าวเย็น เป็นต้น

ในเมื่อตัดสินใจรักษาศีลแล้วก็ทำให้เด็ดขาดจริงจังไปเลย ถ้าเราทำเด็ดขาดและจริงจัง ผลย่อมจะเกิดได้ง่าย แต่ถ้าหากว่าเรารักษาเล่น ๆ ผิดพลาดเพียงนิดเดียว จะเป็นการปรามาสพระรัตนตรัยไปด้วย หรือลักษณะของบุคคลที่บวชเป็นพระเป็นเณร บวชแล้วบวชอีก บวชแล้วบวชอีก บางท่านก็คิดว่าอยู่ในลักษณะของการเก็บคะแนน สะสมแต้ม จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่เท่ากับเปิดทางถอยให้กับตัวเองรอบข้าง ในเมื่อมีทางถอย ก็ไม่พากเพียรบากบั่นขึ้นหน้า ไม่ต่อสู้ฟันฝ่ากับข้าศึกคือกิเลส จ้องแต่เตรียมจะถอยอยู่ตลอดเวลา สภาพจิตก็ไม่เด็ดขาดจริงจัง ย่อมไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลสได้

ดังนั้น..เราจึงต้องตั้งหน้าตั้งตารักษาสิกขาบท คือศีลของเราตามสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของฆราวาส ศีล ๑๐ ของสามเณร หรือศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ต้องรักษาทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ถ้าหากว่าสามารถกระทำอย่างนี้ได้โดยครบถ้วน ก็แปลว่าสังโยชน์ทั้ง ๓ คือสักกายทิฏฐิ ก็คือความถือตัวถือตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่มั่นคงในพระรัตนตรัย สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลอย่างไม่จริงไม่จัง ก็ไม่สามารถที่จะร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏสงสารได้

เราก็แค่ตั้งเป้าหมายว่า ถ้าตายแล้วเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ก็แปลว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดเพื่อพระนิพพาน เป็นจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนมาก เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ ก็ต้องเอากำลังใจของเราเกาะพระนิพพานไว้ ถ้าไม่เคยชินในอุปสมานุสติ หาอะไรยึดเกาะได้ยาก ก็ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด ว่านั่นเป็นพุทธนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่บนพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน แล้วรักษาอารมณ์ภาวนาและพิจารณาของเราไปตามปกติ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-07-2014 เมื่อ 16:42
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:51



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว